หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”
หลังจากนั้น มีการอภิปรายต่อไป จนเกิดข้อถกเถียงว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้
ต่อมาในที่ประชุมสภาฯ น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี ได้กล่าวถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวว่า
“ในหลักการที่ผู้แทนพระนคร (นายไต๋ ปาณิกบุตร/ผู้เขียน) เสนอว่า เราควรจะวางหลักเกณฑ์กันเสียก่อนว่า เราควรจะเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่ นั่นที่จริงก็เป็นวิธีการที่ดีอยู่ พอจะรวบรัดปัญหาในข้อนั้นได้ แต่ว่าเราจะวางหลักเกณฑ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหาได้ไม่ ที่เราจะวางหลักเกณฑ์เช่นนั้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าผู้แทนพระนครเสนอเป็นวิธีที่ดี ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถจะปฏิบัติตามได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญมีว่าสืบราชสมบัติจะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล เราก็จะต้องพิจารณาเป็นรายองค์ไป มีเกณฑ์ที่เราจะวางว่า เมื่อถึงลำดับนั้น เราสมควรที่จะเลือกพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้เยาว์หรือไม่ เมื่อเราเห็นว่า พระองค์นั้นเป็นผู้เยาว์ (พระองค์เจ้าอานันทมหิดล/ผู้เขียน) เราก็ไม่เลือกก็แล้วกัน เมื่อปัญหามาเฉพาะหน้า และวางวงแคบเช่นนั้น จะควรหรือไม่ควรเพียงใด โดยเฉพาะข้าพเจ้าแล้ว ไม่มีส่วนได้เสีย และไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาของพระองค์ใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ขอออกความเห็นในทีนี้”
นายสรอย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่
“ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เราจะเถียงกันนั้นก็เถียงกันได้ แต่ว่ากฎมณเฑียรบาลบอกว่า ให้เลือกตามลำดับ แต่เดี๋ยวนี้ ตามลำดับนั้น รัฐบาลก็ได้ส่งมาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อที่ ๑ ก็คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ต้น ควรจะต้องได้ครองราชสมบัติ
เราจะไปเลือกผู้อื่น ต่อไปข้างหน้า พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเติบโตเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ท่านจะทรงเสียพระทัยเท่าไร ความจริงเป็นพระองค์เองที่สมควรจะสืบราชสมบัติ แล้วจะเปลี่ยนแปลงทีหลังไม่ได้ และอาจจะเกิดการแตกร้าวระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์ หรืออาจจะเป็นภัยแก่บ้านเมืองก็ได้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า การเลือกข้ามไปข้ามมา ข้าพเจ้าเห็นไม่เหมาะ ที่ติดอยู่ก็เป็นผู้เยาว์เท่านั้น และผู้เยาว์หาจำเป็นจะต้องไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศไม่ ถึงแม้ว้าสยามของเราก็เคยมีเช่นพระพุทธเจ้าหลวงก็เป็นผู้เยาว์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยทำมาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้แหละ ได้สืบราชสมบัติ”
พ.ต. หลวงรณสิทธิพิชัย กล่าวว่า
“สำหรับการปรึกษาของสภาฯในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะใคร่ขอเสนอว่า ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๙ ได้บ่งชัดอยู่แล้วว่า ให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล เว้นแต่ว่าให้ประกอบกับความเห็นชอบด้วยของสภาผู้แทนราษฎร พูดถึงตามปกติแล้ว ถ้าเป็นในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร ก็คงจะเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ในที่นี้ก็คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล แต่เราได้ทำรัฐธรรมนูญขึ้น คือให้อำนาจแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่จะให้ความเห็นชอบร่วมกันว่าท่านพระองค์นั้นสมควรจะเป็นกษัตริย์หรือไม่ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของสมาชิกในที่นี้ จึงมีแต่เพียงว่า จะเห็นชอบด้วยหรือไม่ตามที่รัฐบาลเสนอมานั้น ในข้อที่อภิปรายกันนั้น ขอให้ประธานดำเนินไปแต่เพียงว่า ดำเนินไปตามลำดับ พระองค์แรกที่เสนอนี้ว่า ไม่เห็นชอบด้วยเพราะอะไร และเห็นชอบด้วยเพราะอะไร และลงมติ เมื่อเห็นว่า ไม่ชอบเป็นส่วนมาก ก็ให้ลงมติพระองค์อื่นต่อไป ข้าพเจ้าขอร้องท่านเช่นนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นการเรียบร้อยและสะดวก”
เจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวว่า
“การที่จะเลือกพระเจ้าแผ่นดิน ตามกฎมณเฑียรบาล ก็จะต้องระลึกหน่อยว่า ถ้าเลือกผิดชั้นข้ามชั้นแล้ว เจ้านายอาจจะไม่รับก็ได้ จะเสียเวลา เพราะฉะนั้น ให้รู้ลำดับชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ถือเกณฑ์กันอยู่ ถ้ามีเจ้านายอย่างน้อยถึง ๖๐๐ พระองค์เพื่อจะทำการปรึกษาแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเป็นการลำบากมาก เพราะฉะนั้น จะต้องเลือกผู้ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนบ้านเมืองอยู่ด้วยแล้ว จะสะดวกดีกว่า เพราะฉะนั้น ขอเตือนไว้เช่นนี้ ถ้าจะเลือกใคร ก็ให้ระลึกเสียสักหน่อย”
นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าได้ยินเสียงสมาชิกหลายท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ ซึ่งกล่าวเป็นที่วิตกห่วงใยต่างๆนานา และต้องการความสำคัญต่างๆ ข้าพเจ้าก็เห็นว่า ความจริง ความสำคัญของพระมหากษัตริย์จะมีหรือไม่ ก็อยู่ที่พวกเรา เพราะฉะนั้น.....”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวขัดขึ้นว่า “ขอให้อภิปรายกันเฉพาะเจ้านายพระองค์นี้”
นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต่อไปว่า
“ความจริง ข้าพเจ้าจะกล่าวให้เข้าตามที่ว่านี้ และข้าพเจ้าต้องการจะเลือกพระมหากษัตริย์องค์นี้เอง หมายความว่า พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้แหละ ความสำคัญและไม่สำคัญในพระมหากษัตริย์อยู่ที่เรานี่เอง ถ้าเราจะให้พระมหากษัตริย์สำคัญ เราก็บอกถึงความสำคัญต่างๆนานาก็แล้วกัน แต่ความสำคัญของพระมหากษัตริย์เท่าที่ราษฎรได้รับคำอธิบายจากข้าพเจ้าแล้ว ก็รู้สึกโล่งใจตามๆกัน และยิ่งกว่านั้น เราถือตามรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ทำอะไรไม่ผิดและพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย พระมหากษัตริย์ไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบ ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ไม่มีเท่าไรนัก เพราะฉะนั้น เราก็เลือกได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก”
ขุนเสนาสัสดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าใคร่จะเสนอในหน้าที่ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นไปในทางที่ว่า การเลือกพระมหากษัตริย์นั้นเป็นของสำคัญยิ่งที่จะต้องให้ราษฎรทั้งประเทศนิยมด้วย และใช่ว่าจะเลือกแต่กฎมณเฑียรบาลอย่างเดียวนั้น ข้าพเจ้าเห็นคล้อยไปในทางท่านผู้แทนราษฎรปราจีนบุรี (ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส/ผู้เขียน) และผู้แทนพระนครที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับท่านพระองค์นี้ (พระองค์เจ้าอานันทมหิดล/ผู้เขียน) เราก็ได้ทราบจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วว่า ท่านก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และท่านก็ไม่รับสั่งประการใด ถึงแม้ว่าเราจะตั้งท่านขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เราก็จะต้องตั้งคณะผู้สำเร็จราชการอีก ถ้าไม้ใช่ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ ก็จะต้องตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเสียเวลาไม่ใช่น้อย และมีบางท่านอ้างเหตุผลว่า รัชกาลที่ ๕ ก็ไม่บรรลุนิติภาวะเหมือนกัน แต่รัชกาลที่ ๕ นั้น ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านมีพระชันษาถึง ๑๖ แล้ว นี่เพิ่ง ๑๐ ชันษา จะเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ข้าพเจ้าสงสัยว่า ราษฎรทั้งชาติเขาจะนับถือด้วยประการทั้งปวงแล้วหรือ ข้าพเจ้าข้องใจเป็นอันมาก”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490