
ผมได้นำเรื่องชังชาติ รักชาติที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 และนำตอนที่หนึ่งและสองไปเผยแพร่ในเฟสบุ๊ก chaiyan chaiyaporn #รักชังชาติ มีผู้แสดงความเห็นที่น่าสนใจเข้ามาหลายท่าน แม้ว่าในตอนที่สอง ผมจะทิ้งท้ายว่า “การไม่รักชาติใดชาติหนึ่งก็หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอไปเท่านั้น เพราะยังมีพวกที่เชื่อในความเป็นสากลนิยม--ความเป็นคนในโลกใบเดียวกันมากกว่าที่จะยึดติดกับพื้นที่เล็กๆวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง โดยคนแบบนี้ต้องการที่จะเป็นพลเมืองโลกและรับวัฒนธรรมอันหลากหลาย มองเห็นความสวยงามของสิ่งต่างๆในโลก คนพวกนี้อาจจะชังชาติได้ หากชาติมันคับแคบและเห็นแก่ตัวเกินไป คนพวกนี้เป็นปฏิเสธ nationalism แต่ยึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า cosmopolitanism และต้องการให้คนเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าจะยึดติดกับ ความเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางพวกที่เชื่อใน ‘cosmopolitanism’ ก็ยืนยันว่า การเป็นพลเมืองโลก ไม่จำเป็นต้องละทิ้งการเป็น พลเมืองที่สังกัดรัฐสังกัดชาติ ด้วย”
ผมกะว่าจะอธิบายขยายความเรื่อง “cosmopolitanism” ในตอนนี้ แต่เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อข้อเขียนสองตอนก่อน ผมจึงอยากจะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาเผยแพร่ในตอนนี้
ผมได้เคยกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เช่น รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนซื้อและใช้ข้าวของที่ผลิตในประเทศแม้ว่าคุณภาพและราคาจะยังไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับสินค้าต่างประเทศ แต่การรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนี้ก็เพื่อหวังผลในระยะยาวที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศให้อยู่ได้ และเมื่ออยู่ได้ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดจนทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม แต่แน่นอนว่าในตอนแรกๆ อาจจะมีประชาชนที่ต้องการซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกว่าของในประเทศ คนพวกนี้อาจจะโดนข้อหาว่าเป็นพวกไม่รักชาติได้ และถ้าคนพวกนี้ออกมารณรงค์ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมโดยอ้างสิทธิเสรี่ภาพในการเลือกซื้อสินค้าตามเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม คนพวกนี้ก็อาจจะโดนข้อหาชังชาติได้
ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ดร. ทศพร นพวิชัยได้กรุณาแสดงความเห็นในลักษณะตั้งคำถามมาว่า “ชังชาติ รักชาติ ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองได้ไหม ? เพราะคนที่จุดประเด็นเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรของส่วนรวม” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าพิจารณาในบริบทของนโยบายทางเศรษฐกิจ จะพบว่า คนที่เป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้ผลิตคือผู้ได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนซื้อสินค้าภายในประเทศที่ตนเป็นเจ้ากิจการ ส่วนนักธุรกิจนำเข้าก็จะเสียประโยชน์ ซึ่งในแง่นี้ รักชาติ ชังชาติก็จะถูกมองว่าเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาอำพรางผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ผลิตภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอ้าง “เสรีนิยม” ก็เป็น “วาทกรรม” ที่ผู้สร้างขึ้นมาจากฝั่งนักธุรกิจนำเข้าด้วยเช่นกัน
ดร. ทศพร ยังได้ยกประเด็นที่น่าสนใจและแหลมคมมากขึ้นกว่าเรื่องของสินค้าทั่วไป โดยได้กล่าวถึง นโยบายการสงวนอาชีพที่เป็นนโยบายชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วง พ.ศ. 2481-2489 โดยหวังจะให้มีหลักประกันทางอาชีพบางอย่างให้แก่คนไทย โดยออกนโยบายสงวนและส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรมด้วย แต่แน่นอนว่า หากคนไทยที่ประกอบอาชีพที่สงวนให้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่สมเหตุสมผลในด้านราคา กลไกตลาดเสรีก็จะทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถ “รักชาติไทย ชูชาติไทย” ตามท่านผู้นำได้ ยกเว้นคนที่ “รักชาติอย่างรุนแรง” แต่ความรักชาติอย่างรุนแรงนี้จะไม่สมเหตุสมผลเลย หากเขายังใช้บริการจากคนไทยที่ให้บริการที่คุณภาพต่ำและแถมยังมีราคาไม่สมเหตุสมผลด้วย
จากตัวอย่างที่ ดร. ทศพร ยกมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีแท็กซี่ vs อูเบอร์-GRAB และอีกหลายๆกรณีที่น่าจะเกี่ยวพันกับประเด็นที่กล่าวไปนี้
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเทศสวีเดนในศตวรรษที่สิบแปด ที่เรื่องราวมันอาจจะกลับตาลปัตร เพราะเมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงทำรัฐประหารยึดอำนาจ นโยบายทางเศรษฐกิจของพระองค์คือ ปล่อยให้เกิดการค้าเสรีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนของพระองค์ เพราะก่อนหน้านี้ พวกอภิชนและพ่อค้าผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่และได้ประโยชน์จากการค้าขายสินค้าของตนโดยได้ประโยชน์จากนโยบายการกีดกันสินค้าต่างประเทศ ทำให้ประชาชนต้องจับจ่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและราคาที่ไม่สมเหตุสมผล และพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงเชื่อว่า นโยบายการค้าเสรีของพระองค์นั้นเป็นนโยบายเพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวสวีเดนอย่างแท้จริง และเป็นนโยบายที่พระองค์เรียกว่าเป็นนโยบายเพื่อปิตุภูมิ (patriotic) ในขณะที่พวกอภิชนและพ่อค้าสวีเดนก็จะรู้สึกไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจแบบปิตุภูมินิยมของพระเจ้ากุตาฟที่สาม และถ้ามีปฏิกิริยาออกมามากๆ ก็ย่อมจะกลายเป็นพวก “ชังชาติ” ในสายตาของประชาชนสวีเดนส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ที่เป็นปิตุภูมินิยมและเสรีนิยมได้ด้วยในเวลาเดียวกัน !
เหตุที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงออกนโยบายดังกล่าวก็เพราะพระองค์ทรงได้รับการศึกษาและให้ความสนใจอย่างจริงจังในปรัชญาความคิดที่กำลังเฟื่องฟูทั่วยุโรปในขณะนั้น ที่รู้จักกันในนามของ “กระแสแห่งแสงสว่างทางปัญญา” (the Enlightenment) โดยเฉพาะหลักเศรษฐศาสตร์สำนัก “Physiocracy” ที่มีอิทธิพลต่อบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างอาดัม สมิธ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมหรือรักชาติจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใช้ของภายในประเทศเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทในขณะนั้น ดังนั้น นโยบายหนึ่งๆจึงนโยบายที่ “รักชาติ” ได้ในบริบทหนึ่ง และก็อาจจะกลายเป็นนโยบาย “ชังชาติ” ได้ในอีกบริบทหนึ่ง คำถามคือ ในเรื่องการเมือง เป็นเช่นเดียวกันแบบเศรษฐกิจหรือเปล่า ?
กลุ่มคนที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกชังชาติ” อาจจะได้แก่คนที่อพยพมาจากประเทศหนึ่ง จะด้วยหนีความลำบากอดอยากหรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม ที่มาทำมาหากินในอีกประเทศหนึ่ง มีชีวิตรอด มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังผูกพันกับประเทศของตนที่จากมาเสมอ ยังคิดว่าสักวันหนึ่งเมื่อลืมตาอ้าปากแล้ว ก็จะกลับไปประเทศดั้งเดิมของตน คนพวกนี้จะเห็นประเทศใหม่ที่ตนมาอาศัยทำมาหากินเป็นที่ตักตวงประโยชน์เท่านั้น ซึ่งมักจะได้แก่คนอพยพลี้ภัยที่เป็นรุ่นแรกๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า คนรุ่นแรกๆนี้ยังอยากจะกลับไปบ้านเกิดของตน เพราะลึกๆแล้วยังเห็นว่าชาติดั้งเดิมของตนเหนือหรือดีกว่า
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศที่มีคนจากประเทศอื่นอพยพเข้ามาอาศัยทำมาหากิน ในอเมริกาก็มี ในไทยก็มี จะมากหรือน้อยเท่านั้น ในกรณีของไทย จะเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งผมได้รับความกรุณาจากบทความของอาจารย์ ดร. ชัชพันธุ์ ยิ้มอ่อน อาจารย์สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยวราชภัฏลัยลงกรณ์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “ไทยผสม” เนื่องจากอาจารย์ชัชพันธุ์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการปรับมโนทัศน์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในงานของชัชพันธุ์ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติศัพท์ “ไทยผสม” ขึ้น โดยทรงได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีชาว “อเมริกันผสม” พระองค์จึงนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามาเรียกเหตุการณ์ที่คนจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย พวกเขาได้แปลงเป็นชาวไทยด้วยวิธีการตัดผมเปีย และที่สำคัญคือ คนจีนที่มาอยู่ในสยามสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นไทยหรือเป็นจีน และชัชพันธุ์ได้ตั้งสมมติฐานว่า สิทธิการเลือกที่คนจีนได้รับมาจากผลของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาเบาริ่ง และบุคคลที่เป็นหนึ่งในเป้าโจมตี คือ เซียวฮุดเสง เนื่องจากพระองค์ทรงพระอักษรว่า “...คนจำพวกจีนโนสยาม และหนังสือพิมพ์อันเปนปากของเขานั้น ย่อมไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการโฆษณาว่าเขาเป็นคนไทยอย่างเราๆ...”
ดังนั้นจุดมุ่งหมายตามเจตนาของพระองค์ คือ การเตือนสติให้เพื่อนไทยที่หลงเชื่อคนจีน หรือคนไทยผสมที่ใช้ชื่อ “ไทย” แต่กลับมิได้ภูมิใจเพราะชื่อ “ไทย” เพราะคนไทยผสมคิดว่าชื่อ “ไทย” นั้นไม่ดีพอสำหรับเขา คนไทยผสมจึงเรียกตนเองว่า “จีนโนสยาม” หรือ “สยามจีนางกูร” พระองค์จึงได้เสนอความคิดอุปมาเพื่อเรียกคนไทยผสมว่า “...สมมติว่าข้าพเจ้าได้เคยเปนลิง และภายหลังจากข้าพเจ้าอยากจะเปนคน ข้าพเจ้าก็คงจะไม่เรียกตัวข้าพเจ้าว่า “ลิง-คน” ข้าพเจ้าคงจะเรียกตัวข้าพเจ้าว่า คน เฉยๆ และปล่อยให้คนอื่นเขาวินิจฉัยเอาเองเถิด ...”
ชัชพันธุ์เห็นว่า อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ปฏิเสธว่า พระองค์มิใช่เป็นคน “ชัง” คนไทยผสม โดยทรงกล่าวว่า “...ข้าพเจ้าไม่ใช่เปนบ้าชังชาวต่างประเทศ ข้าพเจ้าใคร่จะทำความสนิทสนม และดำเนินการติดต่อกับชาวต่างประเทศในฐานะที่เขาเปนชาวต่างประเทศโดยตรง แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบเปนคนซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะทราบได้ ว่าเมื่อใดเปนชาวต่างประเทศและเมื่อใดไม่เปน คนลักษณนี้แหละได้แก่คนไทยผสมที่กล่าวมาในเรื่องนี้ และข้าพเจ้ามีความเสียใจจริงๆ ที่จะต้องกล่าวว่า บุคคลชนิดนี้เปนคนที่ไม่พึงปรารถนาให้มีอยู่ในชาติอย่างของเรา...”
พระองค์จึงได้เสนอข้อเรียกร้องต่อคนไทยผสมว่า “...ขอให้เลิกเรียกตนเองว่าจีนโนสยาม ขอให้เขาแสดงว่าเขาทั้งหลายมีความปรารถนาจริงใจที่กลายเปนไทยแท้...ขอให้เขาตัดขาดความรู้สึกและความนิยมในชาติจีน..ขอให้เขาพร้อมอยู่เสมอไม่ว่ากาละใดๆ ที่จะยกประโยชน์แห่งเมืองไทย และชาติไทยขึ้นเหนือประโยชน์อื่นๆ ทั้งสิ้น....”
กล่าวได้ว่า พระองค์ไม่ได้ทรงต่อต้านชาวจีน แต่ต้องการสร้างชาวจีนให้เป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ปลูกฝังความรักชาติและความจงรักภักดีต่อมหากษัตริย์ โดยพระองค์ได้ทรงขอให้เขาเหล่านั้นร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อเรือรบไว้สำหรับป้องกันประเทศ ให้คนจีนและไทยผสมตระหนักถึงการเข้ามาพึ่งพระบรมธิสมภารของพระองค์ คนจีนและไทยผสมก็ควรที่จะช่วยไทยทำรั้วบ้าน ซึ่งในที่นี้พระองค์หมายถึง การบริจาคเงินสร้างเรือรบดังปรากฏเป็นข้อเขียนของพระองค์ว่า “...เมื่อเพื่อนจีนมาอยู่ในบ้านไทยก็ต้องผ่อนตามใจไทยผู้เป็นเจ้าของบ้านบ้าง...”
จากงานของชัชพันธุ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คนจีนสมัยนั้นอาจจะไม่ได้ “อิน” กับความเป็นไทยอย่างจริงๆจังๆ อาจจะยังนึกถึงประเทศจีนและความเป็นจีนอยู่มาก และจริงๆแล้ว ก็มีคนจีนจำนวนหนึ่งที่มีความรู้สึกภาคภูมิใจและทรนงในความเป็นจีนและสายเลือดจีนอยู่เสมอ บางครอบครัวต้องให้ลูกแต่งงานกับคนจีนด้วยกันเท่านั้น และมีความรู้สึกดูถูกคนไทย และการดูถูกคนไทยของคนจีนประเภทนี้ก็มักจะดูถูกคนไทยอีสานและคนไทยใต้เสียมาก และรังเกียจไปถึง “ความดำ” ของสีผิวเมื่อเทียบกับ “ความขาว” ของคนจีน และรวมไปถึงอาหารการกินวัฒนธรรมของคนไทยอีสานและใต้ด้วย คนจีนมักจะเรียกคนไทยอีสานว่า “พวกจุกบี้” ซึ่งจุกบี้แปลว่า ข้าวเหนียว ออกแนวดูถูก แต่สมัยนี้ จางไปมากแล้ว อาการดูถูกแบบนี้ แต่ คงปฏิเสธยากนะครับว่าคนจีนพวกนี้เป็น “พวกชังชาติไทย”
แต่ก็มีคนจีนอีกประเภทหนึ่งที่อยากเป็นไทย อยากแต่งงานกับคนไทย ใช้ชีวิตแบบไทย
อย่าเพิ่งเถียงกันเลยนะครับ ว่าความเป็นไทยมีหรือไม่มีอยู่จริง ! เพราะเมื่อเทียบวัฒนธรรมประเพณีจีนกับวัฒนธรรมประเพณีของคนท้องถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย มันก็ย่อมมีความแตกต่างระหว่าง “จีน” กับ “ไทย” แต่คนจีนที่อยากเป็นไทยเหล่านี้ กลับถูกล้อเลียน ดูถูกดูแคลน เหยียดจากคนพื้นถิ่นหรือคนไทยนั่นแหละ จึงทำให้เกิดความกินใจลึกๆระหว่าง คนจีนที่อยากเป็นไทย กับ คนไทยที่รังเกียจคนจีน ไปๆมาๆ คนจีนที่อยากเป็นไทยนั้น เมื่อเป็นไม่สำเร็จ ความขมขื่นในใจเขาอาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยา “ชังชาติไทย” ขึ้นมาได้ และหากความเป็นชาติไทยนั้นผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าด้วยแล้ว ก็พาลจะพลอยชิงชัง “สถาบันพระมหากษัตริย์” และผู้คนที่อยู่รายรอบหรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย
แต่ครั้นคนเหล่านี้จะกลับไปจีนก็ไม่ได้เสียแล้ว เรื่องมันก็เลยอิหลักอิเหลื่อ แต่คนเหล่านี้จะมีความสุขสงบใจได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำลายสิ่งที่เขาชิงชังนั่นเอง และส่วนหนึ่งของการทำลายคติเหล่านี้ก็คือ การสมาทานแนวคิดเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆแล้ว ลึกๆ แก่นของเสรีนิยมไม่สามารถอยู่กับชาติหรือชาตินิยมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘สันติ-สุริยะใส’ ขยี้นิติกรรมตั๋ว PN ปมอวสาน ‘อุ๊งอิ๊งค์’ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
‘สันติ-สุริยะใส’ ขยี้นิติกรรมตั๋ว PN ปมอวสาน ‘อุ๊งอิ๊งค์’ อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม 2568
LIVE ภัยพิบัติใหญ่ 68 "8.2" แมกนิจูด!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568
โรยเกลือ 'ตั๋ว PN' ไปไกลแค่ไหน? จากชั้น 14 สู่แพทยสภา-เร่งกาสิโน!
ยุทธการ “โรยเกลือ” ที่ฝ่ายค้านเริ่มต้นจะไปได้ไกลแค่ไหน? พรรคประชาชนจะผลักดันเรื่องนี้ถึง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะถูกตัดตอนแค่ในชั้นกรมสรรพากร?
LIVE ก้าวลงเหว!? | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568
นักวิชาการ มธ. ชี้ 319 เสียงไม่การันตี ‘รัฐบาลแพทองธาร’ อยู่ครบเทอม
นักวิชาการ ธรรมศาสตร์ ระบุแม้ ‘อิ๊งค์’ ตอบโต้ได้และรอดกฎหมาย แต่ยังมีมิติศีลธรรมจรรยาที่ต้องพิสูจน์ ชี้คะแนน 319 สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล แต่หากทำไม่ได้ตามที่พูด อาจอยู่ไม่ครบเทอม ข้อมูลฝ่ายค้านไม่มีอะไรใหม่ ยกเว้นประเด็นไอโอ ที่ดึงความสนใจมากกว่าตัวเนื้อหาซักฟอก
โธ่เอ๊ย! สส.พรรคส้ม สื่อสารผิดพลาดปมถูกเสนอซื้อ 20 ล้าน
สส.พรรคส้ม อ้างถูกเสนอเงิน 20 ล้าน แลกโหวตไว้วางใจนายกฯ ก่อนโยงเบอร์โทรถึง กก.บห.พรรคหนึ่ง แต่เรื่องกลับพลิก เมื่อเจ้าตัวออกมายอมรับสื่อสารผิดพลาด โซเชียลจวกจากงูเห่ากลายเป็นไส้เดือน