(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม เรื่อง เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองหลวงของสยาม
“สืบเนื่องจากรายงานฉบับที่ 22/A ลงวันที่ 24 มิถุนายนฉบับที่แล้วของข้าพเจ้า (ดูตอนที่ 5/ผู้เขียน) ว่าด้วยการยึดอำนาจโดยทหารในบางกอกเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางกอกหลังจากวันก่อการปฏิวัติ 1 สัปดาห์
เรื่องที่จะรายงาน ได้แก่
เรื่องที่ 1 – พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับคำขาดที่ได้รับทูลเกล้าฯถวายและทรงยอมรับรัฐบาล ‘คณะราษฎร’
เรื่องที่ 2 – การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน (แนบฉบับแปลมา ณ ที่นี้ด้วย)
เรื่องที่ 3 – การแต่งตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่
1.ท่าทีของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการทำรัฐประหาร
ก. พระมหากษัตริย์ ในช่วงที่มีการยึดอำนาจ (เช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 24 ตั้งแต่เวลาตี 4) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่หัวหิน ซึ่งอยู่ห่างจากบางกอกราว200 กิโลเมตร ตามเส้นทางรถไฟไปยังประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 16 วันมาแล้ว โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดวัดนวิศิษฏ์ พระสัสสุระ (พ่อตา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และพระวรวงศ์เธอ พระองคเจ้าอลงกฎ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหมโดยเสด็จด้วย
ข่าวการปฏิวัติน่าจะทราบถึงพระเนตรพระกรรณเป็นครั้งแรกโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (โดยทั่วไปจะเรียกว่า กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ที่ขึ้นรถไฟดีเซลรางหลบหนีการจับกุมของทหารมายังหัวหิน โดยถูกรถไฟอีกขบวนซึ่งมีคนของรัฐบาลชุดใหม่โดยสารอยู่ไล่ตามมา กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินน่าจะกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จฯลี้ภัยไปต่างประเทศ ทว่าพระองค์เห็นพ้องกับสมเด็จพระบรมราชินี จึงทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และทรงยินยอมทำตามความประสงค์ของคณะราษฎร และอาจะเป็นเพราะเหตุนี้ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินจึงตัดสินพระทัยอยู่เคียงข้างพระวรกาย เช่นเดียวกับเพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆที่ประทับอยู่ที่หัวหิน พระเจ้าอยู่หัวยังทรงประกาศให้ความคุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์เหล่านี้ด้วย”
--------------------
“ประชาชนค่อยๆรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากแถลงการณ์ฉบับต่างๆ และยังคงปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดีอย่างที่สุด
หนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันศุกร์และคำแถลงการณ์ที่ประกาศในบางกอกหลังจากนั้นไม่นาน เป็นข้อเขียนที่มีลักษณะคุกคาม และเกือบจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (แนบฉบับแปล - เอกสารหมายเลข 1) ตรงกันข้าม คำแถลงการณ์ที่ประกาศในวันรุ่งขึ้นกลับใช้คำที่ให้ความรู้สึกเคารพเทิดทูนและอะลุ้มอล่วย (เอกสารหมายเลข 2) ดูเหมือนระหว่างนั้น รัฐบาลชั่วคราวเพิ่งได้สติหลังจากที่ตื่นเต้นกับชัยชนะในการปฏิวัติ และได้ ‘ตระหนัก’ ถึงอันตรายร้ายแรงซึ่งอาจเกิดขึ้นต่อระบอบการปกครองใหม่จากการละเมิดพระราชอำนาจของกษัตริย์ นอกจากการเปลี่ยนแปลงหัวหน้ารัฐบาล ยังมีเรื่องเว้นว่างสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอีกด้วย แม้ผู้คนในเมืองหลวงและเมืองต่างๆไม่สนใจว่าหัวหน้ารัฐบาลจะเป็นใคร แต่พวกเขาอยู่ไม่ได้หากไม่มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อีกทั้งความศรัทธาทางศาสนาอย่างเปี่ยมล้นย่อมถูกสั่นคลอนอย่างมากจากการว่างเว้นตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าโดยมิได้แต่งตั้งผู้อื่นขึ้นแทน
ตอนบ่าย (วันที่ 26 มิถุนายน/ผู้เขียน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งสารผ่านวิทยุไปยังรัฐบาลชั่วคราวถึงการตัดสินพระทัยที่จะร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งพระองค์รับสั่งว่าเป็นการทำให้โครงการในแนวพระราชดำริมาเป็นเวลานานกลายเป็นความจริง
ระหว่างประทับอยู่ที่หัวหิน พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยให้กองทหารใกล้ๆเมืองเพชรบุรีและเมืองราชบุรี ภายใต้การบัญชาการของพลเอกทหารม้า หม่อมเจ้าทองทีฆายุ เดินทางเข้าไปต่อสู้กับกองกำลังที่บางกอกตามที่กรมพระกำแพรงเพชรอัครโยธินอาจคิดริเริ่มไว้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า พระราชประสงค์เพียงประการเดียวของพระองค์คือหลีกเลี่ยงการนองเลือด
เมื่อเสด็จฯกลับถึงพระนคร พระองค์ทรงยืนกรานสนับสนุนรัฐบาลชุดใหม่โดยไม่มีเงื่อนไข โดยทรงชี้แจงเหตุผลประการต่างๆ ที่ค่อนข้างแปลกในสายตาชาวยุโรป เช่น พระพลานามัยไม่แข็งแรง การที่ทรงไม่มีพระราชโอรส และไม่สามารถมีพระราชโอรสได้
ดังนั้น จึงเชื่อได้และน่าเชื่อจริงๆว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับรัฐบาลในระบอบใหม่นี้อย่างบริสุทธิ์พระทัย บางคนถึงกับยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับคณะผู้ก่อการ ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า สภาพการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นมิได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสถานะของพระมหากษัตริย์มากนัก ยังคงกำกับดูแลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงปัจจุบันนี้ สภาองคมนตรียอมรับความประสงค์ของพวกเขา และเมื่อพระองค์คัดค้าน ก็ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงต้องจำยอมหรือไม่ก็สละราชสมบัติ เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ย้ำเตือนให้ทรงรำลึกถึงเงื่อนไขที่ทรงให้ไว้ในพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 6 ปีก่อน
พระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 นั้น พอเข้าใจได้ อำนาจล้นเหลือของพระบรมวงศานุวงศ์ ทรัพย์สินมหาศาลที่พวกเขายักยอกจากเงินงบประมาณ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงไม่ช้าก็เร็ว และเมื่อปฏิกิริยาโต้ตอบดังกล่าวเกิดขึ้นในขอบเขตที่ยอมรับได้โดยไม่มีการนองเลือด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยินยอม
อย่างไรก็ตาม ด้วยทัศนะแบบยุโรปซึ่งคุ้นเคยกับความรู้สึกบางประการที่หยั่งรากลึกในสังคมของเรา ย่อมปรารถนาจะเห็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขมากกว่านี้ เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลใหม่เอง เช่น อยากเห็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเงื่อนไขในการยอมรับว่า ให้ปล่อยตัวข้าราชบริพารในพระองค์ที่ไม่ได้เป็นเชื้อพระวงศ์และถูกจับด้วยความผิดสถานเดียว คือ จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยทันที เช่น พลตรี พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยานสยาม ผู้ให้คำตอบต่อนายทหารของคณะปฏิวัติที่ให้เลือกระหว่างการตามพวกเข้าไปหรือจะถูกจับกุมว่าจะฟังเพียงคำสั่งจากองค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และยังมีคนอื่นๆอีกที่ถูกจับในฐานความผิดเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้มีพระราชดำรัสถึงเรื่องนี้แม้แต่น้อย ทั้งๆที่พระองค์สามารถกระทำได้โดยไม่มีความเสี่ยงอันใดเลย เพราะรัฐบาลชุดใหม่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง......อนึ่ง ชาวสยามกลับจะยิ่งชื่นชมการกระทำของพระองค์เสียอีก”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 25-26, 30, 32-33)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยเบื้องหลัง 'คนดังต้านระบอบทักษิณ' รวมตัว ประเดิมงานแรกลุย ป.ป.ช.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อประเทศชาติและความยุติธรรม
'วรงค์' เซ็งเสียเวลา 1 ชั่วโมง อุตส่าห์ตั้งใจฟัง 'อิ๊งค์' แถลงผลงาน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า#แถลงนโยบายไม่ใช่ผลงาน
'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
เอาแล้ว! เปิดชื่อ 'บิ๊กเนม' รวมตัวก่อการโค่นระบอบทักษิณ3?
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า ”นัดกินข้าวคุยกัน
นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก