ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 7: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)  ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม

“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์ 

เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่                   

เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’

เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)

เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่

1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร

ในส่วนของพระมหากษัตริย์ ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  ต่อไปเป็นรายงานเกี่ยวกับท่าที่ของพระบรมวงศานุวงศ์

“เห็นได้ชัดว่า การปฏิวัติครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพระบรมวงศานุวงศ์ และดูเหมือนว่า ความคิดเรื่องนี้จะเป็นเอกฉันท์ ในสยาม มีชนชั้นมูลนายจำนวนมาก แม้ว่าราชวงศ์จักรีพยายามจะลดจำนวนพระบรมวงศานุวงศ์โดยเร็วตั้งแต่ 150 ปีที่แล้ว (ทราบกันว่า บรรดาศักดิ์ของเจ้านายแต่ละพระองค์จะลดทอนลงหนึ่งลำดับทุกๆรุ่น และเมื่อสิ้นสุดรุ่นที่ 5 แม้แต่ผู้สืบสายพระโลหิตของกษัตริย์ก็จะกลายเป็นสามัญชน) rพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสและพระราชธิดาประมาณ 80 พระองค์ แม้กระทั่งทุกวันนี้ พระบรมวงศานุวงศ์เหล่านี้ก็ยังมีผลประโยชน์มหาศาล อาทิ ได้รับเบี้ยหวัดพิเศษ ได้รับพระราชทานที่อยู่อาศัยจากพระมหากษัตริย์ (ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดในราชอาณาจักรและเป็นเจ้าชีวิตของพสกนิกร) มีตำแหน่งในกองทัพและฝ่ายบริหารราชการ”

ต่อความเห็นของนายพันโท อองรี รูซ์ ที่ว่า “พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดในราชอาณาจักร”  ผู้เขียนเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีความหมายสองประการ ประการแรก ผู้เขียนพยายามมองนายพันโท อองรี รูซ์ในแง่ดี  คือ นายพันโท อองรี รูซ์ กำลังกล่าวในทางหลักการทฤษฎี   ประการที่สอง นายพันโทอองรี รูซ์ เข้าใจผิด เพราะในปี พ.ศ. 2444/5 (ร.ศ. 120) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เสนาบดีกระทรวงเกษตริธการจัดทำทะเบียนที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน ให้ผู้ที่มีชื่อเป็นผู้ถือครองโฉนดที่ดินเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินมีอำนาจในที่ดินนั้น รัฐไม่สามารถมาทวงที่ดินคืนได้ สาเหตุที่ให้มีการจัดทำทะเบียนที่ดินขึ้น เพราะพระองค์ทรงพบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นจำนวนมาก [1] ส่วนการกล่าวว่า “พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิตของพสกนิกร” ก็เช่นกัน มีความเป็นไปได้ที่จะมีความหมายสองประการดังที่กล่าวไปข้างต้น  เพราะได้เริ่มมีการใช้กฎหมายลักษณะอาญาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2447/8 (ร.ศ. 127)  โดยพระองค์ทรงให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายไทยให้เป็นกฎหมายที่ทันสมัยและยอมรับกันโดยทั่วไปเช่นเดียวกับที่ใช้ในยุโรป  [2]

--------------

ในรายงานของนายพันโทอองรี รูซ์ ได้กล่าวต่อไปว่า

“ตั้งแต่แรกเริ่ม ‘คณะราษฎร’ ออกประกาศการจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์ในลำดับชั้นที่ 1 และ 2 (ชั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้าและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ) หลังจากถูกกักขังอยู่ในพระราชวังดุสิต (พระราชวังแห่งใหม่ ซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลชั่วคราว)  พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่จึงถูกปล่อยตัวให้กลับวังที่ประทับของแต่ละองค์ตามลำดับ โดยมีทหารติดอาวุธควบคุมดูแล คงเหลือก็แต่ สมเด็จฯเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พระบรมเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และอาจได้รับสถาปนาเป็นรัชทายาท)  และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระโอรสในเจ้าจอมมารดา ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพานิชย์และคมนาคม ดูเหมือนว่า ความเคียดแค้นชิงชังของคณะราษฎรจะตกอยู่กับพระบรมวงศานุวงศ์สองพระองค์นี้

