พรรคการเมืองไทย

 

การมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีการส่งเสริมให้นักการเมืองรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความเห็นพ้องในอุดมการณ์ของพรรค

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกกลับส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองเป็นกลุ่มก้อนภายใต้ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคล ทำให้ผู้มีอำนาจหรือคณะบุคคลสามารถควบคุมนักการเมืองต่างๆที่มาเข้าสังกัดได้ง่ายขึ้น  โดยเน้นไปที่การตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัวกันมากกว่าจะเป็นเรื่องมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน

และเมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองมีอันต้องลี้ภัยไปอย่างในกรณีของจอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ พรรคเสรีมนังคศิลาก็เสื่อมสลาย นักการเมืองในสังกัดก็แยกย้ายกันไปเข้าพรรคการเมืองอื่นหรือเข้าหาผู้มีอำนาจทางการเมืองอื่น หรืออย่างในช่วงก่อนหน้าการเกิดรัฐประหาร 15 กันยายน พ.ศ. 2500 เกิดวิกฤตการเมืองและการเสื่อมความนิยมต่อพรรคเสรีมนังคศิลา จะพบการแตกตัวออกจากพรรคไปก่อตั้งพรรคใหม่โดยทันที อันได้แก่ การแตกตัวของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาไปตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พรรคสหภูมิ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นคู่แข่งกับจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น  และสามารถที่จะพลิกหันกลับมาทำลายพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่พวกตนเคยสังกัดได้ทันที

และหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาว่า พรรคสหภูมิ ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนทั้งสิ้น 45  ที่นั่งในจำนวนที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 160 ที่นั่ง  จะเห็นได้ว่า  แม้ว่าจะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แต่ก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จอมพลสฤษดิ์จึง “คิดปรับปรุงพรรคสหภูมิเสียใหม่ โดยรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเดิมมาร่วมกับพรรคสหภูมิ แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ‘พรรคชาติสังคม’ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค”

การจดทะเบียนจัดตั้งพรรคชาติสังคม ที่เกิดขึ้นจากการยุบรวมเอาสมาชิกพรรคสหภูมิจำนวน 45 คนและสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 4 คนหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่เป็นการเลือกตั้งสกปรก พรรคเสรีมนังคศิลาได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 85 ที่นั่ง ขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ถือเป็นเรื่องผิดวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนเจตจำนงและความต้องการเลือกสมาชิกพรรคการเมืองใดที่ตนเห็นชอบ เพราะประชาชนเลือกผู้สมัครพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาที่เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498  แต่จู่ๆ หลังการเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลายอมยุบพรรคและหันไปเป็นสมาชิกพรรคชาติสังคมที่ประชาชนไม่รู้จักและไม่เคยเกิดขึ้นมาในขณะที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 

หนึ่งในผู้มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความผิดประหลาดนี้ คือ ตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองพรรค และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่อยู่เบื้องหลังพรรคสหภูมิและอยู่เบื้องหลังการยุบรวมและตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา

ต่อมาคือ ประชาชนที่เลือกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลาแล้วกลับนิ่งเฉยยอมรับการยุบไปรวมเป็นพรรคการเมืองใหม่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในปี พ.ศ. 2511 ว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า สมาชิกของพรรคชาติสังคมนั้นส่วนใหญ่ หาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในนามของพรรคมาก่อนไม่ หากได้รับเลือกตั้งมาในนามของพรรคและนโยบายต่างๆ กัน อาทิ พรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลา ภายหลังที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็เข้ามาร่วมพรรคกันตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจ”

และการยอมยุบพรรคตัวเองเพื่อไปร่วมกับพรรคอื่นหรือพรรคใหม่ของผู้มีอำนาจก็เป็นไปเพื่อ หวังผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ดังที่ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ก็ได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า แม้มายุบรวมเป็นพรรคเดียวกันแล้ว “แต่ต่างฝ่ายต่างก็ยังคงยึดถือว่าตนเป็นพรรคนั้นพรรคนี้มาก่อน มีการแบ่งแยกกันออกเป็นพวกเป็นเหล่าเช่นในคราวตั้งคณะรัฐมนตรี ก็มีการกำหนดโควตากันว่า ควรเป็นสมาชิกพรรคสหภูมิเท่านั้น อดีตเสรีมนังคศิลาเท่านี้”

และแม้นว่าจะมาร่วมกันเป็นพรรคการเมืองใหม่แล้ว แต่ก็ยังคงดำรงความขัดแย้งที่เคยมีอยู่ด้วย นั่นคือ “การที่สมาชิกพรรคสหภูมิ และอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาไม่ค่อยจะลงรอยกันนี้ เนื่องมาจากว่าสมาชิกพรรคสหภูมิมีความไม่พอใจที่รวมเอาอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลามาร่วมกับพรรคสหภูมิ เพราะตอนที่หาเสียงเลือกตั้ง สมาชิกพรรคสหภูมิได้โจมตีพรรคเสรีมนังคศิลาอย่างรุนแรง เมื่อรวมกันเช่นนี้จะทำให้ราษฎรขาดความเชื่อถือได้”

และเมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็ทำให้ความขัดแย้งภายในพรรคขยายตัวลุกลามไปโดยเฉพาะเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ป่วยต้องไปรับการรักษาตัวในต่างประเทศ “ก็ได้เกิดความสับสนอลเวงภายในพรรค ทั้งนี้ เนื่องมาจากการขัดแย้งกันภายในพรรคระหว่างสมาชิกพรรคสหภูมิกับอดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา” อีกทั้ง “บรรดาลูกพรรคทั้งหลายต่างก็เรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆจากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเคยได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเงินทองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอมาอยู่ในพรรคชาติสังคมก็ต้องการได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเงินทองบ้าง เมื่อทางพรรคไม่อาจสนองความต้องการได้ ก็มีปฏิกิริยาในทำนองไม่พอใจ ถึงกับคิดจะปลีกตัวไปรวมกับพรรคการเมืองใหม่ พรรคประชาราษฎร์”

ดังนั้น จากที่กล่าวมาข้างต้น เราได้ประจักษ์ถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองของการย้ายพรรค, ยุบพรรค รวมพรรคที่เกิดขึ้นชัดเจนเป็นครั้งแรกภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรก พ.ศ. 2498 และได้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ (vicious cycle) ของการยุบ ย้ายพรรค รวม ตั้งพรรคตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและกลุ่มก๊วน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะและเจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ตนและพวกตนได้เข้ามามีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนอยากชวนให้พิจารณาคำกล่าวของ เดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ในปี พ.ศ. 2508 ต่อปรากฎการณ์ของพรรคการเมืองในการเมืองไทยขณะนั้น เดชชาติ ได้กล่าวว่า

“…พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรค นอกจากนั้นเป็นการรวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นกำลังที่จะไปต่อรองกับรัฐบาลในการขอผลประโยชน์ทางการเมือง พรรคการเมืองไทยมีสมาชิกจำนวนจำกัด และไม่มีประชาชนเข้าเป็นสมาชิกด้วยตามความหมายของพรรคการเมืองที่แท้จริง ผู้แทนราษฎรซึ่งเข้ามารวมกันเป็นพรรคการเมืองก็ไม่ได้หาเสียงในนามของพรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นการหาเสียงส่วนตัวของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อได้รับการเลือกตั้งก็มารวมกันเข้าเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อจะเจรจาต่อรองผู้มีอำนาจว่า ผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมืองควรจะแบ่งสันปันส่วนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความอิดหนาระดาใจเป็นอย่างมาก”

และเมื่อความยุ่งยากภายในพรรคผสมกับปัญหาภายนอกพรรคที่เกิดจากพรรคจนเกิดความสับสนวุ่นวายสร้างความอิดหนาระอาใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ในที่สุดผู้มีอำนาจทางทหารก็ใช้เป็นข้ออ้างก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ และมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่โดยการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาการเมืองที่ผ่านมา และวงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองไทย (vicious cycle) ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ตามมานี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดวงจรทางการเมืองที่ต่อมาในปี พ.ศ. 2527

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “วงจรอุบาทว์ (vicious cycle)” เพื่ออธิบายลักษณะเด่นของปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่อยู่ในวังวนของการเลือกตั้ง-ซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง-ทุจริตคอร์รัปชัน-วิกฤตทางการเมือง-รัฐประหาร-รัฐธรรมนูญใหม่-การเลือกตั้ง

มีข้อสังเกตว่า การทำรัฐประหารสองครั้งหลัง คือ พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 จะยังคงสามารถอธิบายภายใต้ “วงจรอุบาทว์” ที่อาจารย์ชัยอนันต์ได้กล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2527 ได้หรือไม่ ? 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา

‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘

จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่

'อิ๊งค์' ยิ้มร่ารับฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' แซวตัวเอง 'แพทองแพด' แฮปปี้ไม่เกลียดใคร

'นายกฯอิ๊งค์' ยิ้มแย้ม ไม่โกรธฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ขอมองมุมดี พ่อมีประสบการณ์เพียบช่วยหนุน หยอกสื่อกลับ 'แพทองแพด' ไม่ใช่แพทองโพย บอกไม่ค่อยเกลียดใครมันเหนื่อย แฮปปี้เข้าไว้