การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๗๑): การกำหนดจำนวนผู้ลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน  ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่  พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  (๑๑๒ คะแนน)   กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ได้กำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีวาระดำรงตำแหน่งนานเท่าไร แต่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ผู้แต่งตั้งย่อมมีสิทธิ์จะถอดถอนและตั้งใหม่ได้  ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้รัฐบาลประกาศรายงานการประชุมการลงมติแต่งตั้งต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อหายข้อข้องใจ  แต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นควรให้มีการพิจารณาตัดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมออก และควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น และที่ประชุมได้รับทราบจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณว่า ควรขนานนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และได้มีการตั้งคำถามถึงจำนวนในการลงนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ให้ลงนามเพียงผู้ที่เป็นประธาน หรือต้องลงนามทั้งคณะ หรือเพียงสองในสาม

แต่ก่อนที่จะมีการลงมติในเรื่องจำนวนในการลงนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีผู้เสนอให้ปิดประชุมสภา และสมาชิกเสียงข้างมากลงมติรับรอง แต่ก่อนที่จะปิดประชุมสภา ผู้ทำการแทนประธานสภาฯได้ขอเสนอโทรเลขที่จะถวายไปตามที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ทรงร่างขึ้น  และ หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครได้มีข้อสงสัยว่า  รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องลาออกตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งออกไปแล้วหรือไม่ โดยขอให้รัฐบาลแถลง

นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ขออนุมัติต่อประธานสภาฯให้หม่อมเจ้าวรรณฯทรงแถลง

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“คณะรัฐมนตรีนั้น พระประมุขคือพระมหากษัตริย์ทรงตั้ง แต่จะบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ โดยไม่ได้รับมติไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร คราวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็ได้ปรากฎว่าขาดจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในวันนี้เท่านั้น จริงอยู่ผลเมื่อประกาศแล้วก็จะขาดตั้งแต่วันที่ ๒ (มีนาคม พ.ศ. 2477/ผู้เขียน) และโดยเหตุที่การสืบราชสมบัตินั้นเป็นการสืบสันตติวงศ์ คือสันตติต่อเนื่องกัน พระมหากษัตริย์ก็ต้องสืบตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม เวลา ๑๑.๔๕ ซึ่งเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ทีนี้ คณะรัฐมนตรีนั้นก็เทียบกับทูต ทูตต่างประเทศที่เข้ามาประจำในประเทศสยามนั้น เขาเป็นทูตประจำราชสำนักหรือพระมหากษัตริย์ ศัพท์ฝรั่งใช้ว่า เอ_เครดิตเดท ทู ฮิล แมเจสตี้ เดอะคิง (A credited to His Majesty the King) คือเป็นทูตประจำองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุฉะนั้น เจ้าคุณนายกฯจึงได้แถลงว่า มีทูตมาถามว่าเขาประจำใคร หนังสือพิมพ์ต่างประเทศลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงสละราชสมบัติแล้ว ทีนี้ เขาไม่รู้ว่าท่านทรงสละแล้วจริงหรือไม่ เขาก็ไม่รู้ว่าเขาประจำพระองค์ไหน เขาจึงมาถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ เจ้าคุณนายกฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แต่เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบในวันคืนนี้ ในคืนวานนี้ หรือวันนี้น่ะเพิ่งได้รับทราบ   (๗ มีนาคม พ.ศ 2477/ผู้เขียน) ความเพิ่งมาประจักษ์ขึ้นว่า ได้ทรงสละราชสมบัติ ในกรณีทูต นั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ พรุ่งนี้คือวันนี้  เช้าเวลา ๗.๐๐ นาฬิกา คือ กระทรวงการต่างประเทศจะทำเวลานี้ แล้ว เช้า ภายในเวลา ๙.๐๐ นาฬิกา สถานทูตต่างๆก็จะได้รับหนังสือแจ้งความในการที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ได้ทรงขึ้นครองสืบราชสันตติวงศ์  เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ตามธรรมเนียมของทูต เขาก็เป็นทูตประจำองค์ใหม่ต่อไป คือประจำหน้าที่ประจำองค์ใหม่ต่อไปได้ แต่ทว่า เขาจะต้องมีพระราชสาส์นตั้งมาใหม่ ซึ่งเขาเรียกว่า รีครีเด็นเชียล (Recredential)  ไม่ใช่ตั้งใหม่แท้ คือ ตั้งซ้ำหรือตั้งยืนยัน เพราะมันต่อเนื่องกัน

สรุปความก็แปลว่า เขายังดำรงตำแหน่งต่อไป ติดต่อกับรัฐบาล ติดต่อกับราชสำนักได้ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับราชสาส์นยืนยันมา ข้อนี้ฉันใด ในกรณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนได้ทรงตั้ง ก็จะต้องถือโอกาสเร็วที่สุดที่จะไปจัดการต่อต่อกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ และโดยที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่ และมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีก็จะต้องกระทำการติดต่อกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นโดยเร็วที่สุด ก็คงจะเป็นวันพรุ่งนี้ ถ้าคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินยืนยันในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็ดำรงตำแหน่งต่อไป และในกรณีเช่นนั้น ก็ต้องกลับมาหาสภาฯเพื่อขอมติไว้วางใจอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าเผอิญคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่ยืนยัน คณะรัฐมนตรีก็ตกไป”

พระยาอภิบาลราชไมตรี กล่าวว่า

“ในเรื่องที่เกี่ยวกับทูต ซึ่งท่านที่ปรึกษาได้บรรยายมารเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าขอแถลงให้ท่านทราบกิจการนิดหน่อย ซึ่งข้าพเจ้าได้พบปะมาแล้ว คือ เมื่อข้าพเจ้าเป็นอัครราชทูตประจำอยู่ ณ กรุงโรม และเป็นอัครราชทูตประจำอยู่ที่กรุงลิสบอน ที่นครลิสบอนและกรุงลีดนั้น ในระหว่างนั้น ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศสเปน คือพระเจ้าอัลฟองโสต้องออกจากราชสมบัติ มีปัญหาว่าจะต้องมีราชสาส์นตั้งกันใหม่หรือไม่ ดังนี้ รัฐบาลสเปนได้แจ้งความมาให้ข้าพเจ้าทราบว่า ไม่จำเป็นต้องมีราชสาส์นใหม่ ราชสาส์นเก่านั้น ใช้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลคณะนี้กับคณะทูตจะไม่ต้องมีราชสาส์น ข้าพเจ้าก็เห็นว่ามีตัวอย่างที่ต่างประเทศเขาทำอยู่แล้ว”

นายกรัฐมนตรี ขออนุมัติต่อประธานสภาฯ ให้หม่อมเจ้าวรรณฯ ทรงแถลง

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“ในการที่จะทำเช่นนั้น ก็ทำได้ แต่กรณีต่างกัน ที่รัฐบาลสเปนบอกมาว่าไม่ต้องมีราชสาส์นใหม่นั้น คือเขาฉลาด เพราะว่าเมื่อการปฏิวัติและเปลี่ยนระบอบทีเดียว รัฐบาลใหม่นั้น ระบอบใหม่นั้นจะต้องได้รับความรับรองจากนานาประเทศ เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลนั้นยังใช้ราชสาส์นหรือเอกสารเดิม เป็นการรับรองในตัว แต่กรณีของเรานี้ต่างกัน เพราะว่าเป็นรัฐบาลระบอบเดียว เป็นการสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ใช่เป็นการตั้งรีปับลิคหรือะไรเช่นนั้น และข้าพเจ้าขอยืนยันความเห็นที่ข้าพเจ้าเสนอไว้ว่า ทูตนั้น เขายังมีอำนาจเต็มที่ที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนราชสาส์นที่จะยืนยันมานั้น เป็นวิธีการ ซึ่งในที่นี้ กระทรวงการต่างประเทศก็อาจจะทำความตกลงกับทูตานุทูตอย่างที่สมาชิกเสนอนั้นได้”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า

“ตามมาตรา ๔๖ แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกฯนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาฯเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการให้คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน’ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงตั้งคณะรัฐมนตรี แล้วบัดนี้ความปรากฏ ขึ้นในสภาฯนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว ก็แปลว่า ผู้ทรงตั้งหมดอำนาจจากราชสมบัติ เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสละราชสมบัติไปแล้ว ที่ได้ทรงตั้งไว้นั้น ก็ควรจะหมดอายุตามพระมหากษัตริย์ไปด้วย ข้าพเจ้าเห็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าไม่เป็นไปตามนี้ คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเราเรียกกันว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ควรจะลาออก เมื่อลาออกแล้ว รัฐบาลนี้ก็มีหน้าที่ที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่ไปได้จนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ การตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่นั้น คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่แล้ว คณะนี้ต้องมอบงานให้คณะใหม่ต่อไป หากว่าคณะผู้สำเร็จราชการมีประสงค์จะตั้งคณะรัฐบาลนี้ให้เป็นคณะรัฐบาลต่อไป ก็มีสิทธิจะทำได้โดยตั้งคณะรัฐบาลต่อไป แล้วก็มาขอความไว้วางใจจากสภาฯ ก็ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า รัฐบาลคณะนี้ควรจะลาออกเสียก่อน เพื่อให้ถูกต้องตามวิธีการแห่งรัฐธรรมนูญ ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลนี้ก็ยังไม่สามารถจะอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จกลับพระนคร ด้วยเหตุนี้แหละ รัฐบาลนี้ควรลาออกอย่างยิ่ง”

นายกรัฐมนตรีขออนุมัติต่อประธานสภาฯ ให้หม่อมเจ้าวรรณฯทรงแถลง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร