พรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” โดยมีเชิงอรรถอ้างอิง 4 รายการ
รายการแรกเป็นบทความเรื่อง "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) เป็นข้อเขียนของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) เป็นบทความความยาวขนาด 45 บรรทัด เผยแพร่ในบล๊อกโพสต์ (blogpost) ทางอินเตอร์เนทวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (December 9, 2013 12:47 pm)
ในบทความนี้ คุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่าเมื่อชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น คนประชาธิปัตย์ก็เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความคิดแบบชนชั้นนำไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไปมากขึ้นและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งในคราวที่ ส.ส. ประชาธิปัตย์ทุกคนประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และพากันยกทีมลาออกจากการ ส.ส. และไปลงถนนร่วมการประท้วงที่นำไปสู่สภาวะอนาธิปไตยเพื่อล้มรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้มาถึงจุดตกต่ำ ถือเป็นการกระทำที่ต่อต้านสถาบันประชาธิปไตยและทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ในความเห็นของคุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิค การกระทำดังกล่าวของคนประชาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ถือว่าเป็นจุดจบของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนเวลากลับไปในสมัยทักษิณ ชินวัตร เขาก็เขียนบทความชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ทำลายประชาธิปไตย ผลเสียของนโยบายประชานิยม การใช้อำนาจเกินขอบเขตและผลประโยชน์ทับซ้อน การซื้อขายหุ้นครอบครัวตัวเองโดยไม่เสียภาษี ซึ่งโดยรวม คุณเคอร์แลนต์ซิคใช้คำว่า corruption นั่นคือ เขาไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรมทางการเมืองของทั้งทักษิณและไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้ของคนประชาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ทำลายประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาคือรายการอ้างอิงรายการที่สอง “Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. (เมษายน พ.ศ. 2555 (https://www.globalsecurity.org/military/world/thailand/political-party-dp.htm) GlobalSecurity ได้กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ไว้ว่า
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2489 เป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นพรรคการเมืองที่ถือว่ามีความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับพรรคการเมืองไทยโดยทั่วไป เพราะพรรคการเมืองไทยมักจะรวมตัวกันอย่างง่ายๆและมีอายุสั้น อย่างเช่นในระหว่าง พ.ศ. 2522-2539 มีพรรคการเมืองไทยถึงสี่สิบสามลงแข่งขันในการเลือกตั้ง และในจำนวนนั้น มีเพียง 10 พรรคเท่านั้นที่ยังคงอยู่หลังจากการเลือกตั้ง ต่อมาในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 มีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งถึงกว่าสามสิบพรรค ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว พรรคการเมืองไทยจะแข่งขันในการเลือกตั้งไม่ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นก็ปิดตัวไป ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเกือบครึ่ง (20 พรรค) ลงแข่งขันในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มเททรัพยากรต่างๆในการพัฒนาสาขาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่นในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 พรรคประชาธิปัตย์มีสาขาประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ พรรคใหญ่อื่นๆ เช่น ชาติไทย ซึ่งอยู่มา 30 ปี มี 14 สาขา ขณะที่พรรคไทยรักไทย (2541-2549) มี 10 สาขา
ในช่วงที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลครั้งสุดท้าย (ตั้งแต่ปี 2540-2544) ทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ที่มีความรู้ความสามารถได้ช่วยให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินในเอเชีย ขณะเดียวกัน คนไทยบางคนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะที่เคร่งครัดตายตัวไปเกินไป ทั้งยังมีลักษณะของระบบราชการและมีวิธิคดแบบชนชั้นนำ (elite) ด้วย
สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2530 ถ้าพิจารณาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสี่พรรค พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าค่อนข้างเป็นเสรีนิยม แม้ว่าในปี พ.ศ. 2489 แม้ว่าประชาธิปัตย์ในตอนเริ่มต้นจะอยู่ในฐานะที่เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เป็น monarchist party ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2489 และในปี พ.ศ. 2519 และเป็นผู้นำพรรคตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปี พ.ศ. 2522 (เน้นโดยผู้เขียน และผู้เขียนจะได้กล่าวถึงความหมายของ monarchist และ royalist ต่อไปในภายหลัง)
ในปี พ.ศ. 2517 ประชาธิปัตย์ประสบความแตกแยกครั้งใหญ่และสูญเสียบุคคลสำคัญไปบางส่วน รวมทั้ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ น้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ที่ก่อตั้งพรรคกิจสังคมในปีนั้น
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 ประชาธิปัตย์ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ แต่กลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี พ.ศ. 2526
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรคนี้ต่อต้านการนำทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง และพยายามอย่างแข็งขันที่จะขยายฐานการสนับสนุนในทุกกลุ่มสังคมและภูมิภาคทางภูมิศาสตร์
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 พรรคถูกกดดันจากความขัดแย้งภายใน กลุ่มผู้นำของพรรค พิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้รับการสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งในการประลองกำลังระหว่างกลุ่มก้อนภายในพรรคในเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 หลังจากนั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการแทนวีระ มุสิกพงศ์ ซึ่งวีระได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ นักธุรกิจกรุงเทพผู้มั่งคั่ง
หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ภายใต้การนำของบัญญัติ บรรทัดฐาน และประดิษฐ์ ภัคธราประสิทธิ์ เลขาธิการ ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะยังคงเป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้าน
ประชาธิปัตย์มีรากฐานที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยสมัยใหม่ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) มีสมาชิกลงทะเบียน 3.8 ล้านคน และมีสมาชิกสภา 128 คน มีความเข้มแข็งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคใต้
ในระหว่าง พ.ศ. 2544-2548 ประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลผสมข้างมากที่นำโดยพรรคไทยรักไทยในสภาผู้แทนราษฎรขัดขวางไม่ให้ประชาธิปัตย์สามารถอภิปราย ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีได้โดยตรงและรวมทั้งขัดขวางการเปิดอภิปรายไม่วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาลด้วย
แม้ว่าประชาธิปัตย์จะพยายามหาวิธีการการต่างๆในการรับมือกับทักษิณและพรรคไทยรักไทย แต่ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์จะไม่สามารถทำอะไรได้ และดูเป็นฝ่ายค้านที่ไร้น้ำยา
ในปี พ.ศ. 2546 ประชาธิปัตย์กลับแตกแยกและขยายวงกว้างขึ้น เมื่อ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ขัดแย้งกับชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคในขณะนั้นในประเด็นผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรค ฝ่ายพล.ต. สนั่นชนะ สามารถทำให้บัญญัติ บรรทัดฐาน นักการเมืองภาคใต้ผู้คร่ำหวอดได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ชวนสนับสนุนต้องถอยห่างจากศูนย์กลางอำนาจของพรรค
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 มีรายงานว่า จากการที่พล.ต. สนั่นไม่พอใจที่ไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือบัญญัติได้อย่างที่ต้องการ เขาได้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนออกจากพรรค และก่อตั้งพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นจากพรรคราษฎรเดิมที่ของวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีชื่อฉาวโฉ่ (a notoriously "dirty" politician)
แม้ประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะสามารถยึดที่นั่ง ส.ส. ส่วนใหญ่ในภาคใต้ได้เหมือนเดิม และไม่กี่ที่นั่งในเขตเลือกตั้งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำของบัญญัติ ประชาธิปัตย์ก็ไม่มีโอกาสที่จะขยายฐานหรือเอาชนะพรรคไทยรักไทยในเขตเลือกตั้งทั่วไปได้
โดย GlobalSecurity ได้กล่าวถึงบัญญัติ บรรทัดฐานว่าเป็นผู้นำที่ stodgy and uninspired ! นั่นคือ ทื่อๆ ไม่แหลมคม
(ยังมีต่อ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.เอ้' เรียก 'ทีมกทม. ปชป.' ประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และคณะทำงานพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้
นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489
'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา