หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย
สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ (๑๑๒ คะแนน) กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)
ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีผู้เสนอว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการฯมีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น และก็มีผู้เห็นว่า ไม่ควรจะให้มีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรควรจะกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการฯให้ชัดเจนแน่นอน
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทรงเห็นว่า ถ้าไม่มีการตั้งสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็จะมีอายุไปจนกระทั่งพระมหากษัตริย์บรรลุนิติภาวะ และจากการที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญ สภาฯก็มีสิทธิที่จะถอดและตั้งใหม่ ที่จะตั้งใหม่หมายความว่า เมื่อชุดเก่าล้มไป ก็ชอบที่จะตั้งใหม่ได้ เทียบได้กับข้าราชการที่ได้รับตั้ง ถ้ารัฐมนตรีที่มีอำนาจตั้งนั้นเปลี่ยนแปลง แต่ข้าราชการนั้นยังรับตำแหน่งอยู่ การตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯนั้น ยังมีผลไปจนกว่า หรือเว้นไว้แต่สภาฯจะตั้งใหม่ เหมือนกับทางฝ่ายข้าราชการนั่นคือ เมื่อรัฐมนตรีผู้หนึ่งได้ตั้งแล้ว ถึงแม้รัฐมนตรีผู้นั้นจะออกจากตำแหน่ง แต่ได้ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรในที่นี้ก็ตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับตั้งก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่รัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ อาจจะให้ออก ให้ปลดฐานหย่อนยานความสามารถได้ฉันใด สภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะตั้งใหม่ได้
ต่อจากนั้น ได้มีการอภิปรายจนนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี ได้ตั้งคำถามขึ้นว่า จากรายนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบ หากผู้ใดผู้หนึ่งไม่รับ จะให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับที่สี่ขึ้นมาเป็นแทนหรือไม่ ซึ่งพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบว่า ต้องมีการตั้งกันใหม่ จากนั้น นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ ได้กล่าวว่า “ในปัญหาที่ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ต่อไปหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่ควรจะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะเหตุว่า รัฐบาลสำหรับราษฎร และตั้งขึ้นโดยราษฎร ไม่ใช่รัฐบาลสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ไม่ควรจะหมดไปตามพระเจ้าอยู่หัว”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “คณะผู้สำเร็จราชการนั้น ถ้าถือตามคะแนนโวตแล้ว ผู้ที่มีคะแนนสูงก็เป็นประธานของคณะนั้น แต่ทว่าไปผิดชั้นอาวุโสทางกฎมณเฑียรบาล อันนี้แหละ มีปัญหาอยู่อย่างนี้ หรือจะเทียบกับคณะกรรมาธิการ คือว่าให้เลือกกันเอง”
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (นายควง อภัยวงศ์/ผู้เขียน) กล่าวว่า “เท่าที่เจ้าคุณนายกฯ เสนอปัญหามานั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ไม่มีปัญหา คือ การโวตนี้ โวตว่า ใครจะเป็นเท่านั้นในจำนวนที่เราเสนอมาแล้ว ๗ คน เพราะฉะนั้น เมื่อโวตไปแล้ว ทางภายในของเขา เขาจะตั้งใครเป็นอาวุโสนั้นหรืออะไรก็ตามใจ คล้ายๆกับการเลือกกรรมาธิการอย่างนี้ บางที คนที่ได้คะแนนน้อยไปเป็นประธานกรรมาธิการก็มี เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาที่จะต้องถามเลย”
ร.ต. เนตร์ พูนวิวัฒน์ กล่าวว่า “เวลาก็เห็นจะสมควรแล้ว ข้าพเจ้าอยากจะเสนอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประชาชนคงจะใฝ่ใจอยากฟัง ข้าพเจ้าคิดไม่ผิดว่ารัฐบาลนี้คงจะได้แถลงการณ์เรื่องนี้ให้ประชาชนประจักษ์ทั่วกัน และข้าพเจ้าขอเสนอว่า ให้เปิดเผยรายงานลับทั้งสองครั้งนี้เสียด้วย เพื่อจะได้ตัดข้อขัดข้องต่างๆตามข้อ ๒๐ แห่งข้อบังคับนี้”
หลวงวรนิติปรีชา นายจัง จริงจิตร์ รับรอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ขอให้เสร็จในเรื่องข้าพเจ้าเสนอเมื่อกี้เสียก่อน คือให้ไปเลือกกันเองหรือเราจะกำหนดไปว่าคนไหนจะเป็นประธาน”
นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า
“เรื่องที่ผู้สำเร็จราชการ ใครควรจะเป็นประธานนั้น ข้าพเจ้าขอสนับสนุนความเห็นของสมาชิกผู้หนึ่ง คือคุณหลวงโกวิทฯที่ว่า สภาฯนี้เลือกตั้งกรรมาธิการไปคัดเลือกเสร็จแล้ว ส่วนงานของกรรมาธิการนั้น เขาจะเลือกคัดกันว่าใครจะเป็นประธานในการประชุมนั้น แล้วแต่เขาจะตกลงกัน คราวนี้ ต่อมา ที่ว่าจะให้เปิดเผยรายงานการประชุมลับหรือไม่ หรือจะให้เปิดแค่......”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “คนละเรื่อง ประเดี๋ยวค่อยพูดใหม่ ขอให้เสร็จเรื่องนี้เสียก่อน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ขอเสนอให้ตั้งไปเสียเลย เพราะว่าจะต้องมีการเซ็นชื่อ แล้วประกาศเรียงตัวอะไรต่างๆ”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “บัดนี้ รัฐบาลเสนอขอให้สภาฯนี้ตั้งประธานของคณะผู้สำเร็จราชการนั้น”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ขอเสนอ กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ”
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า พระองค์อาทิตย์ฯ มีหมายถึง ๑๑๒ หมาย และเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญหลายประการ ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเป็นพระอาทิตย์ฯเป็นประธาน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้พระองค์อาทิตย์ฯเป็นประธาน”
นายฟัง ณ สงขลา ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรมากนัก บัดนี้ มีผู้เสนอท่านแล้ว คือพระองค์อาทิตย์ฯ กับ กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ ข้าพเจ้าขอเสนอให้ลงมติ”
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ นายหอมจันทน์ วัฒนวิจารณ์ รับรอง
มีสมาชิกลงคะแนนให้พระองค์อาทิตย์ ๒๖ นาย และให้กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ ๗๑ นาย
กรมหมื่นอนุวัตน์ฯจึงได้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ต่อมา นายมงคล รัตน์วิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “เรื่องรายงานการประชุมลับที่จะเปิดเผยได้เพียงใดนั้น ข้าพเจ้าทราบว่า ที่ประชุมนี้ได้เคยตั้งกรรมาธิการพิจารณาทีหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น เห็นว่า มอบให้กรรมาธิการชุดนั้นพิจารณาเสียเองจะดีกว่า”
พ.ต. หลวงรณสิทธิพิชัย กล่าวว่า “สำหรับเรื่องนี้ เกี่ยวกับรัฐบาล จะประกาศให้ประชาชนทราบโดยด่วน เห็นว่าสภาฯนี้ควรจะอนุมัติหรือไม่ในที่นี้เสียทีเดียว”
หลวงโกวิทอภัยวงศ์ กล่าวว่า “ในเรื่องการประชุมลับของเรา เราได้พูดกันมากมาย เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเปิดเผยการประชุมลับทั้งแท่ง เราควรจะพิจารณาและตรึกตรองดูว่า การประชุมลับจะมีถ้อยคำอะไรแถลงกระทบกระเทือนอีก หรือหาไม่ อะไรเราควรจะสงวน และอะไรเราไม่ควรจะสงวน ถ้าสภาฯอนุญาตให้ไป ทางรัฐบาลต้องรับผิดชอบ เรื่องพูดกันมาก ข้าพเจ้าจำไม่ได้ และเรื่องเสร็จมาถึงเพียงนี้แล้ว จะปล่อยทั้งแท่งไม่ได้ เรื่องมันแสลงอยู่”
ขุนอินทรภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชร์บูรณ์ กล่าวว่า
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาฯทำ และสภาฯเห็นว่า กิจการทั้งหลายที่สภาผู้แทนราษฎรได้ทำไปโดยหน้าที่ของสภาฯนั้นเป็นของใหญ่ยิ่ง และประชาชนได้มาขออยากจะฟังเสียงของสภาฯว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อสภาฯดำเนินการอย่างไรแล้ว เราไม่ควรจะปกปิดและเราควรเปิดเผยเรื่องให้ประชาชนทราบ เพื่อสำหรับกิจการของสภาฯ และทำเรื่องโดยสุจริตและโดยบริสุทธิ์ของสภาฯจริงๆ”
นายมังกร สามเสน กล่าวว่า “เมื่อเราถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนควรจะทราบ ข้าพเจ้าก็เห็นพ้องด้วย แต่ที่จะไปเปิดเผยทั้งหมดในเรื่องที่จะอภิปรายถึงคนนั้นอย่างนั้น คนนี้อย่างนี้ ก็ไม่สมควร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น ส่วนถ้อยคำที่อภิปรายไม่ควรจะประกาศ”
นายมนูญ บริสุทธิ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า รัฐบาลนี้มีหน้าที่รักษาความสงบของประเทศ เพราะฉะนั้น ควรจะมอบให้รัฐบาลประกาศเท่าที่ประกาศได้จะดีกว่า”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490