ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๔)

 

จากการสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  นายแฮโรลด์ เอน. เดนนี (Harold N. Denny) ได้เขียนบทความเรื่อง “พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางโครงการที่จะให้มีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อทดลองประชาธิปไตย”  (https://www.nytimes.com/1931/04/28/archives/suffrage-for-siam-is-planned-by-king-to-test-democracy-fatherly.html) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 

นายเดนนีได้กล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเป็นหนึ่งในสามของพระมหากษัตริย์ของประเทศที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ในขณะนั้น) 

คำถามข้อแรกที่นายเดนนีตั้งขึ้นในการสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ ขอให้พระองค์ทรงกล่าวถึงหลักการในการปกครองของพระองค์ จากมุมมองของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มุ่งให้เกิดความอยู่ดีกินดีของคนใต้ปกครองของพระองค์ (the welfare of his subjects)                   

พระองค์ทรงตอบว่า “ก่อนอื่น ในสยาม พระมหากษัตริย์ไม่ได้เห็นว่าตนเป็นพระมหากษัตริย์ตามแนวเทวสิทธิ์ (divine right)”

การที่พระองค์ทรงตอบโดยใช้คำว่าเทวสิทธิ์หรือ divine right  ก็เพื่อให้ชาวตะวันตกที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างคติการปกครองของกษัตริย์ในแบบตะวันตกซึ่งแตกต่างจากของสยาม (ไทย) โดยคติการปกครองแบบเทวสิทธิ์นี้เริ่มขึ้นมาในสมัยยุคกลางเมื่อคริสต์ศาสนามีอิทธิพลในยุโรป ที่เชื่อว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์มาจากพระผู้เป็นเจ้า  แต่พระมหากษัตริย์เป็นมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่นๆที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากอาดัมและอีวา ซึ่งเริ่มต้นชีวิตอย่างไร้เดียงสา   แต่หลังจากที่อาดัมกับอีวาละเมิดข้อห้ามของพระผู้เป็นเจ้า จึงถูกลงโทษ ขับออกจากสวนสวรรค์ที่มีชื่อว่าสวนอีเดน และให้ไปใช้ชีวิตนอกสวนอีเดน และอาดัมกับอีวาจึงเป็นมนุษย์รุ่นแรกและมีบาปที่กระทำไว้ติดตัวมา และมนุษย์รุ่นต่อๆมาที่เป็นลูกหลานอาดัมกับอีวา ต่างก็มีบาปมีกิเลสตัณหาติดตัวมา 

นักคิดในคริสต์ศาสนาอย่างเซนต์ออกัสตินที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่สี่ ได้อธิบายว่า เมื่อมนุษย์เป็นคนบาป และมาอาศัยอยู่รวมกัน จึงจำเป็นต้องมีผู้ปกครองที่คอยปกครอง ปกป้องดูแลคนที่มุ่งจะทำดีและปรามหรือลงโทษไม่ให้คนชั่วทำร้ายและละเมิดข้อห้ามของพระผู้เป็นเจ้า  แต่การลงโทษย่อมต้องมีการใช้กำลังความรุนแรงต่อมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์คนนั้นจะทำผิด แต่ก็ถือว่าเป็นบาป แต่ออกัสตินให้เหตุผลว่า กระนั้น ผู้ปกครองก็จำเป็นจะต้องลงโทษคนชั่ว การมีผู้ปกครองจึงเป็นสิ่งจำเป็น การปกครองหรือการมีอยู่ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม  ดังคำกล่าวที่ว่า รัฐเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น (necessary evil) 

และออกัสติน อธิบายว่า การใช้กำลังความรุนแรงลงโทษด้วยความจำเป็นแตกต่างการใช้กำลังความรุนแรงด้วยความอาฆาตมาดร้าย สะใจ พอใจ หรือความกระหายที่จะแก้แค้นเอาคืน  ดังนั้น ผู้ปกครองที่เป็นชาวคริสต์ที่แท้หรือผู้ลงทัณฑ์ที่เป็นชาวคริสต์ที่แท้จะไม่ได้พอใจหรือสะใจกับการใช้กำลังความรุนแรงลงโทษคนที่กระทำผิด แต่จะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำ

และที่กล่าวไปโดยย่อนี้ก็เป็นที่มาของคติการปกครองแบบเทวสิทธิ์ ที่ผู้ปกครองหรือพระมหากษัตริย์มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลปกป้องคนดีจากคนชั่วเพื่อให้คนดีได้ปฏิบัติตามพระวจนะที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ไบเบิล

ส่วนคติการปกครองของตะวันตกที่พระมหากษัตริย์มีความเป็นเทพหรือสืบสายมาจากเทพนั้นปรากฎให้เห็นในคติการปกครองโบราณของพวกนอร์ดิกที่นับถือเทพเจ้าที่เราคงจะได้ยินชื่อ นั่นคือ โอดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอธิบายคติการปกครองของไทยว่า

“ตั้งแต่สมัยโบราณมา พระมหากษัตริย์สยามถือเป็นพ่อของราษฎร โดยหลังจากที่ผู้คนเป็นอิสระ (จากการปกครองของชนชาติอื่น/ผู้เขียน)   จึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่า ‘ไท’ ‘อิสระ’ (“Thai” “Free” ) และเลือกที่จะเรียกกษัตริย์ของพวกเขาว่า  ‘พ่อของประเทศ (Father of the country)’ ….พ่อเมือง (Po Muang)..ซึ่งเป็นแนวคิดในสยามที่ พระมหากษัตริย์คือพ่อของประชาชนของพระองค์ (the father of his people) และพระมหากษัตริย์จะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างลูก มากกว่าจะปฏิบัติอย่างคนใต้ปกครอง  (subjects) และจริงๆแล้ว คำว่า ‘ผู้ใต้ปกครอง” (subjects) ไม่ใช่คำที่จะถูกต้องนัก”

การที่พระองค์ทรงกล่าวต่อนายเดนนีว่า การใช้คำว่า subject กับประชาชนของพระองค์นั้นไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะคำว่า subject ตามพจนานุกรมของเคมบริดจ์หมายถึง “a person who lives in or who has the right to live in a particular country, especially a country with a king or queen” – คนที่อาศัยอยู่หรือมีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่ในประเทศหนึ่งๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีนาถ  แต่พระองค์ต้องการสื่อว่า ประชาชนของพระองค์ที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ประชาชนเหล่านั้นได้รับการปฏิบัติจากพระมหากษัตริย์เยี่ยงบิดากับบุตรด้วย

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า นายเดนนีจะเข้าใจหลักการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอธิบายหรือไม่  เพราะคนอเมริกันไม่มีพระมหากษัตริย์  ขณะเดียวกันก็ใช่ว่า คนตะวันตกในประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเข้าใจ ยกเว้นเขาผู้นั้นจะศึกษาประวัติความคิดทางการเมืองของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่สิบหก

เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตลอดจนข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง   คติการปกครองแบบเทวสิทธิ์ถูกตั้งคำถามและเสื่อมความชอบธรรมลง  หนึ่งฝ่ายที่สนับสนุนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์คือ เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ (Sir Robert Filmer) ได้เสนอคติการปกครองใหม่ขึ้นในหนังสือชื่อ Patriarcha or the Natural Power of Kings ซึ่งเป็นการนำเสนอคติการปกครองใหม่ที่เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์หวังจะให้มาแทนที่เทวสิทธิ์เดิม โดยคติการปกครองใหม่นี้คือ คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งเป็นอำนาจการปกครองตามธรรมชาติ และเซอร์โรเบริต์ ฟิลเมอร์ชี้ว่า พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งทรงมีความชอบธรรมในการใช้พระราชอำนาจเหนือประชาชนของพระองค์ตราบเท่าที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์เยี่ยงพ่อปกครองลูก  ซึ่งตามความคิดของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์และสังคมอังกฤษในสมัยนั้น อำนาจของบิดาต่อบุตรย่อมไม่มีอะไรจะมาจำกัดได้

อย่างไรก็ตาม ที่มาของคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์นั้นก็ยังเป็นการอ้างอิงคริสต์ศาสนาอยู่ดี  โดยเขากล่าวว่า แม้ว่าตามคติคริสต์ศาสนา มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือเกิดในเชื้อสายกษัตริย์หรือไพร่ ต่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า และไม่มีมนุษย์คนใดจะมีอำนาจเหนือคนอื่นหรือปกครองคนอื่น  แต่ฟิลเมอร์ชี้ว่า แม้มนุษย์จะเท่ากันในฐานะบุตรของพระผู้เป็นเจ้า แต่ในคัมภีร์ไบเบิล พระผู้เป็นเจ้าได้ให้อาดัมผู้เป็นพ่อมีอำนาจปกครองบุตรและคนในครอบครัว และพระองค์ได้ทรงสั่งให้บุตรต้องเชื่อฟังผู้เป็นบิดา  ดังนั้น แม้ว่าในคัมภีร์ไบเบิลจะไม่ได้กล่าวว่ารูปแบบการปกครองใดเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่การปกครองหนึ่งที่พระองค์กำหนดให้แก่มนุษย์ คือ การปกครองที่พ่อปกครองลูก  ฟิลเมอร์จึงสรุปว่า หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดปกครองประชาชนของพระองค์ประดุจพ่อปกครองลูกแล้ว ก็ถือว่ามีความชอบธรรมและต้องตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

อย่างไรก็ดี  จะเห็นได้ว่า คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของฟิลเมอร์นี้ก็ถือเป็นคติแบบเทวสิทธิ์อย่างหนึ่งอยู่ดี เพราะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็ยังโยงใยกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าจะอธิบายแตกต่างจากเทวสิทธิ์ดังเดิมตามแบบฉบับของออกัสติน             

แม้ว่าเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์จะพยายามเสนอคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกเพื่อรักษาพระราชอำนาจอันกว้างขวางของพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง)  แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ คติหรือทฤษฎีการปกครองของเขาถูกโต้แย้งจากนักคิดนักเขียนสมัยนั้นมากมาย และหนึ่งในผู้โต้แย้งที่แย้งได้อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพจนกล่าวได้ว่า สามารถล้มคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของฟิลเมอร์ คือ จอห์น ล็อก (John Locke) ในครี่งแรกของหนังสือชื่อ The Treatise of Government

จะเห็นได้ว่า คติการปกครองแบบเทวสิทธิ์ดั้งเดิมในยุโรปและแนวพ่อปกครองลูกของอังกฤษที่เสนอโดยฟิลเมอร์ล้วนมีการให้เหตุผลอธิบายที่มาที่ไปไว้อย่างชัดเจน 

ส่วนคติหรือหลักการปกครองแบบพ่อปกครองลูกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอธิบายแก่นายเดนนีนั้น หลายย่อมอดนึกถึงที่เคยเรียนประวัติศาสตร์ไทยสมัยสุโขทัยมาไม่ได้ เพราะเราถูกสอนมาว่า ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้น พระองค์ทรงปกครองอย่างพ่อปกครองลูก

การเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2474

เราจะได้กล่าวถึงที่มาของคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยพ่อขุนรามคำแห่ง และสาระของหลักการการปกครองดังกล่าวนี้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงขยายความให้แก่นายเดนนีในตอนต่อไป

(แหล่งอ้างอิง: แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๕) รวบรวมโดย สนธิ เตชานันท์, สถาบันพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. ๒๕๔๕; http://kingprajadhipokstudy.blogspot.com/2016/11/7-2474.html)  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490