
ในตอนก่อน ผู้เขียนได้เริ่มสรุปความจาก “Democracy in Siam” อันเป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไปยังคณะองคมนตรี เนื่องจากได้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ นั่นคือ การเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่า การนำรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ จะสำเร็จได้ผลดีได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญสองประการ ได้แก่ คุณภาพการศึกษาของประชาชนและคุณสมบัติทางเชื้อชาติที่พระองค์ใช้คำว่า racial qualities ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษในสมัยที่พระองค์ทรงไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษใช้เขียนอธิบายความแตกต่างทางพฤติกรรมของผู้คนเชื้อชาติต่างๆ และพระองค์เห็นว่า racial qualities ของชาวแองโกล-แซกสันอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวแองโกล-แซกสันประสบความสำเร็จในใช้รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย
และผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้วด้วยว่า คำว่า racial qualities แพร่หลายในศตวรรษที่สิบเก้า แต่เมื่อเข้าศตวรรษที่ยี่สิบ นักวิชาการทางมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ได้หันมาใช้คำว่าวัฒนธรรม และวัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) แทนคำว่า racial qualities เพื่อทำให้ไม่เกิดอคติทางเชื้อชาติ และความคิดเหยียดหรือเทิดทูนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง (racism)
ผู้เขียนไม่แน่ใจและไม่ทราบว่า พระองค์เข้าใจคำว่า Anglo-Saxon อย่างไร แต่เท่าที่สืบค้นคำว่า Anglo-Saxon จะพบว่า หมายถึงผู้คนในพื้นที่แถบเยอรมนีตอนเหนือและสแกนดิเนเวียตอนใต้ที่อพยพมาตั้งรกรากที่อังกฤษ ดังนั้น คำว่า Anglo-Saxon จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนอังกฤษเท่านั้น ขณะเดียวกัน คำว่า Anglo-Saxon ก็ไม่ได้รวมถึงชาวสแกนดิเนเวียทั้งหมด
แต่ที่ผู้เขียนอยากจะให้ข้อมูลสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯในเรื่องที่ว่าวัฒนธรรมทางการเมือง (หรือที่พระองค์ใช้ว่า racial qualities) เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการใช้รูปแบบการปกครองประชาธิปไตย ข้อมูลที่ว่านี้ได้แก่ สภาตามท้องถิ่นๆในสังคมสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะที่สวีเดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบรัฐสภาของสวีเดนมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือชื่อที่เป็นสากลคือ ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)
สภาท้องถิ่นที่ว่านี้ในภาษาสวีดิชเรียกว่า ting ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานที่ถือเป็นจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนตั้งแต่ยุคไวกิ้ง สภาหรือที่ประชุมของชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆในสวีเดนมีอำนาจในการเลือกและถอดถอนพระมหากษัตริย์ และมีอำนาจในการออกกฎหมายและตัดสินคดีความภายในท้องถิ่นของตน และจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนหรือชาวบ้านสวีเดนมีความเป็นอิสระและสามารถถ่วงดุลอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
แต่ ting เกิดขึ้นได้อย่างไร ? นักวิชาการเองก็ไม่สามารถอธิบายและหาคำตอบที่ชัดเจนแน่นอนได้ว่า ทำไมจึงเกิดประเพณีการปกครองที่มีสภาท้องถิ่นหรือ ting ขึ้นในสังคมสวีเดน ! และเมื่อคิดหาเหตุผลอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็อาจจะต้องลงไปที่วัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งยากที่จะอธิบายเช่นกันว่า วัฒนธรรมทางการเมืองในแต่ละสังคมนั้นๆเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในบทความตอนนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงสาระสำคัญของ “Democracy in Siam” ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า หากเกิดการปกครอบระบบรัฐสภาขึ้นในเมืองไทย รัฐสภาจะถูกครอบงำไปด้วยกลุ่มหรือพรรคของคนมีเงิน ซึ่งคนมีเงินในบริบทสังคมไทยขณะนั้น คือ คนจีน พระองค์จึงทรงกล่าวว่า รัฐสภาจะถูกครอบงำไปด้วยกลุ่มหรือพรรคของคนจีน
เพราะการมีระบบรัฐสภา หมายถึงมีการเลือกตั้งผู้แทนเข้าสภา ใช้อำนาจทางการเมืองแทนประชาชน และการเลือกตั้งจะถูกครอบงำจากคนมีเงิน ภายใต้บริบททางการเมืองขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า แม้ว่าจะสามารถกีดกันคนจีนไม่ให้มีสิทธิ์ทางการเมืองได้ แต่อย่างไรก็ตาม คนจีนก็จะยังคงครอบงำเหมือนเดิม “เพราะพวกเขามีเงินสดๆ” (“since they hold the hard cash.”) พรรคการเมืองใดที่ไม่พึ่งเงินทุนจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ดังนั้น การเมืองไทยจะต้องถูกครอบงำและถูกบงการโดยนายทุน และนี่เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นจริงๆในที่สุด
ซึ่งพระราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้ ก็ประจักษ์ชัดว่าเป็นจริงแม้แต่ในปัจจุบัน และไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่นักการเมืองส่วนใหญ่จะต้องมาจากครอบครัวหรือตระกูลที่มีฐานะร่ำรวย ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกเองก็เป็นเช่นนั้น ดังที่ฟิลลิป ซี. ชมิทเทอร์ (Philippe C. Schmitter) ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก, ยุโรปและสแตนฟอร์ดได้กล่าวไว้ในคำบรรยายเรื่อง “The Future of 'real-existing' Democracy” เมื่อปี พ.ศ. 2554 นี้เอง



พระองค์ทรงชี้ว่า มีเหตุผลข้อโต้แย้งมากมายที่จะสนับสนุนความคิดที่ว่า ประเทศไทยยังไม่สมควรต้องมีรูปแบบการปกครองในระบบรัฐสภา แต่ถ้ามีเหตุผลมากมายเช่นนั้นแล้ว ทำไมจะต้องมาคิดเรื่องประชาธิปไตยหรือคิดเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตยด้วยเล่า ?
