หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย
สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ (๑๑๒ คะแนน) กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)
ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ได้กำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีวาระดำรงตำแหน่งนานเท่าไร แต่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ผู้แต่งตั้งย่อมมีสิทธิ์จะถอดถอนและตั้งใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้รัฐบาลประกาศรายงานการประชุมการลงมติแต่งตั้งต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อหายข้อข้องใจ แต่มีสมาชิภสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นควรให้มีการพิจารณาตัดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมออก และควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น
นายมนูญ บริสุทธิ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า รัฐบาลนี้มีหน้าที่รักษาความสงบของประเทศ เพราะฉะนั้น ควรจะมอบให้รัฐบาลประกาศเท่าที่ประกาศได้จะดีกว่า”
น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี กล่าวว่า “ปัญหาในเรื่องการโฆษณาเรื่องที่สมาชิกข้องใจกันนี้ ได้ปรึกษากันแล้วในคณะรัฐมนตรี ได้เห็นว่าในขั้นนี้ คือ พรุ่งนี้ ก็จะมีการประกาศ ๒-๓ ฉบับเกี่ยวกับการลาออกและตั้งพระเจ้าแผ่นดินใหม่ ประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการและจะมีเอกสารแถลงย่อๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลาออก รัฐบาลตั้งใจว่าจะได้รับพระราชหัตถ์อันแท้จริงมาแล้ว ก็จะได้ประกาศเรื่องราวทั้งหมด คือเรื่องราวที่ดำเนินมาอย่างไรตามสำเนาที่เสนอต่อสภาฯ และในเรื่องนั้น รัฐบาลจะไม่มีความเห็นอะไรอย่างไร นอกจากจะแถลงการณ์ต่างๆให้ฟังโดยแท้จริง แต่นี่ก็ไม่ได้ตกลงโดยแน่นอน จะต้องรอดูเหตุการณ์ทั่วๆไปด้วย”
นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “รัฐบาลอยากจะเสนอว่า ผู้สำเร็จราชการที่จะลงนามในหนังสือราชการจะต้องลงนามคนเดียว แต่ประธานคนเดียว หรือจะต้องลงนาม ๒ คน หรือจะต้องลงนามทั้ง ๓ คน ถึงจะเป็นอันว่ากฎหมายนั้นใช้ได้”
หลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าต้องลงนาม ๓ คน จะยุ่งยากใหญ่ทีเดียว อย่างไรก็ดี ท่านทั้งคณะก็รับผิดชอบตรงกันและกันแล้ว เพราะฉะนั้นท่านประธานคนเดียวก็พอแล้ว”
ด. ยู่เกียง ทองลงยา รับรอง
นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎร จังหวัดมหาสารคาร กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังสงสัยต่อไปอีก คือ ถ้าหากว่ามีความเห็นแย้งกัน จะเป็นอย่างไร ๓ คนมีความเห็นเป็น ๓ ทางเช่นนั้น”
พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า การที่จะลงนามในหนังสือในตำแหน่ง ๓ ท่านนั้น เห็นว่า ในต้นร่างควรจะลงทั้ง ๓ แต่ว่า ตัวจริงที่จะแสดงออกไป ควรจะลงแต่ประธาน”
นายแข ยูนิพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า
“ในเรื่องที่จะลงนาม ข้าพเจ้าอยากจะอ่านกฎมณเฑียรบาลนี้ให้ฟังอีกสักหน่อย บางทีพอจะแก้ความข้องใจได้บ้าง ในมาตรา ๑๘ มีว่า ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับท่านสมุหมนตรีอีก ๒ รวมด้วยกันเป็น ๓ นี้ ท่านว่าให้ขนานนามเรียกว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หรือเรียกโดยย่อว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน” กิจการทั้งปวง ที่โดยปกติ ตกเป็นพระราชภาระของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ตกเป็นภาระของสภาสำเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเจริญพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์แล้ว จึงให้สภาสำเร็จราชการแผ่นดินมอบพระราชภาระถวายเพื่อทรงรับและปฏิบัติราชการกรณียกิจต่อไปตามโบราณราชประเพณี อนึ่งราชกิจที่นับว่าเป็นการดำเนินตามระเบียบอันมีแบบแผนอยู่แล้ว ท่านว่าให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบัญชารับสั่งและลงพระนามโดยลำพังได้ แต่ราชการใดเป็นเรื่องที่มีปัญหาโต้แย้งก็ดี เกี่ยวด้วยเปลี่ยนแปลงหลักแห่งรัฐประศาสโนบายก็ดี เกี่ยวด้วยการออกพระราชกำหนดกฎหมายใหม่ หรือแก้ไขพระราชกำหนดกฎหมายที่มีอยู่แล้วก็ดี ท่านว่า ต้องให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ลงนามในคำสั่ง และให้สมุหมนตรีทั้ง ๒ ท่านลงนามกำกับด้วย จึงจะใช้ได้ นี่น่าจะอนุโลมตามได้” ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า “สำหรับผู้สำเร็จราชการนั้น มีอยู่ ๓ เป็นคณะ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าจะให้ลงนามทั้ง ๓ บางทีก็จะเป็นการลำบาก เรามีกฎหมายต่างๆอยู่เสมอ แม้เจ็บป่วย งานก็จะช้านัก ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าจะลงคนเดียว ก็ยังไม่เห็นสมควร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้ลง ๒ คน”
นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการบริหารของคณะ อย่างคณะผู้พิพากษา คือจะต้องลงชื่อทั้งคณะนั้นเพียง ๓ คนเท่านั้น จะไม่เป็นการลำบากเกินควร ถ้าหากว่าจะเอาความลำบากมาทำให้ผิดแบบ ก็ไม่ควร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะลงทั้งคณะ”
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยกับผู้แทนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ควรจะต้องลงนามทั้งคณะ หากว่ามีการเจ็บไข้ ก็ไปลงชื่อที่บ้านได้ อีกประการหนึ่ง ๓ คนมีความเห็นไม่ตรงกัน สมมุติว่า คนหนึ่งมีความเห็นแย้งก็ให้ลงนามแต่เพียง ๒ คน คือ ผู้ที่มีความเห็นร่วมกัน ซึ่งผู้ที่มีความเห็นแย้ง ให้ทำความเห็นแย้งไว้”
ขุนอินทรภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพ็ชร์บูรณ์ กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าไม่มีความเห็นพ้องด้วยในการที่จะให้ลงนาม ๓ คน กิจการใดก็ควรจะอนุโลมตามฝ่ายบริหาร คือเวลานี้ สำหรับบ้านนอก เรียกว่าคณะกรรมการจังหวัดๆมี ๔-๕ คน เวลาเขาลงนามในคำสั่งก็มี เขาไม่ได้ลงนามทั้งหมด ลงนามแต่ข้าหลวงคนเดียว คือผู้ที่รับผิดชอบกิจการ ที่เราตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ๓ คน ทีนี้ที่เป็นประธานคนหนึ่ง เราก็เลือกได้แล้ว เราเอาใคร กิจการทั้งหมดมีผู้รับผิดชอบร่วมกันแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ลงนามทั้ง ๓ คน เพราะเหตุว่า ถ้าหากเกิดเจ็บป่วย อาจไปเซ็นที่บ้านก็ได้ ถ้าหากว่าไปเมืองนอก พระราชบัญญัตินี้จะออกได้หรือ เพราะอีกคนหนึ่งยังไม่มา เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องให้ประธานลงนามคนเดียวนั้น เพื่อจะเอางานเป็นใหญ่ดีกว่า”
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี กล่าวว่า
“ตามที่ผู้แทนเพ็ชร์บูรณ์ให้ความเห็นเมื่อสักครู่นี้ ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าสังเกตว่า งานฝ่ายบริหารแล้ว รัฐมนตรีทุกคนไม่ต้องลงนาม ลงแต่นายกฯ งานนั้นก็เป็นรูปสำเร็จได้ อีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าพระราชบัญญัติใดลงนามทั้ง ๓ คน เกิดความเห็นแย้งกันขึ้น ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็จะมีความเห็นแย้งติดอยู่ ก็จะเป็นการลำบากมาก ถ้าหากว่าจะให้เซ็นนามแต่เพียงคนเดียวก็จะสะดวกมาก เพราะได้ตกลงกันเป็นการภายในมาแล้ว มิฉะนั้น จะยุ่งยากมากทีเดียว”
นายฟัก ณ สงขลา ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องนี้ ข้าพเจ้าอยากจะเสนอความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลก่อน รัฐธรรมนูญนั้นได้กำหนดเฉพาะเปลี่ยนรัชกาล ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งในรัฐธรรมนูญมิได้มีกฎหรือระเบียบแบบแผนที่จะให้เลิกล้างกฎมณเฑียรบาลโดยชัดแจ้ง ในชั้นนี้ รับรองแล้วว่า กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายที่ใช้ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีทางที่จะลบล้างแล้ว ก็น่าจะอนุโลมตามกฎมณเฑียรบาลได้ แต่อย่างไรก็ดี กรณีก็ยังเป็นปัญหาอยู่ว่า ข้อความในรัฐธรรมนูญลบล้างได้หรือไม่ กรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เราก็ควรจะกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติและแบบแผนอีกชั้นหนึ่งในชั้นแรก ถ้าหากว่า จะวางไป จะกระทำให้เป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลแล้ว จะเกิดปัญหายุ่งยากหรือการขัดข้อง เห็นว่าถ้าจะพิจารณาเปลี่ยนไป เราก็จะร่างได้โดยร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ กำหนดเสียว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการสำหรับคณะผู้สำเร็จราชการนั้น ควรจะปฏิบัติกันประการใด”
นายกรัฐมนตรี ขออนุมัติต่อประธานฯให้หม่อมเจ้าวรรณไวยทยากร วรวรรณ ทรงแถลง
(เมื่อมีปัญหาในข้อกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้ความเห็นต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร/ผู้เขียน)
โปรดติดตามตอนต่อไปว่าหม่อมเจ้าวรรณไวยทยากร วรวรรณจะทรงให้ความเห็นที่เป็นทางออกต่อประเด็นเรื่องการลงนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร