การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๗๒): เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลต้องลาออกไหม ?

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน  ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่  พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  (๑๑๒ คะแนน)   กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ได้กำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีวาระดำรงตำแหน่งนานเท่าไร แต่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ผู้แต่งตั้งย่อมมีสิทธิ์จะถอดถอนและตั้งใหม่ได้  ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้รัฐบาลประกาศรายงานการประชุมการลงมติแต่งตั้งต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อหายข้อข้องใจ  แต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นควรให้มีการพิจารณาตัดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมออก และควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น และที่ประชุมได้รับทราบจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณว่า ควรขนานนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และได้มีการตั้งคำถามถึงจำนวนในการลงนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ให้ลงนามเพียงผู้ที่เป็นประธาน หรือต้องลงนามทั้งคณะ หรือเพียงสองในสาม

แต่ก่อนที่จะมีการลงมติในเรื่องจำนวนในการลงนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีผู้เสนอให้ปิดประชุมสภา และสมาชิกเสียงข้างมากลงมติรับรอง แต่ก่อนที่จะปิดประชุมสภา ผู้ทำการแทนประธานสภาฯได้ขอเสนอโทรเลขที่จะถวายไปตามที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ทรงร่างขึ้น  และหลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครได้มีข้อสงสัยว่า  รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องลาออกตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยหลวงวรนิติปรีชาได้ให้เหตุผลตามมาตรา ๔๖ แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติที่ว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกฯนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาฯเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน’ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงตั้งคณะรัฐมนตรี แล้วบัดนี้ความปรากฏ ขึ้นในสภาฯนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว ก็แปลว่า ผู้ทรงตั้งหมดอำนาจจากราชสมบัติ เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสละราชสมบัติไปแล้ว ที่ได้ทรงตั้งไว้นั้น ก็ควรจะหมดอายุตามพระมหากษัตริย์ไปด้วย

นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ขออนุมัติต่อประธานสภาฯให้หม่อมเจ้าวรรณฯทรงแถลง

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“ท่านสมาชิกผู้ที่อภิปรายเมื่อกี้นี้อาจจะสำคัญไปว่า การที่คณะรัฐบาลลาออกนั้น ลาออกต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่ตามรัฐธรรมนูญ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ใครเป็นผู้ตั้งคณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น การที่คณะรัฐมนตรีจะลาออกนั้นต้องลาออกจากกษัตริย์ และในกรณีที่รัฐบาลได้เคยลาออกมานั้น  เป็นแต่ได้แถลงความจำนงแก่สภาผู้แทนราษฎร หาได้ลาออกต่อสภาผู้แทนราษฎรไม่  แต่หากเมื่อแสดงความจำนง แล้วก็ไปเฝ้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อลาออกต่อพระองค์ท่าน คราวนี้ จะไปลาออกแก่ใคร คณะรัฐมนตรีถึงแม้ว่าพร้อมและมีความประสงค์ที่จะลาออก จะไปลาออกแก่ใคร ตามวิถีแห่งรัฐธรรมนูญ จะไปลาออกแก่สมเด็จเจ้าฟ้า (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนหน้านี้/ผู้เขียน) ท่านก็รับสั่งว่า ท่านขาดจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการไปแล้ว ครั้นลาออกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ พระปกเกล้าฯ ท่านก็ออกไปแล้ว คราวนี้ จะไปลาแก่ใครเล่า  ก็ต้องไปลาแก่คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ที่สภาฯได้ตั้งขึ้นใหม่ จึงจะได้ ไม่เช่นนั้น ไม่มีทางที่จะลาได้

คราวนี้ ชี้แจ้งแล้วว่า คณะรัฐมนตรี จะต้องถือโอกาสเร็วที่สุด คือ คงจะเป็นวันนี้ ที่จะไปหาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่แทนที่จะไปลาออก ก็เพราะเหตุที่ว่า พระองค์ที่ท่านทรงตั้งนั้น ท่านขาดจำตำแหน่งไป  (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนหน้านี้/ผู้เขียน) เพราะฉะนั้น โดยปกติ จะไปลาออกอะไร เพราะฉะนั้น อายุของคณะรัฐมนตรีนี้หมดเขตต์ไปเอง จึงจะได้ไปถามคณะผู้สำเร็จราชการใหม่ว่า จะยืนยันในการที่จะตั้งคณะรัฐมนตรีนี้หรือไม่ คือถาลาออกก็หมดไปเอง แล้วจะลาออกอย่างไร

เพราะฉะนั้น เราจะต้องไปทำการติดต่อ ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า ทำการติดต่อกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่นี้ว่า คณะรัฐมนตรีนี้แหละ โดยเหตุที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว/ผู้เขียน) ทรงตั้ง เดี๋ยวนี้ ท่านขาดจากตำแหน่งไป ท่านจะยืนยันคณะรัฐมนตรีนี้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ จึงจะเป็นไปตามกฎหมายและวิถีทางรัฐธรรมนูญ และข้อนี้ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็ได้มารายงานกับคณะรัฐมนตรีว่า เจ้าคุณศรีธรรมาธิเบศได้สอบถามทางประเทศอังกฤษแล้ว ก็มีความเห็นอย่างนี้เหมือนกัน” นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงเรื่องใหม่ต่อไป คือ มีเรื่องที่เป็นห่วงอยู่อีกนิดเดียว อยากจะถามรัฐบาล คือ รัฐบาลจะอัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่กลับมาเมื่อไร และจะกระทำพิธีราชาภิเษกเมื่อไร”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องนี้ รัฐบาลจะแจ้งให้ทราบทีหลัง

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า

“ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า ก็เข้าใจอยู่ว่า คณะรัฐบาลนี้ได้ตายไปแล้วตามที่ในหลวงได้ทรงสละราชสมบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อตายไปแล้ว ก็ย่อมจะตายไปแล้ว แต่ว่า ตามที่ท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี/ผู้เขียน) ได้ทรงกล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นั้นสืบสันตติ การที่จะลาออกจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่าไม่ได้ ก็จะลาออกจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้ เพราะท่านสืบต่อเนื่องกันเป็นสันตติ ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม เวลา ๑๑.๔๕ นาฬิกา เพราะฉะนั้น ปัญหาจึงมีว่า รัฐบาลนี้จะลาออกจากราชการหรือไม่ หน้าที่ที่จะแนะนำให้ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ไม่ใช่หน้าที่ของคณะรัฐมนตรีจะไปแนะนำหรือติดต่อกับผู้สำเร็จราชการ ข้าพเจ้าเห็นว่า ประธานสภาฯควรจะไปแนะนำผู้สำเร็จราชการในการที่จะเลือกขึ้น เมื่อตายไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ติดใจ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้เป็นว่า การที่จะเป็นต่อไป ควรจะให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯไปติดต่อกับผู้สำเร็จราชการตามที่เคยปฏิบัติมาในครั้งก่อน”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ตามที่ท่านสมาชิกกล่าวนั้น เป็นการถูกต้องแล้ว”

ร.อ. ประเสริฐ ศุขสมัย ร.น. กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัยในเวลาที่ท่านที่ปรึกษาทรงอธิบายว่า เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงลาออก ๑๑.๔๕ นาฬิกานั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่า จะเป็นเวลาของอังกฤษหรือของไทย ถ้าหากว่า เป็นเวลาของอังกฤษ แล้วจะคิดเป็นเวลาของเมืองเรา จะเพิ่มขึ้นอีก ๗ ชั่วโมง คือเป็น ๒ ทุ่ม เพราะของเราเป็นจุดที่ ๑๐๕ ดีกรี”

น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. กล่าวว่า “เวลาที่กล่าวไว้ในหนังสือนั้น คือเวลาในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเวลาบ่ายสี่โมงสี่สิบห้านาที และก็เท่ากับเวลาของเมืองไทยเรา หนึ่งทุ่มสี่สิบห้านาที”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ก่อนปิดประชุม ข้าพเจ้าขอเสนอให้สภาฯนี้วินิจฉัยก่อนว่า ข้าพเจ้าเสนอญัตติให้สภาฯนี้มีอำนาจถอดถอนคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้”

นายเลมียด หงสประภาส รับรอง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490