ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวว่าการลี้ภัยหรือหนีคดีและการกลับมาขอพระราชทานอภัยลดโทษของนักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ในการเมืองสมัยกรีกโบราณที่นครรัฐประชาธิปไตยเอเธนส์ เพราะประชาธิปไตยเอเธนส์มีกลไกที่เรียกว่า ostracism ให้อำนาจประชาชนเนรเทศผู้ที่ไม่พึงปรารถนาออกไปจากเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปี โดยผู้โดนเนรเทศจะไม่โดนยึดทรัพย์สินและไม่เสียสถานะความเป็นพลเมือง แต่จะได้ทรัพย์สินและกลับมาเป็นพลเมืองได้หลังจากต้องออกไปอยู่นอกเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปีเสียก่อน แต่เมื่อบ้านเมืองมีวิกฤต ที่ประชุมสภาพลเมืองของเอเธนส์สามารถลงมติย่นระยะเวลาเนรเทศไม่ต้องครบ 10 ปี และเรียกตัวผู้ที่ถูกเนรเทศบางคนให้กลับมารับใช้บ้านเมือง
จากการที่ที่ประชุมสภาพลเมืองต้องเรียกตัวผู้ถูกเนรเทศบางคนกลับมา เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทความสามารถทางการเมืองและการทหารที่โดดเด่น ขณะเดียวกัน ถ้าไม่โดดเด่นก็คงไม่เป็นประเด็นให้ต้องลงมติเนรเทศ !
กลไกการเนรเทศหรือ ostracism นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดประชาธิปไตยในเอเธนส์ในราว 508 ก่อนคริสตกาล ตามหลักฐานประวัติศาสตร์เท่าที่มี พบว่า ในปี 487 ก่อนคริสตกาลหรือราวยี่สิบปีหลังจากที่มีกลไกการเนรเทศ บุคคลที่ถูกเนรเทศเป็นคนแรกคือ ฮิปปาร์โคส (Hipparchos) ผู้ซึ่งเป็นเครือญาติของอดีตทรราชของเอเธนส์ โดยก่อนที่เอเธนส์จะเป็นประชาธิปไตย เอเธนส์อยู่ภายใต้การปกครองของทรราชมาก่อน โดยทรราชคนแรกของเอเธนส์คือ ไพซีสตราโตส (Peisistratus)
ต้องขอกล่าวไว้ด้วยว่า คำว่า ทรราชที่เราใช้กันในภาษาไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงแปลมาจาก tyrant ในภาษาอังกฤษ และ tyrant มาจาก turannos ในภาษากรีกโบราณ โดยในช่วงศตวรรษที่เจ็ดและหกก่อนคริสตกาล ได้เกิดปรากฏการณ์ turannos ในนครรัฐกรีกโบราณต่างๆเป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาดังกล่าว turannos ยังไม่ได้มีความหมายในแง่ลบในฐานะที่เป็นการปกครองที่ไม่ดี หรือเป็นการปกครองของผู้ปกครองที่ไม่ดี แต่ turannos เริ่มมีความหมายในแง่ลบก็ในช่วงที่เอเธนส์เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ในช่วงที่เอเธนส์อยู่ภายใต้การปกครองของ ไพซีสตราโตส กล่าวได้ว่า เป็นการปกครองที่ละมุนละม่อมและอยู่ในกรอบกฎหมาย มีเมตตา ให้ทุนสำรองแก่คนจนยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ ได้จัดให้มีผู้พิพากษาท้องถิ่นขึ้น, และตัวเขาได้เดินทางหมุนเวียนไปตามชนบทเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาข้อพิพาท เพื่อผู้คนจะได้ไม่ต้องละทิ้งการทำไร่ไถนาโดยต้องเดินทางเข้าในเมือง อีกทั้งยังทำการปฏิรูปที่ดินอีกด้วย แต่เหตุผลที่เขาถูกเรียกว่าเป็น turannos ก็เพราะเขาได้ทำการยึดอำนาจการปกครองมาจากชนชั้นปกครองที่สืบสานการปกครองผ่านสายโลหิต โดยตัวเขาไม่ได้มีเชื้อสายอภิชนหรือชนชั้นปกครองมาก่อน เพราะคำว่า turannos ในช่วงศตวรรษที่เจ็ดมีความหมายเพียง ผู้ที่ยึดอำนาจมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรมตามประเพณีการปกครอง
แต่หลังจากที่ไพซีสตราโตสเสียชีวิต บุตรชายของเขาขึ้นมาปกครองต่อ ไม่ได้ปกครองได้อย่างบิดา ทำให้ผู้คนไม่พอใจ อีกทั้งนครรัฐสปาร์ตาก็เห็นว่าการปกครองแบบ turannos เป็นอันตรายต่อการปกครองของตน ในที่สุด ก็นำมาซึ่งการโค่นล้มการปกครองแบบ turannos และมีการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การเนรเทศที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยได้ 20 ปี ฮิปปาร์โคสและบรรดาญาติของไพซีสตราโตสต้องการปลุกระดมต่อสู้เพื่อชิงอำนาจและสถาปนาการปกครองแบบ turannos กลับคืนมาผ่านความสัมพันธ์กับเปอร์เซียที่สปาร์ตาเห็นว่าเป็นศัตรูสำคัญของชาวกรีกทั้งมวล
ดังนั้น เงื่อนไขของการใช้กลไกการเนรเทศครั้งแรกในเอเธนส์คือ จัดการกับบุคคลที่มีอำนาจอิทธิพลโดดเด่นและมีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เพิ่งสถาปนาขึ้นมาได้เพียง 20 ปี และหลังจากที่ฮิปปาร์โคสถูกเนรเทศ ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับตัวเขาอีก
ต่อมาได้มีการเนรเทศสามปีติดต่อไป นั่นคือ ในปี 486, 485 และ 484 ก่อนคริสตกาล โดยผู้ที่ถูกเนรเทศในแต่ละปี คือ เมกาคลิส (Megakles), คาลลีอัส (Callias) และแซนธิปโปส (Xanthippos) โดยเงื่อนไขการเนรเทศของสองคนแรกเหมือนกัน นั่นคือ เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของเอเธนส์โดยทั้งสามพยายามจะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยสัมพันธ์กับเปอร์เซียเพื่อสถาปนาการปกครองแบบ turannos กลับคืนมา ส่วนสาเหตุที่แซนธิปโปสถูกเนรเทศไม่เกี่ยวกับการมีสายสัมพันธ์กับ turannos หรือเปอร์เซีย หรือทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย และที่สำคัญคือ เขาเป็นผู้ถูกเนรเทศคนแรกที่ถูกเรียกตัวกลับมาก่อนครบกำหนดระยะเวลาเนรเทศ 10 ปี
แม้ว่าแซนธิปโปสไม่ได้มาจากตระกูลที่มีความเชื่อมโยงกับ turannos เหมือนฮิปปาร์โคส เมกาคลิสและคาลลีอัส แต่เขามาจากตระกูลอภิชนชนชั้นสูงของเอเธนส์ ชื่อของเขาเริ่มปรากฎในหลักฐานประวัติศาสตร์จากการที่เขายื่นเรื่องฟ้อง มิลทิอาดีส (Miltiades) ผู้เป็นหนึ่งในแม่ทัพของเอเธนส์ สาเหตุที่แซนธิปโปสฟ้องมิลทิอาดีส เพราะหลังจากที่มิลทิอาดีสนำทัพเอเธนส์ชนะศึกที่เมืองมาราธอน และกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม มิลทิอาดีสได้ขอต่อที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์ให้เขานำกองเรือ 70 ลำโดยไม่บอกว่าจะเอาไปทำอะไร บอกแต่เพียงว่า จากกองกำลังเรือดังกล่าว เขาสามารถจะทำให้เอเธนส์ได้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ที่ประชุมสภาพลเมืองลงมติเห็นชอบต่อคำขอของเขาเพราะเชื่อมั่นในการเป็นวีรบุรุษสงครามของเขา แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตาลปัตร เขากลับมามือเปล่าพร้อมกับตัวเองยังบาดเจ็บด้วย ชาวเอเธนส์จึงเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อมิลทิอาดีส ขณะเดียวกัน ตระกูลของมิลทิอาดิสกับตระกูลของแซนธิปโปสมีความขัดแย้งมายาวนาน แซนธิปโปสจึงใช้โอกาสนี้ร้องต่อสภาพลเมืองเพื่อให้มีการลงโทษประหารชีวิตมิลทิอาดีส มิลทิอาดีสไม่สามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้ แต่บรรดามิตรสหายของเขาได้ช่วยกันแก้ต่างไม่ให้เขาต้องรับโทษประหารชีวิต แต่ให้เป็นการถูกปรับแทน ซึ่งที่ประชุมลงมติให้เขาต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่เขาจะสามารถจ่ายได้ ทำให้เขาต้องติดคุกแทนค่าปรับ และเสียชีวิตในคุกจากพิษบาดแผล
จากผลงานการฟ้องมิลทิอาดีส ทำให้แซนธิปโปสกลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นขึ้นมา แต่ไม่นาน หลังจากการเสียชีวิตของมิลทิอาดีส อารมณ์ของชาวเอเธนส์เริ่มเปลี่ยนมาเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวีรบุรุษสงครามอย่างมิลทิอาดีส และจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่เทมีสโตคลิสได้มีบทบาทขึ้นโดยการโหนกระแสอารมณ์ของประชาชนในการหาทางเล่นงานแซนธิปโปส ผู้กำลังเป็นดาวดวงใหม่ทางการเมือง เทมีสโตคลิสได้ปลุกระดมประชาชนโดยการโจมตีที่ภูมิหลังของการมาจากตระกูลอภิชนชั้นสูงของแซนธิปโปสว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ในการทัดทานเทมีสโตคลิส แม้ว่าแซนธิปโปสจะผนึกกำลังกับอาริสทีดีส (Aristides) ผู้มาจากตระกูลอภิชนเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถสู้กับกระแสประชาชนที่เทมีสโตคลิสสร้างขึ้น และในที่สุด ที่ประชุมสภาพลเมืองก็ได้ลงมติเนรเทศแซนธิปโปสออกไปจากเอเธนส์
จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการเนรเทศในยี่สิบปีแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเป็นข้อหาขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตยโดยการพยายามฟื้นฟู turannos โดยผ่านการเชื่อมโยงกับเปอร์เซีย แต่ตั้งแต่ปี 484 เงื่อนไขได้เปลี่ยนมาเป็นข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเพราะมีภูมิหลังการเป็นอภิชนและทำลายวีรบุรุษสงครามของประชาชน
ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงสาเหตุที่ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์เปลี่ยนใจลงมติเรียกตัวแซนธิปโปสกลับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น