ก่อนหน้าการรัฐประหารเพียงไม่กี่วัน หนังสือพิมพ์สยามฉบับหนึ่งเรียกกรมพระนครสวรรค์วรพินิตอย่างเปิดเผยฝ่า เป็น ‘คนทรยศต่อชนชาติไทย’ (พระองค์เพิ่งไปแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลในเรื่องดังกล่าว) ในบทความเดียวกันนั้น กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินถูกกล่าวหาว่า นำเงินของประเทศไปใช้ในต่างประเทศอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อผลประโยชน์ส่วนพระองค์ ทหารปืนใหญ่นายหนึ่งที่เฝ้าพระราชวังดุสิตและจากมาตอนเย็นวานนี้ ฉวยโอกาสสองสามนาทีมาเข้าพบข้าราชบริพารใกล้ชิดในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 คนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็อยู่ด้วยในตอนนั้น บอกว่า เจ้านายบอกเขาและเพื่อนๆว่า ทรัพย์สินต่างๆของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสองพระองค์นี้ มีจำนวนมากกว่าร้อยล้านบาท (1 บาท มีค่าเท่ากับ 8.20 ฟรังก์) และด้วยเงินจำนวนดังกล่าว สยามจะมั่งคั่งบริบูรณ์ไปอีกนาน

กรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ที่พระราชวังดุสิต ซึ่งดูเหมือนพระองค์จะถูกปฏิบัติอย่างไร้ความปรานีและไม่ให้เกียรติแต่ประการใด ส่วนกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเสด็จกลับวังของพระองค์และเจอทหารเฝ้ารักษาการณ์อย่างแน่นหนา  ทุกคนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินจะต้องไปให้การต่อศาลฎีกา เพื่อตอบคำถามในข้อกล่าวหายักยอกเงินดังที่ถูกกล่าวหา เจ้านายเชื้อพระวงศ์องค์ที่ 3 ในฐานะขุนนางชั้นผู้ใหญ่ คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เพิ่งจัดงานฉลองพระชนมายุครบรอบ 70 พรรษาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 3 วันก่อน โดยเชิญชาวยุโรปในสยามจำนวนมากและชนชั้นสูงชาวสยามมาร่วมงาน พระองค์เพิ่งถูกปล่อยตัวให้เสด็จกลับวังภายใต้การดูและอย่างใกล้ชิด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (นายกสภาหอพระสมุดและราชบัณฑิตยสภา) ไม่ถูกตำหนิในข้อหาที่ชัดเจน นอกเหนือจากข้อกล่าวหาในบทความหนังสือพิมพ์สยามฉบับหนึ่งที่ว่า พระองค์เป็นต้นคิดที่จะคืนดินแดนพระตะบองให้อินโดจีนเมื่อ 25 ปีก่อน

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส รุ่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ถูกกักตัวไว้ในพระราชวังดุสิตเช่นเดียวกับกรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ถูกมองว่า เป็นนายทหารที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก และสร้างปัญหาให้รัฐบาลชุดใหม่ได้  ยิ่งกว่านั้น อาจเป็นไปได้ว่า ทรงมีปัญหาขัดแย้งในหน้าที่ราชการกับหัวหน้าผู้ก่อการปฏิวัติ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รองผู้บัญชาการทหารบก                                 

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ใน 3 อันดับแรก (ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า 10 พระองค์ ที่เป็นพระปิตุลาและพระเชษฐาธิราชในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆที่เป็นพระญาติใกล้ชิดและพระราชนัดดาจำนวน 33 พระองค์ รวมทั้งเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าอีก 131 พระองค์ มีเพียงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้น)  ดูเหมือนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะกีดกันพระบรมวงศานุวงศ์เหล่านี้ให้พ้นจากกองทัพตลอดไป และอาจจะพ้นจากการบริหารราชการทุกประเภทก็เป็นได้”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย.   ข้อความทั้งหมดข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 33, 35-36)  


[1] ฐิติมา เงินอาจ, ธัญวรรณ อาษาสำเร็จ, วรดา สังอุดม, อรยา สอนโก่ย และเชาวลิต สมพงษ์เจริญ, “จากโฉนดที่ดินฉบับแรกของสยามสู่การได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินตามพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. 127” วารสารวิชาการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563), หน้า 151.

[2] ดู “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก