ในช่วงการเลือกตั้งขณะนี้ หากคุณครูตามโรงเรียนมัธยมอยากจะให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพรรคการเมืองเพื่อจะปูทางไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองตัดสินอนาคตประเทศผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อนักเรียนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ คุณครูอาจจะให้นักเรียนทำรายงานสั้นๆเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆที่ลงสมาชิกพรรคลงสมัครับเลือกตั้ง ในการทำรายงานของนักเรียนสมัยนี้ ก็คงจะไม่พ้นเริ่มต้นจากการเปิดกูเกิลและมักจะหนีไม่พ้นเห็นชื่อพรรคการเมืองนั้นๆที่อยู่นำเสนอโดยวิกิพีเดีย
และเมื่อเปิดดู พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะพบคำอธิบายว่า
“พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม”
นักเรียนก็คงจะคัดลอกข้อความดังกล่าวแปะลงไปในรายงานของตน และเมื่อนำมาส่งคุณครูแล้ว คุณครูจะตรวจความถูกต้องอย่างไร ?
ก่อนอื่น ทั้งครูและนักเรียนจะต้องทราบก่อนว่า วิกิพีเดีย คือ สารานุกรมชนิดหนึ่ง ถ้ายังไม่รู้ว่าสารานุกรมคืออะไร ก็คงต้องอธิบายให้ทราบว่า ในการสื่อสารผ่านทางกระดาษหรือหนังสือ สารานุกรมคือ หนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนง หรือเฉพาะแขนงใดแขนงหนึ่ง มักเรียงตามลำดับอักษร คล้ายพจนานุกรม แต่จะต่างตรงที่พจนานุกรมจะอธิบายศัพท์ เช่น พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ก็จะเป็นการให้คำแปลศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เช่น ant แปลว่า มด เป็นต้น แต่ถ้าอธิบายศัพท์ในภาษาเดียวกัน ก็จะอธิบายว่า มด เป็นชื่อแมลงหลายชนิดในวงศ์ Formicidae ส่วนท้องปล้องที่ ๑ หรือ ปล้องที่ ๑ และปล้องที่ ๒ ซึ่งติดกับอกคอดกิ่ว ด้านหลังซึ่ปล้องท้องดังกล่าวมีโหนกสูงขึ้น อาจจะโค้งมนหรือเป็นแผ่นแบน ลักษณะนี้ทําให้มดแตกต่างไปจากต่อ แตน และ ปลวก เป็นต้น
สารานุกรมกับพจนานุกรมจะต่างกันตรงที่พจนานุกรมจะเน้นไปที่ภาษาและศัพท์ ในขณะที่สารานุกรมจะอธิบายประเด็นเรื่องราวต่างๆ
ปกติ เวลาใครหรือสถาบันใดจะทำสารานุกรมขึ้นมา ก็จะต้องระดมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาเขียนอธิบายประเด็นต่างๆ ซึ่งอาจจะเน้นไปที่สาขาใดสาขาหนึ่ง เช่นสารานุกรมทางรัฐศาสตร์ และก่อนจะตีพิมพ์ออกมาก็มักจะมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงความถูกต้องแม่นยำของคำอธิบาย และจะลงชื่อสถาบันเพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ หรือมีคณะผู้จัดทำเพื่อความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบ
แต่สารานุกรมของวิกิพีเดียต่างจากสารานุกรมทั่วไป คือ เปิดเสรีผู้คนเข้ามาเขียนอธิบายเรื่องนั้นๆได้อย่างเสรี และใส่อ้างอิงข้อความที่อธิบายตามมาก็ได้ เพื่อความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่นำมาเขียนอธิบาย หรือหากไม่ใส่อ้างอิง ทางวิกิพีเดียก็จะมีข้อความกำกับว่าข้อความนี้ “ต้องการอ้างอิง”
ข้อดีของการเป็นสารานุกรมเสรีของวิกิพีเดีย เช่น
1. อาจจะได้ข้อมูลจากคนที่รู้รายละเอียดในเรื่องนั้นๆมากกว่านักวิชาการ เช่น คนในเหตุการณ์หรือในเรื่องราวนั้นๆที่นักวิชาการยังสำรวจไปไม่ถึง
2. นักวิชาการคนอื่นๆที่รู้เรื่องนั้นๆ แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนเรื่องนั้นในระบบสารานุกรมกระดาษหรือแบบปิด
3. การทำสารานุกรมแบบปิดอาจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล หรือระบบเซนเซอร์ตรวจสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง การมีพื้นที่เปิดจะทำให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใดๆ
แต่เมื่อเสรี ก็ย่อมมีข้อเสีย นั่นคือ ใครจะมาเขียนอธิบายอะไรก็ได้ และหากใส่อ้างอิงที่ค้นหายาก ก็ทำให้คนอ่านไม่สามารถไปค้นได้ หรือเป็นอ้างอิงภาษาที่ไม่ได้ใช้กันทั่วไป คนที่ไม่รู้ภาษานั้นก็ยากที่จะทำความเข้าใจ แม้ว่าบางทีวิกิพีเดียจะมีบริการแปลให้ก็ตาม
อย่างเช่นข้อความที่ขึ้นต้นอธิบายพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” มีอ้างอิงถึงสี่รายการ นั่นคือ
ก. "Demise of the Democrat Party in Thailand".
ข. "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Of the four ruling coalition parties in 1987, the Democrat Party was considered to be somewhat liberal, despite its beginning in 1946 as a conservative, monarchist party.
ค. "Thailand's main political parties". Al Jazeera. 3 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Prime Minister Abhisit Vejjajiva's ruling Democrat Party was founded in 1946. It is conservative, pro-monarchy and establishment, backed by the military and most of the Bangkok-based elite.
ง. Bunbongkarn, Suchit (1999), "Thailand: Democracy Under Siege", Driven by Growth: Political Change in the Asia-Pacific Region, M.E. Sharpe, p. 173, ISBN 9780765633446
คงเป็นการยากสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ตามโรงเรียนไทยทั่วไปที่จะตามไปดูว่าอ้างอิงทั้งสี่รายการนี้ได้พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์แบบนั้นจริงๆหรือไม่
อุปสรรคประการแรกคือ ความขี้เกียจ ประการที่สองคือ ภาษา
โดยส่วนใหญ่ ตามโรงเรียนทั่วไป ครูที่สอนสังคมศึกษาหรือประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ เมื่อทั้งครูและนักเรียนไม่สันทัดภาษา จะไปตรวจสอบว่าแหล่งอ้างอิงเขียนข้อความที่ว่านั้นได้อย่างไร ?
สมมุติว่า ไม่มีปัญหาด้านภาษา และไม่ขี้เกียจ และตามไปอ่านข้อความตามรายการอ้างอิงแล้ว และสมมุติว่า มีข้อความที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ “ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม” จริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แหล่งอ้างอิงนั้นกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หากไม่มีใครเข้ามาเขียนแย้งหรืออธิบายเป็นอย่างอื่น !
ขณะเดียวกัน เราจะตรวจสอบสถานะความน่าเชื่อถือของแหล่งอ้างอิงนั้นได้อย่างไร ?
เช่น สองรายการแรกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปในตอนก่อนๆ นั่นคือ "Demise of the Democrat Party in Thailand". ที่เป็นบทความหนังสือพิมพ์สั้นๆของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) ที่สังกัดองค์กรที่มีชื่อว่า Council on Foreign Relations และบทความที่สองเรื่อง "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". ที่ไม่ได้บอกชื่อบุคคลผู้เขียน แต่ลงไว้ว่าเป็นองค์กรชื่อ Globalsecuity.org
ที่นี้ หากคุณครูและนักเรียนค้นตามไปจนเจอบทความและองค์กรที่รับผิดชอบการเผยแพร่บทความนั้น แล้วยังไงต่อ ?
เราจะตรวจสอบสถานะความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้นได้อย่างไร ?
เพราะเมื่อค้นเพิ่มเติมไปแล้ว โดยเบื้องต้น ก็จะพบคำอธิบายองค์กรซึ่งเขียนโดยองค์กรนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง คำอธิบายตัวเองโดยตัวเอง
แล้วใครจะเขียนถึงตัวเองว่า ไม่น่าเชื่อถือบ้างหละครับ ?!
มิพักต้องถามว่า จะมีครูและนักเรียนสักกี่คนจะฝ่าอุปสรรคภาษาและความขี้เกียจจนไปอ่านข้อเขียนที่เป็นแหล่งอ้างอิงนั้นๆ และยังจะค้นคว้าต่อถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้นๆต่อไปอีก
และหากค้นคว้าถึงแหล่งข้อมูลที่ประเมินความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้น ที่ไม่ใช่ที่องค์กรนั้นๆเขียนขึ้นเอง ก็จะพบแหล่งประเมินอีกมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเชื่อแหล่งไหนดี ดีไม่ดีแหล่งประเมินนั้นก็ถูกสร้างโดยองค์กรนั้นๆเสียอีก
เพราะการสร้างอะไรๆขึ้นบนโลกออนไลน์ในกูเกิล มันยากเสียที่ไหน
และที่สำคัญคือ คนประชาธิปัตย์เองสักกี่คนจะเข้ามาดูตัวเองในวิกิพีเดีย จะมีสักกี่คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของตัวเองที่คนอื่นสร้างหรือตีตราให้ และเมื่อปล่อยไป ไม่สนใจ มันก็จะลงเอยตามคำที่ว่า “อดีตกำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดอนาคต ใครกำหนดปัจจุบัน กำหนดอดีตและอนาคต”
ใครในปัจจุบันเป็นผู้กำหนดความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตได้ ก็จะทำให้คนในปัจจุบันเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นมาเช่นนั้น และจะส่งผลต่อความเป็นไปของพรรคในปัจจุบันและอนาคต
ผู้เขียนเคยกล่าวถึง Council on Foreign Relations ไปแล้วว่าเป็นองค์กรอะไร คราวต่อไป จะได้กล่าวถึง Globalsecuity.org และพากันไปดูการกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ของ Al Jazeera
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อภิสิทธิ์’ ปัดข่าวลือซุ่มตั้งพรรคใหม่ ย้ำหาก ‘ปชป.’ ยังเป็นแบบนี้ ไม่มีทางคัมแบ็ก
ขณะนี้ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ที่ก็ไม่แปลกเพราะขณะนี้หาพรรคการเมืองที่เราคิดว่าเราสนิทใจในการที่จะเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้อยู่แล้ว
‘เต้ มงคลกิตติ์‘ ชวนขนลุก! อาจถึงเวลาทหารกลับมาจัดระเบียบใหม่
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสส. พรรคไทยศรีวิไลย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก
ปชป.เลือดไหลอีก 'หมอบัญญัติ' ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว
นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ อดีต.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมจดหมายลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีใจความว่า
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร