“พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางโครงการที่จะให้มีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อทดลองประชาธิปไตย” (https://www.nytimes.com/1931/04/28/archives/suffrage-for-siam-is-planned-by-king-to-test-democracy-fatherly.html) เป็นบทสัมภาษณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานสัมภาษณ์นายแฮโรลด์ เอน. เดนนี (Harold N. Denny) และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2474
ผู้เขียนได้นำเสนอการแปลบางส่วนของพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พร้อมกับมีความเห็นเพิ่มเติมไปในตอนก่อนๆ และจะขอนำเสนอพระราชดำรัสของพระองค์ในตอนนี้ต่อไป
ในท้ายตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงคำถามที่นายแฮโรลด์ เอน. เดนนี (Harold N. Denny) กราบบังคมทูลถวายแก่พระองค์ว่า “ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยที่มีผู้ปกครองเพียงคนเดียว ประชาชนอาจจะไม่สามารถมีเสรีภาพได้เท่าการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีผู้ปกครองจำนวนมาก”
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดคือ รูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับผู้คนที่จะอยู่ภายใต้การปกครองนั้น (The best form of government is the one which suits the people who live under it.)
ซึ่งนายแฮโรลด์ เอน. เดนนีได้เขียนไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบได้อย่างชาญฉลาด
ต่อมา นายแฮโรลด์ เอน. เดนนีได้ถามว่า พระองค์สนพระทัยอะไรในประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด
พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ข้าพเจ้าสนใจในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการประดิษฐ์คิดค้นทางเครื่องยนต์กลไกมากที่สุด ข้าพเจ้าอยากเห็นโรงงานของบริษัทเยนเนอรัล อิเล็คทริกส์ (General Electrics) และโรงงานของบริษัทฟอร์ด (Ford) ข้าพเจ้าจะจัดกำหนดการดังกล่าวต่อไป ข้าพเจ้ามีความสนใสอย่างยิ่งในความก้าวหน้าทางเครื่องกลในอเมริกาและเครื่องมือต่างๆที่ช่วยทุ่นแรง อันจะทำให้การดำเนินชีวิตง่ายและสะดวกมากขึ้น”
นายเดนนีได้เขียนความเห็นของเขาว่า ในการตอบคำถามคล้ายว่า พระองค์อาจจะทรงนำเครื่องมือต่างๆเหล่านั้นไปเริ่มใช้ในสยาม และทรงกล่าวด้วยว่า สยามได้มีการรับเอาเครื่องมือทุ่นแรงไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก
นายเดนนียังเห็นว่า ในขณะที่พระองค์ทรงกล่าวนั้น ลักษณะท่าทางของพระองค์แสดงออกให้เห็นถึงความรักและห่วงใยต่อประชาชนของพระองค์และภาคภูมิใจในคุณลักษณะต่างๆของประชาชนของพระองค์ พระองค์ยังทรงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงไปตามตะวันตกของสยามและอธิบายถึงเหตุผลที่พระองค์ทรงเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงไปตามตะวันตกจะให้ประโยชน์มากมายโดยไม่ทำลายวัฒนธรรมของสยาม
พระองค์ทรงกล่าวและแย้มสรวลว่า “คำขวัญของเราคือ การนำมาปรับใช้ (adapt) ไม่ใช่การนำมาใช้ (adopt)”
นายเดนนีสรุปความจากพระราชดำรัสในประเด็นนี้ว่า “ชาวสยามเป็นคนที่ชอบปรับประยุกต์ พวกเขารับความคิดใหม่ได้ง่าย แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ได้ทิ้งของเขา ชาวสยามเป็นคนที่เก่งมากในการเชื่อมโยงผสมสิ่งดีๆของตะวันตกและตะวันออก ความคิดสมัยใหม่ที่พวกเขารับไม่ได้ไปเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนของพระองค์ และความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับชาวสยาม”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า “เมื่อมีความคิดอะไรที่เราไม่ชอบ เราจะเจาะจงเลือกอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเรา แทนที่เราจะรับมันมาทั้งหมด ที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จจากการรับการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของตะวันตก กรุงเทพผสมผสานทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก มันเป็นการผสมที่มีความสุข”
พระราชดำรัสดังกล่าวของพระองค์ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “a travelled Siamese” (ชาวสยามที่ได้ผ่านประสบการเดินทางมา (a travelled Siamese) ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ใน Siam Observer ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคมถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2455 โดยพระองค์ทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ” นิทานเรื่องนี้มีความว่า
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มี่ชายสองคนจากชมพูทวีป คนหนึ่งชื่อ จัน คนหนึ่งชื่อ อิน ได้เดินทา งไปยังดินแดนอันไกลโพ้นที่มีชื่อว่า อุตตรกุรุ อินและจันเป็นชายหนุ่มที่มีบุคลิกภาพน่าประทับใจ และช่างสังเกตจดจำสิ่งต่างๆที่ได้พบพานในอุตตรกุรุ เมื่อทั้งสองเดินทางกลับมายังชมพูทวีป พวกเขาได้นำเสื้อผ้าอาภรณ์ที่งดงามจากอุตตรกุรุกลับมาด้วย เป็นเสื้อผ้าอย่างที่ชาวอุตตรกุรุสวมใส่ ขณะเดียวกัน ชาวชมพูทวีปเองก็มีเสื้อผ้าในแบบของตนเองด้วย แต่แน่นอนว่า ย่อมแตกต่างไปจากชุดของชาวอุตตรกุรุที่อินกับจันนำมาติดตัวกลับมา บรรดาผู้คนชาวชมพูทวีปต่างมารายล้อมอินกับจันและตื่นตากับเสื้อผ้าและไถ่ถามเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในอุตตกุรุ อินกับจันมีความภาคภูมิใจที่ตนเป็นจุดสนใจของผู้คน
แต่อินกับจันแตกต่างกัน เพราะต่อมาไม่นาน จันเริ่มเห็นว่า แม้ว่าเสื้อผ้าของอุตตรกุรุนั้นจะสวยงดงามและมีคุณประโยชน์ แต่มันดูจะหนาเกินไปหน่อยสำหรับสภาพอากาศปกติประจำวันในชมพูทวีปที่มีความร้อนกว่าอุตตรกุรุ จันจึงไม่ใส่เสื้อผ้านั้น แต่จะใส่ในบางโอกาสเท่านั้นหากสภาพอากาศอำนวย และเขากลับมาใส่เสื้อผ้าของชมพูทวีปตามเดิม และจากประสบการณ์ที่เขาได้จากเสื้อผ้าของอุตตรกุรุ เขาได้นำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาผ้าของชมพูทวีปให้มีคุณภาพดีเท่ากับเสื้อผ้าของอุตตรกุรุ และปรับให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ซึ่งการทดลองปรับปรุงคุณภาพของผ้านั้นต้องใช้เวลาพอสมควร จันจึงใช้เวลาไปกับการทดลองต่างๆ และไม่มีเวลาโชว์ตัวเป็นฮีโร่ในหมู่ชาวชมพูทวีป และได้กลายเป็นคนที่ง่วนอยู่กับการลงแรงลงงานไปเพื่อพัฒนาคุณภาพของผ้าชมพูทวีป และไม่มีใครเห็นว่าเขาเป็นฮีโร่อีกต่อไปจากการที่เขาไปหมกมุ่นกับการปรับปรุงผ้าของเขา เพราะการที่ใครจะเป็นฮีโร่ คนนั้นจะต้องพูด ! ซึ่งเป็นสิ่งที่อินทำ
อินยังคงเที่ยวพูดเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เขาได้มาจากอุตตรกุรุ และเขาทำให้คนเข้าใจว่า คนที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนศิวิไลซ์ (civilized มีอารยะ) จะต้องใส่เสื้อผ้าแบบนั้น ดูได้จากชาวอุตตรกุรุ พวกเขาล้วนแต่เป็นคนศิวิไลซ์ และต่างก็สวมใส่ชุดอย่างที่จันใส่ ชุดที่ว่านี้ทำจากผ้าวูลหนา (ขนสัตว์) และอินก็ต้องทนร้อนเหงื่อแตกท่วมตัวในขณะที่สวมชุดที่ว่านี้ แต่เขาจะไม่ปริปากให้ใครรู้ ดังนั้น บรรดาคนที่ได้ฟังอิน ต่างก็พากันเคลิบเคลิ้มตามเขา และเริ่มสวมเสื้อผ้าตามแบบที่อินใส่ ซึ่งพวกเขาก็พบปัญหาเดียวกันกับอิน นั่นคือ ใส่แล้วร้อนเหงื่อแตกท่วมตัว แต่พวกเขายอมทน เพราะต้องการจะเป็นคนศิวิไลซ์
แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมรับเสื้อผ้าแบบนั้น พวกเขาจะถูกเรียกว่าเป็นพวกปฏิกิริยาหรือเป็นพวกโง่ จนในที่สุด พวกเขาก็ต้องยอมใส่เสื้อผ้าแบบนั้นเพราะไม่สามารถรับมือกับความอึดอัดจากสายตาและคำถากถางของคนชมพูทวีปที่ใส่เสื้อผ้าอุตตรกุรุ แต่กระนั้น พวกเขาก็จะใส่แต่เฉพาะตอนที่ต้องออกจากบ้านไปเจอะเจอผู้คนเท่านั้น ส่วนเวลาอยู่บ้าน พวกเขาก็จะใส่เสื้อผ้าของชมพูทวีปตามปกติ คนแบบนี้ไม่ได้ชอบใส่ชุดแบบนั้นจริงๆ แต่ทำไปเพื่อหลอกอินให้คิดว่า พวกเขาเชื่ออิน ซึ่งจริงๆแล้ว นอกจากพวกเขาจะหลอกอินแล้ว พวกเขายังหลอกตัวเองด้วย เพียงแต่พวกเขาไม่ยอมรับว่ากำลังหลอกตัวเองอยู่
ส่วนคนที่กระตือรือร้นที่จะใส่ชุดอุตตรกุรุทันที จะมีปัญหามากมาย ข้อแรกคือ ไม่สามารถทำชุดที่เหมือนตามแบบได้เป๊ะทุกรายละเอียด เพราะไม่มีวัตถุดิบเหมือนอย่างที่ชาวอุตตรกุรุมี ดังนั้น วัตถุดิบอะไรที่มีอยู่ในชมพูทวีปก็จะถูกนำมาใช้ตัดเย็บตามแบบ ซึ่งมันก็ไม่ได้เหมือนตามแบบของอุตตรกุรุ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชุดที่ดูคล้ายกับชุดของชาวอุตตรกุรุ แต่ดูประหลาดประดักประเดิด เป็นที่ขบขันสำหรับคนที่เป็นชาวอุตตรกุรุแท้ๆที่มีโอกาสได้เดินทางมาชมพูทวีป แต่ชาวชมพูทวีปที่แต่งกายเลียนแบบนั้น ไม่รู้ตัวหรอกว่า พวกเขาได้กลายเป็นตัวตลกไปสำหรับชาวอุตตรกุรุ ดังนั้น พวกเขาก็ยังคงใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยวูลหนาต่อไป โดยไม่รู้ว่าตัวเองถูกมองอย่างไร ได้แต่คิดว่าตัวนั้นโก้เก๋ศิวิไลซ์
เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาเริ่มรู้สึกว่า เสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นมันไม่ค่อยจะสบายเนื้อตัวเลย และเริ่มหงุดหงิด จนคนบางคนที่ฉลาดเริ่มคิดและได้ข้อสรุปว่า ที่รู้สึกไม่สบายเป็นเพราะอากาศ !
ถ้าพวกเขาเป็นคนป่า การแก้ปัญหาความไม่สบายเนื้อสบายตัวจากการสวมใส่เสื้อผ้าแบบนั้น ก็คือ แค่ถอดเสื้อผ้าออก แล้วก็จะหายร้อนหายอึดอัดได้ทันที แต่พวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะกลัวจะถูกหาว่าเป็นคนป่า พวกเขาจึงพยายามมองหาอะไรที่จะมาเป็นแพะหรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาสวมเสื้อผ้าแบบนั้นแล้วไม่สบายตัว
ในที่สุด พวกเขาก็โทษรัฐบาลชมพูทวีป ! คนที่มีอำนาจจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะคนเหล่านี้เป็นพวกหัวโบราณที่ปกครองบ้านเมืองไม่เป็น พวกเขาจะร้องโวยวายว่า “ทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง ?” “รัฐบาลรู้ดีว่า พวกเราต้องร้อนมากในการใส่ชุดของเรา รัฐบาลไม่คิดจะทำอะไรเลยหรือ ? คนอุตตรกกุรุเขาไม่มีปัญหาอะไรกับการใส่เสื้อผ้าที่ไม่ต่างจากที่พวกเราใส่ แต่พวกเรากลับร้อนจนแทบจะหายใจไม่ออก”
พวกเขาก็จะก่นบ่นด่าแบบนี้ไปเรื่อยๆไม่รู้จบ ! การที่เสื้อผ้าวูลไม่เหมาะกับสภาพอากาศของชมพูทวีปเป็นความผิดของรัฐบาล แต่ไม่มีใครเคยคิดโทษที่ตัวเสื้อผ้า หรือโทษคนๆแรกที่มาแนะนำให้พวกเขาใส่ชุดแบบนั้นโดยไม่พิจารณาให้ดีว่ามันเหมาะหรือเปล่า ! ไม่มีใครที่คิดจะฟัง เวลามีคนบอกว่า ชุดแบบนั้นอาจจะไม่อึดอัดมากขนาดนั้นหากใช้วัสดุที่บางกว่าวูล เช่น ผ้าฝ้าย หรือ ผ้าไหม ! แต่คนชมพูทวีปคิดว่า ยังไงพวกเขาก็ต้องใส่ชุดที่ทำจากวูลให้ได้ เพราะชาวอุตตรกุรุก็ใส่ชุดที่ทำจากวูล เพราะมันคือความศิวิไลซ์
แล้วพวกเขาก็ร้อนเหงื่อแตกท่วมตัวและพร่ำบ่นต่อไป ขณะเดียวกัน อินเป็นอย่างไร ? อินในฐานะคนอัจฉริยะที่เป็นคนนำการสวมชุดวูลจากอุตตรกุรุเป็นคนแรกของชมพูทวีป ?
โอ้ ! อินเป็นคนฉลาด หลังจากที่เขาได้กลายเป็นคนมีชื่อเสียง และเวลาเขาอยู่บ้าน เขาก็จะไม่ใส่ชุดวูลที่ทั้งหนาและหนัก แต่จะกลับไปใช้เสื้อผ้าฝ้ายที่เป็นชุดของชมพูทวีป แต่เขาจะทำโดยไม่ให้มีใครเห็น
และต่อมาไม่นาน คนรุ่นหลังๆในชมพูทวีปก็จะพากันลืมเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับ อิน และก็จะพากันรุมล้อมฮีโร่คนใหม่ ที่มีอะไรใหม่ๆที่จะพูดเกี่ยวกับเสื้อวูล และความไม่ใส่ใจของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการใส่ชุดวูลแล้วไม่สบายของชาวชมพูทวีป
ส่วน จัน เขายังคงง่วนอยู่กับงานของเขาและพยายามหาทางที่จะปรับปรุงเสื้อผ้าที่เหมาะสม และก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้โดดเด่นมีความสำคัญอะไรเหมือนเดิม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นประโยชน์ของการปรับประยุกต์สิ่งที่มาจากชาติอื่น และโทษของการรับมาใช้อย่างไม่ปรับเข้ากับสภาพของสังคมไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490