สมัยอยู่ลอนดอน ผมไม่มีรถ เพราะรถสาธารณะของเขาสะดวกมาก และมีตั๋วที่ใช้ทั้งขึ้นรถเมล์ต่อรถไฟ ไปต่อรถใต้ดิน อีกทั้งการเดินเหินและข้ามถนน มันก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกบั่นทอนท้อแท้ !! เพราะเพียงคุณทำท่าจะข้ามถนนตรงทางม้าลายเท่านั้น รถราก็พากันเคารพสิทธิของคุณด้วยการจอดสนิทอย่างเป็นระเบียบ คล้ายจะเชื้อเชิญอย่างมีน้ำใจให้เราก้าวเดินไปด้วยความมั่นใจและสบายใจ
แล้วอยู่กรุงเทพฯล่ะ ! จำเป็นต้องมีรถส่วนตัวไว้ใช้หรือไม่ ?
หลังจากมีรถไฟฟ้า-รถใต้ดิน หลายคนเริ่มคิดว่า มันไม่ได้จำเป็นมากอีกต่อไป แต่หลายคนก็ยังอยากจะมีรถส่วนตัวไว้อยู่ดี ดูจากสถิติการใช้เงินเดือนช่วงแรกในชีวิตของมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯไปกับการดาวน์และผ่อนรถ หลายคนไม่ได้มีบ้านพักอาศัยอยู่ในเส้นทางของรถไฟฟ้า-รถใต้ดิน ขณะเดียวกัน รถประจำทางบ้านเราก็ยังหาความแน่นอนในเรื่องของเวลาไม่ได้นัก ก็เพราะปัญหาการจราจรเป็นวัวพันหลักอยู่อย่างนั้น
ในช่วงหลังๆ นี้ ถ้าผมมีโอกาสที่จะไม่ใช้รถส่วนตัว ผมจะรีบไขว่คว้ามันทันที เพราะผมเริ่มขี้เกียจขับรถ ขี้เกียจอารมณ์เสียกับพฤติกรรมการขับรถของคันอื่นๆ และที่สำคัญ โดยลักษณะนิสัยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบเดิน
เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 หลังจากที่ผมซื้อของที่ร้านขายยาเจ้าประจำตรงข้ามโรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว ผมก็เดินเท้ากลับมาที่ที่ทำงาน-คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้าทางอังรีดูนังต์ ผมเดินข้ามสะพานลอยคนข้ามตรงพระรามสี่มาฝั่งโรงพยาบาล แล้วก็เดินมาตามทางเท้าเลี้ยวขวาเข้าถนนอังรีฯ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงฝั่งตรงข้ามสภากาชาด และตัดสินใจข้ามถนนตรงทางม้าลาย
ผมเดินข้ามไปยืนอยู่บนเกาะกลางถนน สายตาก็มองไปยังทางเท้าฝั่งตรงข้าม ซึ่งมีแผงขายข้าวขาหมูเจ้าอร่อย และมีผู้คนกำลังรับประทานข้าวขาหมูกันพอสมควร ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมวันนั้นถึงมีผู้คนพร้อมใจกันหิวในตอนบ่าย 2 โมงครึ่ง จะเป็นเพราะข้าวขาหมูมันอร่อยมากจนผู้คนจากทุกสารทิศแห่กันมาอุดหนุนกันไม่ขาดสายเหมือนร้านขายอาหารเจ้าอร่อยหลายๆ เจ้า หรือเป็นเพราะคนเหล่านั้นเพิ่งมีเวลาว่างจากงานมารับประทานมื้อกลางวัน หรือพฤติกรรมการรับประทานของคนไทยเรามันเรี่ยราดก็ไม่ทราบได้
ผมยืนคอยอยู่บนเกาะกลางถนนกับคนที่กำลังอยู่ในชะตากรรมเดียวกับผมอีก 2-3 คน ทั้งๆ ที่เป็นทางม้าลาย ผมก็ต้องยืนรอให้รถที่มันวิ่งมาจากสี่แยกสุรวงศ์-พระราม 4-อังรีฯ ผ่านไปเสียก่อน ราวกับพวกเขาไม่รู้จักว่าทางม้าลายคืออะไร เมื่อรถไม่มีแล้ว ผมก็ตัดสินใจเดินข้ามต่อไป รวมทั้งสหายร่วมชะตากรรมเหล่านั้นด้วย
เมื่อเดินจากเกาะกลางถนนข้ามทางม้าลายไปได้เกินกว่าครึ่งทางแล้ว ก็ดันมีรถอีกคันวิ่งมาจากไหนไม่ทราบ เมื่อต่างฝ่ายต่างเดิน ต่างฝ่ายต่างขับ มันก็ต้องลงเอยว่า เนื้อหุ้มกระดูกอย่างพวกผม (สหายร่วมข้ามถนน) ต้องหยุดให้เหล็กหุ้มเนื้ออย่างรถคันนั้น
ด้วย ‘อารามตกใจ’ ผมจึงยกถุงข้าวของที่หิ้วมาจากร้านขายยาเหวี่ยงไปทางกระจกหน้าด้านขวา ถุงขาด ข้าวของตกออกมา รถคันนั้นก็ขับต่อไปนิดนึง ก็หยุด คนขับเปิดประตูรถออกมา ส่วนผมเดินไปเก็บข้าวของและตรงไปหาคนขับ ก็พบว่า ผลจากความตกใจของผมทำให้กระจกหน้ารถแตกร้าวเป็นวงกว้างด้านมุมขวาบน
คนขับถามผมว่า กระจกรถเขาแตก จะว่าอย่างไร ?
ผมก็ถามกลับไปว่า คุณทำไมไม่จอดทางม้าลาย ทั้งที่ผมเดินมากว่าครึ่งทางแล้ว เขาก็ตอบว่า ก็เห็นผมหยุด เขาจึงขับต่อ ผมก็บอกไปว่าไม่หยุดได้อย่างไร ไม่หยุดคุณก็ชนผม แต่คุณผิดแน่ๆ ที่ไม่จอดให้ผมข้าม เขาก็ยังยืนยันว่าเขาไม่ผิด
ผมเลือดขึ้นหน้าท้าให้ไปโรงพักกันเสียดีกว่า จะได้ว่ากันไปเลยว่าใครผิดใครถูก และเรื่องกระจกรถที่แตกด้วย บังเอิญมีตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมา ผมจึงเรียกให้หยุด และอธิบายเรื่องราวให้ฟัง ตำรวจก็บอกว่า คนขับรถผิด แต่คนขับก็ยังยืนยันของเขา ผมก็ยังยืนยันของผม ตำรวจท่านนั้นจึงบอกให้ไปโรงพัก แกก็ให้ผมขึ้นซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ตำรวจไปที่สถานี ผมถามคุณตำรวจว่า คุณตำรวจกำลังจะไปไหนหรือ ? แกก็บอกว่า กำลังจะมาซื้อข้าวขาหมู ผมก็เลยบอกว่า กลับไปซื้อก่อนดีไหม แกก็ส่ายหัว (ถือเป็นตำรวจน้ำดี เห็นความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญกว่าข้าวขาหมู)
เมื่อไปถึงโรงพัก คุณตำรวจก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไป (คาดว่าน่าจะกลับไปซื้อข้าวขาหมู) ส่วนผมก็ขึ้นไปหาร้อยเวรแจ้งความ สักพักคนขับรถคันนั้นก็มาถึง
ร้อยเวรถามผมว่า คนขับเขาเฉี่ยวชนอะไรผมหรือเปล่า ? ผมบอกว่า เปล่า เขาก็บอกว่า เมื่อไม่ได้เฉี่ยวชน ก็ไม่มีอะไร คุณจะเอาอะไร ?
คราวนี้ เลือดไม่ได้ขึ้นหน้า แต่มันทะลุสมองจี๊ดออกไปเลย ผมผลุดลุกจากเก้าอี้ แล้วตะโกนด้วยเสียงอันดังคับห้องสอบสวนนั้นว่า ตกลงจะเดินข้ามทางม้าลายไปทำไมกัน ? ต้องเมื่อถูกเฉี่ยวชนหรือตายแล้ว คนขับถึงจะผิดเต็มประตูใช่ไหม ? ตกลงกฎหมายจราจรมันว่าไว้อย่างนั้นใช่ไหม ? จะเอากันอย่างนี้ใช่ไหม ?
คุณร้อยเวรแกเลยเปลี่ยนข้างทันที หันมากล่าวกับคนขับรถอย่างแข็งขันว่า “ตกลง คุณผิด ปรับ 400 ข้อหาไม่จอดทางม้าลาย” แล้วก็หันมาทำตาใสซื่อกับผมว่า ที่ถามว่าเฉี่ยวชนหรือเปล่า ก็เพราะจะได้รู้ว่าบาดเจ็บเสียหายไหมเท่านั้น !?
ส่วนคนขับรถก็หันมาขอความเมตตากับผมว่า “อาจารย์กับผมต่างกันมาก อาจารย์เป็นอาจารย์ ผมเป็นแค่คนขับรถเท่านั้น” (รู้ว่าผมเป็นอาจารย์ด้วย !!)
ผมตอบไปว่า “บนถนน มันไม่ใช่อย่างนั้น บนถนน คุณมันเหล็กหุ้มเนื้อ ส่วนคนเดินข้ามมันเนื้อหุ้มกระดูก คุณใหญ่บนถนน คุณก็ขับตามอำเภอใจของคุณ เหมือนพวกสิบล้อก็เหมือนกัน รถมันใหญ่มันก็ขับไล่บี้รถเล็ก พอมีเรื่อง ลงมาจากรถก็มาขอความเมตตากราบกรานกันไป”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันยืนยันในสิ่งที่ผมเข้าใจว่า สำหรับตำรวจ ทางม้าลายมีไว้สำหรับในกรณีที่คนข้ามถูกชน คนขับผิดแน่ๆ แต่ถ้ารถไม่หยุดให้คนข้าม ไม่เป็นไร
ส่วนคนขับรถก็เข้าทำนองจะบอกคนข้ามถนนว่า “กูใหญ่กูแข็ง มึงอยากลองวัดกับกูหรือ ?”
ต่อให้ติดไฟแดงอัจฉริยะ ทาสีทางม้าลายอีกเท่าไร ตำรวจและคนขับรถก็ไม่มีทางเข้าใจและเคารพสิทธิคนข้ามถนนได้ (ยกเว้นเห็นยายแก่หรือพระข้ามถนนนั่นแหละ ต่อมกุศลจิตจะทำงานทันที แต่ไม่ใช่การเคารพสิทธิพลเมือง) นอกจากว่าคนข้ามถนนจะต่อสู้รักษาสิทธิของตัวเอง
เวลาข้ามถนนบนทางม้าลายไปครึ่งทางแล้วมันไม่หยุดให้ ก็ลอง ‘อารามตกใจ’ กันดู...ถ้าทำกันบ่อยๆ มากๆ ผมว่าไม่นานเกินรอ คนขับรถก็จะรู้จักเคารพสิทธิของเราเองในที่สุด”
ข้อความข้างต้น ผมปรับจากข้อเขียนที่ลงในในเวย์แมกกาซีน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550
ปัจจุบัน สภาพการณ์การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายดีขึ้นมาก คงไม่ต้อง “อารามตกใจ” แต่ถ้าใครเจอสถานการณ์ที่เหลืออดจริงๆ ก็คงต้องมี “อาการอารามตกใจ” กันบ้างครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉอีโม่ง วิ่งเต้นล้มปมชั้น 14 เตือนหยุดทำเถอะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ให้จับตาดูวันที่ 15 ม.ค.ที่แพทยสภาขีดเส้นตายให้แพทย์รักษาทักษิณ ชินวัตร ชั้น 14 ส่งรายงานการรักษามาตรวจสอบการเอื้อหนีติดคุก แล้วยังต้องติดตามผลตรวจสอบของ ป.ป.ช.กรณีชั้น
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ดร.เสรี ฟาดพรรคขี้โม้-พรรควาทกรรม
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “พรรคหนึ่งมีแต่วาทกรรม ไม่เคยทำงาน
พ่อนายกฯ ลั่นพรรคร่วมรัฐบาลต้องอยู่ด้วยกันจนครบเทอม
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า การเมืองคงไม่มีอะไร ยังเหมือนเดิม พรรคร่วมรัฐบาลก็เหมือนเดิม การที่ไม่เห็นด้วยกับอะไรกันบ้าง ก็เป็น
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น