ถ้าใครอยากทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการเตรียมตัวสู่ประชาธิปไตยอย่างไร สามารถอ่านได้จาก “Democracy in Siam” อันเป็นพระราชบันทึกที่พระองค์ทรงพระราชทานไปยังคณะองคมนตรี (the Privy Council) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ประเทศหนึ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อนำการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ ปัจจัยต่างๆที่ว่าได้แก่ ความรู้การศึกษาของประชาชน เงื่อนไขของสังคมนั้นๆที่พระองค์ใช้คำว่า “racial qualities” ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าหมายถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมนั้น ความรู้เท่าทันนักปลุกระดม ความสามารถในการตระหนักถึงผลประโยชน์อันแท้จริงของประชาชนเอง นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว พระองค์ยังตระหนักถึงความสำคัญในการฝึกหัดทดลองและเรียนรู้เพื่อหาหนทางที่จะได้ความคิดและวิธีการที่จะทำให้การปกครองแบบรัฐสภาสามารถดำเนินไปได้ในประเทศของเรา
ในการทดลองฝึกหัดกระบวนการประชาธิปไตย พระองค์ทรงเห็นว่า การที่พระองค์ทรงจัดตั้งคณะองคมนตรี (the Privy Council) ขึ้นมาก็เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองฝึกหัดและเป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตย โดยถือเป็นบันไดขึ้นแรกในการเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตย
แม้ว่าคณะองคมนตรีจะไม่สามารถเป็นตัวแทนความเห็นสาธารณะโดยทั่วไปได้ และก็ยังไม่ได้เป็นที่ประชุมที่จะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้จริงๆ แต่ก็สามารถเป็นที่ฝึกการอภิปรายโต้แย้งเหมือนกับการอภิปรายโต้แย้งกันในรัฐสภา และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการสะท้อนความเห็นสาธารณะได้ในระดับหนึ่ง
แต่แน่นอนว่า การจัดตั้งคณะองคมนตรีขึ้นในฐานะที่เป็นบันไดขั้นแรกในการเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตยคงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ และย่อมจะต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่า ไม่ว่าจะทำอะไรหรือจัดตั้งอะไรขึ้นมา ก็ย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆหายๆจากบุคคลบางกลุ่ม
นอกจากการจัดตั้งคณะองคมนตรีเพื่อเป็นการทดลองการประชุมอภิปรายในรัฐสภาแล้ว พระองค์ทรงเห็นว่า บันไดขั้นต่อไปในการให้ผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยก็คือ การจัดตั้งเทศบาล (municipalities) ขึ้น
การมีเทศบาลจะช่วยให้คนไทยได้รู้จักการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นการฝึกและทดลองที่มีประโยชน์และเป็นการแนะนำให้ประชาชนได้รู้จักกระบวนการประชาธิปไตยผ่านการควบคุมดูแลเรื่องราวกิจการในท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวก่อนที่จะพยายามไปควบคุมดูแลเรื่องราวในระดับชาติโดยผ่านกลไกรัฐสภา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเชื่อว่า หากริเริ่มการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านการทดลองการมีประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นก่อน การเริ่มมีการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่เกิดความเสียหายมากนัก แต่กระบวนการนี้จะต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังในแต่ละขั้นตอน แต่ถ้าล้มเหลวในทุกขั้นตอนของการทดลอง มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะโน้มน้าวประชาชนได้ว่า ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย แต่อันตรายมันอยู่ที่การขาดความอดทน !
ซึ่งต่อมาอีก ๓ ปี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นหนึ่งในคณะองคมนตรีที่ได้รับพระราชทานพระราชบันทึก “Democracy in Siam” ได้ “ได้ทรงเสนอ ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๗.. แก่ที่ประชุม โยทรงกล่าวถึงความสำคัญว่าเป็นการบำรุงอย่างหนึ่ง คือการบำรุงความสุขและอนามัยของประชาชนเป็นใหญ่ พระราชบัญญัติเทศบาลจึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องใหม่อีกด้วย และทรงได้เน้นย้ำความสำคัญของการมอบ ‘สิทธิ์’ แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรริเริ่มด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เองที่จะมอบ ‘สิทธิ์’ เหล่านั้นให้ประชาชนเองโดยที่ไม่ต้องให้เกิดการร้องขอ” (อ้างจาก จีรวุฒิ บุญรัศมี, สาแหรกของแนวความคิดนโยบายการปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลของไทย (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๗๘), สารนิพนธ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ปีการศึกษา ๒๕๖๓, หน้า ๙๙.)
และที่น่าสังเกตคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ อันปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชบันทึก “Democracy in Siam” ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริริเริ่มที่จะให้มีประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น โดยให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารจัดการเทศบาล ในบทความเรื่อง “ทูตพระศรีอาริย์” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมราษฎรฉบับวันจันทร์ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้มีข้อความว่า “ความเสมอภาคที่ได้รับจากผู้มีอำนาจเหนือประสิทธิ์ประสาทให้นั้น ไม่ใช่ความเสมอภาคอันแท้จริง เพราะยังมีผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่”
จากข้อความดังกล่าวใน “ทูตพระศรีอาริย์” แสดงว่า ไม่ว่าอย่างไร ผู้เขียนบทความนั้นจะไม่มีวันยอมรับการให้มีประชาธิปไตยจากพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะยังมีผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่” ในแง่นี้ตีความได้ว่า ผู้เขียนนั้นไม่ต้องการประชาธิปไตยที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ต้องการประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ
ดังนั้น ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงให้มีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น เขาหรือคนที่มีความคิดเช่นว่านี้ก็จะไม่มีวันยอมรับอยู่ดี และถ้าพระมหากษัตริย์จะเป็นฝ่ายริเริ่มให้เกิดประชาธิปไตยในระดับประเทศ คนเหล่านี้ก็คงจะไม่มีวันยอมรับแน่นอน เพราะพวกเขาเชื่อว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องมาจากการต่อสู้ของประชาชน และถ้าพวกเขายังซื่อสัตย์ต่อความคิดที่ว่า “ความเสมอภาคที่ได้รับจากผู้มีอำนาจเหนือประสิทธิ์ประสาทให้นั้น ไม่ใช่ความเสมอภาคอันแท้จริง เพราะยังมีผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่อยู่” พวกเขาก็จะไม่มีวันยอมให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปในประชาธิปไตยในความเข้าใจของพวกเขา
นอกจากพระราชดำริที่จะให้มีประชาธิปไตยในระดับเทศบาลแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯยังได้ทรงกล่าวถึงปัญหาอีกประการหนึ่งที่อยู่ในใจของวิญญูชนในประเทศ นั่นคือ อันตรายที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดของผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์
พระองค์ทรงเห็นว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกันกับประชาธิปไตย สามารถเป็นอันตรายได้ทุกเมื่อ เพราะหลักการของทั้งสองระบอบการปกครองอิงอยู่กับความสมบูรณ์แบบของธรรมชาติมนุษย์ แต่ธรรมชาติมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจะดีและเข้มแข็งได้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน เช่นกัน สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดีก็ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของพระมหากษัตริย์
การที่พระองค์ทรงกล่าวว่า “ประชาธิปไตยจะดีและเข้มแข็งได้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน” ทำให้อดนึกถึงข้อความของนักคิดอย่าง ฌอง-ฌาค รุสโซที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว และจะขอกล่าวในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง
รุสโซได้กล่าวถึงประชาธิปไตยไว้ว่า “ถ้าหากจะมีชนชาติใดพ้นแล้วซึ่งกิเลส ชนชาตินั้นก็ย่อมจะปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่ดีวิเศษถึงปานนี้หาเหมาะกับมนุษย์ปุถุชนไม่” (If there were a nation of Gods, it would govern itself democratically. A government so perfect is not suited to men.)
หรือใครที่เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสมากก็น่าจะเข้าใจข้อความดังกล่าวที่รุสโซเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสดังนี้ “Sʼil y avoit un peuple de Dieux, il se gouverneroit démocratiquement. Un Gouvernement si parfait ne convient pas à des hommes.”
ขณะเดียวกัน สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดีก็ย่อมขึ้นอยู่กับคุณภาพของพระมหากษัตริย์ แต่พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกราชวงศ์ ไม่ว่าจะประเสริฐเพียงใด ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องเสื่อม และอันตรายจากการมีพระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ และไม่ว่าจะมีการพยายามหาวิธีการใดๆในการที่จะได้พระมหากษัตริย์ที่ดีอยู่เสมอนั้น วิธีการต่างๆเหล่านั้นก็มักจะมีจุดอ่อนอยู่เสมอ
เช่น การใช้วิธีการเลือกพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ฟังดูดีในหลักการ แต่กระนั้น พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการเลือกมานั้น ก็ยังสามารถเป็นทรราชที่เลวร้ายที่สุดได้ ดังเห็นได้จากกรณีของบรรดาซีซาร์ของโรม
ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่เจ็ดในราชวงศ์จักรี ทรงยอมรับเองว่า
หนึ่ง ทุกราชวงศ์ย่อมต้องมีเสื่อม ไม่ว่าราชวงศ์นั้นจะประเสริฐเพียงใด และ
สอง การมีพระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายในราชวงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
และพระองค์เห็นว่า วิธีการได้มาซึ่งพระมหากษัตริย์ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะได้พระมหากษัตริย์ที่เลวร้าย แต่การมีสถาบันหรือองค์กรบางอย่างที่สามารถควบคุมพระมหากษัตริย์ได้อย่างในกรณีของอังกฤษ ซึ่งโดยรวมๆก็ใช้ได้ดี แต่บางครั้ง ก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นในกรณีของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งของอังกฤษ
ดังนั้น วิธีการที่จะป้องกันไม่ให้พระมหากษัตริย์ที่เลวร้ายใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจจนสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง คือการตั้งองค์กรหรือสถาบันขึ้นมาควบคุมการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เหมือนอย่างที่รัฐสภาของอังกฤษทำหน้าที่ดังกล่าวนี้
พระองค์จึงทรงกล่าวไว้ใน “Democracy in Siam” ที่เป็นพระราชบันทึกที่มีไปยังคณะองคมนตรีว่า พระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งสถาบันบางสถาบันเพื่อทำหน้าที่จำกัดการทำอะไรตามอำเภอใจหรือการกระทำที่ไม่ฉลาดของพระมหากษัตริย์ และพระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในวงเล็บไว้ด้วยว่า แต่คงไม่มีใครต้องการจะจำกัดการกระทำที่ดีของพระมหากษัตริย์
“I most earnestly desire to organize some institution which will serve to restrain any arbitrary or unwise actions of the King in Siam. (I presume that nobody will want to restrain his good actions?)”
พระราชดำริที่จะจัดตั้งสถาบันที่มาควบคุมพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นี้ หากเริ่มต้นในรัชสมัยของพระองค์ ก็เท่ากับว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงริเริ่มที่จะให้มีสถาบันที่มาควบคุมพระราชอำนาจของพระองค์เอง ซึ่งวิธีคิดดังกล่าวนี้เข้าข่ายการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า “Rational Choice Theory”
การคิดหาทางตั้งสถาบันมาจำกัดอำนาจตัวเองเป็นวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490