การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 1)

 

คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า การเดินทางกลับมารับโทษและได้รับการอภัยลดโทษของนักโทษชายเด็ดขาด ทักษิณ ชินวัตร น่าจะเกิดจากการดีลลับอะไรบางอย่างที่จะให้ทักษิณและเพื่อไทยทัดทานกับการผงาดขึ้นมาของพรรคก้าวไกล  เรื่องราวดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงการเมืองในเอเธนส์ สมัยกรีกโบราณที่มีปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกันนี้

ในกรณีของนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร การจากเมืองไทยไปเป็นเวลา 15 ปีเข้าข่ายสมัครใจลี้ภัยไปเอง (ภาษาอังกฤษเรียกว่า self-exile) เพื่อหนีคดีและโทษทัณฑ์  ส่วนกรณีที่ผู้นำทางการเมืองของเอเธนส์ต้องจากเอเธนส์ไปเป็นเรื่องการถูกเนรเทศ การเนรเทศเป็นกลไกการลงโทษทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากที่เอเธนส์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยในราว 508 ก่อนคริสตกาล

การเนรเทศในประชาธิปไตยเอเธนส์เป็นที่รู้จักกันภายใต้คำว่า ostracism เข้าใจว่าผู้นำทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยของเอเธนส์ได้คิดค้นกลไกการเนรเทศนี้ขึ้นมาเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเนรเทศจะช่วยลดความแตกแยกในรัฐและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวาย

การพิจารณาการเนรเทศจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อเริ่มเปิดประชุมสภาประชาชนในแต่ละปี โดยจะมีการตั้งญัตติว่า ที่ประชุมจะให้มีการเนรเทศหรือไม่ การลงมติในขั้นตอนนี้ จะเป็นการลงมติว่าจะให้มีการเนรเทศหรือไม่โดยไม่จำเป็นจะต้องระบุตัวคนที่ประชาชนต้องการเนรเทศ ถ้ามติผ่าน  การเนรเทศจะเกิดขึ้นตามมาในเวลาอีกสองเดือน  โดยประชาชนแต่ละจะโยนแผ่นป้ายที่สลักชื่อของผู้ที่ตนต้องการเนรเทศ  องค์ประชุมในการลงคะแนนเนรเทศในขั้นตอนนี้จะต้องมีอย่างน้อย 6000 คน และถ้าแผ่นป้ายสลักชื่อใครที่มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง การเนรเทศก็จะมีผลบังคับทันทีว่า ผู้ที่มีชื่อดังกล่าวจะต้องรีบเก็บข้าวของออกไปจากเอเธนส์ภายใน 10 วันและจะกลับเข้ามาเอเธนส์ไม่ได้จนกว่าจะครบ 10 ปี

การเนรเทศของเอเธนส์แตกต่างจากการลี้ภัยซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว  ความแตกต่างระหว่างการลี้ภัยกับการถูกเนรเทศคือ  ผู้ลี้ภัยจะสูญเสียสถานกาพทุกอย่างรวมทั้งทรัพย์สินทั้งหมดที่ตนไม่ได้เอาติตตัวไป ซึ่งได้แก่ ที่ดิน ฯ แต่ผู้ที่ถูกเนรเทศไม่ต้องเสียสถานภาพและทรัพย์สินที่ตนมี โดยทางการจะเก็บเอาไว้และคืนให้หลังจากถูกเนรเทศครบ 10 ปี

กลไกการเนรเทศนี้ถือเป็นกลไกทางการเมืองที่ให้อำนาจแก่ประชาชนในการกำจัดบุคคลที่ประชาชนเห็นว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” หรือจะกล่าวว่าเป็น “ศัตรูของประชาธิปไตย” ก็ไม่ต่างกันนัก  เป็นการให้อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง  แม้ว่าในตอนเริ่มต้น  อาจจะมองว่า เป็นเครื่องมือที่ผู้นำประชาธิปไตยเอเธนส์ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อปกป้องสถานะของเขาจากพวกอภิชนชนชั้นสูงที่เคยมีอำนาจทางการเมืองมาก่อนที่เอเธนส์จะเป็นประชาธิปไตย   อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ในตอนเริ่มเปิดประชุมสภาประชาชนของทุกปี จะต้องมีการพิจารณาวาระเรื่องการเนรเทศ ซึ่งหมายความว่า ถ้ามีใครวางแผนที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตย แม้ว่าจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างแน่ชัด  ประชาชนที่เข้าประชุมสภาก็สามารถที่จะลงคะแนนเสียงให้มีการเนรเทศเกิดขึ้น  โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งชื่อบุคคลที่ต้องสงสัย  ฉะนั้นในขั้นตอนนี้  การลงคะแนนเสียงให้มีการเนรเทศก็เท่ากับเป็นการเตือนให้ผู้ต้องสงสัยรู้ตัวว่าถ้าตนยังขืนมีพฤติกรรมในทางบ่อนทำลายอยู่ ก็อาจถูกเนรเทศได้

สาเหตุที่ทิ้งระยะเวลาสองเดือนหลังจากมีการลงมติให้มีการเนรเทศ  ก็เพื่อที่จะป้องกันการเนรเทศที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ของคนที่ลงมติ  เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสองเดือน จะมีการลงมติโดยการโยนป้ายชื่อ ประชาชนอาจจะเปลี่ยนใจหรือเลิกขุ่นข้องหมองใจกับบุคคลที่ตนสงสัยหรือตนมีอคติ  แต่ถ้าประชาชนยังยืนยันในการเนรเทศและมีการมาชุมนุมถึง 6000 คน และมีการโยนป้ายชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นจำนวนเสียงข้างมาก  ก็หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่สังคมไม่พึงปรารถนา  จะด้วยจากพฤติกรรมแบบใดขอบบุคคลคนนั้นก็แล้วแต่

การเนรเทศแบบนี้ถือว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะให้ประชาชนคนส่วนใหญ่มีสิทธิอำนาจที่จะขับไล่บุคคลที่ตนไม่ปรารถนาได้ในทุกสมัยการประชุมสภา  ซึ่งกลไกทางการเมืองที่ว่านับว่าเป็นกลไกที่สนับสนุนอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง  และเป็นกลไกที่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่มี

หลังจากกำเนิดกลไกการเนรเทศนี้ในราว 508 ก่อนคริสตกาล ก็ไม่ได้มีการใช้กลไกที่ว่านี้จนเวลาผ่านไป 20 ปี ในปี 487 ก่อนคริสตกาล ประชาชนเอเธนส์ได้เนรเทศฮิปปาร์โคส (Hipparchos) ผู้ซึ่งเป็นญาติของฮิปปิอัส (Hippias) อดีตทรราชของเอเธนส์ ในปีต่อมา ผู้นำทางการเมืองที่โดยเนรเทศคือ เมกาคลึส  (Megakles)  อีกสองปีต่อมา แซนธิปโปส (Xanthippos)  และในปี 482 อารีสธีดิส (Aristeides)  ผู้ซึ่งประชาชนเคยขนานนามเขาว่า  “the Just” หรือ “ผู้เที่ยงธรรม”

โดยรวมๆ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่า มีการเนรเทศเกิดขึ้นถึง 15 ครั้ง โดยเริ่มในช่วงศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล และครั้งสุดท้ายในช่วงราวปี 417-5 ก่อนคริสตกาล และผู้ที่ถูกเนรเทศคนสุดท้ายคือ ไฮเปอร์โบโลส (Hyperbolos) ผู้ได้ชื่อว่า demagogue อันหมายถึงผู้ที่ใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อ

ที่ว่าเป็นการเนรเทศครั้งสุดท้าย ก็ไม่ได้หมายความว่า มีการยกเลิกกลไกการเนรเทศ  เพียงแต่ไม่มีใครใช้อีก

สาเหตุที่มีการเนรเทศหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 480 ก็เพราะชาวเอเธนส์ต้องเผชิญภยันตรายสองครั้งสำคัญ  ครั้งแรกคือการที่พวกทรราชเก่าของเอเธนส์ต้องการจะยึดอำนาจคืน และอีกครั้งคือการที่กษัตริย์แห่งเปอร์เซียพยายามที่จะพิชิตนครรัฐกรีกทั้งมวล   ภัยคุกคามทั้งสองนี้เปรียบได้กับสองหน้าของเหรียญเดียวกัน  เพราะฮิปปิอัส (Hippias)  และครอบครัว รวมทั้งผู้สนับสนุนของเขาได้หลบลี้หนีภัยไปอยู่ที่เมืองซิไจออน (Sigeion)  และพวกฮิปปิอัสมีอิทธิพลมากในราชสำนักแห่งเปอร์เซีย

การเนรเทศทรราชหรือพวกอำนาจเก่าออกไปจากเอเธนส์ นอกจากจะถอนชนวนปัญหาการเมืองภายในเอเธนส์แล้ว ยังเป็นการตัดปัญหาชักศึกเข้าบ้านไปในตัวด้วย

นอกจากทรราชและพวกอำนาจเก่าแล้ว ผู้มีบทบาททางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเองก็ถูกเนรเทศด้วย ผู้มีบทบาททางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกเนรเทศล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น เพราะถ้าไม่โดดเด่น ก็คงไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรจนต้องถูกเนรเทศ

แต่ที่น่าสนใจคือ ยามที่เอเธนส์ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง ที่ประชุมสภาประชาชนเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียกตัวผู้นำทางการเมืองที่มีความสามารถกลับมาช่วยบ้านเมืองทั้งๆที่ยังไม่ครบ 10 ปี และอภัยโทษให้ผู้นำเหล่านั้น เพื่อให้ผู้นำดังกล่าวใช้ความสามารถในการกอบกู้วิกฤตของบ้านเมือง

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะลงในรายละเอียดของสาเหตุการเนรเทศและสาเหตุการเรียกตัวกลับมา           

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'กูรูใหญ่' แฉเบื้องลึก! ทำไมนักการเมืองยุคนี้ไม่กลัว 'ยึดอำนาจ'

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ทางตัน

เพจพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ปลื้ม ‘คนคุณภาพประชาธิปัตย์’ ได้เป็นขรก.การเมือง

เฟซบุ๊กเพจ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ครม. เห็นชอบ แต่งตั้ง “คนคุณภาพประชาธิปัตย์” เป็นข้าราชการการเมือง สังกัด ทส. และ สธ.

'เทพไท' เรียกร้องนิรโทษกรรมทุกกลุ่ม รวมคดี 112 ด้วย

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตสส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "พรบ.นิรโทษกรรม:ปรองดองจริงหรือ?" ระบุว่ากรณีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.