การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕๒)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร             

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ 

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”   

หลังจากมีการอภิปรายไปพอสมควร เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”

หลังจากที่มีการอภิปรายไปสักพัก นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”   

หลังจากมีการอภิปรายต่อไป ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรีได้อภิปรายว่า บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรสมควรจะเลือกให้เป็นกษัตริย์องค์ต่อไปควรจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

๑. ทรงเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ     

๒. ทรงเป็นผู้มีวิทยาคุณ รอบรู้ประวัติศาสตร์ในการปกครองมนุษยชาติ     

๓. ทรงมีความรู้ในวิชาทหารบกหรือทหารเรืออย่างน้อยในตำแหน่งสัญญาบัตร

๔. ทรงมีพระอุปนิสัยรักใคร่ราษฎร และเป็นที่นิยมนับถือของประชาชนทั่วไป

๕. ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว   

สภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องเลือกกษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล เพราะสภาผู้แทนราษฎรทรงไว้ซึ่งอำนาจสูงกว่ากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเจ้านายพระองค์ใดก็ได้         

ต่อจากนั้น พ.ต. หลวงรณสิทธิพิชัย กล่าวว่า

“ตามที่ท่านสมาชิก (ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส/ผู้เขียน) ได้กล่าวเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ยังไม่เป็นการชอบนัก ด้วยเหตุว่าตามที่สมาชิกกล่าวว่า ควรจะได้ถือความเห็นของสภาผู้แทนราษฎรเหนือกฎมณเฑียรบาลนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ชอบ ด้วยเหตุที่ว่า ตามมาตรา ๙ แห่งรัฐธรรมนูญนั้น มีความชัดว่า การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  สภาผู้แทนราษฎรนี้เป็นแต่เพียงความเห็นชอบเข้าประกอบกันนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลนั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเรายังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นของสำคัญอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรจะกระทำอย่างที่ท่านสมาชิกผู้นั้นขอร้องมา เราควรจะถือกฎมณเฑียรบาลนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  เพราะฉะนั้น ในที่นี้ เมื่อทางรัฐบาลเสนอพระองค์เจ้าอานันทฯ มาแล้ว หน้าที่ของสมาชิกฯในที่นี้จึงควรจะพิจารณากันแต่เพียงว่า พระองค์เจ้าอานันทฯนี้ ไม่สมควรอย่างไร ถ้าสมควรแล้ว ก็ไม่ต้องอภิปรายกันต่อไป  ถ้าไม่สมควรแล้ว จึงจะควรอภิปรายกัน และในส่วนที่ท่านสมาชิกผู้นั้นได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะบางพระองค์ ชักตัวอย่าง พระเจ้าไมเกิ้ลของรูเมเนีย เพราว่าผู้ที่เข้ามาภายหลังก็เป็นพระราชบิดาของพระองค์นั่นเอง  พระองค์จึงจำต้องยอมสละให้โดยไม่มีปัญหา และถ้าจะพูดถึงพระยอดฟ้า ผิดกับสมัยนี้มากมาย มากจนเหลือที่จะเอามาเปรียบได้ เพราะฉะนั้น ในสมัยที่บ้านเมืองมีขื่อมีแปเช่นนี้แหละ เราก็จะต้องกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ ต่อไปอีกเหมือนกัน (มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว/ผู้เขียน) ในฐานะที่เราเคารพรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านสมาชิกทั้งหลายจงปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙ เท่านั้น  โดยถือแนวกฎมณเฑียรบาลเป็นหลัก โดยอาศัยความเห็นของสมาชิกประกอบเท่านั้น”

นายเลมียด หงสประภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า 

“ข้าพเจ้าเห็นว่า เราไม่จำเป็นจะต้องดำเนินตามกฎมณเฑียรบาลโดยเคร่งครัด เพราะว่ามาตรา ๙ นั้นว่า ‘โดยนัยแห่ง’ ไม่ใช่บอกว่าทำตามกฎมณเฑียรบาล นัยหมายความว่าอย่างไร เราต้องตีความ เราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงได้เพียงไหน ในมาตรา ๙ เราจะต้องระลึกว่า ไม่ใช่บอกว่าต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล แต่เป็นไปตาม ‘นัยแห่ง’”

ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎร จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า

“ตามที่ข้าพเจ้าได้อภิปรายเมื่อกี้นี้  ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกเจ้านายผู้ที่อยู่นอกกฎมณเฑียรบาล ให้อยู่ในกฎมณเฑียรบาลนั่นเอง แต่ควรจะเลือกเจ้านายที่รักชาติ รักประเทศและรักราษฎรในเวลาที่ราษฎรกำลังคับขัน เราจะเลือกเอามาแล้วมาซ่อมแซมอีก ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย ก็คล้ายๆกับว่า เพราะถ้าไม่มีหางเสือ เราจะพากันไปลงในเรือที่ไม่มีหางเสือทีเดียวหรือ ถึงแม้จะมีอีกคณะหนึ่ง ก็ไม่น่าที่จะเชื่อถือได้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะไหว้เด็กหรอก ข้าพเจ้าอยากจะไหว้คนที่มีอายุพรรษามากกว่าเด็ก เด็ก   ราษฎรทั้งหลายเขาไม่ค่อยจะเคารพนับถือนัก เขาเคารพผู้ใหญ่มากกว่า นี่เอากฎธรรมดามาพูด  แล้วอีกอย่างหนึ่ง เจ้านายที่ราษฎรเคยเห็นอกเห็นใจมาแล้วนั้น ราษฎรจะนับถือมาก ถ้าหากกว่า เจ้านายที่อยู่ห่างไกลหรือไปอยู่ต่างประเทศแล้ว ราษฎรจะไว้ใจหรือเคารพนับถือได้อย่างไร ข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  แต่ประสงค์จะให้เลือกเจ้านายพระองค์ที่มีความสามารถดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารักรัฐธรรมนูญ เราต้องการเจ้านายที่มีคุณสมบัติดี เอามาช่วยดำเนินประเทศชาติให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ”

นายมนูญ บริสุทธิ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอสนับสนุนท่านสมาชิกผู้หนึ่ง คือ คุณหลวงรณสิทธิ์ฯ (พ.ต. หลวงรณสิทธิพิชัย/ผู้เขียน) ข้าพเจ้ามีความเห็นสอดคล้องต้องด้วยเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่ารัฐธรรมนูญของเราบ่งไว้ชัดแล้ว ส่วนที่ท่านสมาชิกผู้แทนจังหวัดปราจีนกล่าววว่า เด็กประดุจเรือไม่มีหางเสือนั้น ข้าพเจ้าอยากจะขอให้ท่านนึกดูว่า ที่รัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อถึงเวลาทรงเสวยราชสมบัตินั้นเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “นั่นยังไม่ถึงเวลาที่จะอภิปรายกัน ข้าพเจ้าขอให้ตีความเสียก่อนว่า ควรอภิปรายตั้งแต่รายต้น หรืออภิปรายกันตามกฎมณเฑียรบาล เรื่องนั้นพูเดกันใหม่ทีหลังเมื่อตกลงแล้ว”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490