การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕๓)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”

หลังจากที่มีการอภิปรายไปสักพัก นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”

หลังจากมีการอภิปรายต่อไป ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรีได้อภิปรายว่า บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรสมควรจะเลือกให้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไปควรจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

๑. ทรงเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ         

๒. ทรงเป็นผู้มีวิทยาคุณ รอบรู้ประวัติศาสตร์ในการปกครองมนุษยชาติ     

๓. ทรงมีความรู้ในวิชาทหารบกหรือทหารเรืออย่างน้อยในตำแหน่งสัญญาบัตร

๔. ทรงมีพระอุปนิสัยรักใคร่ราษฎร และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วไป

๕. ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว     

สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้

ต่อจากนั้น ที่ประชุมสภาฯได้มีการอภิปรายโต้แย้งกันในประเด็นที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗ หรือไม่ ?  บ้างว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่สภาฯมีอำนาจเหนือกว่า แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา ๙ ว่าการสืบสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล และสภาผู้แทนราษฎรจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อรัฐธรรมนูญ

ต่อมา นายมนูญ บริสุทธิ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลก่อน แล้วด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง ถ้าหากว่าบุคคลนั้นสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้ว เราจึงจะผ่านเป็นลำดับไป”

หลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “บัดนี้ต้องตีความมาตรา ๙ คือว่า เป็นปัญหากันขึ้นว่า จะถือตามกฎมณเฑียรบาล คือดังที่รัฐบาลเสนอขึ้นนั้นว่า ทางสภาฯจะต้องเอาลำดับที่ ๑ แน่นอน โดยจะเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้อย่างนั้นหรือ หรือว่าทางสภาฯจะไม่เห็นชอบด้วย  แล้วก็จะยกพระองค์อื่นก็ได้ เป็นลำดับลงไปอย่างนั้น  ข้าพเจ้าเห็นว่า อย่างที่ท่านสมาชิกผู้หนึ่ง ขอประทานโทษ คือ คุณหลวงรณสิทธิพิชัยว่า เราจะต้องถือแน่นอนนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าเราถือแน่นอนแล้วว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าหากว่าสภาฯ เราไม่เห็นชอบแล้ว ทำอย่างไรกันเล่า นี่ ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างนั้น ความขัดข้องมีความนั้น ถ้าไม่เห็นชอบแล้ว จะทำอย่างไรกัน”

นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ท่านสมาชิกเข้าใจผิด คือที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ตามกฎมณเฑียรบาลนั้นอย่างไร คือแปลว่า เมื่อนัมเบอร์ ๑ ท่านไม่เห็นด้วย ก็จะเลือกนัมเบอร์ ๒ ตามลำดับลงมาอย่างนั้นต่างหาก”

ด. ยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “ในครั้งแรก ปัญหาที่ข้าพเจ้าทักขึ้นนั้น คือการตีความในมาตรา ๙ ว่า เดี๋ยวนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องเลือกพระผู้เป็นประมุขตามกฎมณเฑียรบาลหรือไม่  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ถ้าแม้นว่า เราจะต้องทำตามกฎมณเฑียรบาลแล้วไซร้  เวลาที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถจะอนุมัติให้บุคคลนั้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้  สภาผู้แทนราษำรนี้หามีอำนาจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นไม่ คือจะต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาล แต่ความจริง สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเหนือกฎมณเฑียรบาล หาจำต้องทำตามกฎมณเฑียรบาลเสมอไปไม่”

นายมังกร สามเสน กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ในการที่จะเลือกพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลนั้น กฎมณเฑียรบาลนี้วางหลักไว้แล้วว่า ดังนี้ ‘อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามต้องเป็นผู้ที่พลเมืองและประชาชนนับถือทุกสถาน’ นี่ ขอให้ถือหลักนี้”

ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ กล่าวว่า “เพื่อตีความตามมาตรา ๙ นี้แล้ว  ข้าพเจ้าขอเรียนว่าในมาตรา ๙ นี้ มีคำบังคับไว้ชัดว่า ‘ให้เป็นไป’   คำว่า ‘ให้เป็นไป’  นี้มีความเท่ากับต้อง คือบังคับว่าให้เป็นไปโดยนัย ก็แปลว่า โดยข้อความแห่งกฎมณเฑียรบาล ทีนี้ เราก็จำเป็นต้องว่าตามกฎมณเฑียรบาล คือ มาตรา ๙ ให้เลือกองค์ที่ ๑ การเลือกองค์ที่ ๑ นั้น ต้องประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาฯ  เมื่อองค์ที่ ๑ ไม่เห็นชอบแล้ว ก็เป็นองค์ที่ ๒    คือต้องประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาฯดุจกัน  เมื่อไม่เห็นชอบแล้ว ก็ผ่านไปตามลำดับ ถ้าทำเช่นนี้แล้ว เวลาของสภาฯก็จะเร็วเข้า   และความประสงค์ของสมาชิกก็จะสมประสงค์เช่นเดียวกัน

เมื่อเราไม่ชอบองค์ที่ ๑ ก็เป็นองค์ที่ ๒ ที่ ๓ ตามลำดับ  แต่ต้องให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ข้าพเจ้าจึงขอเสนอว่า เพื่อตัดเวลาให้เร็วเข้า ขอให้ท่านสำรวมใจ คือ เลือกองค์ที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามลำดับ แล้วจะสมประสงค์ของท่านเหมือนกัน  ถ้าท่านไม่เอาองค์ที่ ๑ ก็องค์ที่ ๒  ถ้าท่านไม่เอาองค์ที่ ๒ ก็เป็นองค์ที่ ๓ ตามลำดับกันไป”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าของดการโต้ตอบเสียทีเถิด ไม่เห็นมีอยู่ในข้อบังคับอย่างไรเลย”

ร.ต. สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า

“ตามที่สมาชิกผู้หนึ่งได้กล่าวอภิปรายเมื่อกี้นี้  ข้าพเจ้าขอสนับสนุนว่าเป็นดังนั้น  คือ เราไม่ต้องอภิปรายกันมากมาย  ทีแรก เราก็ต้องการตามกฎมณเฑียรบาลก่อน คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนี้จะสมควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่ เราก็โวต  ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต่อไปองค์ที่ ๒-๓-๔  เราจะเอาองค์ไหน เราก็โวตให้องค์นั้นก็แล้วกัน ไม่ต้องกล่าวถึงคุณสมบัติของท่าน กล่าวเท่าไร คืนนี้ก็ไม่เสร็จ”

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่า การเลือกพระเจ้าแผ่นดินทั้งทีนั้น เป็นการสำคัญอย่างยิ่งของสภาฯนี้  เราไม่ควรจะรีบไปไหน  เราจะรีบไปไม่ได้  เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของชาติ  เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอประทานเวลาให้มีเวลาตรึกตรองกันบ้าง  ข้าพเจ้าอยากจะใคร่ถามรัฐบาลว่า สำหรับพระองค์เจ้าอานันทฯ ตามที่รัฐบาลได้แจ้งในบันทึกว่า ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสานั้น ได้ผลอย่างไรบ้าง”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490