ผลการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

 

การได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นจำนวนมากของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2562 พรรคเพื่อไทย (ในชื่อไทยรักไทยและพลังประชาชน) ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่งตลอด แถมมีสองครั้งที่ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎร และได้จัดตั้งรัฐบาลมาโดยตลอด ยกเว้นในปี พ.ศ. 2562 ที่ต้องไปเป็นฝ่ายค้านครั้งแรกในรอบ 18 ปี  และหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งแน่นอน เพียงแต่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมหรือไม่ เพราะในขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งที่เป็นทางการ และผู้นำพรรคเพื่อไทยก็ให้สัมภาษณ์เองเมื่อคืนว่าจะทำตามธรรมเนียมระบบรัฐสภาคือ ให้พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดเป็นฝ่ายเริ่มจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะเป็นพรรคก้าวไกลก็ได้ที่ได้ ส.ส. มากที่สุด

การที่พรรคก้าวไกลได้ ส.ส. เป็นจำนวนคู่ขี่และอาจจะมากกว่าเพื่อไทยเป็นเรื่องที่ผิดคาด แม้ว่าหลายสำนักจะทำนายว่า คู่แข่งของฝั่งนี้ของเพื่อไทยคือ ก้าวไกล แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า ก้าวไกลจะตีเสมอคู่ขี่บี้กันมาถึงขนาดนี้ได้ เพราะในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคก้าวไกล (อนาคตใหม่) ได้รับเสียงจากไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไป แต่ในการเลือกตั้งคราวนี้ ไม่มีเงื่อนไขเช่นนั้น  แต่ทำไมพรรคก้าวไกลถึงได้ความนิยมมากขนาดนี้ ?   

เงื่อนไขที่ทำให้พรรคก้าวไกล นอกจากจะรักษาเสียงไว้ได้ แถมยังได้เสียงมากขึ้นเป็นสองเท่าอีกน่าจะมีเงื่อนไขทั้งที่เป็นเงื่อนไขเก่าและใหม่

เงื่อนไขเก่าและใหม่นี้คือ การสืบทอดอำนาจของคณะ คสช. เงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้พรรคก้าวไกลสมัยที่เป็นอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียง เพราะประกาศต่อต้านการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน รวมทั้งมีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและลดขนาดกองทัพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการต่อต้านรัฐประหารและคณะ คสช. ที่ทำรัฐประหารครั้งล่าสุด

คนหลายคนที่แม้ไม่ได้ต่อต้านคณะ คสช. ตอนปี 2557 และไม่ต่อต้านที่อยู่มานานห้าปี แต่รู้สึกไม่ดีที่ “ลุง” จะยังลงเล่นการเมืองต่ออีกในปี 2562  และเมื่อผ่านมาอีกสี่ปีจนถึงปี 2566  ทั้งๆที่มีปัญหาเรื่องแปดปีไปแล้ว แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความว่ายังไม่ครบแปดปี “ลุง” จึงได้อยู่ต่อมาจนยุบสภาเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566  แต่  “ลุง” ก็ยังอุตส่าห์จะลงเล่นการเมืองต่ออีก             

คนที่ไม่พอใจ “ลุง” สมัยเลือกตั้งปี 2562 ก็ยังไม่พอใจต่อในปี พ.ศ. 2566

ส่วนคนที่ไม่ได้ไม่พอใจ “ลุง” ตอนปี 2562 พอมีเรื่องแปดปี และ “ลุง” จะ “ทำต่อ”  ในการเลือกตั้งปี 2566 คนเหล่านี้ก็มารวมกับคนที่ไม่พอใจ “ลุง” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2562

การที่คณะ คสช. ตัดสินใจลงเล่นการเมืองปี 2562  และปี 2566 มีส่วนเสริมคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลได้มากขึ้น         

มีคนบอกว่า หลายคนเคยชอบ “ลุง” แต่อย่างว่า “ลุงๆ” อยู่นานเกินไป ความเบื่อมันไม่เข้าใครออกใคร  พรรคการเมืองในอังกฤษเองก็เจอปัญหานี้ พรรคไหนที่อยู่เป็นรัฐบาลนานๆ คนก็เบื่อ แม้จะมีผลงานก็ตาม

ที่นี้คนที่เคยชอบ “ลุง” เมื่อเบื่อแล้ว จะหันหน้าไปหาใคร ?           

มีคนบอกว่า (คนเดิมที่บอกตะกี้ !) ว่า ในบรรดาคนที่เบื่อ “ลุง” จำนวนหนึ่ง เป็นคนที่ให้ความสำคัญจริงจังกับการพัฒนาประเทศ และเมื่อหันไปดูพรรคโน้นพรรคนี้แล้ว ก็ไม่เห็นพรรคไหนจะตอบโจทย์เท่ากับพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายที่ตอบโจทย์ใหม่ๆโดนใจหลายเรื่อง ไม่ใช่มุ่งแต่ลดแลกแจกแถม แต่เป็นนโยบายที่มีเหตุมีผลพอสมควร ถูกใจคนแนวนี้       

ที่น่าสนใจคือ มีคนบอกว่า (คนใหม่ ที่ไม่ใช่คนเดิมที่เคยบอก) คนที่หันเลือกก้าวไกล เป็นคนที่เอาเจ้า ไม่ได้ล้มเจ้า ???

อ้าว !  เอาเจ้า แล้วไปเลือกพรรคที่ได้ชื่อว่าล้มเจ้าได้ไง ?!! ไม่เข้าใจ                 

คนที่บอกเรื่องนี้เล่าว่า คนที่เอาเจ้าแต่ไปเลือกพรรคก้าวไกล เพราะพวกเขาเชื่อจริงๆตามที่แกนนำพรรคบางคนยืนยันว่า พรรคไม่ได้มีนโยบายล้มเจ้า แต่ต้องการปฏิรูปสถาบัน และถ้าปฏิรูปได้จริงๆแล้ว สถาบันจะยั่งยืนยงสถาพร  และคนกลุ่มนี้เห็นว่า สถาบันควรปฏิรูปเพราะมีหลายเรื่องที่พวกเขาสงสัย

ผมได้มีโอกาสถามคนแนวนี้ด้วยตัวเอง (ถามได้ไม่กี่คน จำนวนไม่ถึงจะทำเป็นโพลได้) ว่า รู้เรื่องเยาวชนที่ออกมาหมิ่นและอาฆาตมาดร้ายสถาบันหรือไม่ ?

พวกเขาบอกว่า เคยได้ยิน แต่ไม่ได้ติดตามว่าเยาวชนทำอะไร และเชื่อว่า การกล่าวหา จับกุม ดำเนินคดี เป็นการกระทำที่เกินเหตุหรือไม่ก็เป็นการกลั่นแกล้ง และด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันผ่านการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล และเห็นด้วยที่นักการเมืองของพรรคก้าวไกลไปช่วยประกันตัวหรือดูแลเยาวชนที่โดนคดีมาตรา 112

ที่น่าสนใจคือ พอผมเล่าให้ฟังว่า ข้อกล่าวหามีอะไรบ้าง พวกเขาก็กลับบอกว่า เป็นเฟคนิวส์หรือเปล่า ? หรือไม่ก็เป็นหลักฐานเท็จ !  คราวนี้ ผมก็ไม่รู้จะอธิบายให้เขาฟังยังไง เพราะในโลกยุคโซเชี่ยลแบบนี้ ต่างคนต่างมีโลกของตัวเองจริงๆ  อีกทั้งหากทางการนำเอาหลักฐานการหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายในหลายกรณีมาเผยแพร่ในสาธารณะ ก็จะถือว่ากระทำผิดมาตรา 112 อีก         

จากปัญหาเรื่องความจริงเป็นอย่างไร ทำให้เห็นได้ว่า การต่อสู้ในการเลือกตั้งคราวนี้ พลังกระแสโซเชี่ยลมีความสำคัญมากถึงมากที่สุด นั่นคือ ใครครองความเป็นเจ้าในกระแสโซเชียลได้ก็จะครองความเป็นเจ้าในทางการเมืองได้   

หลายคนเริ่มวิตกว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตกว่าแค่เรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดทอนกองทัพ  ปรับเปลี่ยนหลักสูตรตำรากระทรวงศึกษา ฯลฯ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

คำตอบคือ มีทั้งเป็นไปได้หรือไม่เป็น

เพราะเท่าที่ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองของเดนมาร์กและสวีเดน พบว่า พรรคการเมืองบางพรรคเคยประกาศว่าต้องการเป็นสาธารณรัฐ ต้องการลดทอนโน่นนี่นั่นของสถาบันฯ ประกาศไล่สถาบันฯอย่างรุนแรง แต่นั่นเป็นการกระทำในช่วงที่ตนยังไม่สามารถชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลได้ แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ซาๆไป  ประเด็นมันอยู่ที่ได้หรือไม่ได้เป็นรัฐบาล ถ้าได้เป็นรัฐบาลก็ว่าระบบดี เป็นประชาธิปไตยแล้ว

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลในรัฐบาลผสม แน่นอนว่าจะต้องเดินหน้าแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เพราะเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของนโยบายของแกนนำบางคนตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนักการเมือง  และบรรดาเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายต่างก็ชูประเด็นเรื่องแก้ไข-ยกเลิกมาตรา 112 ทั้งที่หวังจะมีเสรีภาพในการด่าทออาฆาตมาดร้ายสถาบันได้โดยไม่ต้องเจอโทษที่หนักเหมือนที่เป็นอยู่ในมาตรา 112  หรือเพื่อหวังจะให้ผู้ต้องคดีพ้นจากข้อกล่าวหาและการดำเนินคดี หรือพ้นจากการติดคุก แต่การแก้ไขหรือยกเลิกคงจะไม่ได้ทำได้รวดเร็วภายใต้เงื่อนไขการเป็นรัฐผสมและยังมีฝ่ายค้านที่ต้องการรักษาฐานเสียงที่มีอยู่ไว้           

แต่เชื่อว่า การเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในเรื่องยกเลิกมาตรา 112 และช่วยเพื่อนออกจากคุกจะเบาบางลงไปเมื่อพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แต่ก็จะกลับมารุนแรงขึ้นหากการแก้ไขหรือยกเลิกใช้เวลาเนิ่นนานจนพรรคถูกเข้าใจว่า พอได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ทิ้ง เหมือนสมัยทักษิณกับเสื้อแดง แต่ถ้านานหรือไม่จริงใจในการแก้ แถมยังไม่มีม็อบออกมาอีก ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างแรง   

แต่ถ้าแก้ไขหรือยกเลิกอย่างไม่สมเหตุสมผลรวบรัดตัดตอน ก็อาจจะเจอคนอีกฝ่ายออกมาประท้วงได้เช่นกัน 

ขณะเดียวกัน ถ้าก้าวไกลร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยเป็นหลัก  วาระสำคัญของเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องมาตรา 112 หรือช่วยเยาวชนที่มีปัญหากับคดีมาตรา 112 แต่วาระในทำนองเดียวกันนี้ของเพื่อไทยคือ ทักษิณกลับบ้าน และถ้าต้องติดคุก ก็ควรต้องออกจากคุกโดยเร็ว

ดังนั้น ก้าวไกลอาจจะเจอเพื่อไทยต่อรองเรื่องมาตรา 112 กับเรื่องการขออภัยโทษให้ทักษิณ

และถ้าจะอภัยโทษทักษิณ ก้าวไกลก็ต้องขออภัยโทษให้ผู้ที่ติดคุกมาตรา 112 ด้วย

สองพรรคอาจจะคัดง้างต่อรองกัน         

หรือไม่ก็อาจจะลงตัวเป็นรัฐบาลที่ทรงพลังและมีเอกภาพพอที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษทั้งนักโทษทักษิณและนักโทษมาตรา 112  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร