ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๗): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล         

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอมาถึง “พระราชบันทึกข้อ ๘”  ดังมีใจความว่า

พระราชบันทึกข้อ ­­๘ และ “สนองพระราชบันทึก” (คำตอบจากรัฐบาล)

“ขอให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ข้าพเจ้าว่าจะไม่ตัดกำลังและตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่เวลานี้ เว้นแต่ข้าพเจ้าจะขอร้องเอง และจะคงให้ทหารรักษาวังอยู่ในฐานะที่เป็นอยู่ ณ บัดนี้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง                       

ขอให้รัฐบาลจ่ายอาวุธและลูกกระสุนให้แก่กองร้อย กองพัน ในกรมทหารรักษาวังให้มีเท่ากับกองร้อยกองพันทหารราบอื่นๆ                       

ในการที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีทหารรักษาวังไว้ตามเดิมนี้ ก็เพราะว่าบ้านเมืองยังอยู่ในเขตเปลี่ยนแปลง ยังไม่มีอะไรแน่นอน  ความคิดความเห็นของคนและคณะต่างๆยังพลุกพล่านเต็มที จึงอยากให้มีกรมทหารที่พอจะควบคุมมิให้ยุ่งเหยิงในการเมืองได้ เอาไว้รักษาพระราชวังและรักษาพระองค์โดยใกล้ชิดเท่านั้น เพื่อเป็นการอุ่นใจสำหรับข้าพเจ้าเองและเจ้านายพอสมควร     

ถ้าหากเหตุการณ์ในบ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเข้าสู่ฐานะปกติ และประชาชนเคยชิน และเข้าใจในวิธีการปกครองแบบใหม่นี้ดีแล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะของกรมทหารนี้ไปได้บ้าง ตามแต่จะเห็นสมควรในเวลานั้น”

------------

หลังจากนั้น รัฐบาลได้มี “สนองพระราชบันทึก” กลับไปว่า

“๘. ในเรื่องที่จะตัดกำลังและตัดงบประมาณของทหารรักษาวังนั้น เรื่องงบประมาณนี้เกี่ยวแก่สมาชิกผู้แทนราษฎร รัฐบาลไม่มีความขัดข้องประการใดในการที่จะคงให้มีทหารรักษาวังไว้ตามเดิม ในเรื่องที่จะขอให้ทหารรักษาวังมีอาวุธเหมือนทหารรบทุกอย่างนั้น เห็นว่า ตามประเพณีที่เป็นมาแล้ว ทหารรักษาวังหามีอาวุธเช่นนั้นไม่ ในต่างประเทศก็ดุจกัน การที่จะเพิ่มอาวุธให้แก่ทหารรักษาวังเช่นนี้ มีข้อจะคำนึงถึงทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพอยู่แล้ว ตลอดจนตำรวจซึ่งมีความจงรักภักดี อาจจะรู้สึกโทมนัสว่า พระมหากษัตริย์ไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยก็เป็นได้”  

-------

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๘.” ว่า                     

“ข้าพเจ้าไม่เคยเป็นอย่างอื่น นอกจากจอมทัพแห่งกองทัพบกและกองทัพเรือ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ก็ได้มีการรัฐประหารโดยทหารเป็นผู้กระทำ ๒ คราว มีการกบฏอย่างใหญ่โดยกองทัพบกครั้งหนึ่ง   และอย่างเล็กน้อยโดยกองทัพเรือครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีข่าวลือข่าวน่าหวาดเสียวถึงว่า อาจมีการสู้รบขึ้นระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือ และจนกระทั่งในระหว่างหมวดหมู่ต่างๆในกองทัพทั้งสองนี้ หากสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นอีกจริงๆแล้ว พวกทหารจะมัวพะวงแต่ในการสู้รบระหว่างกันเองมากกว่าที่จะมาคอยระวังรักษาตัวข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่ที่จะได้ความคุ้มครองจากกองทหารสักกองหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแก่งแย่งทั้งหลาย เพื่อเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้ขอร้องมาในเรื่องกรมทหารรักษาวัง

ถ้าหากและเมื่อกองทัพบก และกองทัพเรือกระทำการตามหน้าที่ของตนจริงๆ คือ ในฐานะที่เป็นผู้รักษาความสงบและรักษาความปลอดภัยของประชาชาติ และไม่เข้ามายุ่งกับการเมืองแล้ว เมื่อนั้นก็เป็นเวลาอันควรที่จะลดกำลังกรมทหารรักษาวังมาทำหน้าที่เพียงเป็นเครื่องประกันเกียรติยศ หรือเป็นเพียงตำรวจรักษาการภายในพระราชวัง”

---------------

รัฐบาลมี “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๘.”                               

“เรื่องทหารรักษาวัง ซึ่งทรงพระราชประสงค์ให้มีอาวุธเยี่ยงทหารราบทั้งหลายนั้น เมื่อเสด็จกลับสู่พระมหานครแล้ว รัฐบาลจะได้จัดการถวายตามพระราชประสงค์”

-----------

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมี “พระราชบันทีกข้อ ๙.” ดังต่อไปนี้

“ขอให้จัดการออกพระราชบัญญัติวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ”

-------------

รัฐบาลมี “สนองพระราชบันทึก” ดังนี้คือ

“๙. เรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติแก้ไขร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาชญาเกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษแล้วดังนี้

มาตรา ๒๖๓ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว มีอำนาจทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ         

เรื่องราวเช่นนี้ ให้ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันคดีถึงที่สุด                               

ถ้าผู้ถวายเรื่องราวต้องขังหรือจำคุก จะยื่นเรื่องราวต่อพะทำมะรงเรือนจำก็ได้ เมื่อรับแล้ว ให้พะทำมะรงรีบส่งไปยังรัฐมนตรีนั้นโดยทันที       

เป็นหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่       

ในกรณีซึ่งไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีดุจกล่าวแล้วเห็นเป็นการสมควรตามความยุติธรรม จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

ถ้าไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยตกมายังรัฐมนตรีภายในกำหนดสองเดือน นับแต่วันทรงรับเรื่องราว ให้ถือว่าเรื่องราวนั้นตกไป”         

---------- (ยังมีต่อ)                          

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร