หากมองในภาพรวมแล้ว จะพบแนวโน้มที่รัฐประหารไทยจะลดน้อยลงดังที่ได้แสดงให้เห็นไปตอนที่แล้ง และเมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่ปลอดรัฐประหารในการเมืองไทย เราจะพบว่ามีสามช่วง อันได้แก่ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2501-2514, ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534. และช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาทั้งสามนี้มีในระยะเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ 13-14 ปี
ปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาทั้งสามนี้ปลอดรัฐประหารมีดังต่อไปนี้คือ
หนึ่ง “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๔”
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๖ เป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่มีการเลือกตั้ง และไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ และอยู่ในช่วงระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากมติสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ จอมพลถนอมและนายทหาร-ตำรวจและอดีตข้าราชการระดับสูงได้ร่วมกันตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคสหประชาไทย” และลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยรองหัวหน้าพรรคได้แก่ จอมพลประภาส จารุเสถียร ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลาเดียวกันด้วย รวมทั้งรองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่งคือ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ยังดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมตำรวจ (ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) ในเวลาเดียวกันด้วย การควบรวมทั้งอำนาจฝ่ายการเมืองและอำนาจฝ่ายราชการโดยเฉพาะทหารและตำรวจส่งผลให้รัฐบาลในช่วงเวลานั้นมีเอกภาพความเข้มแข็ง แต่กระนั้น เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร จอมพลถนอมในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ยังต้องใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีการทำรัฐประหารตัวเองในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ สรุปได้ว่า สภาวะปลอดรัฐประหารในช่วงนี้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารเป็นผู้ครองอำนาจเอง ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๑ ต้องสิ้นสุดลง และมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๑๕
สอง “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๔”
คณะรัฐประหารที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ได้ทำรัฐประหารอีกครั้งหลังจากครั้งแรกวันที่ ๖เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ จากสาเหตุไม่พอใจรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียรที่มีแนวนโยบายรัฐที่ขวาจัด หลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๒๐ หัวหน้าคณะรัฐประหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง นั่นคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ อันเป็นที่มาของการเมืองไทยในแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตีรัฐบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยขณะนั้น พลเอกเปรมยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยในเวลาเดียวกัน และยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปจนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะที่พลเอกเปรมควบรวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกอยู่นั้นก็ตาม ได้มีการพยายามทำรัฐประหารเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑-๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ในที่สุดก็ต้องล้มเหลว ด้วยทางฝ่ายรัฐบาล พลเอกเปรมได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ส่งผลให้การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔
กล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถต้านทานกระแสความพยายามทำรัฐประหารได้สำเร็จคือ
ก. ปัจจัยสถาบันพระมหากษัตริย์
ข. ปัจจัยความไม่เป็นเอกภาพภายในกองทัพ
ค. ปัจจัยภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์มีประวัติใสสะอาด
ขณะเดียวกัน หนึ่งในเหตุผลสำคัญนอกเหนือไปจากเหตุผลสามข้อที่ทำให้ความพยายามทำรัฐประหารของพลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมาล้มเหลวก็คือ การที่พลเอกสัณฑ์เคยมีข่าวพัวพันในกรณีสังหารประชาชนจำนวนราว ๑,๐๐๐-๓,๐๐๐ คนในจังหวัดพัทลุงในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อปฏิบัติการ “ถีบลงเขาเผาถังแดง” ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ถูกเปิดเผยโดยทางการสหรัฐอเมริกาหลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วกว่าสี่สิบปี ข้อมูลดังกล่าวนี้น่าจะเป็นที่รู้กันภายในทหารระดับสูงของไทย (ดู Matthew Zipple, “Thailand’s Red Drum Murders Through an Analysis of Declassified Documents,” Southeast Review of Asian Studies 36, 2014)
ปัจจัยทั้งสามนี้ก็ส่งผลให้การเมืองไทยปลอดรัฐประหารไปจนถึงพลเอกเปรมพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหลังจากที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาถูกทำรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๓๔
สี่ “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ สถานะชื่อเสียงและ ความไว้วางใจต่อกองทัพในสังคมไทยได้ตกต่ำลงไปอย่างมาก อีกทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองอย่างแข็งขันของประชาชนชนชั้นกลางที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าจะยอมรับการทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง แม้ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม กล่าวได้ว่า ความตื่นตัวและเติบโตของพลังประชาชนชั้นกลางในทางการเมืองในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นผลพวงจากความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่มีผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ภายใต้ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙ นี้ มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และพรรคการเมืองผลัดเปลี่ยนขึ้นมาเป็นรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีคือหัวหน้าพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งบริบทการเมืองระหว่างประเทศได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็นที่เน้นการค้าเสรีและการค้าผ่านการติดต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เศรษฐกิจไทยได้ถูกผนวกเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้นในแง่ของทั้งโอกาสและวิกฤตในเวลาเดียวกัน
และช่วงเวลา ๑๔ ปีแห่งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ก็ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายฐานกว้างมากขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย อีกทั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังได้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญดังที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป
(แหล่งอ้างอิง: Suchit Bunbongkarn, “The Armed Forces and Democratic Development in Thailand,” in Military Engagement: Influencing Armed Forces Worldwide to Support Democratic Transition Volume II, ed. Dennis C. Blair (Washington, DC: Brookings Institution Press, 2013).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม
เหลี่ยมจัด! 'หัวเขียง' ขอปรับแก้ 24 จุด กม.สกัดรัฐประหาร ก่อนดันเข้าสภาฯอีกรอบ
นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67
วิสุทธิ์พลิ้ว! ปมกฎหมายยึดอำนาจกองทัพ
'วิสุทธิ์' ลั่นพรรคไหนก็ไม่เอาด้วยทั้งนั้น 'รัฐประหาร' ยอมรับ ร่าง กม.'ประยุทธ์' จัดระเบียบกลาโหม หลายคนติงให้ถอนมาปรับปรุง ชี้บางพรรคยังไม่เห็นของ 'เพื่อไทย' เลยไม่สบายใจ แต่ต้องคุยกัน
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค
'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม
'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้
'ทั่นเต้น' ประกาศหนุนร่างยึดอำนาจกองทัพแม้ไม่เชื่อสกัดรัฐประหารได้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก