ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๒)

 

คราวที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า เป็นประเด็นที่น่าศึกษาอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่เจ็ดในราชวงศ์จักรี ทรงยอมรับเองว่า ทุกราชวงศ์ย่อมต้องมีเสื่อม ไม่ว่าราชวงศ์นั้นจะประเสริฐเพียงใด และการมีพระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายในราชวงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้  และพระองค์เห็นว่า วิธีการต่างๆในการได้มาซึ่งพระมหากษัตริย์ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะได้พระมหากษัตริย์ที่เลวร้าย  แต่การมีสถาบันหรือองค์กรบางอย่างที่สามารถควบคุมพระมหากษัตริย์ได้อย่างในกรณีของอังกฤษ ซึ่งโดยรวมๆก็ใช้ได้ดี แต่บางครั้ง ก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นในกรณีของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งของอังกฤษ ดังนั้น วิธีการที่จะป้องกันไม่ให้พระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจจนสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง คือการตั้งองค์กรหรือสถาบันขึ้นมาควบคุมการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เหมือนอย่างที่รัฐสภาของอังกฤษทำหน้าที่ดังกล่าวนี้

พระองค์จึงทรงกล่าวไว้ใน “Democracy in Siam” ที่เป็นพระราชบันทึกที่มีไปยังคณะองคมนตรีว่า พระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งสถาบันบางสถาบันเพื่อทำหน้าที่จำกัดการทำอะไรตามอำเภอใจหรือการกระทำที่ไม่ฉลาดของพระมหากษัตริย์  และพระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในวงเล็บไว้ด้วยว่า แต่คงไม่มีใครต้องการจะจำกัดการกระทำที่ดีของพระมหากษัตริย์

“I most earnestly desire to organize some institution which will serve to restrain any arbitrary or unwise actions of the King in Siam. (I presume that nobody will want to restrain his good actions?)”

ผู้เขียนเห็นว่า พระราชดำริที่จะจัดตั้งสถาบันที่มาควบคุมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นี้ หากเริ่มต้นในรัชสมัยของพระองค์ ก็เท่ากับว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงริเริ่มที่จะให้มีสถาบันที่มาควบคุมการใช้พระราชอำนาจของพระองค์เอง  ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวนี้เข้าข่ายการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า “Rational Choice Theory”

ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผลหรือ Rational Choice Theory (RCT) คืออะไร ?

RCT เป็นทฤษฎีที่มีสมมุติฐานว่า คนเรามีเหตุผล และจะใช้เหตุผลในการหาวิธีการที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ วิธีการที่ดีที่สุดที่ว่านี้หมายถึง วิธีการที่ทำให้เราสามารถบรรลุสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ลงทุนน้อย ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ                                     

RCT มีองค์ประกอบสามประการ นั่นคือ

หนึ่ง ผู้กระทำจะต้องมีเป้าหมายหรือความปรารถนาอะไรบางอย่าง  สอง วิธีการที่ดีที่สุด โดยสัมพันธ์กับความเชื่อและข้อมูลข่าวสารที่ผู้กระทำมี สาม ตัวความเชื่อและข้อมูลจะต้องเป็นความเชื่อและข้อมูลที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่ตัวผู้กระทำจะมีได้

จากข้างต้น แบบแผนของการกระทำภายใต้ RCT คือ การที่คนแต่ละคน “เลือกทำ” หรือ “เลือกวิธีการ”  ที่ทำให้ตนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีต้นทุนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ

ผู้เขียนจะลองสมมุติตัวอย่างขึ้นมาว่า มีชายคนหนึ่งมีรถอยู่คันหนึ่ง และเขาต้องการขับรถไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุขับรถไปชนคนเสียชีวิต จนเขาอาจจะเสียทั้งรถและทั้งชีวิตของเขา หรือไม่ก็เขาก็จะไม่สามารถขับรถได้อีกตลอดชีวิต   และเขาเองก็รู้ตัวว่า บางทีเขาอาจจะเผลอเร่งคันเร่งขับแข่งกับรถคันอื่นจะด้วยอารมณ์อะไรก็ตาม ดังนั้น เมื่อเขาได้ข้อมูลมาว่า มีช่างยนต์ที่สามารถจะล็อกความเร็วของรถได้  เขาเลยเอารถของเขาไปให้ช่างยนต์ทำล็อกความเร็วของรถให้ขับได้ไม่เกิน 120 กม./ชั่วโมง เพื่อว่าในอนาคต แม้ว่าเขาจะอยู่ในอารมณ์จะขับแข่งกับรถคันอื่นแค่ไหนก็ตาม เขาจะไม่มีวันเร่งความเร็วได้เกินพิกัดที่เขาไปว่าจ้างให้ช่างยนต์ล็อกเอาไว้   การเลือกวิธีการแบบนี้  RCT เรียกว่า การเลือกที่จะผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า (pre-commitment) เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง นั่นคือ  เพื่อประโยชน์ของชีวิตและทรัพย์สินทั้งของเขาและของผู้อื่น

ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนเข้าใจว่า เป้าหมายของพระองค์คือ ทำอย่างไรที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์จักรีไว้ไม่ให้เสื่อมโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดพระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายขึ้นในราชวงศ์ที่ใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจจนสร้างความเสียหายให้แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์และประเทศ

พระองค์ตระหนักดีว่า ไม่มีวิธีการใดที่จะให้หลักประกันในการได้มาซึ่งผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีและไม่ใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจ  อีกทั้งการคาดหวังให้ตัวบุคคลรู้จักควบคุมตัวเองให้ได้นั้นก็ดูเหมือนจะเป็นอุดมคติมากๆ และถือเป็นการเสี่ยงไม่น้อยด้วยเช่นกัน หากบุคคลนั้นไม่รู้จักควบคุมตัวเองภายใต้ระบอบการปกครองที่ให้มีอำนาจอย่างไม่จำกัด เมื่อถึงเวลานั้นก็ยากที่จะจำกัดอำนาจของบุคคลผู้นั้น  พูดง่ายๆก็คือ เมื่อถึงเวลานั้นก็สายเกินไปที่จะไปจำกัดการใช้อำนาจได้ทันท่วงที

รัชกาลที่เจ็ด

ที่สำคัญคือ คนที่มีเหตุมีผลย่อมจะรู้ตัวและคาดการณ์ได้ว่า มนุษย์และรวมทั้งตัวเองไม่ได้จะเป็นคนที่มีเหตุมีผลไปได้ตลอดเวลาทุกสถานการณ์  เพราะบางทีคนเราก็ไม่ได้มีจิตใจที่เข้มแข็งไปได้ตลอด บางครั้งและหลายๆครั้งอาจจะตกเป็นทาสอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลงได้ 

ดังนั้น การหาวิธีการที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ไม่ให้เสื่อม ก็คือ การหาวิธีการที่จะควบคุมไม่ให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัด  ซี่งก็คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้วิธีการผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า (pre-commitment) เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ราชวงศ์และประเทศชาติ

ในกรณีนี้ การผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้าคือ การตรากฎหมายจัดตั้งให้องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้พระราชอำนาจของตัวพระองค์เองและพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆไป หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง   ซึ่งเป็นข้อมูลที่พระองค์ทรงรับรู้เกี่ยวกับระบบของอังกฤษ      

วิธีการผูกมัดตัวเองนี้เท่ากับพระองค์ใช้เสรีภาพหรือสมัครใจที่จะจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองขึ้นมาจำกัดพระราชอำนาจตัวเอง  ซึ่งจะแตกต่างจากการกรณีที่พระมหากษัตริย์ที่ไม่คิดที่จำกัดอำนาจตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเพราะไม่มีสายตาอันยาวไกลพอที่จะคาดการณ์ความไร้เหตุผลของตัวเองที่จะเกิดขึ้นได้ในบางสถานการณ์ในอนาคต  นั่นคือ มั่นใจในตัวเองเกินไปว่าจะตัวเองจะมีเหตุมีผลอยู่เสมอ หรือไม่เคยคิดอย่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงคิด นั่นคือ ทุกราชวงศ์ย่อมต้องมีเสื่อม ไม่ว่าราชวงศ์นั้นจะประเสริฐเพียงใด และการมีพระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายในราชวงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในกรณีอย่างนี้ ยากที่บุคคลแบบนี้จะรู้จักใช้วิธีการผูกมัดตัวเองไว้ล่วงหน้า แต่ต้องรอให้คนอื่นมาบังคับให้อยู่ภายใต้กติกาที่คนอื่นสร้างขึ้นมาเพื่อตีกรอบการใช้อำนาจของตน ถ้ายังโชคดีที่คนอื่นที่ว่านี้ยังอยากให้หรือเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ !

การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีเป้าหมายที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ เพราะพระองค์เห็นว่า การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้จะเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ประเทศและราชวงศ์จักรี ดังที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ว่า ถ้าพระองค์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ได้จริงๆ ก็จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ประเทศและราชวงศ์จักรี  (I feel that If I succeed in evolving something really useful, I would have done a great service to my country and the Dynasty.)

และที่สำคัญคือ เป็นประโยชน์แก่ตัวพระองค์เอง ซึ่ง RCT เป็นทฤษฎีที่เน้นเรื่องการหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาหรือได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือปรารถนา

และองค์กรที่พระองค์ทรงคาดหวังให้เริ่มทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้พระราชอำนาจก็คือ คณะองคมนตรีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น (Perhaps the new Committee of the Privy Council could be made to serve that purpose in a small way ?)

พระราชดำริที่จะ “ผูกมัดสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ล่วงหน้า” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯถือเป็นจุดเริ่มต้นในการวิวัฒนาการไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างมีเหตุมีผล สมัครใจ ค่อยเป็นค่อยไป และไม่เสียเลือดเนื้อ เพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและยินยอมเองที่จะให้มีการจำกัดพระราชอำนาจ

 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490