การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔๙)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็น

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายจนหมดข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวกับหลักฐานการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อไม่มีปัญหาแล้วในเรื่องนี้ หน้าที่ของสภาฯนี้ จะต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา ๙ ข้าพเจ้าจะอ่านให้ท่านฟังใหม่ ‘การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”   

นายสร้อย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง “ก่อนที่จะได้ตั้งพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าอยากจะให้รัฐบาลเสนอรายชื่อ รัฐบาลมีรายชื่อหรือเปล่าว่า พระบรมวงศานุวงศ์ใดสมควรตามกฎมณเฑียรบาล ก่อนที่สภาฯจะได้อภิปราย”   

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ/ผู้เขียน) ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล นั้นเป็นผู้สืบราชสันตตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล ตามที่ได้แจกไปให้ท่านแล้ว”     

พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล กล่าวว่า “บัดนี้ก็เป็นอันว่าเราเชื่อถือแล้วว่า ในหลวงได้ทรงสละราชสมบัติเสียแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าสภาฯนี้ควรให้ท่านประธานฯโทรเลขเพื่อแสดงความอาลัยของสมาชิกแห่งสภาฯนี้”   

ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์  หลวงวรนิติปรีชา รับรอง

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกผู้หนึ่ง และข้าพเจ้าเชื่อว่าทั้งผู้ก่อการ และทั้งพวก ร.ศ. ๑๓๐ ก็ดี (กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่หก/ผู้เขียน) บางทีอาจจะอยากพูด แต่ว่าก็ไม่ค่อยจะอยากพูดก็มี ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่ง ก็อยากจะได้กราบเรียนถึงความจริงใจ ก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้ทรงสละราชสมบัติด้วยพอพระทัยเช่นนี้แล้ว เราจะไปวิงวอนและโทรเลขไปดังที่ท่านผู้แทนสกลนคร และผู้แทนจังหวัดสตูลนั้นทำไมกัน ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า.......”     

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้หมดไปแล้ว”     

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ท่านบอกว่าให้โทรเลขเสียใจอะไรกัน”     ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “โปรดนั่ง ขอให้อภิปรายเฉพาะเรื่องนี้ โปรดฟังข้าพเจ้าก่อน มีสมาชิกหนึ่งนายเสนอให้มีโทรเลขไปเพื่อแสดงความอาลัยในการที่ท่านได้สละราชสมบัติ ท่านจะคัดค้านในเรื่องนี้หรือไม่”   

พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคัดค้านในเรื่องนี้ มีผู้รับรองแล้ว ข้าพเจ้าเห็นไม่เป็นสมควรที่จะโทรเลขไปเสียใจอะไรให้เสียอัฐเปล่าๆ โทรเลขทุกคำที่มีไปเงินไปตกอยู่แก่ต่างประเทศ ดูเหมือนว่าคุณหลวงโกวิทฯอยู่หรือไม่ (นายควง อภัยวงศ์/ผู้เขียน) ขอโทษ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ใช่หรือไม่  เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้ เราพูดในฐานสมาชิก ข้าพเจ้าขอแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจทีเดียว ในชีวิตของเรา จะหาโอกาสเช่นนี้ยาก เพราะฉะนั้น เหตุใดที่จะแสดงความเสียใจ ข้าพเจ้าไม่ทราบเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้าคัดค้านว่า ไม่ควรจะแสดงความเสียใจนั้น ข้าพเจ้าจะได้กราบเรียนดังต่อไปนี้ เราไม่มีโอกาสจะได้พบโอกาสเช่นนี้เลย โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้มีเงินสำหรับส่วนพระองค์ หรือซีวิลลิสต์ (Civilist)” 

ผู้ทำการแทนประธานสภา กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องอภิปรายกันต่อไป ถ้าท่านคัดค้าน จะได้ลงมติ ท่านยังติดใจหรือไม่ ถ้าท่านติดใจ จะให้ลงมติ ถ้าไม่ติดใจ ก็ให้ผ่านไป ท่านผู้ใดเห็นว่า ไม่ควรจะส่งโทรเลขไปถวาย ให้ยกมือขึ้น”

มีสมาชิกยกมือ ๕ นาย 

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะส่งโทรเลขไป โปรดยกมือขึ้น”   

