สาเหตุของการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า

 

ปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลคือ การที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา คำว่า “เกินครึ่ง”  ซึ่งในภาวะปกติของการเมืองระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปัจจุบัน หมายถึง เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

แต่สำหรับบ้านเรา รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ในห้าปีแรก ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกสองสภารวมกัน นั่นคือ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ดังที่เราได้ยินตัวเลข 376 เป็นเกณฑ์ที่ว่า ใครได้เสียง 376 จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องเลยยากขึ้น หาก ส.ว. ให้ความเห็นชอบไม่ถึง

ปัจจัยที่สอง สมมุติว่า ตัดสิทธิ์ในการเลือกนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภาออกไป เหลือแต่เงื่อนไขปกติของประเทศระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยทั่วไป นั่นคือ ใครได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เราก็จะพบว่า หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566  ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯเลย  นอกจากไม่ได้เกินครึ่งแล้ว ยังห่างครึ่งมากด้วย  เพราะพรรคก้าวไกลที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ก็ได้ ส.ส. 151 ที่นั่งเท่านั้น

จะว่าไปแล้ว นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498  ก็ไม่มีพรรคการเมืองไทยพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร ยกเว้นการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 และการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ที่พรรคไทยรักไทยในปี พ.ศ. 2548 ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ และไม่ใช่แค่เกินครึ่งแบบปริ่มๆ แต่ได้ถึง 377 ที่นั่ง เรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งในประเทศไทยจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถทำลายสถิติของไทยรักไทยได้  และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ก็ไทยรักไทยในนามเพื่อไทยอีกที่ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา

ดังนั้น กล่าวได้ว่า  โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  มักจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่งสภาฯ  เมื่อส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ รัฐบาลส่วนใหญ่ในการเมืองไทยจึงต้องเป็นรัฐบาลผสม แม้ว่าเราจะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปต่างๆนานา แต่อย่างไรเสีย ก็ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ ยกเว้นแค่ปี พ.ศ. 2548 และ 2554 เท่านั้น

แม้จะเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปอย่างไรก็ตาม แต่ผลการเลือกตั้งก็ยังออกมาเป็นแบบนั้น นั่นคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน  พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนย่อมส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาฯ

แต่ก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 ดูจะเข้าใจเงื่อนไขผลการเลือกตั้ง จึงเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยได้ หากไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่ได้เสียงเกินครึ่งสภา แต่กระนั้น การจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับก็ไม่ได้ยากเย็นจนทำให้ต้องใช้เงื่อนไขนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อย  จะว่าไปแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลผสมในประเทศเรา ก็ไม่เคยยากเย็นอะไร เห็นจัดตั้งได้เร็วทุกครั้ง เพราะเรามักจะได้ยินแต่ว่า มีแต่คนอยากร่วมรัฐบาล มีแต่คราวนี้เท่านั้น ที่ยากแค้นลำเค็ญ เพราะนอกจากเงื่อนไขผลการเลือกตั้งที่ปกติ มักจะไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งแล้ว เงื่อนไข ส.ว. และการไม่เปิดให้มีนายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อยในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก็เป็นปัญหา นอกเหนือไปจากจุดยืนและบุคลิกภาพของพรรคก้าวไกลเองที่ทำให้ไม่มีใครอยากจะร่วมตั้งรัฐบาล

นอกเหนือจากตัวแปรเฉพาะหน้า เช่น เงื่อนไขรัฐธรรมนูญและจุดยืนบุคลิกภาพของพรรคก้าวไกลแล้ว ตัวแปรถาวรที่น่านำมาพิจารณาคือ พฤติกรรมเลือกตั้งของคนไทย ทำไมคนไทยไม่เทคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งมากพอที่จะได้เกินครึ่งสภาฯหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง ?

ยกเว้นอังกฤษที่พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนส่งผลให้สองพรรคใหญ่ได้ ส.ส. มากกว่าพรรคอื่นๆหรือ ส.ส. ที่อิสระไม่สังกัดพรรค จนทำให้การเมืองอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นการเมืองระบบสองพรรค (แต่ถ้าอังกฤษเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ก็ไม่แน่ว่าระบบสองพรรคจะยังคงอยู่หรือเปล่า ?)

แต่การเมืองในประเทศในยุโรปหลายประเทศ เราจะพบปรากฎการณ์แบบเดียวกับของบ้านเรา นั่นคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา และมีพรรคการเมืองได้รับเลือกเข้าไปในสภาฯหลายพรรค จนทำให้ประเทศเหล่านั้นได้ชื่อว่ามีการเมืองระบบหลายพรรค สาเหตุที่ประเทศเหล่านี้เป็นระบบหลายพรรค ก็เพราะว่า

หนึ่ง ระบบเลือกตั้งเป็นระบบสัดส่วน ต่างจากของอังกฤษ

สอง ระบบสัดส่วนส่งผลให้มีพรรคหลายพรรคเข้าสภาฯ ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกมาก เอื้อให้ประชาชนสามารถมีความนิยมพรรคการเมืองแตกต่างกันไปตามจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ เพราะพรรคการเมืองในประเทศเหล่านี้มักจะแบ่งออกเป็นพรรคขวาจัด ขวา ขวากลาง กลาง กลางซ้าย ซ้าย และซ้ายจัด

กล่าวได้ว่า การที่พฤติกรรมการเลือกตั้งเป็นเช่นนั้นเกี่ยวข้องกับจุดยืนหรืออุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองที่มีหลากหลายซอยย่อยยิบ

แล้วพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนบ้านเราสัมพันธ์กับจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบยุโรปหรือเปล่า ?

คงต้องย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2544 ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย เพราะในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งก่อนหน้านั้น  ก่อนที่ไทยรักไทยจะผงาดขึ้นมาในปี พ.ศ. 2544 พรรคการเมืองบ้านเราก็ไม่สามารถจำแนกความแตกต่างตามแบบพรรคการเมืองในยุโรปได้

แต่เมื่อมีไทยรักไทย เราจะพบความแตกต่างในหมู่พรรคการเมืองของเรา นั่นคือ แบ่งแยกออกเป็นพรรคที่มีนโยบายประชานิยมอย่างไทยรักไทย กับพรรคอื่นๆที่ไม่เป็นประชานิยม  และหลังจากที่เกิดวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 ก็เกิดการแบ่งพรรคการเมืองออกเป็นพรรคที่โกงกับไม่โกง  และเกิดวาทกรรมต่างๆตามมา เช่น โกงแล้วแบ่งก็ยังดีกว่าที่โกงแล้วไม่แบ่ง หรือ โกงแล้วแบ่งก็ยังดีกว่าไม่โกงแต่ทำอะไรไม่เป็น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกพรรคก็กลายเป็นพรรคการเมืองแบบประชานิยมไปหมด จะต่างตรงที่มากหรือน้อยเท่านั้น   แม้จนล่าสุด มีพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล ก็ยังจัดอยู่ในประเภทพรรคประชานิยมอยู่ดี

แม้นว่า ทุกพรรคเป็นประชานิยม แต่ต่อมา ก็ยังมีการแบ่งออกเป็น ฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเสรีนิยม กับ ฝ่ายเผด็จการหรือฝ่ายสืบทอดอำนาจหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม  ซึ่งการแบ่งแบบนี้ ดูเผินๆฝรั่งหรือต่างชาติจะเข้าใจง่าย เพราะแต่ก่อนพรรคการเมืองฝรั่งเกือบทุกชาติก็เริ่มจากแบ่งเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม  การแบ่งพรรคการเมืองไทยออกเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างจริงๆจังๆ เพิ่งจะเริ่มขึ้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 และชัดเจนในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย-เสรีนิยม กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสืบทอดอำนาจก็กลายเป็นเรื่อง มาตรา 112  (ไปได้อย่างไร ??!! พรรคที่รู้คำตอบดีน่าจะได้แก่ พรรคก้าวไกล)

และกลับกลายเป็นว่า ความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองไทยคือ พรรคเอาเจ้า กับไม่เอาเจ้าไปเสีย (คนที่ทำให้เกิดการแบ่งออกเป็นเอาเจ้า-ไม่เอาเจ้าก็หนีไม่พ้นต้องไปถามพรรคก้าวไกลอีกแหละ)  และแน่นอนว่า พรรคที่ได้ชื่อว่าอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสืบทอดอำนาจ (พรรคร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง พ.ศ. 2562) ไม่ยุ่งกับมาตรา 112 อยู่แล้วสมชื่ออนุรักษ์นิยม

