องค์ประกอบและกติกาของพรรคการเมือง

 

ในการพิจารณาพรรคการเมืองทั่วไป กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองประกอบไปด้วย เอกบุคคล (the one) อันได้แก่ หัวหน้าพรรค   และคณะบุคคล (the few) อันได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรค และคนจำนวนมาก (the many) อันได้แก่ สมาชิกพรรคหรือประชาชนผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งสมาชิกหรือประชาชนผู้สนับสนุนพรรคย่อมมีจำนวนมากกว่าหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเสมอ

ขณะเดียวกัน กิจกรรมของพรรคการเมืองย่อมเป็นกิจกรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะแม้ว่ากิจกรรมทุกกิจกรรมภายในกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมืองจะไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองเสมอไป แต่ก็มีบางครั้งที่ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง อันได้แก่ การใช้อำนาจและอิทธิพลในการต่อรองกันและกันภายในกลุ่มหรือสมาคม

แต่ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมืองย่อมแตกต่างจากสมาชิกของพรรคการเมือง  เพราะสมาชิกของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคย่อมอยู่ในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันกับสมาชิกทั่วไปของพรรค ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่มหรือสมาคมอื่นๆ

แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคสามเป็นไปในลักษณะเป็นหัวหน้าพรรคตัดสินใจคนเดียวและสั่งการลงมายังกรรมการและสมาชิก ความสัมพันธ์แบบนี้ย่อมไม่ต่างจากไปจากองค์กรทหารหรือองค์กรเอกชนที่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่เจ้านายหรือประธานบริหารสูงสุดหรือองค์กรธุรกิจเอกชนส่วนตัวที่เป็นอยู่ภายใต้เจ้าของกิจการ

เพราะความสัมพันธ์ที่ “ควรจะเป็น” ในพรรคการเมืองก็คือสมาชิกพรรคไม่ว่าจะอยู่สถานะตำแหน่งใดย่อม “เสมอภาค” กันในฐานะสมาชิกพรรค สถานะและตำแหน่งเป็นการแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำตามประสบการณ์ความเหมาะสมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความสมัครใจหรือเสรีภาพของสมาชิก และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามส่วนควรจะดำเนินไปบนฐานของความเสมอภาคและเสรีภาพ ในกรณีที่พรรคจะต้องเลือกแนวทางในการดำเนินกิจกรรมภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ของพรรคก็ “ควรที่จะ” มาจากการตัดสินใจของสมาชิกทุกคนในพรรค แม้สมมุติว่าจะมีเพียงสามคน (หัวหน้า 1 คน, กรรมการบริหาร 1 คน และสมาชิก  1 คน) ก็ตาม  นั่นคือ ทั้งบุคคลทั้งสามที่มีสถานะตำแหน่งแตกต่างกันในพรรคควรจะมีสิทธิ์มีเสียงที่เท่าเทียมกัน นั่นคือ

หนึ่ง เอกบุคคลในฐานะหัวหน้าพรรคมีหนึ่งเสียง หรือมีสองเสียงในกรณีที่เสียงในพรรคเท่ากัน ต้องการการตัดสินสุดท้าย หัวหน้าพรรคจะมีอีกเสียงหนึ่งที่จะลงคะแนนไปในทางหนึ่งทางหนึ่ง

สอง บุคคลในฐานะกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะของการเป็นกรรมาการบริหารพรรค และ

สาม บุคคลในฐานะสมาชิกพรรคก็ย่อมต้องมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะสมาชิกพรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค       

และเมื่อพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นกว่านี้ แน่นอนว่า องค์ประกอบที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ องค์ประกอบที่เป็นเอกบุคคลในฐานะหัวหน้าพรรคที่ยังคงมีจำนวนหนึ่งคนเหมือนเดิม ส่วนองค์ประกอบที่จะเปลี่ยนแปลงไปในเชิงจำนวนก็คือ คณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล และองค์ประกอบของสมาชิกพรรคที่เหลือที่นอกเหนือจากหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค   และในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล ถึงจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไร แต่ก็น่าจะต้องน้อยกว่าสมาชิกทั่วไปของพรรคอยู่เสมอ

และถึงแม้ว่า พรรคจะเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสามองค์ประกอบก็มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร นั่นคือ แต่ละองค์ประกอบย่อมต้องมีสิทธิ์มีเสียงในส่วนของตนอยู่เสมอ และแน่นอนว่า ในส่วนของเอกบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ทำหน้าที่ตัดสินสุดท้ายหากเสียงในการลงมติในการกำหนดเรื่องราวและกิจกรรมของพรรคมีเท่ากัน และยังทำหน้าที่ในการริเริ่มเสนอทิศทางและเสนอวิสัยทัศน์ให้กับพรรค และควบคุมให้พรรคอยู่ในกฎกติกาและนำพรรคไปสู่ความสำเร็จทางการเมือง ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรคย่อมเป็นบุคคลที่ “ควร” มีประสบการณ์ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง และ/หรือประสบความสำเร็จหรือมีบทบาทมีชื่อเสียงในทางการเมือง สั่งสม ประสบการณ์บารมีจนได้รับการยอมรับทั้งจากหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค แต่อาจจะไม่เท่าผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค       

กรรมการบริหารพรรคอาจจะเป็นตัวแทนของภูมิภาคหรือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และจากการที่เป็นคณะบุคคล

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค จะเกิดกระบวนไตร่ตรองครุ่นคิดอภิปรายถกเถียงหารืออย่างรอบคอบ และการมีส่วนร่วมและมติของสมาชิกพรรคที่เหลือที่เป็นคนจำนวนมากย่อมจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการขับเคลื่อนพรรคของผู้ที่เป็นหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรค  อีกทั้งการเปิดให้สมาชิกพรรคทั่วไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและเรื่องราวต่างๆ ภายในพรรค ย่อมเป็นเงื่อนไขให้สมาชิกพรรคเหล่านั้นก้าวขึ้นมาเป็นคณะกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรคในอนาคตได้ ซึ่งจะทำให้พรรคสามารถพัฒนาบุคลากรที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวของพรรคได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างและคงความเป็นสถาบัน (institutionalization) ของพรรคการเมืองนั้นๆ และที่สำคัญยิ่งคือ สมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมและรักษาความเป็นสถาบันของพรรคให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ  ด้วยเหตุผลสำคัญหกประการที่นักวิชาการที่ศึกษาและเชี่ยวชาญเรื่องพรรคการเมืองอย่าง Seyd, Whiteley and Richardson ได้อธิบายไว้ดังต่อไปนี้คือ            หนึ่ง บทบาทของสมาชิกพรรคในการคัดสรรผู้สมัครและผู้นำระดับต่างๆของพรรค นอกจากนี้ การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะเป็นแหล่งที่มาหรือการระดมผู้คนจำนวนมากและหลากหลายให้สามารถเลือก คัดสรร แข่งขันกันเพื่อได้ผู้เหมาะสมที่สุดเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับได้ รวมทั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรค

สอง การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะช่วยในเรื่องงบประมาณเงินทุนที่พรรคจะได้จากสมาชิกพรรค รวมทั้งการที่สมาชิกพรรคจะเป็นกำลังในการออกไปหาและระดมทุนเข้าพรรคด้วย อีกทั้งเงินค่าบำรุงพรรคก็ถือเป็นงบประมาณที่พรรคจะได้อย่างแน่นอน และยิ่งมีสมาชิกพรรคมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีงบประมาณที่ได้ตายตัวมากขึ้นเท่านั้น

สาม สมาชิกพรรคจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพรรคภายในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ หรือภายในองค์กรต่างๆ ที่เขาทำงานหรือร่วมกิจกรรมอยู่  การเป็นตัวแทนดังกล่าวนี้ถือเป็นการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับพรรค (the parties’eyes and ears) ในเรื่องราวทางการเมือง และถ้าพรรคขาดสมาชิกพรรคที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ ก็อาจทำให้พรรคขาดความชอบธรรมในชุมชนต่างๆได้

สี่ สมาชิกพรรคที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพรรคในชุมชนยังมีบทบาทในการสื่อสารทางการเมืองทั้งรับและส่งสารกับชุมชนต่างๆ  เช่น สื่อถึงแนวคิดของพรรคไปยังสาธารณะในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการหรือไม่ทางการก็ตาม ขณะเดียวกัน ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สมาชิกพรรคย่อมมีการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ที่เขาปฏิสัมพันธ์ด้วย และสามารถที่จะสื่อสารถึงแนวนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ของพรรค อันจะช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจกิจกรรมการทำงานของพรรคได้โดยตรงจากสมาชิกพรรค จะช่วยเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อพรรคได้

ห้า การมีสมาชิกพรรคที่มีจำนวนมากและมีความแข็งขัน และมีการสื่อสารกับชุมชุนต่างๆ ที่เขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ นอกจากจะสื่อสารกิจกรรมของพรรคดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังจะสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ข้อเรียกร้อง ปัญหาต่างๆ ในชุมชน อันจะส่งผลให้สมาชิกพรรคมีบทบาทในการนำเสนอและริเริ่มเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรค

หก ประการสุดท้าย แน่นอนว่า สมาชิกพรรคย่อมมีบทบาทในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งและระดมหรือพยายามดึงให้ผู้คนมาลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคของตน         

นอกจากเหตุผลหกประการข้างต้นแล้ว  การเปิดพื้นที่และให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและบทบาทของสมาชิกพรรคในการดำเนินกิจกรรมของพรรคจะช่วยลดการทุจริตและการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค ในแง่ของการลดการทุจริต คือ หากพรรคมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมและมีบทบาทตามที่กล่าวไว้หกประการข้างต้น ก็จะทำให้ลดการใช้งบประมาณในการหาเสียง และในบางประเทศจะลดการซื้อเสียงไปได้ด้วย และเมื่อพรรคไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณการหาเสียงหรือซื้อเสียง ก็ทำให้พรรคไม่จำเป็นต้องหาเงินมาเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้ ส่วนในแง่ของการป้องกันหรือลดการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค คือ หากพรรคไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อำนาจและอิทธิพลของสมาชิกพรรคที่มีฐานะมั่งคั่งและเป็นแหล่งทุนให้แก่พรรคก็จะลดลง แต่จะเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกที่มีคุณสมบัติความสามารถที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วยผลงานประสบการณ์ความรู้ความสามารถจริงๆ มากขึ้น อีกทั้งหากพรรคเปิดพื้นที่ให้สมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นก็จะเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของพรรคมากขึ้น ไม่ได้กระจุกรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคเสมอไปเท่านั้น   แต่ถ้าสมาชิกพรรคมีอิทธิพลในพรรคมากเกินไปก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้ผู้นำและ ส.ส. พรรคอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์กรนอกรัฐสภา (extra-parliamentary organisations) ซึ่งสมาชิกพรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องมีความรับผิดชอบต่อการผลักดันหรือแรงกดดันของพวกตนเท่ากับผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือ ส.ส.  ที่พึงตระหนักด้วยก็คือ สมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวของพรรค (party members and activists) อาจเป็นได้ทั้ง “พวกสุดโต่ง” (extremists) หรือ “ทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว” (unquestioning foot soldiers)

สมาชิกพรรคการเมืองจึงเปรียบได้กับ “ซินเดอเรลลา” (Cinderellas)  ที่ในยามปกติก็จะพร้อมยอมตามหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค แต่หาก “เปลี่ยนองค์” ขึ้นเมื่อใดก็จะมีพลังโดดเด่นที่อาจอยู่เหนือหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคได้  ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็พึงต้องระวังด้วย  เพราะมวลชนสมาชิกพรรคอยู่ในสภาพ “ซินเดอเรลลา” ที่จะผุดจากการเป็นสาวรับใช้ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเมื่อไรก็ได้

แต่ครั้นจะให้อยู่ในสภาพ “สาวรับใช้” ที่เป็นคล้ายทหารเดินเท้าที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง ก็จะไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายของพรรคการเมือง แต่ถ้าปล่อยให้มีพลังอำนาจอิทธิพลมากเกินไปก็อาจจะทำให้พรรคไม่สามารถเป็นพรรคได้อีกต่อไป

ทั้งนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคที่เป็นเอกบุคคล (the one) และคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล (the few) ที่จะเปิดพื้นที่ให้มวลชน  ขณะเดียวกันก็สามารถทัดทานและหาจุดสมดุลของสัมพันธภาพของอำนาจขององค์ประกอบทั้งสามนี้  ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดคือ การร่างธรรมนูญพรรคจัดโครงสร้าง การระดมความคิดเห็น และกระบวนการการหาข้อยุติหรือฉันทานุมัติภายในพรรคเพื่อเป็นกฎกติกาสำหรับทุกฝ่าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง

คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ

'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!

นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง

ปากไว! นายกฯ อบรม 'พ่อนายกฯ' รอที่ประชุมเคาะก่อนไปพูดบนเวทีแจกเงินหมื่น

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีปราศัยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มอง

พิราบขาว ตามจิกทักษิณ ยกปราศรัยหาเสียงที่อุดร หลักฐานมัดครอบงำเพื่อไทย

ที่สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกกต.กรณีคำร้องยุบ 6 พรรคการเมือง