เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๔)

 

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕  การเมืองไทยเว้นว่างรัฐประหารเป็นเวลา ๑๔ ปี และเป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับว่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๑ ที่เป็นช่วงที่ปลอดรัฐประหาร แต่การเมืองอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารและไม่ได้มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   

สำหรับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ สาเหตุที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ คือการเกิดชุมนุมของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล  ด้วยก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีการชุมนุมของประชาชน แต่จะเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น  เช่น การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เริ่มจากสาเหตุการเลือกตั้งสกปรก มีนิสิตนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านเป็นจำนวนเรือนแสน ซึ่งนับว่ามีจำนวนมากที่สุดนับแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และถือว่ามีจำนวนมากทั้งๆที่เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนสมัยนี้  แต่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมก็เป็นประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น ไม่มีประชาชนที่ออกมาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล 

หรือในกรณีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ประเมินได้ว่ามีนิสิตนักศึกษาและประชาชนออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลถึงห้าแสนคน ก็เป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเท่านั้นเช่นกัน และเช่นเดียวกันกับในปี พ.ศ. ๒๕๐๐  จำนวนห้าแสนคนในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ นับว่าเป็นจำนวนมากภายใต้ข้อจำกัดของเทคโนโลยีการสื่อสารในสมัยนั้น  ส่วนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  แม้ว่าจะมีประชาชนที่เห็นต่างจากนิสิตนักศึกษาและออกมาชุมนุมต่อต้านและใช้กำลังความรุนแรงอย่างทารุณโหดร้ายต่อนิสิตนักศึกษา แต่จำนวนไม่ได้มากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และ พ.ศ. ๒๕๑๖

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมากคือ ปัจจัยพัฒนาการเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเกิดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองที่สามารถมีรายการสดที่ถ่ายทอดออกอากาศตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ สามารถปลุกระดมมวลชนจากทั่วประเทศให้ออกมาชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาล ผนวกกับพัฒนาการการเติบโตและตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไป ได้มีการสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของผู้นำมวลชนหรือนักปลุกระดม (demagogues) ในการขับเคลื่อนมวลชน สร้างความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม และไม่เปิดโอกาสให้มวลชนของตนได้มีบทสนทนากับมวลชนของฝ่ายตรงข้าม ด้วยผู้นำมวลชนไม่ต้องการที่จะสร้างมวลชนที่สามารถคิดวิเคราะห์วิพากษ์ด้วยความคิดของตัวเองได้  (critical mass) พอที่จะทำให้เกิด “การเมืองภาคประชาชน” ที่เข้มแข็ง อิสระและมีคุณภาพ 

อีกทั้งการเผยแพร่วาทกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายใต้พัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการสื่อสารที่เข้าถึงผู้คนในเวลาเดียวกันพร้อมกันทันที (real time media) และกว้างขวาง ส่งผลให้การสร้างและใช้วาทกรรมเกินจริงของปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นโดยแกนนำมวลชนนักปลุกระดม (demagogues) มีอิทธิพลผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพต่อมวลชนในจำนวนที่มากกว่าในช่วงที่ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยดังกล่าว 

อิทธิพลของเทคโนโลยีในการสื่อสารที่ส่งผลให้เกิดการปลุกเร้าและยกระดับความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองออกไปในวงกว้างและในระดับที่เข้มข้นในการระดมผู้คนออกมาชุมนุม อันปรากฏให้เห็นได้ในประเทศต่างๆ ได้แก่

๑. สาธารณรัฐประชาชนจีน: จลาจลและการใช้กำลังความรุนแรงครั้งประวัติการณ์ระหว่าง       ชนชาติมุสลิมอุยกูร์และชาวจีนฮั่นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒   จนทำให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางของจีนต้องออกนโยบายคุมเข้มการรับส่งข้อมูลสื่อสารในมณฑลซินเจียง   

จลาจลในจีน พ.ศ. ๒๕๕๒

๒. อาหรับสปริง: คลื่นปฏิวัติการเดินขบวน การประท้วงและสงครามซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓  ตราบจนปัจจุบันโดย “social media” มีบทบาทสำคัญทำให้เกิดคลื่นปฏิวัติดังกล่าว ผู้ปกครองถูกโค่นจากอำนาจในตูนิเซีย  อียิปต์  ลิเบีย  และเยเมน  การก่อการกำเริบพลเมืองอุบัติขึ้นในบาห์เรน  และซีเรีย  การประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในอัลจีเรีย  อิรัก  จอร์แดน  คูเวต  โมร็อกโก และซูดาน  และการประท้วงเล็กเกิดในเลบานอน  มอริเตเนีย โอมาน  ซาอุดิอาระเบีย  จิบูตี  และ เวสเทิร์น สะฮารา  

จลาจลที่ที่ท็อตแนม อังกฤษ พ.ศ. ๒๕๕๔

๓. สหราชอาณาจักร: จลาจลเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่เริ่มต้นที่ท็อตแนม ตอนเหนือของลอนดอน  และลามไปสู่บริเวณอื่นของกรุงลอนดอนและพื้นที่อื่นอีกบางพื้นที่ของแคว้นอังกฤษ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การจลาจลในอังกฤษครั้งนี้รุนแรงมาก เนื่องจาก กลุ่มผู้ก่อเหตุนัดแนะกันผ่านโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอรี่

นอกจากการสร้างวาทกรรมเกินจริงเพื่อปลุกเร้ามวลชนแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกดึงเข้ามาเป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้จงรักภักดีกับผู้ต้องการลดทอนพระราชอำนาจหรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนำไปสู่การเกลียดชังโกรธแค้นระหว่างคู่ขัดแย้งอย่างรุนแรง

จากปรากฏการณ์ต่างๆที่กล่าวไปนี้ก็ได้นำมาซึ่งการทำรัฐประหารอีกครั้งที่หลังจากเว้นวรรคไปเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกในศตวรรษที่ยี่สิบของไทย และเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีเสถียรภาพมั่นคงจากการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภาฯเป็นจำนวนถึง 377 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 500 ที่นั่งคิดเป็น 75.4% ถือเป็นคะแนนเสียงที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทยที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดพรรคเดียวสามารถได้มาก่อน  ขณะเดียวกัน ก่อนหน้ารัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙  การเมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและมีความต่อเนื่องของระบบรัฐสภามาเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี นับเป็นเวลาของเสถียรภาพทางการเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย  ส่งผลให้เกิดข้อกังขาว่าการเมืองไทยจะกลับเข้าสู่วังวนของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอีกหรือไม่ ตามที่ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิชได้เคยเสนอกรอบเรื่องวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗  ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็ดูจะเป็นวิกฤตการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยเช่นกัน

 “ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นี้คืออะไร ?  โปรดติดตามตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 59)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม

ความเห็นของต่างชาติต่อการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476: (69) : การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476-กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง)

หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง) เซอร์ รอเบิร์ต ฮอลแลนด์ และ นายแบกซ์เตอร์ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 57)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 56)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3

ความเห็นของต่างชาติต่อการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476: (66) : การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476-กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม