หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที
จนหลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาการสืบราชสมบัติและบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาให้ โดยขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯในฐานะที่ปรึกษาให้คำตอบแก่ที่ประชุมสภาฯเป็นท่านแรก และผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “ปัญหามีอยู่ง่ายนิดเดียว เอกสารต่างๆตามที่รัฐบาลเสนอมานี้ ตามที่ท่านสมาชิกอภิปราย ก็ไม่มีใครคัดค้านว่าเอกสารไม่มีหลักฐาน ก็หมายความว่า เรารับรองกันแล้วเป็นเอกสารถูกต้อง และประกอบเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย ไม่ได้มีใครคัดค้าน ปัญหาแรกก็ให้ถือว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติแล้ว เวลานี้มีพระมหากษัตริย์หรือเปล่า ขอให้ขบปัญหานี้ ถ้าไม่มีจริง ก็ต้องพิจารณาเสียใหม่ว่าจะมีเดี๋ยวนี้หรือมีเมื่อไร ขอให้ขบปัญหานี้”
แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังอภิปรายถกเถียงวนเวียนกันอยู่เหมือนเดิมเกี่ยวกับการรับรองหรือไม่รับรองสำเนาเอกสารพระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่รัฐบาลได้รับมาและส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา และการต้องรีบหาพระมหากษัตริย์พระองค์หรือไม่
ต่อมา นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีได้กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าขออภิปรายในเรื่องแบบ ปัญหาในเรื่องเอกสารที่รัฐบาลส่งมาให้พิจารณา เราจะรับรองเพียงใดหรือไม่นั้น หาเกี่ยวกับรัฐบาลไม่ เราอย่าเพิ่งถือว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง แต่ปัญหาในเรื่องแบบที่ว่าตัวพระราชหัตถเลขาอันแท้จริง เรายังไม่ได้รับ และรัฐบาลก็ยังไม่ได้รับ เราจะถือว่าเพียงแต่โทรเลขที่ผู้แทนรัฐบาลสยามได้ส่งมาเช่นนี้ คือไม่มีตัวจริงเช่นนั้น เราจะรับรองได้เพียงใด อาจจะเป็นว่าโทรเลขปลอมก็เป็นได้ นี่เป็นข้อหนึ่ง ตามแบบจะต้องมีหนังสือยืนยันมาเช่นนั้นจริงหรือไม่ และทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มีหนังสือมาทางรัฐบาล ทางผู้แทนรัฐบาลก็โทรเลขว่ามีเช่นนั้นจริง แล้วก็ส่งมาในสภาฯ และปัญหามีอยู่ว่า ตัวพระราชหัตถเลขาที่สละราชสมบัตินั้น เรายังไม่ได้รับ ปัญหาจึงเกิดว่า เราจะเชื่อเพียงไรหรือไม่ แต่ว่าโทรเลขนั้นเป็นโทรเลขจริง ซึ่งจะรับรองได้ ถ้าภายหลังปรากฏว่า โทรเลขนั้นปลอม การที่สมบูรณ์ก็จะเป็นโมฆะทั้งหมด
ปัญหาเรื่องพระมหากษัตริย์ในการที่จะสละราชสมบัติ ที่ผู้แทนรัฐบาลสยามรับพระราชหัตถเลขาที่กรุงลอนดอนนั้น จะถือว่ากระทำไปในนามของรัฐบาล เป็นอันถูกต้องแล้วหรือไม่ การที่เราไม่ได้รับตัวพระราชหัตถเลขาต้นฉะบับดังนี้ เราจะถือว่า การที่เราจะปรึกษา อันนั้นอันนี้จะสมบูรณ์ได้หรือไม่ได้ เพียงใด เพราะในเรื่องโทรเลขนั้น อาจจะมีในกรณีที่ปลอมก็ได้ บัดนี้มาปรึกษาอยู่เช่นนี้ ถ้าเมื่อเกิดปัญหาว่ามีผู้โทรเลขปลอมข่าวนั้น หรืออย่างใด เมื่อเกิดการเป็นจริงว่ามีผู้โทรเลขปลอมขึ้นเช่นกัน สภาฯนี้จะทำอย่างไร ถ้าว่าโดยแบบแล้ว เราจะต้องได้ตัวต้นฉบับพระราชหัตถเลขานั้นก่อน ถึงจะพิจารณาได้ นี่ว่าโดยแบบ
แต่ว่าเราจะเชื่อตามพฤตติการณ์ว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจะมีการปลอมแปลงไม่ได้ เราจะพิจารณากันก็ได้ว่าตามพฤตตินัยและนิตินัยแล้ว เราจะพิจารณาสำเนาโดยที่รัฐบาล ก็ไม่ได้รับรู้ตัวจริงเช่นนี้ ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ชอบด้วยแบบ แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องเช่นนี้ ในทางอื่นก็น่าจะรับรองได้อยู่บ้างในบางกรณี เช่น ในเรื่องนี้ว่าโทรเลขเป็นจริงได้ หรือในเรื่องทางราชการทางจังหวัดโทรเลขมายังกระทรวง เราก็ถือว่าเป็นจริง แต่กรณีเช่นนี้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทางฝ่ายบริหารให้เป็นไปเช่นนั้น ถึงอย่างไรก็ดี โทรเลขนี้จะต้องสืบสวนและตรวจว่าถูกต้องหรือไม่เพียงใด และเรื่องโทรเลขนี้ ถ้ารัฐบาลรับรองว่าได้สืบสวนถี่ถ้วนแล้วว่าไม่มีการปลอมแปลงในกรณีเช่นนี้ และตามพฤตตินัยและนิตินัย เราจึงจะรับรอง ถ้ารัฐบาลบอกว่า ได้สืบสวนอีกชั้นหนึ่ง นี่ว่าตามแบบ”
