ความรู้เกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร

 

การยุบสภาในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๑๕ ครั้ง

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๑ ในสมัยพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ สาเหตุคือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา   “เนื่องจากความขัดแย้งในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๗๗ ข้อ ๖๘ เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพื่อพิจารณารับหลักการขั้นตอนในสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ ๒๑ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งญัตติดังกล่าวนายถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดและคณะเป็นผู้เสนอ....ภายหลังที่รัฐบาลอภิปรายจบลงและที่ประชุมได้ให้มีการลงมติ โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ด้วยคะแนนเสียง ๔๕ ต่อ ๓๑ เป็นเหตุให้รัฐบาลแพ้ในสภา ทําให้นายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการลาออกจากตําแหน่งเพราะทางรัฐบาลไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามความประสงค์ของสภาได้ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้กราบบังคมลาออกจากตําแหน่งต่อคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์  แต่คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่เห็นชอบด้วยโดยให้เหตุผลว่าสภาพการณ์ของโลกขณะนั้นปั่นป่วน คับขัน ประกอบกับคณะรัฐบาลจะต้องเตรียมการรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะเสด็จกลับสู่พระนคร รัฐบาลจึงควรบริหารราชการต่อไปจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑”              

๒. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๘ ในสมัย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๘ สาเหตุคือ สภาผู้แทนยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา   ด้วย “ในระหว่างวาระของสภาชุดนี้ได้มีการออกพระราชบัญญัติขยายอายุสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีก ๒ ครั้งด้วยกัน คือ ๑) พระราชบัญญัติขยายกําหนดเวลาอยู่ในตําแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. ๒๔๘๕ ให้ขยายอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑ และจะครบกําหนดลงใน พ.ศ. ๒๔๘๕ ออกไปอีกไม่เกิน ๒ ปี  ๒) พระราชบัญญัติขยายกําหนดเวลาอยู่ในตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๗ ให้ขยายอายุของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ออกไปอีกไม่เกิน ๒ ปีเช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีแถลงการณ์ประกาศให้ทราบถึงความจําเป็นที่ทําให้รัฐบาลจําต้องขยายกําหนด เวลาทั้งสองครั้งว่าเนื่องมาจากภาวะสงครามซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง”         

๓. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๑๙ ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล   “เนื่องจากการที่รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายพรรค เรียกว่า ‘สหพรรค’ โดยมีพรรคกิจสังคม ซึ่งมีที่นั่งในสภาเพียง ๑๘ เสียง เป็นแกนนําจัดตั้ง รัฐบาลต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนหนึ่งได้กดดันรัฐบาลให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี”   และในการยุบสภาฯครั้งนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนแบบแผนประเพณีการยุบสภาฯจากที่นายกรัฐมนตรีจะต้องหารือกับคณะรัฐมนตรีเสียก่อนมาเป็นการตัดสินใจโดยลำพังนายกรัฐมนตรี      

๔. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๖ ในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ สาเหตุคือ สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ     โดยใน “วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ มีการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ ๗/๒๕๒๖ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยนายปัญจะ เกสรทอง และคณะ ผลปรากฏว่ามีคะแนนเสียงเห็นชอบในวาระที่สามเพียง ๒๕๔ เสียง ซึ่งไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกันทําให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวตกไป  จากนั้นได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะ เป็นผู้เสนอ ปรากฏคะแนนที่ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างรัฐธรรมนูญนี้มีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกันร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงตกไป”

๕. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๙ ในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ สาเหตุคือ รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด    “ในระหว่างการปิดสมัยประชุมรัฐสภา รัฐบาลได้ออกพระราชกําหนดเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งสิ้น ๙ ฉบับ แล้วนําเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต้อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญเป็นวันแรก ประจําปี พ.ศ. ๒๕๒๙.....ภายหลังการพิจารณาพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พ.ศ. ๒๕๒๙ ด้วยคะแนนเสียงอนุมัติ๑๔๓ เสียง ไม่อนุมัติ ๑๔๗ เสียง งดออกเสียง ๕ รัฐบาลจึงประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร” 

๖. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๑ ในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๑ สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล    “เริ่มแรกตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ต้องประสบปัญหาความแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐบาลมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๑๐๐ เสียง โดยแบ่งออกเป็น ๒ ขั้ว คือ ขั้วของนายพิชัย รัตติกุล หัวหน้าพรรค และขั้วของนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์หรือที่เรียกว่า ‘กลุ่ม ๑๐ มกรา’  ซึ่งเป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี การแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง ดังนั้นจึงมีความพยายามประสานประโยชน์ระหว่างฝ่ายนายพิชัย รัตติกุล กับกลุ่ม ๑๐ มกรา ด้วยการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่การต่อรองจัดสรรตําแหน่งรัฐมนตรีกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถหาข้อสรุปได้จึงกลายเป็นปัญหาไม่ลงตัวมาโดยตลอด” 

๗. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ สาเหตุคือ เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง   “ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเน้นย้ำการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาในลักษณะเฉพาะกิจบริหารราชการแผ่นดินในระยะเวลาอันจํากัด เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาคืนอํานาจอธิปไตยให้กับประชาชนต่อไป เมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วจึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”  

๘. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๘ ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล    “เนื่องมาจากการที่พรรคฝ่ายค้านอันประกอบด้วยพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยในฐานะผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ....พรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยมีพลตรีจําลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมของพรรคได้มีมติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคงดออกเสียงและให้รัฐมนตรีลาออก ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป ทั้งนี้พลตรีจําลอง ศรีเมือง ได้ให้เหตุผลว่าเพื่อยึดหลักความชอบธรรมและประโยชน์ต่อส่วนรวมเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตอบคําถามของพรรคฝ่ายค้านได้ชัดเจน ดังนั้นจึงทําให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะมีการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ และประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปใหม่ เนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ มีความแตกแยกจนไม่สามารถจะดําเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ”                                        

๙. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙ ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ สาเหตุคือ ความขัดแย้งภายในรัฐบาล   “เนื่องจากการที่รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมือง หลายพรรค ทําให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล โดยมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีถึง ๕ ครั้งและมีการถอนตัวของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหลายครั้ง ทําให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่มั่นคง อีกทั้งพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนํา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๒๑ – ๒๓ (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ ในการอภิปรายครั้งนี้ได้มุ่งโจมตีนายบรรหาร ศิลปอาชา ในประเด็นของการบริหารประเทศโดยไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทางด้านเศรษฐกิจได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก และประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางด้านสังคม การเมืองและการบริหารได้ประสบความล้มเหลวในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชน ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนที่พึงจะมีในระบอบประชาธิปไตย...วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ก่อนที่จะมีการลงมติในญัตติดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งซึ่งประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคนําไทยและพรรคมวลชน ได้ประชุมสมาชิกพรรคและมีมติให้นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนมีการลงมติเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงมาก หากนายบรรหารไม่ยอมลาออก พรรคความหวังใหม่ พรรคนําไทย และพรรคมวลชน จะขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้ประกาศจุดยืนของตนเองต่อสื่อมวลชนแล้ว จึงมีการประชุมหารือกันของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต่าง ๆ กับนายกรัฐมนตรี  โดยสรุปว่านายบรรหาร ศิลปอาชานายกรัฐมนตรีจะลาออกภายใน ๗ วัน จากนั้นจะพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดํารงตําแหน่งใน       ๖ พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๙ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙ แทน เพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองไปให้กับประชาชนพิจารณาโดยการเลือกตั้งใหม่” 

๑๐. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๓ ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่  ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สาเหตุคือ ปฏิบัติภารกิจตามเป้าหมายเสร็จแล้ว   “ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๓๙ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีและประกาศว่าจะขออยู่ในตําแหน่งเป็นเวลา ๒ ปีเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประกาศใช้ และได้ดําเนินการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญครบถ้วนจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองเต็มรูปแบบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ แต่รัฐบาลก็ต้องประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจนพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากตําแหน่ง หลังจากนั้นนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนให้เข้าดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง.....สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ครบวาระในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่”