มีสมาชิกยกมือ ๖๕ นาย เป็นอันว่าที่ประชุมอนุมัติให้ส่งโทรเลขไป 

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะได้ให้ส่งโทรเลขไปถวายตามมติของสภาฯพรุ่งนี้”

นายกรัฐมนตรี (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”       

นายเขียน กาญจนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า “ตามที่รัฐบาลเสนอนี้ ตรงกับความประสงค์ของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ยกมือหลายครั้ง พยายามจะพูดบ้าง ก็ไม่ได้พูด แต่ก่อนจะลงมติ ข้าพเจ้าขอแถลงความสนใจเกี่ยวกับการภายนอกระหว่างต่างประเทศ คืออยากจะรับรองท่านสมาชิกผู้แทนลำปางว่า เราจะต้องตั้งพระเจ้าแผ่นดินในคืนวันนี้ ที่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องเลย ได้มีชาวต่างประเทศมาถามข้าพเจ้าหลายคนว่า เลือกพระเจ้าแผ่นดินแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น จำเป็นที่สุดที่จะต้องเลือกในคืนวันนี้ องค์นี้แหละที่ชาวต่างประเทศเขาว่าควรจะได้”     

น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. กล่าวว่า “เพื่อแถลงความจริงอันถูกต้องให้ทราบ ข้าพเจ้าขอประทานเสนอดังนี้ คือ บรรดารายนามที่ได้แจกท่านสมาชิกไปนั้น เป็นบัญชีรายนามซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังได้กระทำขึ้น โดยปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาล และบัญชีนั้นได้ตรวจและรับรองว่าถูกต้องแล้ว โดยสมเด็จเจ้าฟ้าผู้สำเร็จราชการ เพราะฉะนั้น ลำดับที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้น ให้ดำเนินตามกฎมณเฑียรบาล หาใช่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นไม่ คือ รัฐบาลได้กระทำตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเสนอมาว่า ผู้ซึ่งควรจะมีสิทธิตามกฎมณเฑียรบาลนั้น ลดหลั่นกันลงไปดังบัญชีที่ได้แจกให้ท่านสมาชิก”     

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอทำความเข้าใจให้ท่านสมาชิกทราบว่า หน้าที่ของเราก็คือ เลือกตามที่รัฐบาลเสนอนี้ คือ ถ้าหากว่า....”

นายกรัฐมนตรีขออนุมัติต่อที่ประชุมให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแถลง

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กล่าวว่า

“ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๙ นั้น มีความว่า การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๙ แห่งกฎมณเฑียรบาลที่ว่านั้น มีความว่าอย่างนี้ คือว่า ท่านให้เป็นหน้าที่ท่านเสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์องค์ที่ ๑ ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ดังได้แถลงไว้ในมาตรา ๙ ขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป แล้วก็มาตรา ๙ บัญชีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังอ่านเสนอเมื่อกี้นี้ ก็ลำดับตามมาตรา ๙ แต่ว่ามาตรา ๘ นั้นว่าให้ได้แก่พระองค์ที่ ๑ คราวนี้ควบเข้ากับรัฐธรรมนูญมาตรา ๙ ก็แปลว่า พระองค์ที่ ๑ คือได้แก่ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้น จะสืบราชสมบัติก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับพระองค์นั้นแล้ว ก็จะต่อไปพระองค์ที่ ๒ ตามลำดับ”

ด. ยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเรียนต่อที่ประชุมนี้ในทางหลักการ ในมาตรา ๙ การสืบราชสมบัติที่ว่าให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗  และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้น พระมหากษัตริย์ผู้ที่จะเป็นประมุขต้องเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กฎมณเฑียรบาลนั้นวางขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ ซึ่งเป็นกฎหนึ่งแห่งครอบครัวเท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะบังคับสภาผู้แทนราษฎรให้จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลนั้นได้ เราเลือกพระมหากษัตริย์ขึ้นเพื่อเป็นประมุขแห่งชาติ....”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ถูกแล้ว ความประสงค์ของท่านนั้น ถ้าเราไม่มีความประสงค์จะให้พระองค์นี้เป็น ก็เลือกพระองค์อื่น คือไม่ได้บังคับให้รับรอง”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น