(ข้อเขียนนี้ เขียนขึ้นและเผยแพร่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และผู้เขียนอยากจะชวนให้คนอ่านในปัจจุบัน นึกย้อนมองไปในประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อ 17 ปีที่แล้ว)
ประเด็นสำคัญที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการยอมรับการรัฐประหารของธงชัย วินิจจกูล คือ
หนึ่ง ถ้าคิดว่ารัฐประหารช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด คำถามมีว่าการนองเลือดเกิดจากอะไร คำตอบคือการนองเลือดเกิดจากการที่สองฝ่ายต่างไม่ถอยให้กัน และเมื่อเผชิญหน้ากัน ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความบังเอิญหรือจากความตั้งใจก็ตาม
ดังนั้น หนทางที่จะไม่ให้เกิดการนองเลือดคือ ไม่พยายามที่จะเผชิญหน้าในลักษณะของการชุมนุมใหญ่ในที่สาธารณะ และเมื่อไม่สามารถไปบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งถอย ธงชัยแนะว่าฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ควรที่จะถอย ต่อประเด็นนี้ธงชัยเห็นว่า ฝ่ายพันธมิตรกลับ ’ไม่ถอย’ ธงชัยยังอ้างถึงกรณี 6 ตุลาที่ตัวเขามักจะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อรู้ว่าจะมีการนองเลือดเกิดขึ้นแล้วทำไม ‘ไม่ถอย’ ซึ่งคราวนี้ธงชัยตั้งคำถามเดียวกันกับฝ่ายพันธมิตร
สอง ในสายตาธงชัย ทักษิณมิได้เป็น ‘ผู้ร้าย’ สำหรับทุกคนในสังคมไทย อีกทั้งทักษิณยังขึ้นสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้วิธีการยึดอำนาจรัฐประหารอย่างที่เผด็จการทหารกระทำในอดีต การยอมรับการใช้วิธีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการล้มทักษิณนั้น ถือว่าเป็นการกระทำจากสภาวะที่สิ้นคิดสิ้นหวัง ไร้ยางอายที่มาจากความอหังการและอคติแบบชนชั้นนำที่ไม่สามารถยอมรับในสิทธิของประชาชนที่เลือกทักษิณเข้ามา โดยไม่คิดว่าสิทธิเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เหล่านั้นมีค่าความหมายแต่อย่างใด ทัศนะแบบนี้ต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
และถ้าจะถามว่า ทักษิณ เป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในโลกหรือไม่ ธงชัยเห็นว่าไม่มีใครสามารถบอกหรือพิสูจน์อย่างแน่ชัดได้ ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่มีต่อทักษิณนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นอัตวิสัยและเถียงกันไปก็ไม่มีข้อสรุป
ความคิดเห็นต่อประเด็นสองประเด็นข้างต้น คือ
หนึ่ง
การเปรียบเทียบเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 กับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของธงชัยนั้นน่ารับฟัง เพราะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่าย อันนำไปสู่การนองเลือด
แต่ความแตกต่างประการแรกคือ ในกรณี 6 ตุลา เกิดการนองเลือดเพราะไม่มีการถอย ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะ/เป็นไปได้สูงที่จะเกิดการนองเลือด ส่วนในกรณี 19 กันยา ยังไม่เกิดการนองเลือด แม้จะไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะถอย แต่ไม่เกิดการนองเลือดเพราะมีการรัฐประหารเสียก่อน
ความแตกต่างประการที่สองคือ ในกรณี 6 ตุลา คู่ขัดแย้งคือ ฝ่ายนิสิตนักศึกษา vs ฝ่ายขวาจัด อันได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ ส่วนในกรณี 19 กันยา คู่ขัดแย้งคือฝ่ายพันธมิตรและประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่ง vs ฝ่ายรักษาการรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่า ในกรณี 6 ตุลา รัฐบาลเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างคู่ขัดแย้ง ส่วนกรณี 19 กันยา รัฐบาลคือคู่ขัดแย้ง
เมื่อรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง สิ่งที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรกระทำก็คือ การอดทน ปล่อยให้การต่อต้านประท้วงดำเนินไปตามขอบเขตของกฎหมาย แต่ในกรณี 19 กันยา รัฐบาลกลับทำตัวเป็นกลุ่มการเมือง จากกรณีสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์ ปล่อยให้เกิดการปลุกระดมจากรายการของสถานีโทรทัศน์ MVTVI และสถานีวิทยุ 93.25 (ซึ่งอยากจะถามว่า ปัญญาชนคนไหนติดตามดูบ้าง? และทราบหรือไม่ว่า มีคนที่ดูหรือฟังมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน?) แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรและประชาชนผู้สนับสนุนพันธมิตรจะล่าถอย แต่กระนั้นฝ่ายรัฐบาลที่ลดตัวลงมาเป็นเพียงกลุ่มการเมืองก็ยังคงจะดำเนินการรุกเพื่อที่จะสยบกระแสในที่สุดอยู่ดี เพราะเดิมพันสำคัญของฝ่ายรัฐบาลไม่เพียงแต่ต้องการจะหยุดกระแสต่อต้านเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อสู้มิให้เกิดการตัดสินยุบพรรคฝ่ายตน หรือแม้ว่ามีการตัดสินยุบพรรคแล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับ โดยปลุกกระแสประชาชนขึ้นมาให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม จนต้องล้มกระดานอยู่ดี ยิ่งเป็น ‘ขาลง’ เพียงไร ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า พวกเขาใช้วิธีการ ‘นอกระบบ’ มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าหากธงชัยจะเรียกร้องให้ใครเป็นฝ่ายถอย ก็น่าจะเรียกร้องให้ฝ่ายทักษิณถอยมากกว่า การถอยที่ว่านี้ อาจจะไม่ขนาดต้องลาออก (เพราะธงชัยมิได้เห็นว่าทักษิณเลวร้ายขนาดต้องลาออก เพียงเพราะกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยกว่าคะแนนเลือกตั้งที่ทักษิณได้รับ)
แต่เรียกร้องให้รักษาการรัฐบาลดูแลให้การชุมนุมต่อต้านอย่างสันติสามารถดำเนินไปได้ โดยไม่มีการแทรกแซงจากมือที่สาม หรือละเว้นจากการเป็นมือที่สามเสียเอง การเรียกร้องให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเป็นฝ่ายถอยเสียเอง ก็เท่ากับว่ามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้เป็นรัฐบาลกับผู้เป็นประชาชน ไม่เห็นความแตกต่างในจริยธรรมความรับผิดชอบของผู้เป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าประชาชนคนใดจะไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านขับไล่ตนก็ตาม
ในขณะที่รัฐบาลทักษิณไม่เคยตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สินของประชาชน ด้วยการปล่อยข่าวลือประกาศเตือนถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่จะมีการชุมนุม อีกทั้งตัว พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ประกาศห้ามปรามการชุมนุมด้วยตัวเองผ่านรายการวิทยุของตนด้วยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ฝ่ายต่อต้านทักษิณต่างหากกลับต้องมาแบกภาระรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน ฝ่ายต่อต้านกลับต้องคิดทุกครั้งในการชุมนุมประท้วง ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าวเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากมือที่สาม ไปๆ มาๆ ฝ่ายต่อต้านทักษิณดูเหมือนจะตระหนักในบทบาทหน้าที่และจริยธรรมของการเป็นรัฐบาลมากกว่ารัฐบาลจริงๆ เสียอีก
ในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าการเรียกร้องจริยธรรมความรับผิดชอบจากคนใกล้ตัวหรือคนกันเอง ดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าการเรียกร้องจากคนไกลตัวหรือคนที่ไม่รู้จัก ขณะเดียวกัน คนที่เป็นเพื่อนกันและมีความเห็นสอดคล้องกับเพื่อนในสาเหตุของปัญหา ก็ย่อมจะเรียกร้องจริยธรรมความรับผิดชอบกับคนที่เป็นศัตรูของเพื่อนมากกว่าจะเรียกร้องจากเพื่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธงชัยจะเป็นมิตรกับฝ่ายพันธมิตร มากกว่าจะเป็นมิตรกับฝ่ายทักษิณ (ตรงนี้ อาจจะเป็นอัตวิสัยของผมเอง!) แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามิตรจะต้องมีความเห็นสอดคล้องกับมิตรในสาเหตุของปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น โดยยอมละทิ้งหลักการมุมมองของตัวเองไปเพื่อเพื่อน
สอง
ธงชัยแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างชัดเจนว่า ทักษิณไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น และการประเมินว่าทักษิณเลวร้ายขนาดนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยและสามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ธงชัยเห็นว่า การยอมรับวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการต่อสู้โค่นล้มทักษิณ เท่ากับการไม่ยอมรับสิทธิเสียงข้างมากของประชาชนในสังคมไทย เป็นการละเลยดูแคลนสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะการมองว่า ประชาชนเหล่านั้นโง่ ไร้การศึกษา เห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้น ซึ่งมุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การยอมรับวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการไม่เคารพเสียงข้างมากต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าตัวทักษิณเสียอีก
ถ้าธงชัยมองว่า การมองว่าทักษิณเป็นวิกฤติเลวร้ายเป็นการมองที่เป็นอัตวิสัยและถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ธงชัยก็น่าจะยอมรับว่ามุมมองของเขาก็เป็นอัตวิสัยด้วย และจะว่าไปแล้ว ภายใต้ประชาธิปไตย ทุกความเห็นโดยเฉพาะเรื่องดี-เลวล้วนเป็นอัตวิสัยทั้งสิ้น ยากที่จะตัดสินยกให้ความเห็นใดเป็นสภาวะวิสัยได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะชื่นชมหรือต่อต้านรัฐบาลได้เสมอกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยอยู่อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือ รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะเป็นฝ่ายรุก-บ่อนทำลายหรือสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้หรือสยบกระแสต่อต้านตน
การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านทักษิณเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย หาใช่การละเลยเสียงข้างมาก ธงชัยเรียกร้องให้เสียงข้างน้อยแบกความรับผิดชอบ เสียสละ ต้องเป็นฝ่ายถอย ตั้งรับ เพราะธงชัยเห็นว่าคนในฝ่ายนี้มีการศึกษาดีกว่า มีฐานะดีกว่า เป็นชนชั้นนำ (elite) เป็นคนเดือนตุลา (เก่า) ธงชัยไม่ได้มองคนทั้งสองฝ่ายนี้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน แต่ธงชัยมองคนฝ่ายต่อต้านทักษิณในฐานะคนรู้จัก ในฐานะมิตร โดยลืมไปว่า ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนนั้นมีคนทุกระดับปะปนกันอยู่
ไม่ทราบเหมือนกันว่า ในที่สุดแล้ว นิยามประชาธิปไตยก็คงเป็นเรื่องอัตวิสัยด้วยกระมัง ประชาธิปไตยมิได้มีไว้เพื่อคนจนส่วนใหญ่ที่ถูกปั่นหัวโดยชนชั้นนำ หรือประชาธิปไตยมีไว้เพื่อคนทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด กล่าวได้ว่า สำหรับธงชัยการไม่ถอยของพันธมิตรทำให้รัฐประหารครั้งนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องยอมรับไปในที่สุด
ในอีกด้านหนึ่ง คำถามต่อไปนี้ที่ว่า ทำไมทักษิณไม่แถลงในสภา ทำไมทักษิณยุบสภา ทำไมทักษิณไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ทำไมตำรวจไม่เร่งดำเนินคดีทักษิณที่มีการฟ้องร้องไว้มากมาย ทำไมทักษิณไม่เว้นวรรค ไม่ลาออก ทำไมทักษิณปล่อยให้มีการใช้กำลังรุนแรงทำร้ายฝ่ายต่อต้าน ทำไมทักษิณปล่อยให้มีการปลุกระดมทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ธงชัยน่าจะตั้งคำถามเหล่านี้กับฝ่ายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐบาล’ บ้าง ไม่ใช่หรือ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อดีตรองหัวหน้าเพื่อไทย แนะวิธีติดเบรกคนหลงตัวเอง-ลุแก่อำนาจ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า "คน
'ภูมิธรรม' การันตีไม่มีปัญหาพรรคร่วมเห็นต่าง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานกานณ์ทางการเมือง ที่หลายคนถามรัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ ว่า หากดูจา
'ภูมิธรรม' เซ็ง 'เอ็มโอยู44' ถูกปลุกปั่นจนออกนอกอวกาศ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเอ็มโอยู 44 ว่า ตนยังยึดหลักเดิม เพราะควรใช้ความอดทนอดกลั้นและความเข้าใจ เพราะเอ็มโอยู 44 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร
'อนุทิน' โวรัฐบาลชุดนี้ มีเสถียรภาพมากสุด เชื่ออยู่ครบเทอม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณี
'จตุพร' มองการเมือง 2568 สัมพันธ์อำนาจระแวงบีบกด ฉุดบ้านเมืองเข้ามุมอับ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ส่งท้ายปี 2567 ว่า ในปี 2568 บ้านเมือง
‘ทักษิณ’ ติงสื่อขยายข่าวมากเกินไป! หลัง คุยกับ ‘อันวาร์’
ที่อาคารมูลนิธิไทยรัฐ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี