ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๕): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล 

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้นำเสนอพระราชบันทึกข้อ ๑  ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,  “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑”,  “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑” ที่รัฐบาลได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบ,  “พระราชบันทึก ข้อ ๒” (ที่ทรงตอบกลับ), “สนองพระราชบันทึก” หรือข้อโต้แย้งของฝ่ายรัฐบาลที่มีต่อ “พระราชบันทึก ข้อ ๒”,  “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒”, “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒”  (รัฐบาลตอบ), สนองพระราชบันทึก (ข้อ ๒),   พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๒, สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความในข้อที่ ๒ (รัฐบาลตอบ), “พระราชบันทึก ข้อ ๓” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบรัฐบาล, และ “สนองพระราชบันทึก” (รัฐบาลตอบ พระราชบันทึก ข้อ ๓),  “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๓” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบรัฐบาล และ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๓”  และ “พระราชบันทึกข้อ ๔”

ในตอนนี้จะได้นำเสนอ “พระราชบันทึกข้อ ๔”, “สนองพระราชบันทึกฯ”, พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๔, พระราชบันทึกข้อ ๕,                             

พระราชบันทึกข้อ ๔         

“ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัตินี้มีวิธีการที่ขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของประชาชน เช่น บุคคลอาจถูกจับกุม เพราะมีข้อหาว่าคิดจะทำลายรัฐธรรมนูญ แล้วถูกนำตัวขึ้นให้คณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาลพิจารณา และกรรมการนั้นอาจสั่งให้เนรเทศบุคคลเหล่านั้นไปอยู่ที่อันมีเขตจำกัด การกระทำเช่นนี้เป็นการตัดสิทธิของพลเมืองในการที่จะต่อสู้ข้อหาของเจ้าหน้าที่ ถ้ามีเหตุที่จะต้องชำระ ควรชำระโดยเปิดเผยในศาลหลวง ให้โอกาสให้จำเลยมีทนายว่าความและต่อสู้ความได้เต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบ ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลอาจขาดความยุติธรรมเป็นการกดขี่อย่างร้ายแรง         

ข้อความต่างๆที่มีอยู่ในพระราชบัญญัตินี้คงจะใช้ต่อไปก็ได้ แต่ควรออกเป็นพระราชบัญญัติเพิ่มเติมแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา และคงจะใช้วิธีลงโทษให้ไปอยู่ในเขตพื้นที่จำกัดก็ได้ แต่การพิจารณาคดีขอให้เป็นไปในศาลหลวงเหมือนคดีชนิดอื่นๆ”

------------

สนองพระราชบันทึก (รัฐบาลตอบ พระราชบันทึกข้อ ๔)

“การที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่า วิธีการตามพระราชบัญญัตินั้นเป็นวิธีที่เบาที่สุด มิฉะนั้นก็จะต้องตั้งศาลพิเศษ และศาลทหารกันขึ้น เสมอเหมือนดั่งในต่างประเทศ วิธีการตามพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญนี้เป้นวิธีป้องกันไว้ก่อนแก้ เพราะถ้าจะรอให้มีการแก้ คือเมื่อมีกบฏขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เสียชีวิตของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไปโดยใช่เหตุ  อนึ่ง พระราชบัญญัตินี้เป็นที่พอใจของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำลายรัฐธรรมนูญ  กล่าวคือ มีจำเลยบางคนที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ได้ขอร้องให้พิจารณาตามวิธีการของพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ ดั่งนี้เป็นต้น”

---------------

พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๔             

“วิธีการอันดีเยี่ยมในอันที่จะป้องกันมิให้เกิดการกบฏขึ้นได้นั้น ก็โดยดำเนินการปกครองอย่างดีและโดยกำจัดข้อไม่พอใจต่างๆเสีย  มิใช่โดยวิธีปราบปราม กฎหมายใหม่นี้ไม่ให้ความยุติธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลซึ่งจะต้องจัดการไป อันที่จริง ไม่จำเป็นเลยที่จะหันเข้าใช้ศาลพิเศษทุกรายไป  ความจริง ศาลชนิดนี้ไม่ควรที่จะตั้งขึ้นเลย นอกจากในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ       

ข้าพเจ้าไม่รังเกียจหลักการแห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ข้าพเจ้ารังเกียจวิธีพิจารณาคดีโดยคณะกรรมการ”

--------------

สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๔ (รัฐบาลตอบพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๔)     

“การพิจารณาโดยคณะกรรมการนั้น ได้พิจารณาตามทำนองลูกขุน   

คือถือความบริสุทธิ์ใจเป็นใหญ่ มิใช่ในถ้อยคำสำนวน เพราะเป็นที่ทราบอยู่ว่า ผู้ที่คิดก่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญนั้นย่อมจะทำลายหลักฐานที่เป็นเอกสาร เพื่อความสงบเรียบร้อย จึงควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ นอกจากนั้น กรรมการ ก็ต้องตั้งจากผู้พิพากษาทั้งนั้น”

-----------------

พระราชบันทึกข้อ ๕

“ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความสงบราบคาบในบ้านเมืองจะมีมากขึ้น ถ้าหากได้มีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองที่ต้องถูกกักขังจำจอง หรือถูกลงโทษด้วยวิธีอื่นๆอยู่ในเวลานี้ ถ้ายังไม่ปล่อยนักโทษการเมืองกันเสียบ้าง คงจะมีผู้ที่คิดจะยึดอำนาจเพื่อให้พวกนักโทษเหล่านั้นได้พ้นจากทุกข์เวทนา ยิ่งทิ้งนานไป ก็จะต้องจับขังกันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้น ขอให้มีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองดั่งต่อไปนี้                           

ก. นักโทษประหารชีวิต ให้เปลี่ยนโทษเป็นเนรเทศไปอยู่ในที่จำกัด ตามแต่จะกำหนดให้เป็นเวลา ๑๐ ปี (เอาบุตรภรรยาไปอยู่ด้วยได้)         

ข. นักโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้ลดโทษเป็นอย่างเดียวกับข้างบนนี้ แต่ให้มีกำหนดเพียง ๕ ปี     

ทั้ง ๒ ประเภทนี้ ถ้าผู้ใดเจ็บป่วยและนายแพทย์อันมีชื่อเสียงแนะนำให้รักษาตัว ณ ที่ใดๆแล้ว ขอให้ผ่อนผันให้รักษาตัวได้ตามคำแนะนำของนายแพทย์ 

ค. นักโทษอื่นๆ ที่มีโทษต่ำกว่าที่กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าประเภทใด และไม่ว่าจะถูกจับกุมไปในคราวใด ถ้าเนื่องจากโทษการเมือง ให้พ้นโทษไปทั้งสิ้น”                                

---------------

สนองพระราชบันทึก                     

“๕. ในเรื่องลดโทษให้ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาในเรื่องกบฏนั้น รัฐบาลได้ดำริไว้แล้วว่า เมื่อศาลพิเศษได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นทุกสำนวนแล้ว ก็จะได้พิจารณาเทียบกับตัวอย่างที่เคยมาแล้ว และพิจารณาถึงความผิดมากและน้อย และความเสียหายซึ่งบุตรภรรยาของผู้ที่ต้องเสียชีวิตไปในการปราบกบฏนั้นด้วย เพื่อแสดงให้เห็นเจตนาดี รัฐบาลขออ้างว่า ในชั้นหลังนี้ แม้ศาลพิเศษจะได้ตัดสินแล้วก็ดี รัฐบาลก็ได้สั่งให้งดการถอดบรรดาศักดิ์ไว้ก่อน เพราะจะพิจารณาถึงการลดโทษพร้อมๆกันกับสำนวนอื่นๆ ซึ่งศาลพิเศษได้ตัดสินแล้ว (คำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ จำเลยมีจำนวน ๓๗ คน)”

---------------

พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๕                   

“ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วยการยกโทษอย่างครึ่งๆกลางๆ การยกโทษนั้นจะไม่มีผลดีประการใด นอกจากจะยกโทษอย่างเต็มที่ ข้าพเจ้าขอยืนยันความเห็นอันนี้ของข้าพเจ้า”

------------------

สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๕     

“ข้อนี้จะไม่ขอเพิ่มเติมประการใด สุดแท้แต่สมาชขิกสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”

--------------

(โปรดติดตาม บทโต้ตอบระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกับรัฐบาล ในตอนต่อไป)               

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร