ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘ ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗ เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ อันเป็น “หนังสือโต้ตอบระหว่างรัชกาลที่เจ็ดกับรัฐบาล” ซึ่งผู้เขียนได้นำมาเผยแพร่ไปในตอนก่อนๆ ในตอนที่แล้วได้นำ “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที มาเผยแพร่ให้คนในปัจจุบันได้รับรู้
ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอนำ “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” มาเผยแพร่ให้รับทราบกัน
คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ
“เนื่องในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลขอแถลงให้ทราบทั่วกันว่า นับจำเดิมแต่ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้ดำเนินการปกครองเป็นที่เรียบร้อยตลอดมา ทั้งนี้ โดยอาศัยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงราชปรารภมายังรัฐบาลว่าใคร่จะเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระเนตรในต่างประเทศครั้งที่ ๒
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ทราบพระราชดำรัสดังนั้น จึงได้ประชุมลงมติว่า ในระหว่างเวลาที่กล่าวแล้ว เป็นเวลาซึ่งกบฏเพิ่งจะเสร็จไปใหม่ๆ (กบฏบวรเดช เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖/ผู้เขียน) บ้านเมืองยังไม่สู้จะเป็นปกติเรียบร้อยดีนัก อันการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติมาประทับยังกรุงเทพมหานครนั้น ย่อมเป็นการอุ่นเกล้าฯแก่ประชาชนยิ่งนัก ฉะนั้น ถ้าหากจะเสด็จไปรักษาพระเนตรยังต่างประเทศเสียในขณะนี้ ก็จะเป็นที่ว้าเหว่แก่ประชาชน ดังปรากฏว่า ได้มีปัญหาถกถามกันในสภาผู้แทนราษฎรด้วยประการดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ควรจะทรงประทับรับการรักษาอยู่ในพระมหานคร โดยใช้แพทย์ที่เชิญมาจากต่างประเทศ แต่พระองค์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยโดยเด็ดขาดว่า จำเป็นต้องไปรักษายังต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็จำต้องสนองพระบรมราชวินิจฉัยตามพระราชประสงค์
ในระหว่างที่พระองค์ได้ทรงประทับรักษาพระเนตรอยู่ ณ ต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ทำการติดต่อกับพระองค์ตลอดมาเป็นที่เรียบร้อยปราศจากอุปสรรคทั้งปวง จนเมื่อรัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติอากรมรดก และการรับมรดก พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงปรมาภิไธยออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย พระองค์ได้ทรงทักท้วงในหลักบางประการ แต่เมื่อรัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้ทรงลงปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้ว ออกประกาศใช้เป็นกฎหมายอยู่จนกระทั่งบัดนี้ ต่อมารัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทหาร พ.ศ. ๒๔๗๗ รวม ๓ ฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแล้ว ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงลงปรมาภิไธยใช้เป็นกฎหมาย แต่พระองค์ไม่พอพระราชหฤทัยในหลักการบางอย่าง จึงได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาได้ลงมติยืนยันตามเดิม รัฐบาลจึงนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อขอให้ทรงลงปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แต่ก็ไม่ทรงลงปรมาภิไธย พระราชทานคืนมาภายในกำหนดรัฐธรรมนูญ
ในระหว่างนี้ รัฐบาลได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีข้อข้องพระราชหฤทัยบางประการ ซึ่งถ้ารัฐบาลมิได้จัดถวายให้เป็นการสมพระราชประสงค์แล้ว พระองค์ก็ทรงสละราชสมบัติได้ รัฐบาลจึงได้รีบจัดถวายเพื่อให้ต้องพระราชหฤทัยทุกประการ แต่ต่อมามิช้า รัฐบาลก็ได้รับทราบเกล้าฯ จากสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ ในตอนนี้ รัฐบาลรู้สึกวิตกเป็นอันมาก เพราะทราบกรณีและเหตุผลโดยชัดแจ้ง จึงได้แต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ และนายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เลขานุการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลออกไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ประเทศอังกฤษ และให้พยายามกราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จกลับพระนคร คณะผู้แทนรัฐบาลก็ได้กระทำตามคำสั่งโดยเต็มที่ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะพระองค์ได้ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ในที่สุด ได้แสดงพระราชประสงค์มาว่า ขอให้นำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ โดยนำเรื่องขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการอภิปรายกันแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบพร้อมกันที่รัฐบาลได้ปฏิบัติไป และลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านระเบียบวาระไปได้ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร
บัดนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ พระราชทานมายังรัฐบาลแต่วันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ รัฐบาลได้รับพระกระแสใส่เกล้าฯ ด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลรู้สึกอยู่ว่าได้มีความจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้อยู่เต็มที่ตลอดมา ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทัดทานขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละพระราชสมบัติ แต่ก็หาสมความมุ่งหมายไม่ ฉะนั้น รัฐบาลจึงได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบได้ด้วยความโทมนัส และในโอกาสนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง ซึ่งเป็นผู้รักษาราชการให้เป็นไปตามกฎมณเทียรบาล ได้นำพระนามพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะเป็นผู้สืบสันตติวงศ์ โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงลงพระนามว่า ทรงตรวจถูกต้องแล้ว ขึ้นเสนอผู้แทนราษฎรเพื่อรับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๙ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร/ผู้เขียน) ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบด้วยให้สถาปนาพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ และได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งนายพลเอก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ นายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
ตามเหตุดังกล่าวมาแล้ว ประกอบด้วยมีเวลาจำกัด รัฐบาลจึงขอแถลงให้ประชาชนทราบไว้แต่โดยย่อเสียขั้นหนึ่งก่อน ส่วนเรื่องราวโดยละเอียดนั้น รัฐบาลจะได้โฆษณาให้ทราบโดยตลอด พร้อมด้วยจสำเนาพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติในโอกาสอันเร็วที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ว่า รัฐบาลนี้ย่อมรักษาระบอบรัฐธรรมนูญการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเสมอ
ในที่สุดนี้ รัฐบาลขอให้ข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์จงตั้งอยู่ในความสงบ อย่าได้หลงเชื่อข่าวอกุศลใดๆ ซึ่งหากจะมีผู้ก่อให้เกิดขึ้นและช่วยเหลือร่วมกันเพื่อสภาพความเรียบร้อยแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจงทุกประการ
วันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
----------
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะได้นำเสนอรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับการสละราชสมบัติและการสถาปนาผู้สืบราชสันตติวงศ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490