หลังจากนั้น น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. กล่าว
“ข้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยตามที่สมาชิกได้อภิปรายเมื่อกี้นี้ แต่ขอประทานเสนอต่อที่ประชุมเพื่อทราบว่า รัฐบาลได้ใช้ความพยายามทุกทางในอันที่จะสืบสวนว่า บรรดาสำเนาทุกอย่างที่นำมาเสนอสภาฯถูกต้องแล้ว รัฐบาลมีเหตุผลอยู่หลายอย่างที่จะสนับสนุนให้เห็นว่าสำเนาที่เสนอนี้เป็นการถูกต้อง เป็นต้นว่า มีพระราชหัตถเลขาของผู้สำเร็จราชการได้บอกถึงเรื่องนี้มาโดยลำดับ โทรเลขของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ซึ่งข้าพเจ้าเสียใจว่าเจ้าหน้าที่ได้คัตตกไปนั้น ไม่ได้เสนอมา คือบอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชหัตถเลขามายังท่าน แล้วท่านไม่รับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้นำไปยังสถานทูต ขอคำสั่งรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร รัฐบาลจึงได้พิจารณาว่า ในกรณีเช่นนี้ เราจะต้องเป็นฝ่ายง้อ เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องออก เมื่อเจ้าคุณศรีฯไม่รับ ทางสถานทูตก็บอกว่าไม่กล้าเปิดซอง ถ้าจะรับก็รับเพียงปิดซอง รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะทราบอะไรได้ รัฐบาลจึงได้สั่งไปให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศรับ
เพราะฉะนั้น ฟังความตามที่หนังสือพิมพ์ในต่างประเทศก็แพร่หลายว่า พระเจ้าอยู่หัวได้ลาออกจากพระราชสมบัติแล้ว และบางฉะบับก็ได้ลงเอกสารพระราชหัตถเลขาด้วย รวมความว่ารัฐบาลกล้ารับรองได้ว่า สำเนาที่เสนอในทีนี้ถูกต้องแล้ว แต่ทว่ามีที่ควรจะเสนออยู่อย่างหนึ่งว่า ในพระราชหัตถเลขาเป็นคำแปลจากภาษาอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็ได้บอกว่าได้แปลตามถ้อยคำต่อคำ ก็รับรองว่า ถึงแม้ว่าจะผิดจากต้นฉบับนี้ ก็เป็นถ้อยคำเล็กน้อย ซึ่งถ้อยคำสำคัญหาผิดไม่
ถ้าจะปฏิบัติตามที่ควรจะเป็นแล้ว ก็เป็นอย่างที่สมาชิกกล่าว แต่เมื่อความจำเป็นมีหลายประการดังที่นายกฯได้แถลงไว้แล้วว่า เวลานี้เป็นเวลาที่น่าจะเกิดความไม่สงบและอันตรายภายใน รัฐบาลได้คำนึงถึงข้อเสียหายอยู่ และถ้าเราทำล่าช้าแล้ว ผลเสียหายจะมีบังเกิดขึ้นเป็นเอนกประการ รัฐบาลคำนึงถึงเรื่องนี้ ซึ่งในระหว่างไปเฝ้าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเรื่องที่ไม่ทรงเซ็นเช่นนี้แล้ว จะทำอย่างไร ตามบันทึกก็ว่า ท่านไม่สามารถจะทรงเซ็นได้ เพราะทางพระมหากษัตริย์ทรงสั่งห้ามมา และรัฐบาลจึงถือว่าเข้าตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อไม่สามารถทรงเซ็นได้แล้ว คณะรัฐมนตรีก็ต้องทำหน้าที่นี้ และรับหน้าที่อันนี้ เป็นการเตรียมเอาไว้เผื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เท่าที่แถลงมา ย่อมจะเห็นว่าเรามีความจำเป็นพิเศษ และที่ทำนี้ก็อาศัยหลักเกณฑ์ตามที่สมาชิกได้กล่าวมานั่นเอง ถ้าความประสงค์แห่งสภาฯนี้มีว่าใคร่จะให้รัฐบาลรับรองแล้ว รัฐบาลก็รับรองดังที่ได้แถลงมาแล้ว”
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กล่าวต่อว่า “เพื่อตัดปัญหาให้สั้นเข้า ข้าพเจ้าขอแถลงตามแบบที่ควรจะเป็นไปแล้ว และรัฐบาลรับรองแล้วว่า จะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ สภาฯนี้ก็ควรจะรับรองว่า สำเนานี้เป็นอันว่าถูกต้องแล้ว ขอเสนอให้ลงมติ”
ซึ่งหลังจากที่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ได้เสนอให้ลงมติ นายฟัก ณ สงขลาและนายสร้อย ณ ลำปางได้เป็นผู้รับรอง
(โปรดติดตาม รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2477 ในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น