หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที จนนายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา อภิปรายถามว่า “เวลานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เรากำลังพิจารณาประเด็น ๒ ประเด็นพร้อมกัน จึงฟังไม่รู้เรื่องว่าไปข้างไหนกันแน่ ข้อแรก มีผู้สงสัยว่าสภาฯนี้กำลังพิจารณาคำแถลงของรัฐบาลเพื่อรับทราบเท่านั้น หรือว่าสภาฯนี้พิจารณาในรูปใด นี่อีกข้อหนึ่งเป็นข้อสำคัญ ต่อมามีผู้เสนอว่า สภาฯนี้ควรให้ลงมติว่าจะกราบทูลให้ไม่ทรงสละราชสมบัติต่อไปหรือไม่ เป็น ๒ เรื่องอยู่แล้ว แล้วพูดกันจนไม่รู้เรื่อง ข้าพเจ้าขอให้ท่านประธานฯว่า เราควรจะไปทางไหนทางเดียวก่อน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่จบ จนดึกดื่น แล้วก็จะไม่ได้ผลอะไร”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอให้อภิปรายกันในเรื่องนี้ก่อนว่า สภาฯนี้มีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยหรือไม่ว่าท่านจะสละราชสมบัติได้หรือไม่ เท่าที่ฟังคำอธิบายของท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร/ผู้เขียน) ก็ปรากฏว่า ไม่ใช่หน้าที่ของสภาฯนี้ แต่ในข้อนี้ ก็ไม่มีในรัฐธรรมนูญ และที่บางท่านยังสนใจอยู่ก็ขอให้ตกลงในข้อนี้เสียก่อน”
ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย ได้กล่าวว่า
“เราได้รับความเข้าใจกันแล้ว ญัตติที่รัฐบาลเสนอมานี้ เพื่อให้สภาฯรับทราบเท่านั้น ได้ความว่าอย่างนั้น เมื่อสภาฯรับทราบแล้ว ก็ควรจะหมดเรื่องนั้นแล้ว คือว่า เมื่อเปิดประชุมแล้ว ก็มีการประชุมอะไร ก็ประชุมกันต่อไป แล้วก็อีกข้อหนึ่งว่า เวลานี้ พระมหากษัตริย์ว่าง เราจะตั้งอีก ก็ต้องเสนอญัตติขึ้นมาในเรื่องนั้น จึงจะได้พิจารณากันต่อไป ก็เมื่อทางรัฐบาลต้องการให้รับทราบแล้ว เมื่อฝ่ายสมาชิกได้รับทราบ ก็ควรจะหมดเรื่องนี้แล้ว เหตุไฉนจึงอภิปรายกันว่าให้ควรเชิญกลับคืนมา ข้าพเจ้าเห็นว่าควรย้อนขึ้นเรื่องเดิมเสียใหม่”
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า
“รัฐบาลได้เสนอเรื่องมาทั้งสองเรื่อง ไม่ใช่ว่าให้เรารับทราบอย่างเดียว รัฐบาลเสนอเรื่องเอกสารโต้ตอบเรื่องการสละราชสมบัติ อ่านกันมาเป็นคุ้งเป็นแควหลายสิบหน้า เราจำเป็นจะต้องมีหน้าที่ที่พิจารณาในปัญหาร้อยแปดประการ ไม่ใช่ปัญหาข้อเดียว และปัญหาร้อยแปดนี้ ข้าพเจ้าก็มีสิทธิพูดทุกอย่างในเรื่องนี้ และเหตุผลที่ข้าพเจ้าพูดนั้น ไม่ใช่นอกประเด็นเลย เป็นเรื่องในประเด็นในเรื่องนี้โดยแท้ เหตุผลที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนต่อที่ประชุมนี้ ก็ไม่ใช่ไม่คิดถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญเลย ข้าพเจ้าคิดถึงทั้ง ๔ ข้อเสมอ ท่านผู้แทนฯลำปาง (นายสร้อย ณ ลำปาง/ผู้เขียน) กล่าวว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศไปในหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ท่านควรระลึกว่า คณะผู้แทนนั้นไปในนามของคณะรัฐบาล คือเป็นผู้แทนของรัฐบาลสยาม และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แม้จะเป็นประธานสภาฯ ก็ไม่ได้ไปในหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร จะถือว่าสภาฯนี้ได้มอบหมายแต่งตั้งไปไม่ได้ เพราะสภาฯนี้ไม่เคยมอบหมายแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีฯไปเลย”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งปัญหาแล้วเพื่อให้รวบรัดเข้าในการอภิปราย แล้วท่านก็อภิปรายในเรื่องอื่น ก็ไม่รู้จักจบสิ้นกันกัน”
หลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า
“เท่าที่เราได้อภิปรายกันมาแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ขอประทานโทษ คือ ท่านไปนึกถึงเหตุการณ์เท่าที่รัฐบาลได้เสนอขึ้นมา แต่ว่าเรามีเรื่องหลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องยุ่งยาก ที่จริง ปัญหาที่ท่านประธานฯ ได้ยื่นเข้ามา ถ้าหากว่าจะพิจารณาดูตามหลัก คือว่า เรามองดูตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่าปัญหาจะง่ายเข้า ตามรัฐธรรมนูญนั้นประเทศในระบอบนี้จะต้องประกอบด้วยอะไร ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างนั้น คือว่า ในเบื้องต้น ต้องประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญจะขาดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญของเราว่าอย่างนั้น จะต้องประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์นั่นเองทรงใช้อำนาจต่างๆ เป็นต้นว่า สภาฯเรานี้ก็โดยนิติบัญญัติดังนี้ เป็นต้น
บัดนี้ ความปรากฏตามเอกสารโต้ตอบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา หรือพระมหากษัตริย์ของเรา ทรงสละราชสมบัติแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า ในเบื้องต้นที่เราจะพิจารณา ดังที่ท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯ/ผู้เขียน) ว่าเอกสารในการโต้ตอบนี้เป็นหลักฐานหรือยัง เป็นหลักฐานที่จะฟังในเบื้องต้นหรือยังว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว นี้เป็นข้อแรกที่เราจะต้องพิจารณา เพราะเหตุว่าอย่างไรก็ดี เอกสารนี้เราไม่ได้รับจากพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ เราได้รับดังที่ได้รับนี้ และข้าพเจ้าจึงเห็นว่า คำที่ท่านที่ปรึกษาทรงให้ความเห็นว่า ในเบื้องต้น เราควรจะรับว่าเป็นหลักฐานหรือยัง ในข้อนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเราหารู้เท่าที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ไม่ เราได้รับทราบมาแล้วเป็นลำดับตั้งแต่ก่อนนี้ จึงเป็นอันฟังได้เป็นหลักฐานว่า พระมหากษัตริย์ของเราได้ทรงสละราชสมบัติจริง เมื่อในเบื้องต้น เราได้รับกันในข้อนี้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาใดที่จะเกิดสงสัย ปัญหาต่อไปจะต้องพิจารณาให้เข้าหาหลักรัฐธรรมนูญ ถ้าเถียงกันแล้ว จะไปกันใหญ่ ๓ คืน ๘ คืน ก็ไม่รู้จบ คือว่า ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติแล้ว เราจะทำอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญขาดกษัตริย์ไม่ได้ ถ้าขาดกษัตริย์ รัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นรัฐธรรมนูญ ระบอบนี้ก็ไม่เป็นระบอบนี้จนกว่าจะมีพระมหากษัตริย์ และเมื่อขาดพระมหากษัตริย์ไม่ได้แล้ว ความจำเป็นของเราจะทำอย่างไร ตามรัฐธรรมนูญของเราไม่มี ข้าพเจ้าหันเข้ามาหาหลักที่กล่าวว่า การสืบราชสมบัตินั้น ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งอย่างไรก็ดี ในตอนที่ว่า โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร อันนี้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเรา คือ ในตอนนี้ ความเห็นชอบว่า ในการที่ท่านผู้หนึ่งที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปนั้น จะเป็นผู้ใด อย่างไร ซึ่งข้าพเจ้าขอให้ท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯ/ผู้เขียน) ตอบก่อน”
(โปรดติดตาม รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2477 ในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490