ข้อเขียนนี้ ผมเขียนมานานแล้ว น่าจะเกินสิบปี เห็นว่ายังทันสมัยอยู่ จึงหยิบมาปัดฝุ่นปรับเล็กน้อย เล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง
บ่ายวันหนึ่ง หลายปีมาแล้ว ขณะที่ผมกำลังเป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตคนหนึ่ง มีโทรศัพท์แจ้งว่า ลูกชายผมถูกรถชน แต่ไม่ได้เป็นไรมาก แม้ว่าจะถูกชนล้มลงไปกองบนถนน (ถูกชนครั้งนี้ คนละครั้งกับที่ถูกชนจนต้องผ่าตัดใบหน้า !)
ที่ว่าไม่เป็นไรมาก ก็เพราะเขาสามารถลุกขึ้นและเดินต่อไปได้คล้ายคนปกติ สอบถามเพิ่มเติมได้ความว่า เขาลุกขึ้นมาและบอกกับคนขับรถว่า เขาไม่เป็นไร และขอให้รถคันนั้นขับไปตามทางที่อยากไปต่อไปเถิด และรถคันนั้นก็ขับจากไปจริงๆ อย่างเชื่อฟัง
อย่างน้อยน่าจะมีใครสักคนถามว่า “หนู ห้อยพระหรือเปล่า พระอะไร?”
และจะว่าไปแล้ว นอกจากจะไม่มีใครถามคำถามนั้น มันก็ไม่มีใครถามคำถามอะไรอื่นๆ อีกด้วย คนแถวนั้นดูจะไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย คงคิดว่า มันคงเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลกกับรถในเมืองไทย
เหตุที่ลูกชายผมไม่เอาเรื่องกับคนขับรถคันนั้น ก็เพราะเขาคิดว่าเขาเป็นฝ่ายผิด ที่ข้ามถนนไม่ดูให้ดี แถมยังวิ่งข้ามถนนอีกด้วย นอกจากนี้ เขาไม่ได้ข้ามตรงทางม้าลายด้วย หลังจากถูกรถชนและลุกขึ้นเดินไปแล้ว แน่นอนว่า จุดหมายที่น่าจะเป็นปลายทางต่อไปของเขาก็คือ...โรงพยาบาล
วิทยานิพนธ์ที่ผใดำเนินการสอบ ในขณะที่ลูกผมถูกรถชนนั้นทำทีจะได้รับการประเมินในระดับดีมาก หากมีการแก้ไขปรับปรุงอีกสักหน่อย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับการกดขี่ขูดรีดในวงการเพลงลูกทุ่งไทยโดยใช้ทฤษฎีคมาร์กซิสม์เป็นกรอบในการวิเคราะห์ นับเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกๆ ที่วิเคราะห์ด้วยกรอบนั้นในประเด็นดังกล่าว หลังจากที่ผมสอบวิทยานิพนธ์จนเสร็จสิ้นกระบวน การแล้ว ก็ได้ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์รุดไปยังที่เกิดเหตุ
หลังจากสอบถามร้านถ่ายเอกสารและร้านทำผมซึ่งเป็นร้านที่ตั้งอยู่หน้าบริเวณที่เกิดเหตุ ทราบว่า รถที่ชนเป็นรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าสีบรอนซ์ สภาพเก่าแล้ว ขับมาไม่เร็ว แต่ห้ามล้อเสียงดังมาก เพราะเด็กเสื้อยืดดำวิ่งตัดหน้า และไม่ได้ข้ามตรงทางม้าลาย ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้ง 4 คนจาก 2 ร้านนั้นต่างจำหมายเลขทะเบียนรถคันนั้นไม่ได้ และต่างรายงานตรงกันอีกด้วยว่า ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก เพราะเห็นเด็กนั้นลุกขึ้นเดินเหินต่อไปเป็นปกติ มุ่งหน้าไปยังทิศทางที่กำลังวิ่งไปในตอนก่อนถูกรถชน และคนทั้งสี่นั้นก็พร้อมใจกันตอกย้ำว่า เด็กไม่ได้ข้ามตรงทางม้าลายและก็วิ่งตัดหน้าด้วย พวกเขาไม่ทราบว่าผมเป็นพ่อของเด็กคนนั้น เพราะผมไม่ได้แนะนำตัวอะไร
หลังจากประมวลคำให้การและพิจารณาที่เกิดเหตุแล้ว พบว่าบริเวณที่เด็กเสื้อยืดดำ (ลูกชายของผมเอง) วิ่งตัดหน้ารถกระบะจนถูกชนนั้น อยู่ห่างจากทางม้าลายเพียง 3 ก้าวผู้ใหญ่อย่างผมเดิน
ซึ่งในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะอยู่ห่างทางม้าลายสักเพียงใด และไม่ว่าคนข้ามจะวิ่งตัดหน้าอย่างไร ผู้ขับรถย่อมเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบอยู่เสมอ แต่ในกรณีนี้ อยู่ห่างม้าลายเพียง 3 ก้าวเดิน อีกทั้งอยู่หน้าโรงเรียนเสียด้วย ดังนั้น ความเห็นที่ว่า รถไม่ได้เป็นฝ่ายผิด แต่เด็กเองที่ผิดจึงเป็นเพียงแค่ความเห็นผิดๆ ของคนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจกฎหมายจราจร
คนที่เห็นผิดๆ นี้ไม่เพียงแต่ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งสี่ แต่เจ้าลูกชายของผมก็ด้วย
ที่ผมมั่นใจว่า มันเป็นความเห็นที่ผิดๆ ก็เพราะผมผ่านเรื่องแบบนี้มามาก ไม่ว่าจะเป็นการถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลายตอนประถม 5 หรือประสบพบเห็นคนถูกรถชนบนท้องถนนก็หลายครั้ง โดยเอาตัวเองเป็นพยาน หรือขณะขับรถด้วยตัวเองแล้วลองเปรียบเทียบการขับรถตามกฎจราจรจริงๆ กับการขับรถตามสบาย
จริงๆ แล้ว การขับรถบนท้องถนนในเมือง เขามีกฎหมายกำหนดความเร็วไว้ ซึ่งถ้าเอาตามกฎหมายจริงๆ รถในกรุงเทพฯจะไม่สามารถวิ่งกันเร็วๆ ได้อย่างที่เห็น รวมทั้งบนทางด่วนด้วย ถ้าขับด้วยความเร็วที่กำหนดไว้ และถ้ามีใครข้ามถนนวิ่งตัดหน้า ก็จะสามารถหยุดรถได้ทันท่วงที หรือไม่ก็ไม่มีการบาดเจ็บสาหัส
และที่สำคัญถ้าคนขับรถเข้าใจกฎจราจรดี หรือไม่ก็ไม่หน้าด้าน เขาย่อมจะต้องตระหนักรู้ว่าตนขับรถโดยประมาทหรือไม่ หรือเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ
ตอนถูกรถชนขณะข้ามทางม้าลายสมัยอยู่ประถม 5 (เรื่องนี้เล่ามาแล้วครั้งหนึ่ง) ผมข้ามทางม้าลายมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่หยุดเพราะไม่แน่ใจว่า รถเก๋งที่วิ่งมาจะหยุดให้ข้ามหรือไม่ แต่เมื่อเห็นว่ารถเก๋งหยุดให้ข้าม จึงตัดสินใจวิ่งตื๋อออกไป เลยถูกรถมอเตอร์ไซค์ชน ล้มระเนระนาดทั้งคนขี่และคนถูกชน
ผู้อ่านคงจินตนาการภาพเหตุการณ์เช่นนี้ได้ไม่ยาก “รถเก๋งหยุดแล้ว แต่มอเตอร์ไซค์มันไม่ยอมหยุด” ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ยังเกิดให้เห็นอยู่เสมอทุกทางม้าลายที่ “รถเก๋งหยุดแล้ว แต่มอเตอร์ไซด์ซิยังไม่ยอมหยุด”
คนข้ามถนนที่มีทักษะจริงๆ ย่อมจะต้องชะเง้อมองให้ถี่ถ้วนว่า ถึงแม้รถเก๋งหยุด แต่อาจจะมีมอเตอร์ไซค์สายพันธุ์องคุลีมาลพุ่งออกมาก็ได้
หลังจากถูกชน ผมลงไปกองบนพื้นถนน ไม่รู้สึกตัวอยู่อึดใจหนึ่ง พยายามจะลุกแต่ลุกไม่ไหว เพราะจุกแอ้กๆ ใจอยากจะนอนต่อไปอีกสักหน่อย เพื่อนที่มาด้วย (แต่ไม่ถูกชน เพราะมีทักษะในการข้ามถนน) ถามว่าเป็นอะไรไหม ผมย่อมตอบเหมือนกับที่ลูกผมตอบเปี๊ยบเลยว่า ไม่เป็นไร ใครไม่รู้ที่มามุงดูตะโกนถามว่า เจ็บไหม ผมก็กลับตอบไปตรงๆ ว่า เจ็บ !
เพียงแต่ลูกผมเป็นอภิชาตบุตร เพราะเขายืนยันว่า ไม่เจ็บ !
พอสามารถชันตัวลุกขึ้นมาได้ สิ่งแรกที่ออกมาจากปากองคุลีมาลที่กลับชาติมาเกิดเป็นคนขี่มอเตอร์ไซด์คนนั้นก็คือ “ไอ้หนู มึงวิ่งออกมาทำไมวะ ?” แว่บแรกที่ผมได้ยิน ผมเชื่อสนิทเลยว่า ตัวผมเป็นฝ่ายผิด แต่ขณะเดียวกันก็งงๆ อยู่เหมือนกันเพราะ ครูเคยสอนว่า ให้ข้ามถนนตรงทางม้าลาย เพราะรถเขาจะหยุดให้ ผมงงไปหมดตอนนั้น พอจะก้าวขาเดินต่อไป ก็รู้สึกว่ามันเจ็บปวดมาก ผมทำท่าจะทรุดลงตัวนอนบนพื้นถนนต่อไปอีก แต่เพื่อนผมมันรั้งตัวผมไว้ น่าจะเป็นเพราะว่า ขณะนั้นมันเป็นเวลาประมาณ 3 โมงเย็นของวันพฤหัสบดีวันหนึ่ง อากาศร้อน แดดเปรี้ยง และถนนนั้นมันก็ไม่น่านอน เพราะมันเป็นถนนที่ใหญ่มาก (สำหรับเด็กๆ อย่างเราขณะนั้น และแม้แต่บัดนี้ ผมก็ว่ามันยังเป็นถนนใหญ่อยู่)
มันคือถนนพระรามสี่ บริเวณทางม้าลายและแยกไฟแดงที่ถ้าใครออกมาจากถนนบรรทัดทอง (สะพานเหลือง) แล้วเลี้ยวซ้ายก็จะพบทางม้าลาย ทางม้าลายนั้นแหละคือที่ที่ผมถูกรถชนกลิ้งไปกองบนพื้น
การนอนต่อไปบนถนนพระรามสี่คงไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์นักสำหรับเพื่อนผม ส่วนตัวผมขณะนั้น ว่าไปแล้ว ไม่สนอะไรทั้งสิ้น มันทั้งเจ็บและทั้งเพลีย
ผลพวงจากการถูกรถชนอย่างแรงในวันนั้นก็คือ สมองผมไม่เป็นอะไร (ที่จริงก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันปกติคนหรือเปล่า ?!) แต่ซี่โครงซี่สุดท้ายทางขวาของผมนั้นมันปูดเด่นออกมาให้เห็นจนบัดนี้ สัปดาห์แรกๆ หลังจากถูกชน มันเจ็บมาก แต่ทุกวันนี้ มันเหลือแต่ความเจ็บใจเท่านั้น
และยิ่งเจ็บใจมากขึ้น เมื่อลูกชายผมทำตัวเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นสักเท่าไร นั่นคือ ถูกชนห่างจากทางม้าลายสามก้าว แต่เป็นอภิชาตบุตรตรงที่เลือกให้รถกระบะมันชน เพื่อพิสูจน์ความเหนือกว่าและแกร่งกว่าผู้เป็นพ่อ ถูกมอเตอร์ไซค์ชนมันกระจอก และดูจะเป็นการทำอะไรตามเงาของพ่อ ซึ่งคนที่เกิดมาเป็นพวกลูกคนคนดังมักจะมีปัญหา เพราะใครๆ ก็คาดหวัง ถ้าทำได้เท่าพ่อ ผู้คนก็เฉยๆ ดังนั้น เมื่อพ่อถูกมอเตอร์ไซค์ชน ลูกก็ต้องให้กระบะชน
อย่างนี้ ถ้าลงไปถึงรุ่นหลานผม สงสัยมันคงต้องบวกกับสิบล้อกระมัง ?!
ผมคาดหวังว่า น่าจะมีนิสิตปริญญาโทคนใดทำวิทยานิพนธ์เรื่องการกดขี่และความรุนแรงประจำวันบนท้องถนน ที่ไม่ต้องดัดจริตทนไม่ได้กับความรุนแรงจากการใช้กระบอกปืนยิงกระสุนปลอมเข้าใส่กลุ่มคนที่กำลังบ้าดีเดือด หรือเข็นรถแก๊สออกมาขู่เผาบ้านระเบิดเมือง
แต่ขอบอกก่อนนะว่า ถ้านิสิตคนไหนหรือปัญญาชนคนใดจับเรื่องที่ผมเสนอมานี้ รับรองได้เลยว่า ไม่เท่ ไม่หล่อ ไม่สวย ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่ชายขอบ ไม่ฟูโก้ ไม่แดริดา ไม่ชอมสกี้ ไม่บูดิเออร์ ไม่ชิเช็ก ไม่ปัญญาชน ไม่เป็นข่าว ไม่เที่ยงคืน ไม่ประชาไท ไม่มีใครโพสต์ และไม่มีคนรุมฟอร์เวิร์ดส่งต่อในเนททำสถิติกันให้เอิกเกริก
ถ้าผู้นำทางการเมืองคนใดแก้ปัญหานี้ได้ ผมก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไรกับเขามากนัก ใช่ไหม ? แม้ว่าเขาหรือเธอผู้นั้นจะไม่มาจากวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตย
หรือถ้านักโทษชายทักษิณแก้ปัญหานี้ได้ ผมก็ควรจะปล่อยให้แกทำอะไรต่อมิอะไรกับบ้านเมืองไป และก็ยอมให้มีการอภัยลดโทษไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น