พระองค์ทรงตอบว่า ก็เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดอย่างมีเหตุผล (“think rationally” เพราะถ้าคนส่วนใหญ่คิดอย่างมีเหตุผล พวกเขาก็คงจะเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย และก็คงยังไม่เรียกร้องประชาธิปไตย/ผู้เขียน) แต่คนส่วนใหญ่มักจะใช้อารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นฝูงชน (the crowd) และอย่างไรเสีย มันก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่วันหนึ่ง คนไทยจะส่งเสียงเรียกร้องให้มีรัฐสภา ซึ่งที่จริง ก็เริ่มมีสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นให้เห็นในกรุงเทพฯแล้ว
พระองค์ทรงเห็นว่า มันมีเหตุผลชัดเจนที่การปกครองแบบรัฐสภาไม่เหมาะสมสำหรับคนไทยในขณะนั้น แต่ถ้าอธิบายด้วยเหตุผลดังกล่าวต่อฝูงชน ฝูงชนก็จะตะโกนส่งเสียงดังขึ้นไปอีกว่า พวกเขากำลังถูกกดขี่ปิดกั้นโดยชนชั้นปกครองที่เป็นทรราช และมันก็อาจจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาได้ แต่พระองค์ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรร้ายแรงมากนัก เพราะ พระองค์ไม่เชื่อว่า ณ ขณะนั้น จะมีคนไทยคนใดจะยอมพลีชีพเพราะความศรัทธาทางการเมือง (At the present moment I do not believe that there is any Siamese who would sacrifice his life for a political faith) ซึ่งคำว่า political faith นี้ ผู้เขียนเห็นว่า ถ้ากล่าวในภาษาปัจจุบันก็คือ อุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) นั่นเอง
พระองค์ทรงกล่าวต่อไปว่า อาจจะเป็นได้ว่า บางประเทศนำการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ก็เพียงเพราะความจำเป็น ทั้งๆที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่า มันไม่เหมาะสมกับอุปนิสัยใจคอของคนของตน และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหลายๆประเทศจึงแสร้งเล่นว่ามีรัฐสภา (That is why there are countries who play at having parliaments.)
คำว่า play at ที่พระองค์ใช้นี้ ในความหมายแบบอังกฤษ จะสื่อถึงการที่เราแกล้งแสดงอะไรบางอย่างหรือสวมบทอะไรบางอย่าง เช่น ข้อความที่ว่า She liked to play at doctors and nurses as a child. ซึ่งหมายความว่า ตอนเด็กๆ เธอชอบเล่นเป็นหมอหรือพยาบาล หรือตอนเด็กๆ นายไชยันต์ชอบเล่นเป็นไอ้มดแดง เป็นต้น
และพระองค์ทรงกล่าวต่อไปว่า เมื่อถึงเวลาจำเป็น เราก็อาจจะต้อง “เล่น” บทมีรัฐสภา-ประชาธิปไตยเช่นกัน
ข้อความที่ว่า เมื่อถึงเวลาจำเป็น เราก็อาจจะต้องเล่นว่ามีประชาธิปไตยนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึง Juan Linz และ Alfred Stepan นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ในสาขาการเมืองเปรียบเทียบที่กล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นกติกาหรือเกมหนึ่งเดียวที่มีให้เล่น (the only game in town) โดยทั้งสองต้องการสื่อว่า ประชาธิปไตยจะตั้งมั่นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในประเทศนั้นจะต้องเห็นว่า รูปแบบการปกครองเดียวเท่านั้นที่มีให้คุณใช้ นั่นคือ ประชาธิปไตย เพราะถ้าหากประชาชนยังคิดว่ามีตัวเลือกอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยก็ยากที่จะลงหลักปักฐานได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 57)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 56)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3
ความเห็นของต่างชาติต่อการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476: (66) : การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476-กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม
'อ.ไชยันต์' มั่นใจไม่มีปัญหาลักษณะต้องห้าม สมัครตุลาการศาลรธน.คนใหม่
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 55)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 54)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475