การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๖๙): การกำหนดจำนวนผู้ลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน  ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่  พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  (๑๑๒ คะแนน)   กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ได้กำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีวาระดำรงตำแหน่งนานเท่าไร แต่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ผู้แต่งตั้งย่อมมีสิทธิ์จะถอดถอนและตั้งใหม่ได้  ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้รัฐบาลประกาศรายงานการประชุมการลงมติแต่งตั้งต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อหายข้อข้องใจ  แต่มีสมาชิภสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นควรให้มีการพิจารณาตัดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมออก และควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น และได้มีการตั้งคำถามถึงจำนวนในการลงนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ให้ลงนามเพียงผู้ที่เป็นประธาน หรือต้องลงนามทั้งคณะ หรือเพียงสองในสาม ทำให้มีผู้เสนอให้มีการร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของคณะผู้สำเร็จราชการขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีผู้อ้างว่ามีกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว

เมื่อมีปัญหาในข้อกฎหมาย นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) จึงขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้ความเห็นต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

หม่อมเจ้าวรรณไวยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“บทบัญญัติในกฎมณเฑียรบาลได้เปลี่ยนแปลงไปหด้วยประการฉะนี้ คือ คณะหรือสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตามกฎมณเฑียรบาลประกอบด้วยฝ่ายบริหาร คือว่าเจ้านายกับเสนาบดี และในขณะนั้น เรื่องวีโต ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะอำนาจบทบัญญัติและอำนาจบริหารบัญญัติยังปนกันอยู่ แต่บัดนี้ หลักการได้เปลี่ยนแปลงไป และสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ ซึ่งสภาฯเป็นผู้ตั้ง และโดยเหตุที่ได้แยกอำนาจนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารออกมาแล้ว อำนาจจึงได้ต่างกัน คราวนี้ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งคณะรัฐมนตรี หรืออีกนัยหนึ่ง มอบอำนาจให้แก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็เกี่ยวกับวิธีพิจารณาของคณะนั้นว่า จะถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือจะต้องถือมติเป็นเอกฉันท์

ข้าพเจ้าจะขอชี้แจงในทางเทคนิค คือหมายความว่า จะถือมติโดยเอกฉันท์ หรือว่าจะถือมติ ๒ คน ลงมติอย่างใดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นมติของคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  และคนเดียวแย้งก็ไม่เป็นผลสมบูรณ์อย่างนี้ คือว่า วิธีพิจารณาของคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎรจะให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณหรือว่าอย่างไร  คือว่า ถ้าคนใดคนหนึ่งในสามคนแย้ง ก็ไม่เป็นผลสมบูรณ์  และจะต้องการมติพร้อมกันแล้ว คือ แปลว่าคนหนึ่งอาจจะวีโตได้ อะไรเช่นนี้แหละ และอาจจะไม่เซ็น เพราะฉะนั้น เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของเอกสารที่ผู้สำเร็จราชการทั้ง ๓ นั้นจะลงนาม และโดยที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้ง รัฐบาลจึงขอซ้อมความเข้าใจ และขอมติของสภาฯไว้  ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การตีความทางศาลจะสมบูรณ์หรือไม่นั้นจะเกิดขึ้น”

ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า “เวลานี้ มีญัตติอยู่ ๓ อย่าง คือ

๑. ว่าให้ประธานเป็นผู้ลงนามคนเดียว

๒. มีไม่ต่ำกว่า ๒ คน ข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอ และ

๓. ให้ลงนามทั้ง ๓ นาย

และส่วนของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าขอถอน เพราะฉะนั้น เหลืออยู่ ๒ ข้าพเจ้าขอให้ลงมติว่าควรจะเป็น ๑ หรือ ๒ “

นายแทน วิเศษสมบัติ  นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ รับรอง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะขอเสนอเสียทีเดียวดีกว่ากระมัง เพราะว่า คนหนึ่งอาจจะวีโตได้ด้วยคนๆเดียว เพราะฉะนั้น เอาไว้ ๒ ดีกว่า ใครจะเห็นด้วย”

นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ขอเอาเสียงข้างมาก”

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอกล่าวในเรื่องแบบ พูดถึงเรื่องแบบแล้ว จะต้องเป็น ๑ และ ๓  จะเป็น ๒ หาได้ไม่ เพราะกรณีที่จะมอบหมายทำงานชนิดนี้แล้ว จะต้องเป็นประธานคนเดียวลงนามแทนคณะนั้น แต่คณะนั้นจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในกรณีเช่นนี้ เหมือนในกรณีของคณะผู้พิพากษา จะต้องทั้งคณะรวมกัน เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ เราจะแยกออกให้ผิดแบบในหลักการทั่วไปนั้น หาได้ไม่   จึงจำเป็นจะต้องเอา ๑ หรือ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ๒ นั้นไม่ถูกแบบ  เพราะไม่ชอบด้วยแบบ แล้วตามความเห็นของข้าพเจ้า คือว่า คณะผู้สำเร็จราชการเช่นนั้น และในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจวีโตอะไรเหล่านั้น จำเป็นจะต้องให้คณะรับผิดชอบ จึงจำเป็นจะต้องลงนามทั้ง ๓ คน”

นายมังกร สามเสน กล่าวว่า “ในการที่จะได้ลงนาม ๓ คนนั้น หาเป็นการสะดวกไม่ เพราะเหตุว่า บางที คนใดคนหนึ่งไม่อยู่ กิจการนั้นก็จะสำเร็จไม่ได้ ข้าพเจ้าเห็นว่า มีประเพณีอยู่แล้ว”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “มีผู้ขอให้ลงมติแล้ว ผู้ที่เสนอให้ประธานลงนามคนเดียวนั้น ยังติดใจอยู่อีกหรือ”

นายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังรู้สึกสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่พูดกันนี้เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเกี่ยวด้วยเรื่องลงนาม อีกอย่างหนึ่งที่เจ้าคุณนายกฯพูดเมื่อกี้นี้ว่า ถือเสียงข้างมาก ๒ คนหรืออย่างไร ข้าพเจ้าสงสัยว่า จะไม่ใช่ญัตติเดียวกัน”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “นายกฯ เสนอว่าเป็น ๒ คน และไม่น้อยกว่า ๒ คนลงนาม”  นายกรัฐมนตรี ขออนุมัติต่อประธานสภาฯให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแถลง

หม่อมเจ้าวรรณไวยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“อันที่จริง ผลก็เป็นอย่างเดียวกัน จะถือว่า มติข้างมากเป็นประมาณ หรือว่า ๒ ท่านลงนาม ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อมีร่างพระราชบัญญัติเสนอขึ้นไป ถ้าตกลงว่าคนเดียว แล้วใครจะเป็นผู้เซ็น คงจะเป็นประธานฯเป็นผู้เซ็ฯ และเผอิญประธานฯไม่เห็นด้วย ประธานฯไม่เซ็น นั่นคือ วีโต นั่นท่านไม่ทำอะไรแล้ว ก็ต้องกลับมาสู่สภาฯ และเมื่อกลับไปครั้งที่สองแล้ว ก็นิ่งเฉยๆ เรื่องก็อึดอัด เพราะฉะนั้น เรื่องเช่นนี้จะถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ การเซ็นก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ถ้าคนเดียวเซ็นได้ และไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นการวีโตเช่นนี้”                              ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า “๒ คนหรือไม่น้อยกว่าก ๒ คนที่เจ้าคุณนายกฯ ว่าจะลงนาม ๒ คนหรือไม่น้อยกว่า ๒ คน”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะให้ลงมตืว่า ใครจะเห็น......”

หลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอถอน”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “บัดนี้ สมาชิกที่เสนอว่า ควรให้ประธานฯลงนามนั้นถอนแล้ว ทีนี้ คงมีแต่ว่าจะให้ลงนามอย่างน้อย ๒ คนหรืออย่างไรก็ตาม”

นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า

“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเสนอให้ลง ๓ คน การที่ทำงานนั้น เราเอาเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ร่วมกันเป็นเอกฉันท์ลงนามสามคน ในกรณีที่เอาเสียงข้างมากลงนาม ๒ คนก็ได้”

(มติของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อจำนวนผู้ลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป)        

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร