ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน: เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 (ตอนที่ 1: มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ โดย Joshua Kurlantzick)

 

“อดีตกำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดอนาคต

ใครกำหนดปัจจุบัน กำหนดอดีตและอนาคต”                                                

จาก “1984” ของจอร์จ ออร์เวล

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่  ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก มีฉายาต่างๆนานามาตลอดประวัติศาสตร์ของตัวเอง  ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการทหาร, พรรคที่มี ส.ส. หัวเอียงซ้ายและพรรคที่มี ส.ส. หัวเอียงขวา (ช่วง 6 ตุลาฯ 2519) ,  สนับสนุนรัฐประหาร, โหนรัฐประหาร, ได้ดีเพราะรัฐประหาร, โหนเจ้า, ไม่ยอมเจ้า, อนุรักษ์นิยม, กษัตริย์นิยม                                      

เท่าที่ได้ยินมาก็มีแค่นี้ หากใครได้ยินอะไรมามากกว่านี้ ก็ช่วยบอกกันหน่อย     

น่าสนใจว่า ถ้าจะมีนักวิชาการในอนาคตเขียนประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันนี้ จะเขียนอย่างไร ?   

และคนประชาธิปัตย์ในอนาคต (ถ้ายังจะมีอยู่ ?!) จะรู้จักประวัติพรรคของตัวเองพอที่จะประเมินตัดสินประวัติศาสตร์พรรคของตนที่นักวิชาการเขียนขึ้นได้หรือไม่ และแค่ไหน ?                       

ก่อนอื่นคงต้องถามว่า มีคนประชาธิปัตย์กี่คนที่จะสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของพรรคที่นักวิชาการเขียนขึ้นหรือไม่ ?  และที่สำคัญกว่าก็คือ เมื่ออ่านแล้ว จะมีกี่คนที่สนใจที่จะยอมรับหรือโต้แย้งประวัติศาสตร์พรรคที่ตรงหรือไม่ตรงกับการรับรู้ของตนแค่ไหน ?             

การอ่านแล้วจะตัดสินได้ ย่อมต้องรู้จักความเป็นมาของพรรคของตน เพราะถ้าไม่รู้ จะไปตัดสินได้อย่างไร ?

มีคนประชาธิปัตย์สักกี่คนจะรู้จักความเป็นมาของพรรคของตนจริงๆ     

ไปๆมาๆ สมัยนี้คนประชาธิปัตย์บางคนอาจจะรู้จักพรรคของตนผ่านวิกิพีเดียหรืออ่านประวัติศาสตร์พรรคที่นักวิชาการเขียนขึ้น

วิกิพีเดียเล่าประวัติศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ โดยขึ้นต้นไว้ว่า                           

“พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม”                         

ตัวผมในฐานะที่อายุ 63 ปีและสนใจการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ไม่เคยได้ยินว่าพรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม  การที่ผมไม่เคยได้ยิน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่จริง เพราะการไม่ได้ยินของผมก็อาจจะแปลความได้ว่า ผมไม่รู้ประวัติของพรรคในขณะที่ก่อตั้งขึ้น       

ส่วนที่ว่าปัจจุบันประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้น ขึ้นอยู่ว่าจะเปรียบเทียบในประเด็นอะไร ซึ่งในบางประเด็น ก็เป็นไปได้ที่ประชาธิปัตย์จะถูกมองว่าอนุรักษ์ ถ้าเทียบกับพรรคการเมืองบางพรรค

อย่างไรก็ดี ข้อความข้างต้นในวิกิพีเดีย ได้มีอ้างอิงหรือที่เรียกในทางวิชาการว่า “เชิงอรรถ” หรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่เขียนขึ้น

เราลองมาดูว่า ข้อความที่ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” มาจากแหล่งข้อมูลอะไร ?         

เมื่อสำรวจแล้ว พบว่ามีเชิงอรรถหลังข้อความนี้ถึง 4 เชิงอรรถ การใช้เชิงอรรถถึง 4 เชิงอรรถเพื่อสนับสนุนข้อความ “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ยาวเลย แปลว่า ข้อความที่ว่านี้ มีแหล่งข้อมูลสนับสนุนถึงสี่แหล่ง

การใช้เชิงอรรถถึง 4 เชิงอรรถ ต้องการสื่อว่า ข้อความนี้น่าเชื่อถือมากกว่ามีเชิงอรรถเพียง 1 เชิงอรรถ หรือเชิงอรรถอันเดียวอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งกษัตริย์นิยมและอนุรักษ์นิยม     

เราลองมาดูกันว่า เชิงอรรถทั้ง 4 นี้มีอะไรบ้าง ?

ก.  "Demise of the Democrat Party in Thailand".                                         

ข.  "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Of the four ruling coalition parties in 1987, the Democrat Party was considered to be somewhat liberal, despite its beginning in 1946 as a conservative, monarchist party.            

ค. "Thailand's main political parties". Al Jazeera. 3 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Prime Minister Abhisit Vejjajiva's ruling Democrat Party was founded in 1946. It is conservative, pro-monarchy and establishment, backed by the military and most of the Bangkok-based elite.     

ง. Bunbongkarn, Suchit (1999), "Thailand: Democracy Under Siege", Driven by Growth: Political Change in the Asia-Pacific Region, M.E. Sharpe, p. 173, ISBN 9780765633446

แต่ละรายการ ใครเขียน ? และเขียนจากแหล่งข้อมูลอะไร ?                           

เริ่มจาก "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) เป็นข้อเขียนของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) เป็นบทความความยาวขนาด 45 บรรทัด เผยแพร่ในบล๊อกโพสต์ (blogpost) ทางอินเตอร์เนทวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (December 9, 2013 12:47 pm) (https://www.cfr.org/blog/demise-democrat-party-thailand)  ในเพจของ Council on Foreign Relations

ก่อนที่จะอธิบายประวัติตัวผู้เขียนและ Council on Foreign Relations  เรามาดูว่า คุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้เขียนการมรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ไว้อย่างไร และทำไมถึงถูกนำมาใช้อ้างว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม”                    

“มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์” โดย โจชัว เคอร์แลนต์ซิค

“เมื่อผมย้ายมาประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 ขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดและมีบทบาทในการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง  กำลังเป็นรัฐบาลและกำลังนำประเทศผ่านการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ที่มีสาเหตุมาจากการลดค่าเงินบาท ที่เป็นผลพวงจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อนหน้าที่ประชาธิปัตย์จะเข้ามาเป็นรัฐบาล แม้ว่าการปฏิรูปบางอย่างไม่ได้ที่เป็นยอมรับโดยทั่วไป (unpopular) และประเทศต้องบอบช้ำรุนแรงากค่าเงินบาทตก สถาบันการเงินจำนวนมากต้องปิดตัวลง และการก่อสร้างต้องหยุดชะงัก แต่ผมยกย่องผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น (เคอร์แลนต์ซิคใช้คำว่า leaders ย่อมหมายถึงคนระดับผู้นำหลายคนของพรรคประชาธิปัตย์) อย่างนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย สำหรับความมุ่งมั่นของบรรดาผู้นำประชาธิปัตย์ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง  ผมยกย่องผู้นำประชาธิปัตย์อีกหลายคนที่ต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นหมุดหมายที่วางรากฐานสิทธิต่างๆมากมาย

เพื่อนของผมหลายคนตอนนั้น---สื่อ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย และอื่นๆที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2517----สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และเห็นว่าเป็นพรรคที่ใสสะอาดที่สุดและมีหลักการที่สุด (most coherent) ในประเทศ  กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนักการเมืองหลายคนที่ไม่ได้มุ่งทำอะไรให้พรรคเท่ากับเพื่อตัวเองและพวกพ้อง  รวมทั้งการซื้อเสียง พลังอำนาจมืด (dark forces) ที่ขับเคลื่อนภายในพรรค---สนั่น ขจรประศาสน์เป็นผู้ที่บริหาจัดการวิธีการได้มาซึ่งคะแนนเสียงและการเล่นการเมืองในสภา ขณะนั้น เขาเป็นเจ้าพ่อทางการเมืองอันดับหนึ่ง (the ultimate Thai political godfather) แต่ ชวน ได้รับการยอมรับว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ใสสะอาด (personally clean) และประชาธิปัตย์มีนักการเมืองและที่ปรึกษารุ่นใหม่ที่ดูจะยึดมั่นในเสรีประชาธิปไตยและไม่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัว                       

หลังจากนั้นมา การยึดมั่นในประชาธิปไตย ในนิติธรรม (the rule of law) และในอนาคตของประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ได้พังทลายลง แต่ก็ยังคงมีนักการเมืองที่มีคุณภาพอยู่จำนวนหนึ่ง (some quality politicians) อย่างเช่น ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สุขุมพันธุ์ บริพัตร แต่เมื่อชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น (the Thai rural working and middle class has become empowered) คนประชาธิปัตย์ (the Democrats) ก็เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความคิดแบบชนชั้นนำไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไปมากขึ้น (elitist)  และเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยมากขึ้น  วิธีการดังกล่าวนี้ไม่ช่วยให้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง (elections หลายครั้ง) อีกทั้งพวกเขาก็ไม่มีจุดยืนทางนโยบายที่มีหลักการสอดคล้อง----ในขณะที่พวกเขาประณามนโยบายประชานิยมต่างๆของพรรคไทยรักไทย/เพื่อไทย แต่ในตอนรณรงค์เลือกตั้งในปี พ.ศ. 2554 คนประชาธิปัตย์ก็กลับลอกนโยบายประชานิยมเหล่านั้นอย่างเห็นได้ชัด           

ตอนนี้ (ในขณะที่เคอร์แลนต์ซิคเผยแพร่บทความนี้ คือ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หนึ่งวันหลังจาก ส.ส. ประชาธิปัตย์ทุกคนประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. และต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ/ผู้เขียน) แทนที่จะพยายามที่จะต่อสู้ให้ได้อำนาจมาโดยผ่านการเลือกตั้ง พวกเขาพากันยกทีมลาออกจากการ ส.ส. และไปลงถนนร่วมการประท้วงที่วางแผนนำไปสู่สภาวะอนาธิปไตย (anarchy) และล้มรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ได้มาถึงจุดตกต่ำอีกครั้ง (new lows) (โทมัส ฟูลเลอร์/Thomas Fuller ได้เขียนบทสรุปสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดีมาก)  ขณะนี้ หลักๆ พรรคประชาธิปัตย์ดูจะดำรงอยู่เพื่อต่อต้านสถาบันประชาธิปไตยและทำลายวัฒนธรรมประชาธิปไตย นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าเศร้าในสิบห้าปี (สิบห้าปี นับตั้งแต่ที่เคอร์แลนต์ซิคย้ายมาเมืองไทย พ.ศ. 2541/ผู้เขียน)”                                 

บทความของคุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิค ไม่ได้กล่าวถึงการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ใช่แหล่งอ้างอิงที่สนับสนุนว่าประชาธิปัตย์ “…ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม”  แต่ในบทความของเขาได้กล่าวว่า “…แต่ตั้งแต่ชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น (the Thai rural working and middle class has become empowered) คนประชาธิปัตย์ (the Democrats) ก็เป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น”  ดังนั้น แหล่งที่มาของการเป็นอนุรักษ์นิยมของประชาธิปัตย์ในวิกิพีเดียจึงน่าจะมาจากบทความนี้

บทความ "Demise of the Democrat Party in Thailand" (การตายของพรรคประชาธิปัตย์) ของคุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิคเป็นบทความที่ไม่มีอ้างอิงใดๆ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะบทความในลักษณะของบทความหนังสือพิมพ์ไม่จำเป็นต้องมีอ้างอิงใดๆอยู่แล้ว โดยทั่วไปบทความหนังสือพิมพ์เขียนขี้นจากประสบการณ์ ความทรงจำและความรู้เข้าใจของผู้เขียน ความสำคัญจะอยู่ที่ความน่าเชื่อถือของผู้เขียนและต้นสังกัด  และในตอนหน้าจะได้กล่าวถึงสถานะความน่าเชื่อถือของคุณโจชัว เคอร์แลนต์ซิคและสถาบัน Council on Foreign Relations      

                                                                        

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘อภิสิทธิ์’ ปัดข่าวลือซุ่มตั้งพรรคใหม่ ย้ำหาก ‘ปชป.’ ยังเป็นแบบนี้ ไม่มีทางคัมแบ็ก

ขณะนี้ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด  ที่ก็ไม่แปลกเพราะขณะนี้หาพรรคการเมืองที่เราคิดว่าเราสนิทใจในการที่จะเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้อยู่แล้ว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร