หลังจากที่ได้พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและพระบรมราชวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการลงมติ ซึ่งผลการลงมติคือ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ
ตามหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งเป็นคณะที่สองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีทั้งสิ้น 20 คน ดังมีรายนามดังต่อไปนี้
รายชื่อคณะรัฐมนตรี
1. พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรี (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 2. นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม3. พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4. พระยาวงษานุประพัทธ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรพาณิชยการ 5. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ 6. พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล (ชิต สุนทรวร) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 7. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 8. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) เป็นรัฐมนตรี 9. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นรัฐมนตรี 10. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) เป็นรัฐมนตรี 11. นายพันเอก พระฤทธิอัคเณย์ (สละ เอมะศิริ) เป็นรัฐมนตรี 12. พระยาประมวญวิชาพูล (วงศ์ บุญ – หลง) เป็นรัฐมนตรี 13. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น) เป็นรัฐมนตรี 14. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี 15. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นรัฐมนตรี 16. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) เป็นรัฐมนตรี 17. หลวงเดชสหกรณ์ (หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์) เป็นรัฐมนตรี 18. นายประยูร ภมรมนตรี เป็นรัฐมนตรี 19. นายแนบ พหลโยธิน เป็นรัฐมนตรี 20. นายตั้ว ลพานุกรม เป็นรัฐมนตรี [1]
ในคณะรัฐมนตรีคณะที่สองที่มีทั้งสิ้น 20 คนนี้ เป็นสมาชิกคณะราษฎร 10 คน [2] ที่เหลือเป็นจำนวนที่เท่ากันคือ 10 คนไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎร
รัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรทั้ง 9 คน (ไม่รวมหลวงประดิษฐ์ฯ) ได้แก่ 1. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) 2. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) 3. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) 4. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) 5. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) 6. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) 7. นายประยูร ภมรมนตรี 8. นายแนบ พหลโยธิน 9. นายตั้ว ลพานุกรม [3]
ต่อข้อมูลเกี่ยวกับผลการลงมติต่อนโยบายเศรษฐกิจนี้ มีแหล่งข้อมูลสองแหล่งที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกันทีเดียวนักในส่วนที่เกี่ยวกับเสียงข้างมาก ส่วนเสียงข้างน้อยที่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯไม่มีปัญหา คือ แหล่งข้อมูลทั้งสองให้ข้อมูลตรงกันคือ มีเพียง 3 เสียงที่เห็นด้วย
แหล่งข้อมูลแรกกล่าวว่า เสียงข้างมากในคณะรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมีทั้งสิ้น 17 เสียง และไม่เห็นด้วย 3 เสียง รวมที่ออกเสียงทั้งสิ้น 20 เสียง
แหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากรายงานของนาย ซีซิล ดอร์มเมอร์ (Cecil Dormer) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยที่มีไปถึงเซอร์จอห์น ไซมอน (Sir John Simon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหราชอาณาจักร วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 [4] โดยนายดอร์มเมอร์ได้กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากพระยาศรีวิศาลวาจาว่าผลการลงมติของคณะรัฐมนตรี มีผู้ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ 17 เสียง เห็นด้วย 3 เสียง
ส่วนแหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งกล่าวว่า เสียงข้างมากในคณะรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมีทั้งสิ้น 11 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง รวมที่ออกเสียงทั้งสิ้น 19 เสียง
แหล่งข้อมูลที่สองนี้มาจากหนังสือ “ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam” ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ [5] โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯและลงคะแนนสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาทั้ง 11 เสียง ได้แก่ พระยามโนปกรณ์ฯ, พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิศาลวาจา, พ.อ.พระยาทรงสุรเดช. พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ, นายประยูร ภมรมนตรี, เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์, พระยาจ่าแสนยบดี, พระยาเทพวิทุรฯ, หลวงสินธุสงครามชัย, หลวงเดชสหกรณ์ ส่วนผู้ที่สนับสนุนเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ 3 เสียง ได้แก่ หลวงประดิษฐ์ฯ, พระยาประมวลวิชาพูล, นายแนบ พหลโยธิน และผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 5 ได้แก่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์, พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม, นายตั้ว ลพานุกรม [6] รวมที่ออกเสียงและงดออกเสียง 19 เสียง
ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการต่อข้อมูลการลงมติของคณะรัฐมนตรีข้างต้น
ประการแรกคือ แหล่งข้อมูลของนายซีซิล ดอร์มเมอร์ (Cecil Dormer) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยที่รายงานว่าได้รับข้อมูลจากพระยาศรีวิศาลวาจาว่า มีผู้ลงคะแนนทั้งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯจำนวนรวมทั้งสิ้น 20 เสียง ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ที่อ้างจากวิทยานิพนธ์ของ วีณา มโนพิโมกษ์ ที่กล่าวว่า มีผู้ลงคะแนนทั้งที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยและงดออกเสียงจำนวนรวมทั้งสิ้น 19 เสียง ซึ่งจำนวนรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีคณะที่สองมีทั้งสิ้น 20 คน ส่วนที่ต่างกัน 1 คนที่ไม่ปรากฏว่าลงคะแนนไปในทางใดหรืองดออกเสียงคือ นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) ขณะเดียวกัน ในเอกสารรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 ก็มิได้มีบันทึกไว้ว่า พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) ได้เข้าประชุมหรือไม่
ประการที่สอง การที่พระยาศรีวิศาลวาจาได้ให้ข้อมูลแก่นายซีซิล ดอร์มเมอร์ว่า มีผู้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯเป็นจำนวนทั้งสิ้น 17 เสียงนั้น น่าจะเป็นเพราะพระยาศรีวิศาลวาจาได้นับผู้งดออกเสียง 5 เสียงรวมเข้ากับ 11 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯและลงคะแนนสนับสนุนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งก็ยังไม่ถึง 17 เสียงอยู่ดี
ประการที่สาม ผลการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะก่อนหน้านี้ “ในวันที่ 9 มีนาคม 2476 หลวงประดิษฐ์ฯได้เสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 14 คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับดังกล่าว” [7] ซึ่งผลการลงมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการดังกล่าวคือ เสียงส่วนใหญ่ 8 เสียงเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษกิจ และ 4 เสียงไม่เห็นด้วย
_________________________________________
[1] ลำดับความเป็นมาของคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 2 (10 ธันวาคม 2475 – 1 เมษายน 2476), สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี https://www.soc.go.th/?page_id=2113
[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 573 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2475 และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 574-576 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2475 อ้างใน นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์, รวมรายชื่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่คณะแรกจนถึงคณะปัจจุบัน, เอกสารวงงานรัฐสภา,https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php, หน้า 3-4.
[3] อานันท์ เกียรติสารพิภพ, คณะราษฎร, พิพิธภัณฑ์รัฐสภา เล่าเรื่องการเมืองการปกครองไทย, 1 สิงหาคม 2563, https://parliamentmuseum.go.th/ar63-People_team.html
[4] No. 8.—ARCHIVES, Siam and South-East Asia, May 10, 1933, Section I, [F 3109/42/40] No. 1, Mr. Dormer to Sir John Simon----(Received May 10.), (No. 59).
[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560), หน้า 350-351.
[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ไม่ได้ใส่เชิงอรรถท้ายข้อความที่กล่าวถึงจำนวนและรายชื่อผู้ลงมติและผู้งดออกเสียง แต่ก่อนหน้านั้น ได้ใส่เชิงอรรถที่ 153 ที่อ้างถึง “รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี,” อังคาร 28 มีนาคม 2475 อ้างใน วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520), หน้า 254 ดู
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560), หน้า 350-351, 385.
[7] เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490