ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘ ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗ เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล
ในพระราชบันทึกข้อ ๑ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีข้อความดังต่อไปนี้:
“ก่อนอื่นหมด ข้าพเจ้าขอชี้แจงไว้เสียโดยชัดเจนว่า เมื่อพระยาพหลฯและคณะผู้ก่อการร้องขอให้ข้าพเจ้าคงอยู่ครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ (ดังความใน “คำกราบบังคมทูลของคณะราษฎร ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ – เปลี่ยนแปลงการปกครอง/ผู้เขียน) ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้าได้ยินดีรับรอง ก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นว่า คณะผู้ก่อการต้องการจะสถาปนาการปกครองแบบ ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘Democratic Government’ ตามแบบอย่างของประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นซึ่งมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้อำนาจอันจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ และมีรัฐสภา ซึ่งเป็นประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งโดยแท้ ข้าพเจ้าเองได้เล็งเห็นอยู่นานแล้วว่า เมื่อประเทศสยามได้มีการศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ประชาชนคงจะประสงค์ที่จะให้เปลี่ยนการปกครองของบ้านเมืองเป็นแบบนี้ และตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับสืบราชสมบัติจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ข้าพเจ้าก็ได้คิดการที่จะบันดาลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และได้กล่าวถึงความประสงค์นั้นโดยเปิดเผยหลายครั้งหลายหน โดยเหตุนี้เมื่อคณะผู้ก่อการร้องขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงรับรองได้ทันทีโดยไม่มีเหตุข้องใจอย่างใดเลย
ครั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯแล้ว และได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งคณะราษฎรนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕) ที่หลวงประดิษฐ์ฯได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์ที่จะให้มีเสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์ หากแต่ต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียว ข้าพเจ้าเห็นว่าเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน [1] และสมควรจะพยายามรักษาความสงบไว้ก่อน เพื่อหาโอกาสผ่อนผันภายหลัง และเพื่อมีเวลาสำเหนียกฟังความเห็นของประชาชนก่อน ข้าพเจ้าจึงได้ยอมผ่อนผันไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการในครั้งนั้น ทั้งที่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการเหล่านั้นเลย
ครั้นต่อมา ในระหว่างที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่ ข้าพเจ้าก็ได้พยายามตักเตือน และโต้เถียงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลาว่า ควรถือหลัก ‘Democracy’ อันแท้จริงจึงจะถูก ถ้ามิฉะนั้นจะเกิดทำให้มีความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน ซึ่งส่วนมากต้องการให้มีการปกครองแบบ ‘Democracy’ อันแท้จริง มิฉะนั้นก็เป็นการเสียเวลาและเป็นการเสี่ยงภัยให้แก่ประเทศโดยใช่ที่ ในเวลาที่ฐานะของบ้านเมืองตกอยู่ขีดคับขันและยากจน นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้กล่าวความเห็นของข้าพเจ้าในข้อนี้โดยเปิดเผย เมื่อข้าพเจ้าไปให้รางวัลแก่นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้เคยตักเตือนพระยามโนฯไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้เสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การที่จะให้มีสมาชิกประเภทที่ ๒ (สมาชิสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒/ผู้เขียน) ซึ่งคณะรัฐบาลเป็นผู้เลือกตั้งเองนั้น จะเป็นเหตุทำความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้ และเป็นอันตรายแก่วิธีการปกครองแบบใหม่ซึ่งกำลังจะสถาปนาขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นการถาวรและจะนำความสุขความเจริญมาสู่บ้านเมืองของเรา คำตักเตือนของข้าพเจ้าเหล่านี้ไร้ผล เพราะคณะผู้ก่อการยืนยันในความประสงค์ที่จะยึดอำนาจไว้ในมือของคณะของตนให้จงได้ อย่างน้อยเป็นเวลา ๑๐ ปี [2] ข้าพเจ้ารู้สึกในขณะนั้นว่า ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็จะชักช้าไม่รู้จักแล้ว และอาจะเป็นการแตกหักร้ายแรงเสียกว่าที่จะยอมรับให้การได้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะผู้ก่อการ จึ่งยอมให้เป็นไปตามนั้น ต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ยินคำติเตียนหลักการอันนั้นในรัฐธรรมนูญมากขึ้นทุกที และหลักการอันนี้เป็นเหตุให้มีคนไม่พอใจในคณะรัฐบาลเป็นอันมาก จนมีการเริ่มคิดที่จะล้มรัฐบาลเสียโดยพลการ เพี่อแก้ไขหลักการข้อนี้ตั้งแต่ ก่อน กระทำพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และ ยังมีอยู่เนืองๆ ในกาลต่อมา การที่พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม หาพวกพ้องได้มากมายจนถึงกับได้ยกกองทหารมาประชิดพระนคร ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย ก็ได้หยิบยกเอาการตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ขึ้นอ้างเป็นข้อสำคัญข้อหนึ่ง ที่เห็นควรทำลายรัฐบาลเสียโดยกำลังและโดยผิดกฎหมาย เพราะไม่มีทางอื่นที่จะทำได้ ความวิตกของข้าพเจ้าในเรื่องการตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ได้เป็นจริงอย่างชัดเจนแล้ว ไม่มีทางสงสัยอีกได้ว่าเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มีการระส่ำระสายขึ้นในบ้านเมืองและคงมีอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าตราบใดยังมิได้แก้หลักการอันไม่พึงประสงค์นี้เลย ความสงบราบคาบอันแท้จริงจะมีไม่ได้เลย รัฐบาลจะต้องใช้วิธีการประหัตประหารและปราบปรามอย่างเข้มแข็งอยู่เรื่อยไป เป็นที่หวาดเสียวแก่ประชาชน ทำให้รู้สึกว่าการปกครองของบ้านเมืองไม่มีความมั่นคง ผลของการระส่ำระสายและหวาดกลัวเหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่การค้าขายและความเจริญ ข้าพเจ้าได้คัดค้านหลักการอันนี้ตลอดมา และบัดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกแน่ชัดแก่ใจว่า ไม่ควรจะสนับสนุนให้หลักการอันนั้นคงเป็นอยู่ตลอดไป จำต้องขอให้ เปลี่ยนแปลงแก้ไข หลักการอันนี้
วิธีการที่จะแก้ไขอย่างไรนั้นย่อมมีได้หลายทาง แต่ทางที่ดีที่สุดนั้น ก็ควรจะให้เป็นการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ความประสงค์ที่ให้มีสมาชิกประเภทที่ ๒ นั้น ข้าพเจ้าได้ยินกล่าวกันว่า เพราะประเทศเรายังไม่คุ้นเคยกับการปรึกษาราชการในสภาฯ จึงควรให้มีสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งเลือกตั้งโดยคุณวุฒิที่เป็นผู้มีวิชาสูง หรือเคยชินกับการงานแผ่นดิน เพื่อเป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ ๑ ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา [3] หลักการอันนี้ก็พอฟังได้ถ้าได้ทำกันตามนั้นจริง แต่เมื่อได้ตั้งกันขึ้นแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นเลือกตั้งแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และความจริงหาได้มีคุณวุฒิหรือความเคยชินกับการงานดีไปกว่าสมาชิกประเภทที่ ๑ เลย เมื่อการเป็นดั่งนี้ก็จำเป็นอยู่เองทีจะมีผู้กล่าวว่า คณะรัฐบาลเลือกตั้งคนเหล่านั้นเพื่อความประสงค์ที่จะคุมอำนาจไว้ให้ได้เท่านั้น แม้ราษฎรจะเห็นด้วยกับนโยบายของตนหรือไม่ก็ตามที ข้อความในมาตรา ๒ แห่งรัฐธรรมนูญ [4] ก็เป็นหมันไปทันที เป็นการเขียนตบตาเพื่อหลอกกันเล่นเท่านั้นเอง
ข้าพเจ้าเห็นว่า สมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ ยังควรมีอยู่จริง แต่ควรกำหนดให้เป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ และเป็นผู้ที่เคยชินกับการงานมาแล้ว เช่น รับราชการในตำแหน่งสูงๆ เป็นต้น การเลือกตั้งนั้น ถ้าอย่าให้บุคคลใดคนหนึ่งเลือกได้จะดี เพราะจะป้องกันไม่ให้มีเสียงได้ว่า เลือกพวกพ้อง เพราะฉะนั้น จำต้องให้ประชาชนเลือก หรือให้บุคคลซึ่งเรียกว่ามีความรู้ ‘intelligentsia’ เลือก โดยกำหนดเอาการศึกษาหรือถ้าจะให้ง่ายที่สุดก็ให้บุคคลที่เป็นข้าราชการ หรือเคยเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรเป็นผู้เลือก เพราะบุคคลที่ได้เป็นข้าราชการสัญญาบัตรโดยมากเป็นผู้ที่มีความรู้และเคยชินกับการงาน จะเรียกว่าเป็น ‘intelligentsia’ ของประเทศสยามก็เห็นจะไม่สู้ผิดนัก ข้าพเจ้าเห็นว่าหนทางนี้เป็นทางตัดข้อครหา และความไม่พอใจได้ แต่วิธีการจะเป็นอย่างอื่นใดก็ตาม แล้วแต่ใครจะมีปัญญาหาทาง ถ้ามีทางดีกว่านี้ข้าพเจ้าก็จะยินดีรับขอแต่ให้พ้นไปจากคำติเตียนที่ว่า เป็นการ ‘ตั้งพวก’ [5] เพื่อยึดอำนาจไว้ในจนได้ เป็นการผิดหลักผิดทางของลัทธิ ‘Democracy’ โดยแท้
การเปลี่ยนแปลงอันนี้อาจมีการเกี่ยงว่า ‘รอเอาไว้จนหมดชีวิตของสภานี้เสียก่อนเถิด จะได้เปลี่ยนพร้อมๆกับสมาชิกประเภทที่ ๑’ ข้าพเจ้าเกรงว่า ถ้ารอไปก็ไม่ได้แก้ไขและจะต้องรอไปอีกเกือบ ๓ ปี ความไม่พอใจของคนก็ไม่หมดสิ้นคงคุกรุ่นอยู่เรื่อย และเมื่อครบกำหนดก็อาจมีการผิดเพี้ยนกันไปอีกเรื่อยๆถ้าเห็นว่า สมควรเปลี่ยนเพราะเหตุให้เกิดความไม่พอใจขึ้นจริงๆ ก็ควรเปลี่ยนเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เห็นความหวังดีของคณะผู้ก่อการโดยชัดเจน เมื่อคณะผู้ก่อการได้ประกาศว่า จะขอพระราชทานให้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้น คนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนาทั่วไป แต่เมื่อกลายเป็นยึดอำนาจกันเฉยๆ ไม่ได้ทำให้มีเสรีภาพในการเมืองมากขึ้นก็กลายเป็นของขมขื่นกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ ‘Absolute’ มิได้เสื่อมคลาย เป็นแต่เปลี่ยนตัวคณะกันเท่านั้น เสรีภาพกลับน้อยลงไปเสียอีก เพราะต้องระวังจับกุมผู้ไม่พอใจ และปิดฉากผู้ที่กล่าวร้ายรัฐบาล สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินยังมีผู้นับถือเป็นส่วนมาก เพราะเคยชินมาแต่ปู่ย่าตายาย แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไปเพราะกลัวอาชญาและกลัวรถเกราะและปืนกล น่ากลัวว่าความไม่พอใจจะมีอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าต้องขอแก้ไข
ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้ายอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครใจที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเท่านั้น”
ในตอนต่อไป จะได้นำเสนอ “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเเจ้าอยู่หัว
(จาก ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 378-381.)
_________________________________________
[1] เป็นเวลาที่เหตุการณ์ทั้งหลายยังไม่เรียบร้อยเป็นปกติ เพราะเป็นเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญไม่กี่วัน ประกอบกับความเร่งร้อนของคณะราษฎร์ที่จะปฏิบัติการในฉับพลันทันทีโดยไม่ให้เวลาใคร่ครวญตัดสินใจพอสมควร เช่น ในคำกราบบังคมทูลของคณะราษฎร์ระบุว่า “….ถ้าไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วโมงนับแต่รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎร์จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์” หรือระยะเวลาที่จะต้องลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็มีเพียง ๓ วันภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดี สถานการณ์ยังไม่ปกตินัก และเวลาก็น้อยเกินกว่าที่จะวินิจฉับอะไรได้
[2] ดังปรากฏในมาตรา ๖๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕: “เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ยังมีการศกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปีนับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(๑) สมาชิกประเภทที่๑ ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖ , ๑๗
(๒) สมาชิกประเภทที่๒ ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกและเสนอชื่อให้พระมหากษัตริย์/ผู้เขียน)
[3] ดู เค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงโปรดให้ร่างขึ้นก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดู ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่ ๒๖-๒๗
[4] มาตรา ๒ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕: “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
[5] หมายถึงระบบการเล่นพรรคเล่นพวก (patronage system) ซึ่งนำมาใช้เพื่อเป็นรางวัลแก่ผู้สนับสนุนตนประการหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นคงแก่พรรคของตนอีกประการหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร