การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 6)

 

แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีการเนรเทศอย่างเป็นทางการ แต่การหลบลี้หนีออกไปเพราะต้องคดีหรือโดนกดดันจากกระแสภัยการเมือง ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นการถูกเนรเทศกลายๆได้

กรณีที่คุณทักษิณ ชินวัตรเดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็น่าจะเข้าข่ายถูกเนรเทศ ในช่วงเวลาที่คุณทักษิณจะเดินทางออกไปนั้น คือปี พ.ศ. 2551   รัฐบาลขณะนั้นคือ รัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งก็เป็นพรรคของคุณทักษิณ และในช่วงเวลาที่คุณทักษิณตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ คุณทักษิณได้ขออนุญาตศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ต้องการไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ปักกิ่ง ประเทศจีนระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551  หลังจากนั้น คุณทักษิณก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยจนวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ จะพบว่าประเทศที่มีการเนรเทศอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก คือ เอเธนส์ สมัยที่เป็นนครรัฐกรีกโบราณ โดยการเนรเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องได้มีการลงคะแนนของประชาชน ดังนั้น กลไกการเนรเทศของเอเธนส์จึงถือได้ว่าเป็นการเนรเทศบนฐานของเสียงข้างมากของประชาชน ในขณะที่การลี้ภัย-หลบหนีในรัฐสมัยใหม่ อาจจะเป็นการเนรเทศบนฐานของพลังผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่เกี่ยวกับเจตจำนงของประชาชนเลยก็ได้

ในกรณีการเนรเทศคุณทักษิณนั้น จะว่าเป็นเพราะผู้กุมอำนาจรัฐกดดันหรือสร้างภัยคุกคามให้ต้องหนี ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ขณะนั้น รัฐบาลคือรัฐบาลพลังประชาชน แต่พลังอำนาจที่ทำให้คุณทักษิณต้องอ้างเหตุไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและไม่กลับมาตามคำสัญญา คือ อำนาจศาลหรืออำนาจตุลาการ ซึ่งถ้าตัดสินลงโทษให้คุณทักษิณต้องติดคุกแล้ว แต่สมมุติคุณทักษิณไม่ยอมติด ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลพรรคของคุณทักษิณ  การขับเคลื่อนมวลชนออกมาสนับสนุนการไม่ยอมเข้าคุก ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลของคุณทักษิณ จึงมีความเป็นไปได้สูง หรือแม้ว่า คุณทักษิณยอมติดคุก แต่มวลชนคนรักทักษิณไม่ยอม ก็จะมีการลงถนนอยู่ดี  เมื่อฝ่ายหนึ่งลงถนน อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมลงด้วย วังวันของมวลชนปะทะมวลชนที่เพิ่งจะยุติไปจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็จะเวียนกลับมาอีก  และการทำรัฐประหารก็อาจจะกลับมาอีก ถามว่า สมการนี้ ใครเสียประโยชน์มากที่สุด ?

ปกติ การทำรัฐประหาร---------หากไม่ใช่ทำรัฐประหารตัวเอง แบบที่จอมพล ป. พิบูลสงครามทำในปี พ.ศ. 2494 หรือจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 หรือจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2514 ที่สามจอมพลทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของตัวเองและตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีก------ผู้เสียประโยชน์มากที่สุด คือ รัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ  ดังนั้น หากคุณทักษิณยังอยู่ในประเทศ และเกิดรัฐประหารขึ้นจากการปะทะกันระหว่างมวลชนสองฝ่าย ผู้เสียประโยชน์ที่สุดก็คือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีคุณสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีพรรคพลังประชาชนที่จะต้องเสียตำแหน่งไปให้คณะรัฐประหาร ขณะเดียวกัน กว่าทหารจะตัดสินใจทำรัฐประหาร ก็น่าจะต้องปล่อยให้มวลชนสองฝ่ายออกมาแสดงพลังจนสถานการณ์สุกงอม ซึ่งภายใต้เงื่อนไขแบบนั้น เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ไปด้วย  บ้านเมืองจะต้องปั่นป่วนสับสนวุ่นวายพอสมควร

ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่อยากให้คุณทักษิณอยู่เป็นปัญหาในประเทศ ก็น่าจะได้แก่ รัฐบาลพลังประชาชนเอง รวมทั้งนายทุนพ่อค้าแม่ขายโดยทั่วไป ไม่นับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามที่ชุมนุม  มวลชนที่ต่อต้านคุณทักษิณคงไม่อยากให้คุณทักษิณออกนอกประเทศ แต่อยากให้อยู่จนมีคำพิพากษาตัดสิน และถ้าตัดสินให้ติดคุก ก็คงอยากให้คุณทักษิณติดคุกมากกว่าจะเห็นคุณทักษิณหลบหนีไปใช้ชีวิตชิลๆในต่างประเทศ  ส่วนมวลชนคนรักทักษิณก็ไม่อยากให้คุณทักษิณต้องระหกระเหินไปต่างประเทศ แต่อยากให้คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะขัดกับคุณสมัครที่เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้เพียงไม่กี่เดือน และกำลังเป็นอยู่ และก็จะเป็นต่อ

เรื่องคุณสมัครนี่ถือเป็นนิทานสอนใจให้คุณที่หวงพรรคอย่างคุณทักษิณได้อย่างดี ที่จำเป็นต้องทดลองให้คนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีแทนตัวเอง  นิทานเรื่องนี้สอนว่า “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคนนอกครอบครัว”

เมื่อรัฐบาลพลังประชาชนไม่อยากให้เกิดรัฐประหารเพราะตนเพิ่งได้เป็นรัฐบาล ก็ย่อมไม่อยากให้มวลชนเสื้อแดงออกมาสำแดงพลังมากเกินไป  แต่คนที่คิดต่างจากรัฐบาล แต่เป็นฝั่งเดียวกับรัฐบาลคือ แกนนำม็อบ  ตามคติ “ม็อบมี ตัวพี่ก็ต้องมา ถ้าม็อบไม่มา ตัวพี่ก็ไม่มี.....”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยรวมๆแล้ว ฝ่ายที่อยากให้คุณทักษิณอยู่น่าจะมีพลังน้อยกว่าฝ่ายที่อยากให้คุณทักษิณออกไป  คุณทักษิณจึงเสมือนถูกเนรเทศจากคนฝ่ายต่างๆที่กล่าวไปข้างต้น  รวมความคือ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เพราะหากอยู่แล้ว โอกาสม็อบชนม็อบมีสูงมาก และรัฐบาลพลังประชาชนจะเสียประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ในการเมืองเอเธนส์เมื่อสองพันห้ากว่ามาแล้วก็เช่นกัน คนที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเนรเทศคือ คนที่มีบทบาททางการเมืองสูง และมีคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมืองที่พยายามหาทางกำจัดโดยการปลุกปั่นให้ข้อมูลแก่ประชาชนถึงข้อเสียต่างๆ  แต่ละคนล้วนมีสถานะเป็น “อินฟูลเอนเซอร์” ทั้งนั้น เพราะถ้าไม่เป็น “อินฟูลเอนเซอร์” ก็ไม่รู้จะต้องเนรเทศทำไม อยู่ไปก็ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรได้อยู่แล้ว

ในการเมืองเอเธนส์ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ เกณฑ์จำนวนคะแนนเสียงประชาชนที่จะทำให้คนๆหนึ่งถูกเนรเทศมีสองแหล่งข้อมูล  แหล่งแรกกล่าวว่า จะต้องมีคนมาลงคะแนนเสียงอย่างน้อย 6,000 คน และในจำนวนเสียง 6,000 นั้น ใครที่ได้รับคะแนนมากที่สุด คือผู้ที่ต้องถูกเนรเทศ ส่วนอีกแหล่งหนึ่งกล่าวว่า คนที่จะถูกเนรเทศจะต้องได้รับคะแนนเสียงขับไล่ 6,000 เสียงเป็นอย่างน้อย

ไม่ว่าจะเกณฑ์จะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่บ้านเมืองมีป่วนแน่ หากคนๆนั้นไม่ยอมรับการเนรเทศโดยการเดินทางออกนอกเอเธนส์  เพราะหากคนหกพันคนลงคะแนนให้เนรเทศ แต่คนที่เหลือเกิดไม่ต้องการเนรเทศ แต่ไม่ได้มาลงคะแนน สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ คนหกพันจะปะทะกับคนที่เหลือที่มีจำนวนถึงสามหมื่นกว่าคน หรือแม้ไม่ถึงสามหมื่น เอาแค่หกพันปะทะหกพัน นครรัฐโบราณอย่างเอเธนส์ก็ย่ำแย่แล้ว หากคนที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองหรือ “อินฟลูเอนเซอร์” แต่ละคนปั่นม็อบออกมาให้ตีกัน ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ใครจะแพ้ ใครจะชนะ

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงถึงสูญเสียทุกอย่างรวมทั้งชีวิต  คนที่ถูกเนรเทศในเอเธนส์จึงยอมรับการเนรเทศมากกว่าจะฝืนมติมหาชน แม้ว่าจะไม่ใช่มหาชนจริงๆก็ตาม  เพราะกฎการเนรเทศของเอเธนส์คือ ให้ออกจากเอเธนส์ไป 10 ปีโดยไม่มีการยึดทรัพย์หรือถอนสถานการณ์เป็นพลเมือง เมื่อครบ 10 ปี กลับมาทุกอย่างก็เหมือนเดิม ถ้าโชคดี ที่ประชุมสภาประชาชนเอเธนส์เปลี่ยนใจ ก็สามารถลงมติเรียกตัวกลับและอภัยโทษให้ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น

พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม

นายทักษิณ​ ชิน​วัตร​ อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568​ ว่า​ การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น