
ตอนที่แล้ว ได้กล่าวสาเหตุที่การเมืองไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๔ ปลอดรัฐประหารเพราะฝ่ายที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารเป็นผู้ครองอำนาจเอง นั่นคือ อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๔ ปลอดรัฐประหารเพราะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร นั่นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่กระนั้น ก็มีความพยายามทำรัฐประหารถึง ๒ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถต้านทานกระแสความพยายามทำรัฐประหารได้สำเร็จคือ
ก. ปัจจัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ข. ปัจจัยความไม่เป็นเอกภาพภายในกองทัพ ค. ปัจจัยภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์มีประวัติใสสะอาด อย่างไรก็ตาม การเมืองภายใต้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรียังอยู่ในสภาวะที่เรียกขานกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะพลเอกเปรมไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและไม่ได้รับการเสนอโดยพรรคการเมืองเหมือนในกรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อและลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา จะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ในตอนสมัครรับเลือกตั้ง
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ การเมืองไทยปลอดรัฐประหารเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี การปลอดรัฐประหารในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙ แตกต่างจากช่วงปลอดรัฐประหารสองช่วงก่อนหน้า เพราะไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งกองทัพก็ถอยห่างจากการเมืองเพราะภาพลักษณ์ตกต่ำจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้นักการเมืองพรรคต่างๆสามารถต่อสู้ช่วงชิงในการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย
ช่วงเวลา ๑๔ ปีนี้เป็นช่วงแห่งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายฐานกว้างมากขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย อีกทั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังได้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง ในช่วงที่บทบาทของกองทัพลดน้อยถดถอยลง บทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองโดดเด่นขึ้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างนักการเมืองกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงส่งผลให้เกิดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่นักการเมืองต้องลงทุนในลักษณะต่างๆ กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อให้ได้คะแนนเสียงชนะพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์และในที่สุดคือ นโยบายประชานิยมในทุกรูปแบบ
สอง การเลือกตั้งได้กลายเป็นเดิมพันสำคัญทางการเมืองและธุรกิจมากขึ้นกว่าในสมัยพลเอกเปรมที่เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกองทัพยังมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่มาก ส่งผลให้ “คนนอก” ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การชนะเลือกตั้งของพรรคการเมืองย่อมหมายถึงการได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค
สาม บทเรียนจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ถูกทำรัฐประหารโดยกองทัพเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง และรัฐประหารโดย รสช. ได้รับการตอบรับจากสังคมในช่วงแรก แต่เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ และภาพลักษณ์ในด้านลบของทหารได้กลบภาพการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเอิกเกริก ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งแก้ปัญหาที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความชอบธรรมในการทำรัฐประหารในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง
ซึ่งคุณจีรนันท์ สิทธิกัน ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า “การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เรียกขานกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั้น ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง เพราะในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๕ นั้น การเมืองมีปัญหาใหญ่ๆ อยู่ ๒-๓ ประการด้วยกัน นั่นคือ
๑. การเมืองมีลักษณะเป็นการเมืองของนักการเมือง พลเมืองเจ้าของประเทศซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสรีภาพน้อยและไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองเลย การเมืองของนักการเมืองหรือที่เรียกขานกันว่าระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (representative democracy) ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การบิดเบือนนโยบายที่ทำจริงไปจากนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น
๒. การเมืองไม่ได้รับความเชื่อถือโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่สุจริตของระบบการเมืองจึงทำให้ฝ่ายการเมืองขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา ความไม่สุจริตในระบบการเมืองเป็นที่ทราบกันทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การซื้อเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง การถอนทุนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ประกอบกับระบบตรวจสอบและการควบคุมการใช้อำนาจไม่ดีพอทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และไม่สามารถปราบปรามการทุจริตให้หมดสิ้นไปได้
๓. เป็นการเมืองที่รัฐสภาและรัฐบาลขาดเสถียรภาพและความต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีขาดสภาวะผู้นำทั้งรัฐบาลและรัฐสภาขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานแก้ปัญหาบ้านเมือง เนื่องจากเกิดจากการเป็นรัฐบาลผสมกันหลายพรรค ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกในการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐสภาบ่อยครั้งก่อให้เกิดเรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือในความต่อเนื่องของนโยบายอย่างมากสำหรับชาวต่างประเทศและนักธุรกิจ
สี่ การปรับตัวของพรรคการเมืองในกระแสประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่เริ่มมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มุ่งปฏิรูปการเมือง เริ่มมีองค์กรอิสระที่กำกับการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคหันไปใช้นโยบายประชานิยมที่ให้ประโยชน์เฉพาะหน้าและไม่ยั่งยืน รวมทั้งหันไปใช้วิธีการที่แยบยลมากขึ้นในการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมืองไทยครั้งสำคัญรุนแรงที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน
ห้า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕” ได้ส่งผลให้นักรัฐศาสตร์อย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น นั่นคือ “ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย” ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยได้สะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๖ อันเป็นที่การเมืองไทยอยู่ระหว่างภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงจนเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหาร และความพยายามสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร แต่ก็ต้องจบลงด้วยการลุกฮือต่อต้านจากประชาชนที่ประกอบไปด้วยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าวยุติลงได้ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้อธิบายว่า ความไม่มั่นคงลงตัวของระบอบประชาธิปไตยนับแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ (อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”) จนกระทั่งกลางทศวรรษ ๒๕๓๐ (ที่มวลชนคนชั้นกลางลุกขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) เป็นผลมาจากคนชั้นกลางในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการประชันขันแข่งทางการเมืองระหว่างคณะทหารและพรรคการเมือง มีโลกทัศน์ต่อ “ประชาธิปไตย” แตกต่างกัน จนกล่าวได้ว่า คนชนบทเป็นผู้ “ตั้ง” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานเสียง” ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง ขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ “ล้ม” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานนโยบาย” ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องกดดันรัฐบาล ไปจนถึงการเชื้อเชิญให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ การสำนึกรู้และความเข้าใจ “ประชาธิปไตย” ที่ต่างกันนี้จึงกลายเป็นมูลเหตุให้การเมืองไทย “เหวี่ยงไปมาระหว่างเผด็จการที่ล้าหลังกับประชาธิปไตยที่ขาดความชอบธรรม”
และการที่จะก้าวพ้นจากสภาพสองนคราประชาธิปไตยได้ก็คือ การแสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย และจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า พรรคไทยรักไทยได้นำไปประยุกต์สร้างยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ “แสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย” อันส่งผลให้เกิดการเติบโตทางการเมืองของพลังประชาชนของผู้ใช้แรงงานในชนบท รวมทั้งที่เติบโตเป็นชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองออกมาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นกลางระดับสูงจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยด้วย
หก นอกจากยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่นำมาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งสนับสนุนพรรคไทยรักไทยจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ต้องการลดจำนวนพรรคการเมืองในสภาได้เสริมให้เหลือพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรคเท่านั้น อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคอันได้แก่ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้ว่าแต่ละพรรคจะมีฐานเสียงที่จงรักภักดีกระจายทั่วไปตามกลุ่มชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ฐานเสียงของแต่ละพรรคยังแบ่งไปตามภูมิภาคอีกด้วย นั่นคือ โดยส่วนใหญ่แล้ว พรรคไทยรักไทยมีฐานเสียงในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงเข้มแข็งในภาคใต้ ส่งผลให้ประชาชนที่ออกมาสนับสนุนและต่อต้านนอกจากจะแบ่งไปตามกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ยังแบ่งออกไปตามฐานเสียงในภูมิภาคภายใต้อารมณ์ความรู้สึกแบ่งแยกแบบภูมิภาคนิยมอย่างเข้มข้นชัดเจนอีกด้วย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น และปรากฏการณ์ที่ประชาชนออกมาสนับสนุนและต่อต้านจำนวนมากก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย (ต่อตอนหน้า)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเห็นของต่างชาติต่อการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476: (66) : การยึดอำนาจวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476-กบฏบวรเดช (คณะกู้บ้านกู้เมือง)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม
'อ.ไชยันต์' มั่นใจไม่มีปัญหาลักษณะต้องห้าม สมัครตุลาการศาลรธน.คนใหม่
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการปิดรับสมัครไปเมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
'หัวหน้าเท้ง' ด่าเช็ด! รัฐบาลอ้างคนค้านกาสิโนสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐม
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 55)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 54)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 53)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475