๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๘)

 

 

คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”  สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย 

ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะลี้ภัย เขาได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของเขามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยผู้เขียนได้ยกข้อความในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเผยแพร่ไปบ้างแล้ว (ดูตอนที่ ๔, ๕ และ ๖)  และในตอนที่เจ็ดได้กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.  ๒๔๗๖ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๗ เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเสนอต่อที่ประชุมและให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้อ่าน...”1

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงพระราชวินิจฉัยตอบเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดยพระองค์ได้อ้างงานวิจัยของ “โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน” ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรไทยไม่ได้อดอยากแร้นแค้นอย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุผลให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมยืนยันว่า จากสภาพเศรษฐกิจของราษฎรไทยโดยทั่วไป รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งใช้นโยบายเศรษฐกิจโดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าของเศรษฐกิจ บังคับซื้อที่ดินจากชาวไร่ชาวนาและเจ้าของที่ดิน และแปลงให้คนเหล่านั้นเป็นลูกจ้างรัฐหรือข้าราชการ

และผู้เขียนได้ทิ้งท้ายคำถามไว้ในตอนที่แล้วว่า โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน คือใคร ?  ฝรั่งจะมารู้เรื่องความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วไปได้ถูกต้องเท่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้นำทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างไร ?

โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน มีชื่อเต็มว่า คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle Clarke Zimmerman)  เป็นศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับว่าจ้างจากรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒ ปี ให้เข้ามาทำการสำรวจสภาพเศรษฐกิจในชนบทของสยาม เขาได้เขียนรายงานผลการสำรวจให้รัฐบาลไทย และต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Siam: Rural Economic Survey 1930-31 ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยสำนักพิมพ์ The Bangkok Times Press ที่ตั้งอยู่ในพระนคร2

_________________________________________

1 “พระบรมราชวินิจฉัย ร.7 ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี” (ผู้เขียนบทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า) ไทยโพสต์, วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562. https://www.thaipost.net/main/detail/33019

2 มีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ในชื่อ การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม รายงานโดย คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน,  แปลและเรียบเรียงโดย ซิม วีระไวทยะ ผู้เป็นหนึ่งในคนสนิทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้สนใจประวัติโดยย่อของเขา ดู กษิดิศ อนันทนาธร,  “ซิม วีระไวทยะ : ชีวิตเพื่ออุดมคติแห่งคณะราษฎร”  The 101.World, 22 Jun 2017, https://www.the101.world/sim-viravaidya/

_________________________________________

ในขณะที่ซิมเมอร์แมนได้เข้ามาทำการสำรวจสภาพเศรษฐกิจในชนบทของประเทศไทยนั้น เขามีอายุได้ ๓๓ ปี ซิมเมอร์แมนทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกกับโซโรกิน (Pitirim Sorokin) ผู้ก่อตั้งภาควิชาสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงและงานวิชาการเป็นที่รู้จักในวงการนักสังคมวิทยาจนถึงปัจจุบันนี้3

นอกจากหนังสือ Siam: Rural Economic Survey 1930-31 แล้วยังมีบันทึกส่วนตัวของซิมเมอร์แมนเกี่ยวกับ “การเดินทางไปเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ถึงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔”  และต้นฉบับ “ความร่วมมือกับคุณเบอร์ธา บี. แมคฟาร์แลนด์. การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยาม การศึกษาวัฒนธรรมตะวันออก” (เอกสารต้นฉบับยังไม่ได้ตีพิมพ์) 4และหลังจากตีพิมพ์ Siam: Rural Economic Survey 1930-31 เขายังได้เขียนบทความวิจารณ์งานที่ศึกษาปัญหาชนบทในศรีลังกาด้วย ผู้สนใจดูผลงานวิชาการทั้งหมดของซิมเมอร์ได้จาก Clark Zimmerman manuscripts (MSS 21) - USask Library5

_________________________________________

3 Barry V. Johnston, “Pitirim A. Sorokin (1889-1968): Pioneer and Pariah,” International Sociology,  Volume 11, Issue 2 และ Barry V. Johnston, “1997 Keynote Address: Pitirim A. Sorokin and Sociological Theory for the Twenty-First Century, Michigan Sociological Review, Vol. 2, Fall 1998, pp. 1-23. 

4 “The Chiengmai Trip (December 10, 1930 to Jan. 3, 1930).”  ซึ่งบันทึกเรื่องการเดินทางไปเชียงใหม่ของเขาขยายไปถึงวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. 1931. และ “The Collaboration with Mrs. Bertha B. MacFarland. Christian Missions in Siam. A Study in Oriental Culture. “Unpublished manuscript on Siam” ดู Carle Clark Zimmerman manuscripts (MSS 21) - USask Library https://library.usask.ca/archives/collections/manuscripts-and-collections/pdf/MSS%2021%20FA.pdf

5 Carle C. Zimmerman, 1933. "Problems of Rural Ceylon, by Wilmot A. Perera. Associated Newspapers of Ceylon, Limited (Colombo) 1932. Pp. 34," American Journal of Agricultural Economics

American Journal of Agricultural Economics, Agricultural and Applied Economics Association, vol. 15(3), pages 599-600. Carle Clark Zimmerman manuscripts (MSS 21) - USask Library

https://library.usask.ca/archives/collections/manuscripts-and-collections/pdf/MSS%2021%20FA.pdf

_________________________________________

มีผู้ไม่ปรากฎนามได้สรุปสาระสำคัญของ Siam: Rural Economic Survey 1930-31 ไว้ว่า

“งานชิ้นนี้เป็นการสำรวจประชากรในชนบทของสยามเป็นครั้งแรก ซิมเมอร์แมนได้รวบรวมเก็บข้อมูลทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับชนบทของสยาม ความพยายามของเขาประจักษ์ชัดจากหนังสือเล่มนี้ที่ปรากฎในเห็นในตารางต่างๆมากมาย เช่น ตารางรายละเอียดเกี่ยวกับอุปนิสัยการกิน การใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โรคต่างๆ อัตราเกิดและตาย ขณะเดียวกันยังมีให้จำนวนเฉลี่ยของการเลี้ยงสัตว์ต่อครอบครัวในภาคเหนือ อีสาน ใต้และภาคกลางของประเทศ มีการเปรียบเทียบมูลค่าต้นทุนของแปลงข้าวเหนียวและข้าวเจ้าควบคู่ไปกับคำอธิบายการขายเป็นกิโลกรัมของชาวนาด้วย ซิมเมอร์แมนได้สำรวจคุณค่าทางโภชนาการของอาหารต่างๆ เช่น กะปิ ปลาร้า และการวิเคราะห์ทางเคมีต่อปริมาณเกลือที่บริโภคในประเทศ  กล่าวได้ว่า ผลงานของซิมเมอร์แมนเป็นงานที่รายละเอียดที่โดดเด่นและเป็นแหล่งข้อมูลที่ทรงคุณค่าสำหรับใช้ศึกษาต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การประเมินคุณค่าของการสำรวจชนบทประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔ ดังกล่าวดูจะเป็นการประชาสัมพันธ์โฆษณาขายหนังสือเสียมากกว่า และถ้าจะถามว่า งานวิจัยสภาพเศรษฐกิจในชนบทของไทยมีคุณภาพมากน้อยทางวิชาการแค่ไหน คงต้องสำรวจจากคำวิจารณ์ที่นักวิชาการคนอื่นๆมีต่องานชิ้นนี้ของเขา

เท่าที่ผู้เขียนได้สำรวจการวิจารณ์งานของซิมเมอร์แมน พบว่าผลงานชิ้นนี้ของซิมเมอร์แมนได้รับการวิจารณ์จากเอ็ดมัน เดอ เอส. บรันเนอร์ (Edmund de S. Brunner) ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย   

บรันเนอร์ได้เขียนบทวิจารณ์  Siam: Rural Economic Survey 1930-31 (การสำรวจเศรษฐกิจชนบทของสยาม พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔)  ของซิมเมอร์แมนไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ 6 นั่นคือ เพียงหนึ่งปีหลังที่งานของซิมเมอร์แมนตีพิมพ์เป็นหนังสือ และในขณะที่เขาวิจารณ์งานชิ้นดังกล่าวของซิมเมอร์แมน บรันเนอร์อายุได้ ๔๑ ปีนับเป็นนักวิชาการที่อาวุโสกว่าซิมเมอร์แมน 

ก่อนที่ผู้เขียนจะนำเสนอข้อวิจารณ์ที่บรันเนอร์มีต่อ Siam: Rural Economic Survey 1930-31 ของซิมเมอร์แมน เราควรจะมีข้อมูลเกี่ยวกับบรันเนอร์ว่าเขาเป็นนักวิชาการระดับไหน เพื่อที่จะนำเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินคำวิจารณ์ของเขาว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

บรันเนอร์ดำรงตำแหน่งสำคัญๆต่างๆ อาทิ  ประธานสำนักวิจัยสังคมประยุกต์ (Bureau of Applied Social Research), ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการว่าด้วยแนวโน้มทางสังคมล่าสุดในส่วนที่เกี่ยวกับชนบท (Recent Social Trends) ภายใต้ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ฮูเวอร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการะหว่าง ค.ศ. 1929-1933 (พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๖) ดังนั้น บรันเนอร์เป็นผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการดังกล่าวก่อนหน้าที่เขาจะวิจารณ์งานของซิมเมอร์แมน ต่อมาบรันเนอร์ยังได้ดำรงตำแห่งกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านการศึกษาของประธานาธิบดีรูสเวลท์ด้วย และตั้งแต่ ค.ศ.  1946-1948  บรันเนอร์ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการที่มีชื่อว่า “the Committee of Ten on Post‐War Progress and Policy for the Cooperative Agriculture and Home Economics Extension Service”  คณะกรรมาธิการทั้งสิบหรือ “the Committee of Ten” ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนสิบคน เป็นชื่อที่ใช้เรียก “The National Education Association of the United States Committee on Secondary School Studies/NEA—คณะกรรมาธิการการศึกษาระดับมัธยม สมาคมการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) และตั้งแต่ ค.ศ. 1942-1951 บรันเนอร์ได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตร7

ในตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า บรันเนอร์ประเมินผลการสำรวจชนบทไทยของซิมเมอร์แมนไว้อย่างไร

_________________________________________

6 Edmund de S. Brunner, “Siam: Rural Economic Survey 1930-31 by Carl C. Zimmerman,” Journal of Farm Economics , Oct., 1932, Vol. 14, No. 4 (Oct., 1932), pp. 707-710.

7 “Edmund Brunner Sociologist, Dies,” The New York Times, December 23, 1973.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490