แต่ไปๆมาๆ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่เคยได้ชื่อว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยก็ประกาศจุดยืนไม่ยุ่งกับมาตรา 112 ด้วยเช่นกัน ตกลงเหลือพรรคก้าวไกลกับพรรคเล็กๆที่มี ส.ส. 1 คนเท่านั้นที่เป็นพรรคประชาธิปไตย-เสรีนิยม 

จำได้ว่า ในช่วงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยเองก็เคยมีจุดยืนคล้ายๆจะสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มาก่อน จึงไม่แน่ใจว่า การเปลี่ยนจุดยืน ณ ขณะนี้ เป็นเรื่องอะไรแน่ จะเป็น

-จุดยืนทางอุดมการณ์จริงๆ

-เป็นแค่เหตุผลในการช่วงชิงตัดแข้งตัดขาทางการเมืองเท่านั้น เพราะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หากไม่มีก้าวไกลมาเป็นคู่แข่งแย่งคะแนน เพื่อไทยต้องมาเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน เพราะครองอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 แล้ว

-เพื่อหวังให้ตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เพราะ ส.ว. จำนวนมากประกาศไม่รับการแก้ไขมาตรา 112

-หรือเป็นเพราะว่าพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไปจริงๆเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ ไม่นับแค่การต้องการแก้ไขมาตรา 112  ที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรืออนุรักษ์นิยมไม่ยอมคบหา เพราะต่างเชื่อว่าจะนำประเทศไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่

ไปๆมาๆ การเมืองไทยดูเหมือนจะวนกลับไปสู่ปี พ.ศ. 2475 จนได้ สมัยนั้นเกิดพรรคการเมืองที่เรียกว่า “สมาคมคณะราษฎร” กับ พรรคที่ชื่อว่า “สมาคมคณะชาติ”  ฝ่ายแรกคือผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายหลังรวมตัวกันขึ้นมาเพื่อทัดทานฝ่ายแรก

ฝ่ายแรกตั้งพรรคขึ้นมา ก็เพราะต้องการขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองลงหลักปักฐาน ที่ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหนถึงจะเรียกว่าลงหลักปักฐาน ฝ่ายหลังระแวงว่าพรรคคณะราษฎรจะไปสุดโต่งพาประเทศเป็นสาธารณรัฐ  ฝ่ายแรกก็ระแวงว่า ฝ่ายหลังจะถอยหลังกลับเป็นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์

พูดง่ายๆก็คือ ฝ่ายแรกถูกมองจากฝ่ายหลังว่าไม่เอาเจ้า ส่วนฝ่ายหลังถูกมองจากฝ่ายแรกว่าเอาเจ้า แต่ในที่สุด ทั้งสองสมาคมก็ไม่ได้ตั้งเป็นพรรคการเมือง

ถามว่า ถ้าไม่นับสมาคมคณะราษฎร-สมาคมคณะชาติในปี พ.ศ. 2475-2476 แล้ว  เงื่อนไขความขัดแย้งแบบนี้เพิ่งกลับมาเกิดขึ้นช่วงนี้ หรือเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ?

ถามว่า ปรากฎการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในการเมืองระบบรัฐสภาของประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ ?                  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' การันตีไม่มีปัญหาพรรคร่วมเห็นต่าง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงสถานกานณ์ทางการเมือง ที่หลายคนถามรัฐบาลจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ ว่า หากดูจา

'ภูมิธรรม' เซ็ง 'เอ็มโอยู44' ถูกปลุกปั่นจนออกนอกอวกาศ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงเอ็มโอยู 44 ว่า ตนยังยึดหลักเดิม เพราะควรใช้ความอดทนอดกลั้นและความเข้าใจ เพราะเอ็มโอยู 44 ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร

'อนุทิน​' โวรัฐบาลชุดนี้​ มีเสถียรภาพมากสุด เชื่ออยู่ครบเทอม

นายอนุทิน​ ชาญ​วี​ร​กูล​ ​รอง​นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณี

เลขาฯกกต. ตรวจหน่วยรับสมัคร อบจ.ปราจีนบุรี อุบตอบปมสอบเงิน 20 ล้าน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วย พ.ต.ท. ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ รองเลขาธิการ กกต. , น.ส.โชติกา แก้วผล ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดปราจีนบุรี และคณะ ร่วมสังเกตการณ์การรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ.ปราจีนบุรีและนายก อบจ.จังหวัดปราจีนบุรี ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี