91 ปีประชาธิปไตยไทย ตอน พรรคการเมืองรุ่นแรกๆของไทย

 

“การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มีใครเกี่ยวข้องนิดเดียว กลุ่มข้าราชการนิดเดียวไม่เกี่ยวกับคนนอกวงราชการด้วยนะ...แต่เพียงวงกระจิ๋วเดียวกลุ่มข้าราชการวงเล็กๆ ไม่ใช่ว่ามีพ่อค้า ประชาชน….” [1]

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ.2475 แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศตะวันตกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตยให้มีเสถียรภาพมั่นคง ตรงที่คณะราษฎรในฐานะกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยปราศจากการรับรู้และการมีส่วนร่วมสนับสนุนของประชาชนคนส่วนใหญ่        

ด้วยเหตุนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรจึงพยายามที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น ในนามของสมาคมคณะราษฎรโดยเปิดให้ประชาชนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก แม้ว่าจะมีประชาชนสมัครเป็นสมาชิกจำนวนนับหมื่นคน แต่ตามหลักฐานข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่ได้บ่งชี้ว่าในสมาชิกจำนวนหนึ่งหมื่นคนนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่มีอุดมการณ์เป้าหมายร่วมกับสมาคมคณะราษฎรในการที่จะร่วมส่งเสริมสนับสนุนอุดมการณ์เป้าหมายของสมาคมคณะราษฎรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมากต้องการใช้สมาคมเป็นช่องทางแสดงความภักดีต่อระบอบใหม่ เพื่อความมั่นคงในอาชีพ [2]  หรือหวังประโยชน์ส่วนตน เช่น ยื่นใบสมัครมาเพื่อต้องการให้คณะราษฎรหางานให้ทำ [3] แต่ก็มีบ้างที่เป็นสมาชิกที่ตื่นตัวทางการเมืองและเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอุดมการณ์ของสมาคมคณะราษฎร [4]

ขณะเดียวกัน เมื่อมีคณะบุคคลอื่นต้องการจะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น อย่างเช่น สมาคมคณะชาติ ที่ต้องการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อทัดทานหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสมาคมคณะราษฎร คณะราษฎรที่ครองอำนาจทางการเมืองอยู่ในขณะนั้นก็ปฏิเสธที่จะให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นขึ้นนอกเหนือจากสมาคมคณะราษฎรของตน โดยให้เหตุผลว่าเกรงประชาชนจะสับสน ซึ่งทั้งฝ่ายคณะราษฎรแลฝ่ายที่ต้องการจัดตั้งสมาคมคณะชาติต่างมีความหวาดระแวงสงสัยในเจตนาทางการเมืองที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับเป้าหมายของระบอบการปกครอง

อาจกล่าวได้ว่า สมาคมคณะราษฎรระแวงว่าสมาคมคณะชาติจะมีเป้าหมายนำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา ส่วนสมาคมคณะชาติก็ระแวงสมาคมคณะราษฎรว่า จะไปไกลเกินว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ ไปถึงสาธารณรัฐ             

ในที่สุด การจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายคณะราษฎรเองหรือสมาคมคณะชาติได้ถูกปฏิเสธจากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลที่ว่า การให้มีพรรคการเมืองในเวลานั้นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกอันรุนแรงจนนำไปสู่สภาวะอนาธิปไตยได้ ดังที่ปรากฏในประเทศเยอรมนีในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย แต่คณะราษฎรก็เป็นคณะบุคคลที่ครองอำนาจทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียวมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีความพยายามที่จะให้มีกฎหมายพรรคการเมือง แต่ไม่สำเร็จ ทั้งที่ในทางปฏิบัติก็ได้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองเป็นกลุ่มก้อนขึ้นแล้ว จนเมื่อมีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2489 ได้มีการบรรจุข้อความในรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลในการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้  และมีการร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้น

ทั้งนี้เหตุผลสำคัญนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวเป็น              พรรคการเมืองตามหลักการในระบอบเสรีประชาธิปไตยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นเห็นว่า การให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นจะทำให้ฝ่ายตนได้เปรียบ

เพราะนักการเมืองข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่แยกกันไปรวมตัวเป็นพรรคการเมืองสามพรรค อันได้แก่ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคอิสระต่างสนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ แทนที่จะสนับสนุนหัวหน้ากลุ่มของตน

ซึ่งการมีพรรคการเมืองสามพรรค  แต่สนับสนุนผู้นำคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นแสดงให้เห็นว่าทั้งสามพรรคนั้นยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่าจะมีอุดมการณ์เป้าหมายที่เป็นของแต่ละพรรคโดยเฉพาะ

จะสังเกตได้ว่า ปรากฎการณ์ของการมีหลายพรรคการเมืองแต่สนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวกันให้เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น ยังจะพบได้ในเวลาต่อมาจนถึงการเมืองในปัจจุบัน ที่มีพรรคการเมืองหลายพรรคสนับสนุนผู้นำทางการเมืองคนเดียวให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคของตน

อาจกล่าวได้ว่า ปรากฎการณ์ทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์และพรรคการเมืองทั้งสามภายใต้เขา ได้กลายเป็นตัวแบบที่ทำตามกันมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อนายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ พรรคการเมืองเหล่านั้นก็สลายตัวตามไป แสดงให้เห็นว่า สมาชิกในกลุ่มการเมืองเหล่านั้นมิได้รวมตัวกันโดยมีเป้าหมายและอุดมการณ์ร่วมกันอย่างแท้จริงเท่ากับการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนตัวบุคคลหนึ่งและต่อต้านตัวบุคคลของฝ่ายตรงข้าม

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายต้องมีอันต้องยุติไปจากสาเหตุการทำรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งต่อมาจวบจนถึงปัจจุบัน รัฐประหารก็ยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการของพรรคการเมืองไม่มีความต่อเนื่องจนสามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้

หลังจากรัฐประหาร พ.ศ. 2490  ต่อมาหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475  แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495  ฉากหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะต้องเป็นไปภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการตราและประการใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองเสียก่อน

แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลได้ต่อต้านความพยายามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง  โดยฝ่ายรัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า  รัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการรวมตัวเป็นพรรคการเมืองได้อยู่แล้ว แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเรียกร้องให้มีการตราพระราชบัญญัติพรรคการเมืองได้แย้งว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะอนุญาต แต่รัฐบาลไม่ยอมยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยภายใต้คณะรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ที่ห้ามมิให้ชุมนุมทางการเมือง         

สาเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง  เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบทางการเมืองอยู่แล้ว และไม่ต้องการให้สมาชิกฝ่ายค้านสามารถรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีกฎหมายรองรับและคุ้มครอง

การปฏิเสธร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองขณะนั้นถือเป็นการบั่นทอนให้ฝ่ายค้านอ่อนกำลังและต้องคอยระวังตัวในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความพยายามที่จะให้มีการตราและประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2498 แต่ครั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลเองกลับเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองโดยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ         

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพที่ปรากฏให้เห็นจากสาระเงื่อนไขในการจัดตั้งพรรคการเมืองในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 จะสอดคล้องกับเงื่อนไขตามทฤษฎีการปกครองแบบผสม

นั่นคือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ก่อตั้งและคณะผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองกับประชาชนคนส่วนใหญ่ โดยกำหนดเงื่อนไขในการจดทะเบียนพรรคการเมืองว่า จะต้องหารายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นจำนวน ถึง 500 คนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 10 คน  ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่น้อย หากรายชื่อจำนวน 500 คนหมายถึงประชาชนผู้มีความสนใจมุ่งมั่นร่วมเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค  แต่กระนั้น ก็ยังมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนได้ตามเกณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อเกิดปัญหากับหัวหน้าพรรค พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปมากที่สุด

อย่างพรรคเสรีมนังคศิลาก็เสื่อมสลายไปหลังจากที่หัวหน้าและคนระดับรองหัวหน้าอย่างพรรค จอมพล ป พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์หลบหนีออกไปนอกประเทศ         

การจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายก็กลับมิได้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับสมาชิกพรรคหรือประชาชนได้แต่อย่างไร แต่กลับเป็นการส่งเสริมการรวมตัวของนักการเมืองให้เป็นกลุ่มก้อนภายใต้ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคล และทำให้ผู้มีอำนาจหรือคณะบุคคลสามารถควบคุมนักการเมืองต่างๆที่มาเข้าสังกัดได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเน้นไปที่การตอบแทนผลประโยชน์ส่วนตัวกันมากกว่าจะเป็นการมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน    

ปรากฎการณ์ดังกล่าวภายใต้การมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกก็ยังคงสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมาพรรคการเมืองไทยจึงเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนโดยยึดไปที่ประโยชน์ที่จะได้จากตัวหัวหน้าพรรค หรือบุคคลระดับแกนนำของพรรคมากว่าจะยึดมั่นในเป้าหมายและอุดมการณ์ของพรรค หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498  หัวหน้าพรรคและบุคคลระดับแกนนำของพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพล คือ ผู้นำฝ่ายทหารและตำรวจ พรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญล้วนแต่เป็นพรรคการเมืองที่มีผู้นำทหารเป็นหัวหน้าพรรคหรือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองก็จัดตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนพวกตนมากกว่าหนึ่งพรรค ไม่ต่างจากในสมัยที่พลเรือนอย่างนายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจอิทธิพลทางการเมือง และพรรคการเมืองเหล่านี้ก็ยุติบทบาทไปทันทีเมื่อผู้นำที่พวกเขายึดถือสิ้นอำนาจไป

อีกทั้งปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวของนักการเมือง การจัดตั้งพรรค การย้ายพรรค และยุบเพื่อไปรวมเป็น/กับพรรคการเมืองใหม่ในช่วงหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 และวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้เป็นปรากฎการณ์ที่ให้กำเนิดตัวแบบของการเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายที่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแต่ยึดติดกับเอกบุคคลและ/หรือคุณะบุคคลผู้มีอำนาจ: วงจรอุบาทว์ของพรรคการเมืองไทย (vicious cycle of Thai political party)


[1] ศราวุฒิ วิสาพรม, “ฝูงชนในเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475,’” ศิลปวัฒนธรรม, 35 (8) (มิถุนายน พ.ศ. 2557), น. 90; กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ, “การปฏิวัติสยาม: รากเหง้า/รากเน่า ประชาธิปไตยไทย,” วารสารร่มพฤกษ์, 26 (1) (ตุลาคม พ.ศ. 2550 - มกราคม พ.ศ. 2551), น. 177-181; นคินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน: 2546), น. 54-62. อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 35.

[2] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 68.

[3] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 66-67.

[4] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (2560). “คณะการเมือง”  หลังการปฏิวัติสยาม: พลวัต พัฒนาการ และชะตากรรมของระบบไร้พรรคฃ,” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 69.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ

สภาสูง ยั๊วะ รัฐบาล ข้ามหัว เทตอบ 5 กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯนินจา’ หนีสภา

‘สภาสูง’ ยั๊วะ รบ.ข้ามหัว เทตอบ 5กระทู้ ‘ยุคล’ ตั้งฉายา ‘นายกฯ นินจา’ หนีสภา ‘หมอเปรม’ อาลัย ‘แพทองโพย’ ไร้รับผิดชอบ แขวะใส่ชุดนอนตรวจทหาร หิ้วผัวใต้ออกงาน

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘

จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่

'อิ๊งค์' ยิ้มร่ารับฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' แซวตัวเอง 'แพทองแพด' แฮปปี้ไม่เกลียดใคร

'นายกฯอิ๊งค์' ยิ้มแย้ม ไม่โกรธฉายา 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ขอมองมุมดี พ่อมีประสบการณ์เพียบช่วยหนุน หยอกสื่อกลับ 'แพทองแพด' ไม่ใช่แพทองโพย บอกไม่ค่อยเกลียดใครมันเหนื่อย แฮปปี้เข้าไว้