๑๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๘ ในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุคือ สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ

๑๒. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ สาเหตุตามที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ประกาศในพระราชกฤษฎีกา คือ “…..รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่าง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้......”    และในงานวิจัยของ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เรื่อง “การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย”  ได้อธิบายถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้ว่า “เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวหาว่า มีการใช้อํานาจเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัวตนเอง แทรกแซงการทํางานขององค์กรอิสระ การขายหุ้นบริษัทให้กับต่างชาติ จึงได้มีการชุมนุมเรียกร้องบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตําแหน่ง นับวันได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าอาจมีการปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการฉวยโอกาสจากผู้ไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมือง อาจลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ แม้รัฐบาลจะได้ดําเนินการขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติในวันแรกที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป  ในวันที่ ๘ – ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

ต่อมาในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ คืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนเพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ทั้งยังกําหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และมีการแถลงการณ์ถึงเหตุผลในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัญหาการเมือง อันอาจนํามาซึ่งวิกฤตการณ์ต่าง ๆ จนการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดําเนินไปได้โดยปกติ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป ความขัดแย้งและปัญหานั้นอาจบานปลายถึงขนาดกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย วิธีการสุดท้ายที่มักนํามาใช้อยู่เสมอก็คือการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอํานาจตัดสินทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นผู้ตัดสิน แม้ว่ารัฐบาลได้เรียกร้องให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาและความคิดที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกดดันรัฐบาลกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันกับกลุ่มดังกล่าว และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันสภาพเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และความสงบเรียบร้อยของสังคม”           

ส่วนในวิกิพีเดียกล่าวถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้สั้นๆ ว่าเกิดจาก “เกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี”     

แต่ในความเป็นจริง จะพบว่ามิได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นแต่อย่างใด  และการขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวนี้ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๒ และ ๒๑๓  ความว่า (๒๑๒)  “ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา ๒๑๑ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหน้าที่ของตนรวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี” และ (๒๑๓) “ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐ สภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติใน ปัญหาที่อภิปรายมิได้”  นั่นคือ  การขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี  ซึ่งถ้าทักษิณต้องการให้มีการเปิดอภิปรายดังกล่าวจริง การอภิปรายดังกล่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับตัดสินใจยุบสภาทั้งๆ ที่ยังมีกลไกตามระบอบรัฐสภาที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๘๕ และ ๑๘๖ ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๕ (คือ ๑๐๐ คน) หากจะอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๕ (๒๐๐ คน) หากจะอภิปรายฯนายกรัฐมนตรี    ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ            

การยุบสภาครั้งดังกล่าวนี้นอกจากจะขัดกับการยุบสภาตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังขัดกับการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของ สหราชอาณาจักรซึ่งเป็นต้นแบบของระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญด้วย

๑๓. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๔ ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  สาเหตุตามคำอธิบายของ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ คือ “จากที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวของพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่เป็นหลัก คือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภา พรรคภูมิใจไทยจึงมีอํานาจต่อรองทางการเมืองมาก สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในการตัดสินใจกับนายกรัฐมนตรีเสมอ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ควบคุมกระทรวงสําคัญที่เป็นกลไกการปกครองประเทศ เช่น กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลจึงไม่มีความมั่นคงทางการเมือง ประกอบกับเกิดปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตในโครงการต่างๆ สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนและมีราคาแพง ปัญหาความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความอ่อนแอในการมีอํานาจในสภาที่สมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุมทําให้สภาล่มบ่อยครั้ง ความขัดแย้งกับกลุ่มการเมือง ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศกัมพูชาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียังไม่พร้อมและมีความชอบธรรมทางการเมืองเพียงพอที่จะดําเนินการ จึงเป็นความพยายามสร้างและแสวงหาความชอบธรรมใหม่ ซึ่งประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก อีกทั้งได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เกิดวิกฤติการณ์ภายในประเทศหลายประการทั้งในด้านผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจถดถอยลง มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และการลงทุนของประเทศชะงักประกอบกับได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ มีการใช้กําลังและความรุนแรงในการชุมนุมประท้วง รัฐบาลได้คลี่คลายปัญหาดังกล่าว จนสามารถฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลําดับอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมก็ได้รับการแก้ไขโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนผ่อนคลายความรุนแรงลงแล้ว ประกอบกับรัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชน และให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดําเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง” 

ส่วนในวิกิพีเดียกล่าวถึงสาเหตุการยุบสภาครั้งนี้ไว้สั้นๆ ว่าเกิดจาก “ วิกฤตการณ์ทางการเมือง”

สำหรับผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุหลักของการยุบสภาครั้งที่ ๑๒ นี้ไม่ได้เกิดจาก “วิกฤตการณ์ทางการเมือง” ตามที่วิกิพีเดียให้เหตุผลไว้ เพราะวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นและยุติลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓  แต่การยุบสภาเกิดขึ้นในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  เป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากวิกฤตการณ์เมืองครั้งนั้น   ผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุสำคัญของการยุบสภาครั้งนี้คือ

(๑) รัฐสภาได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ในมาตราที่เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งและที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการแก้ไขในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑ ) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้ ยกเลิกมาตรา ๙๓ ถึง มาตรา ๙๘ ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งผลให้สภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติใหม่ที่แก้ไขและประกาศใช้ จึงมีเหตุผลอันสมควรที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ อันเป็นระบบการเลือกตั้งที่เป็นไปตามบทบัญญัติที่แก้ไขในรัฐธรรมนูญ                             

(๒) ความขัดแย้งภายในรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล  เพราะแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่มีเสียงข้างน้อย  การถือโอกาสยุบสภาผู้แทนราษฎรหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหวังจะได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้นจึงสมเหตุสมผล

(๓) พรรคประชาธิปัตย์คาดหวังว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลคาดการณ์ว่าการยุบสภาครั้งนี้จะส่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบในการเลือกตั้งมีสองประการสำคัญคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมือง  โดยหลักฐานการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากภาวะวิกฤตและกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นคือ  “ดัชนีเศรษฐกิจไทยในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สูงสุดที่ระดับ ๑,๑๔๕.๘๒ จุดในวันที่ ๑สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นการทำลายสถิติดัชนีสูงสุด ๑๕ ปี ๓ เดือนเมื่อวันที่  ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔  ซึ่งปิดที่ ๑,๑๒๑.๐๔ จุดภายหลังดัชนีเศรษฐกิจไทยได้ขึ้นไปสู่ระดับ ๑,๑๐๗.๓๖  ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สูงสุดในรอบ ๑๕ ปี ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกใน พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยล่วงลงต่ำสุดในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ ระดับ ๓๘๗.๔๓ จุด ต่ำสุดในรอบ ๕ ปี ๕ เดือนโดยวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖  ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ ๓๘๗.๓๗ จุด ในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีโดยดัชนีเศรษฐกิจไทยจุดต่ำสุดของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสูงกว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ๐.๐๖ จุดหรือ ๐.๐๑๕  เปอร์เซ็นต์  ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.  ๒๕๕๔  ดัชนีเศรษฐกิจไทย ปิดตลาดที่ ๑๐๕๐.๘๕  ต่ำสุดในรอบ ๑ เดือน ลดลงถึง -๒๓.๐๒ จุดหรือ ๒.๑๔ เปอร์เซ็นต์  ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดภายในภูมิเอเชียและภูมิภาคโอเชียเนีย”

๑๔. การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ ในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖  ในประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ มีใจความว่า “โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูล ฯ ว่า ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเท่าเทียมกันของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลได้ดําเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเพิ่มกําลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็ง อย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศรัฐบาลได้ให้ความสําคัญในการปฏิรูปการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่เนื่องจากปัจจุบันได้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามคลี่คลายปัญหาด้วยสันติวิธีและดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจยุติปัญหาดังกล่าวได้    จึงเห็นสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศและให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดําเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง”

๑๕. การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ในประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖ มีสาระสำคัญคือ “…ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่ อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกต้ังทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็ว เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง”  

ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเงื่อนไขการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามเงื่อนไขต่างๆดังต่อไปนี้ คือ

๑. เกิดสภาวะที่เรียกว่า hung parliament นั่นคือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อ่อนแอ จึงตัดสินใจให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และผลการเลือกตั้งทำให้มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในที่สุด โดย hung parliament ถือเป็นปัญหาของประเทศที่มีการเมืองภายใต้ระบบสองพรรคใหญ่ ส่วนประเทศที่ไม่มีระบบสองพรรคใหญ่ แต่มีพรรคการเมืองต่างๆมากมาย สภาวะ hung parliament หลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติมากกว่าจะเป็นปัญหา เพียงแต่จะเกิดปัญหาในการใช้เวลาอันยาวนานในการจับขั้วระหว่างพรรคจำนวนมากเพื่อให้ได้เสียงรวมแล้วเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ประเทศเบลเยี่ยม มีพรรคการเมืองจำนวนมากและเคยใช้เวลาในการเจรจาจับขั้วทางการเมืองกว่าหนึ่งปีถึงจะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นได้  เนเธอร์แลนด์ก็มีปัญหานี้เช่นกัน

๑. พรรคฝ่ายรัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาจากการลงมติต่อร่างกฎหมายที่สำคัญ 

๒. มีการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจการบริหารงานของรัฐบาล               

๓. ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสองสภา-เช่น ระหว่างสภาผู้แทนกับวุฒิสภา---ในระบบสองสภา

๔. ในกรณีที่รัฐบาลหวังจะทำให้สถานะของตนเข้มแข็งขึ้นโดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าพอใจกับผลงานที่ผ่านมาหรือนโยบายที่จะนำเสนอขึ้นใหม่                       

๕. สภาใกล้หมดวาระ การยุบสภาสามารถเกิดขึ้นได้นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปีสุดท้ายที่สภาจะหมดวาระ 

แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔  สหราชอาณาจักรได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาโดยประกาศใช้พระราชบัญญัติที่มีชื่อว่า  the Fixed Term Parliament พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนสภาจะครบวาระ   จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนถึงสองในสาม หากไม่ได้รับเสียงสองในสามของสภาฯ ใน Section 3(1) ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันพฤหัสบดีแรกในเดือนพฤษภาคมของปีที่ ๕ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้าย 

ซึ่งการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีการยุบสภาครั้งสำคัญของสหราชอาณาจักร ที่กล่าวได้ว่า เป็นการเปลี่ยนอำนาจตัดสินใจยุบสภาจากนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนๆเดียว (the One) มาเป็นการตัดสินของสภา (คณะบุคคลจำนวนสองในสามของสภา) แต่สิทธิ์ในริเริ่มการยุบสภาและถวายคำแนะนำในการยุบสภายังอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีตามเดิม

(ผู้สนใจศึกษาเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรในรายละเอียด สามารถดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์) สถาบันพระปกเกล้า)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา

'วันนอร์' ชี้นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร บทลงโทษไม่ควรรุนแรงถึงขั้นตัดสิทธิ-ยุบพรรค 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ สส. ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย

'ชูศักดิ์' ดักคอฝ่ายค้านยื่นซักฟอก บอกปม 'ชั้น14-MOU44' คุยนานแล้วไม่มีน้ำหนัก

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบมีการลงมติตามมาตรา 151 ในสมัยประชุมนี้ว่า ถือเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน แต่ตนคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นขึ้นอยู่กับประเด็น

เชือดนิ่มแต่เจ็บจี๊ด! 'นิพิฏฐ์' ตอกกลับ 'เด็จพี่-พายัพ' ตำหนิ 'ชวน หลีกภัย'

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สันดานเดียวกัน คบกันได้ ผมอ่านข่าว นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และ นายพายัพ ปั้นเกตุ ออกมาวิจารณ์ท่านชวน