วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมายใดๆมาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ที่พระราชอำนาจจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ และวันที่มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกคือ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่เป็นฉบับชั่วคราว
คำถามคือ รัฐธรรมนูญที่จะมาจำกัดพระราชอำนาจนั้นมาจากไหน ใครเป็นผู้ร่าง ?
ตามหลักการสากลของที่มาของรัฐธรรมนูญที่ปรากฎอยู่ในตำราของของหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์) และไพโรจน์ ชัยนาม
หลักการที่มาของรัฐธรรมนูญมีอยู่สามแบบ ดังนี้
หนึ่ง รัฐธรรมนูญซึ่งประมุขของรัฐเป็นผู้มอบให้ ซึ่งหากประมุขของรัฐที่ว่านี้เป็นพระมหากษัตริย์ก็จะเรียกรัฐธรรมนูญที่ทรงพระราชทานลงมาว่า “Charter”
ส่วนแบบที่สอง คือรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกัน (Pact) หรือที่หลวงประเจิดอักษรลักษณ์เรียกว่า “รัฐธรรมนูญโดยทางสัญญา” (Le pacte) ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐกับราษฎร หรือระหว่างประมุขของรัฐกับคณะบุคคลใดคณะหนึ่งที่กระทำการในนามของราษฎร หรือที่ราษฎรร่วมกันจัดการตั้งขึ้น ซึ่งในสาขาวิชาการเมืองเปรียบเทียบ ยังมีชุดคำอธิบายที่เรียกว่า “pactology” อันเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องการตกลงกันของชนชั้นนำ (Elite pact) ซึ่งเป็นชุดคำอธิบายสำคัญชุดหนึ่งในการศึกษากระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization)
และสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญที่เกิดจากการบัญญัติขึ้นโดยฝ่ายราษฎรเองเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Convention) หรือการทำประชามติ (Referendum)
ในกรณีรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2475 ทั้งหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ ไพโรจน์ ชัยนาม และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ต่างเห็นตรงกันว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ของสยาม มีลักษณะตามตัวแบบที่สอง คือเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎร อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ในเวลาต่อมา
แต่ผมไม่แน่ใจในเจตนาเบื้องต้นของคณะราษฎรที่จะให้รัฐธรรมนูญของไทยฉบับแรกเกิดจากการตกลงร่วมกันหรือ “Pact” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับและคณะราษฎร ?
เพราะในการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น คณะราษฎรได้จับกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ไว้เป็นตัวประกันเพื่อให้พระองค์ทรงยอมรับการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองและยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้เตรียมไว้แล้ว นั่นคือ ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนคร และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 พร้อมด้วยร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” และพระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว โดยให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความเสถียรภาพมากขึ้น
จากนั้น พระองค์พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎร เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง ตามพระราชดำรัสวันที่ 25 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรว่า
“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก ถ้าเพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในจุดเริ่มต้น คณะราษฎรไม่ได้ตั้งใจให้รัฐธรรมนูญเกิดจากการตกลงกันในแบบที่สองข้างต้นที่เรียกว่า “Pact” และก็ไม่ใช่แบบแรกหรือ “Charter” แน่ๆ ที่ให้ประมุขของรัฐเป็นผู้มอบให้ ซึ่งหากประมุขของรัฐที่ว่านี้เป็นพระมหากษัตริย์ก็จะเรียกรัฐธรรมนูญที่ทรงพระราชทานลงมา
แต่จะเป็นแบบที่สามหรือ ? นั่นคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการบัญญัติขึ้นโดยฝ่ายราษฎรเองเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Convention) หรือการทำประชามติ (Referendum)
เท่าที่ทราบ ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นร่างแรกที่ทูลเกล้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้น ก็ไม่ได้เป็นการร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดนในปี ค.ศ. 1809 หรือนอร์เวย์ในปี ค.ศ. 1814 หรือเดนมาร์กในปี ค.ศ. 1849
ของสวีเดน คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างฯ คณะแรกร่างเสร็จ แต่สภาคว่ำไป สภาจึงแต่งตั้งชุดที่สอง และในการร่างรัฐธรรมนูญของสวีเดนฉบับ ค.ศ. 1809 Charles ผู้เป็นพระปิตุลาของพระมหากษัตริย์ Gustav IV ที่ถูกคณะผู้ก่อการยึดอำนาจและบังคับให้สละราชสมบัติ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มีส่วนในการให้ความเห็นตลอดกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ส่วนของนอร์เวย์นั้น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 เกิดจากสภาร่างชุดเดียว โดยมีสมาชิสภาร่างที่มาจากการเลือกจาก “โบสถ์ทางการ” และ “หน่วยทหาร” ทั่วประเทศ เพราะในเมืองนอก โบสถ์ก็คือที่ประชุมทำกิจกรรมต่างๆของคนในพื้นที่ และหน่วยทหารก็มีกระจายไปทั่วประเทศเช่นกัน สภาร่างฯของนอร์เวย์ใช้เวลาห้าสัปดาห์ในร่าง โดยมีตัวแบบรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส แต่กระนั้นสภาร่างฯก็ยังให้คงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แต่มีเงื่อนไขว่าพระมหากษัตริย์ต้องยอมลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาจึงจะยอมรับสถานะของพระมหากษัตริย์ กรณีของนอร์เวย์ซับซ้อนนิดหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ นอร์เวย์อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์เดนมารก์ แต่เมื่อสวีเดนชนะสงครามต่อเดนมาร์ก นอร์เวย์จึงถือโอกาสประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากเดนมาร์ก และรีบร่างรัฐธรรมนูญของตนขึ้น แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1818 นอร์เวย์ก็ต้องไปอยู่ใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์กับสวีเดน แต่พระมหากษัตริย์สวีเดนยอมให้นอร์เวย์ใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ต่อไปได้
ส่วนของเดนมาร์กนั้น แม้แกนนำผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญจะมีร่างของพวกตนไว้แล้ว และฝ่ายพระมหากษัตริย์เองก็มีร่างอยู่แล้ว เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนที่เป็นพระราชบิดาของพระมหากษัตริย์เดนมาร์กขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไว้เช่นกัน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับร่วมกันให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยมีสมาชิกสภาร่างฯจำนวนทั้งสิ้น 114 คน มีทั้งฝ่ายพระมหากษัตริย์และฝ่ายแกนนำผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นคนที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง 38 คน ที่เหลือเป็นพวกเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยกลุ่มที่เรียกว่า เสรีนิยมแห่งชาติ (the National Liberals) และกลุ่มเครือข่ายชาวนา (the Friends of Peasants) ส่วนที่เป็นคนของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นพวกอนุรักษ์นิยมไปตามธรรมเนียม และในที่สุด สภาร่างฯก็ลงมติผ่านรัฐธรรมนูญฉบับที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “Pact” ระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะบุคคลในนามของราษฎรเดนมาร์ก
กลับมาที่ความตั้งใจของคณะราษฎร ผมเข้าใจว่า คณะราษฎรน่าจะตั้งใจใช้หลักการแบบที่สาม และคาดหวังให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯยอมรับลงพระปรมาภิไธยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เข้าใจว่าร่างโดยปรีดี พนมยงค์แต่ผู้เดียว
ส่วนคณะราษฎรตั้งใจที่จะให้มีการทำประชามติหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบจริงๆ
แต่สมมุติว่า ถ้าคณะราษฎรใจถึงพอที่จะให้ทำประชามติ ก็น่าสมมุติต่อไปอีกว่า ผลประชามติจะออกมาอย่างไร ?
แต่ถ้าคณะราษฎรไม่เคยคิดเรื่องทำประชามติ ก็น่าคิดว่า เพราะอะไร ?
ถ้าพิจารณาตามหลักสากลโลกแล้ว ก็ถือว่าประเทศไทยยังโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯท่านทรง “กล้าหาญ” ที่จะเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป และมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯนี้เป็นการชั่วคราวก่อน และ “ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นยืนยันในหลักการสากล” ที่จะต้องให้มีการเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้น
มิฉะนั้นแล้ว เราคงมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยคนๆเดียว และคณะราษฎรก็หวังให้พระองค์เป็นเพียงตรายางประทับรับรองให้ความชอบธรรมแก่พวกเขา โดยไม่ได้มีการฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนเลย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าใจพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในจ้อความที่ว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
(ปรับปรุงจากต้นฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรก 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทวดาแม้วของขึ้น! เปิดศึกขาประจำกว่า 10 คน รวม ‘แก้วสรร-แฝดน้อง‘
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงฉายา “ทวีไอพี” ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
รทสช.ขยับทันควัน! หลังสื่อทำเนียบตั้งฉายา ‘พีระพัง‘
จากกรณี ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่
‘อดีต สว.สมชาย’ ซัดเปิดบ่อนคาสิโน นโยบายสิ้นคิด แบ่งใบอนุญาตโควตาการเมือง
สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดบ่อนคาสิโน แบ่งใบอนุญาตโควตาการเมือง ขายมัดจำ
เกิดขึ้นจริงๆ ‘วรงค์’ โชว์ป้ายเมื่อสามปีที่แล้ว ‘โจรปล้นชาติจะกลับมา’
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์รูปภาพและข้อความในเฟซบุ๊กว่า #ป้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว
’พุทธะอิสระ‘ วางแล้ว! ไม่ร่วมขบวนทักท้วง ‘ทักษิณ-แพทองธาร’
นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ "พุทธะอิสระ" ผู้ก่อตั้งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้