ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (ตอนจบ)
ตอนที่แล้วได้เล่าถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ ลีกวนยู ในการเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 31 ปี (พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2533) และไม่ได้อยู่ยาวแบบคนสิงคโปร์ไม่ได้อะไร แต่นายลีสามารถทำให้สิงคโปร์ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่คนทั่วโลกรู้จัก แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพของเราเสียอีก ข้อดีคือ คนสิงคโปร์อยู่ดีกินดี แต่ข้อเสียคือไม่ค่อยจะสนใจเรื่องเสรีภาพกับการเรื่องการเมืองมากเหมือนคนในบ้านเรา
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่สอง และ นายลีกวนยู
มาตอนนี้จะกล่าวถึงระบอบการปกครองของสิงคโปร์ที่นายลีเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง 31 ปี ก่อนอื่นต้องกล่าวขึ้นต้นไว้ว่า สิงคโปร์เป็นสาธารณรัฐ นั่นหมายความว่า ในการปกครองของเขา ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทีนี้ การปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือ แบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ (เทียบเท่าพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ) และนอกจากจะเป็นประมุขของรัฐแล้ว ยังเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารด้วย (เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ) ดังนั้น การปกครองของสหรัฐอเมริกาจึงไม่มีนายกรัฐมนตรี เพราะทั้งประมุขของรัฐ (พระมหากษัตริย์) และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) รวมอยู่ในตำแหน่งเดียวโดยคนๆเดียว ท่านผู้อ่านลองคิดดูเอาเองว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมีอำนาจมากขนาดไหน ! เรียกได้ว่าเป็น ทูอินวัน เลย ดังนั้น ผู้ออบแบบระบอบการปกครองของสหรัฐฯที่ให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมาก จึงต้องคิดหาทางออกแบบการแบ่งแยกการใช้อำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุลให้ดี มิฉะนั้นแล้ว ประธานาธิบดีจะแปลงร่างกลายเป็น ทรราช ได้ง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องยกย่องคณะผู้ออกแบบการปกครองของสหรัฐฯอย่างยิ่ง เพราะถ้าเปรียบเป็นบ้านแล้ว ก็ถือว่าคณะผู้ร่างหรือออกแบบการปกครองและเขียนไว้เป็นพิมพ์เขียวที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ นั้น เป็นคณะสถาปนิกที่สุดยอด ที่สามารถออกแบบ “บ้าน” ใหม่ที่ดูเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จริงแล้ว มีส่วนผสมของเก่าและของที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอยู่ไม่น้อย
ที่ว่ามีส่วนผสมของเก่า ก็คือ ชาวโรมันโบราณก็เคยปกครองในแบบสาธารณรัฐมาก่อน และคำว่า republic นี้ก็มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า “เป็นของทุกคน” ดังนั้น ผู้ออกแบบ “บ้าน” อเมริกันนี้ ก็ได้ไปศึกษาตัวแบบการปกครองโบราณของโรมันด้วย
ส่วนของที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนั้น ก็คือ สาธารณรัฐดัทช์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1588 และยังคงดำรงอยู่ในช่วงที่สหรัฐฯประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 และที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ สาธารณัฐดัทช์มีอิทธิพลต่อคณะผู้ร่างหรือออกแบบการปกครองหรือรัฐธรรมนูญอเมริกันอย่างยิ่ง
สาธารณรัฐดัทช์ (Dutch Republic) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1588 ประกอบไปด้วยรัฐเล็กๆ 7 รัฐที่รวมตัวกันต่อสู้กับสเปนที่เข้ามาปกครองเหนือดินแดนเหล่านี้ หลังจากเป็นอิสระจากสเปนแล้ว รัฐทั้ง 7 นี้ก็ได้รวมกันเป็นสาธารณรัฐดัทช์ และมีตำแหน่งผู้ปกครองที่มาจากการเสนอชื่อใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหรือผู้มีเชื้อพระวงศ์ แต่ในทางปฏิบัติสาธารณรัฐก็ยังแต่งตั้งเจ้าขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้อยู่ดี และไปๆมาๆ ตำแหน่งนี้กลับสืบทอดทางสายโลหิตอีก กลับไปเหมือนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต่างจากสาธารณรัฐโรมันโบราณที่ตำแหน่งผู้ปกครองมีการสืบทอดทางสายโลหิตเกิดขึ้น และบางทีก็กลับไปไม่สืบสายโลหิต เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ของสาธารณรัฐดัทช์ก็ต้องการให้ตำแหน่งนี้มีอำนาจมาก ซึ่งถ้ามากๆเข้าก็จะกลายพันธุ์กลับไปเป็นกษัตริย์หรือจักรพรรดิอีก ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่อยากให้ตำแหน่งมีอำนาจมาก แต่อยากให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาเสียมากกว่า
ดังนั้น ถึงแม้ว่า สาธารณรัฐดัทช์จะยังไม่เป็นสาธารณรัฐเต็มตัว เพราะดันกลับไปมีการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิต แต่ปัญหาการคัดง้างกันระหว่างตำแหน่งผู้ปกครองกับฝ่ายสภาก็ยังดูคล้ายระบอบการปกครองของอังกฤษก่อน ค.ศ. 1688 ที่พระมหากษัตริย์คัดง้างกับฝ่ายรัฐสภา และในที่สุด ดัทช์ก็กลับมาปกครองโดยสถาบันพระมหากษัตริย์อีก และในปี ค.ศ. 1814 ดัทช์ได้เข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกและดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของดัทช์นั้นเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับนอร์เวย์ และหลังจากสวีเดนเพียง 5 ปี และก่อนเดนมาร์ก 35 ปีและก่อนไทย 118 ปี
และในปี ค.ศ. 1814 นี้เองที่นอกจากดัทช์จะเข้าสู่การปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูแล้ว ฝรั่งเศสเองก็เข้าสู่การปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เพราะฝรั่งเศสเข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 และต่อมาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ถูกล้มไปในปี ค.ศ. 1792 หมายความว่า หลังจากสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ไปแล้ว และฝรั่งเศสได้กลายเป็นสาธารณรัฐแล้ว ต่อมาอีกเพียง 22 ปี ฝรั่งเศสก็ต้องฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาอีก เหตุผลสำคัญก็คือ ฝรั่งเศสแพ้สงคราม และอังกฤษเข้ามาฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสขึ้น แต่ให้มีพระราชอำนาจจำกัดเหมือนของอังกฤษ
คณะบิดาผู้สร้างชาติอเมริกัน (the American Founding Fathers)
อย่างไรก็ตาม คณะผู้ออกแบบการปกครองของอเมริกันได้บทเรียนมาจากทั้งสาธารณรัฐโรมันโบราณและสาธารณรัฐดัทช์ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น ที่ตำแหน่งผู้ปกครองอยู่ในลักษณะลักปิดลักเปิด สืบสายโลหิตบ้าง ไม่สืบบ้าง คณะผู้ออกแบบชาวอเมริกันต้องการไม่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครองที่กำลังออกแบบขึ้นใหม่ และในที่สุด พวกเขาก็ทำสำเร็จ คือ ไม่มีพระมหากษัตริย์ แต่มีประธานาธิบดี แม้ว่าตอนแรกจะมีปัญหาว่า จะเรียกตำแหน่งนี้ว่าอย่างไร เพราะตำแหน่งสูงสุดแบบนี้ เคยแต่ใช้คำว่า King เรียกกันโดยส่วนใหญ่ ซึ่งคณะผู้ออกแบบฯไม่มีทางยอมใช้แน่นอน แต่ในที่สุด หลังจากถกเถียงกันแล้ว ก็มาลงตัวกันที่คำว่า ท่านประธาน หรือ President หรือประธานาธิบดี
ความสำเร็จในการออกแบบการปกครองใหม่นี้ ทำให้คณะผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญได้รับการยกย่องเทิดทูนเรียกเป็น “พ่อ” เลยโดยชาวอเมริกันใช้คำว่า “the Founding Fathers” ได้รับการยกย่องเพราะพวกเขาต้องคิดระบอบการปกครองใหม่ขึ้น ที่ไม่ให้มีพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ในช่วงเวลานั้นประเทศในยุโรปทั้งหมดยกเว้นเนเธอร์แลนด์หรือดัทช์ซึ่งปกครองโดยไม่มีพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคณะผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญชาวอเมริกันที่จะต้องคิดออกแบบในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่สำคัญคือ จะต้องให้มันใช้ได้ดีด้วย
น่าสนใจคือ หลังจากไม่ต้องเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว คนอเมริกันก็คิดรูปแบบการปกครองของตัวเองขึ้นมา โดยออกแบบที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง ไม่ต้องการเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยคนชาติอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลสหรัฐฯกลับพยายามส่งออกรูปแบบการปกครองของตนไปทั่วโลก และพยายามบอกว่า เป็นเสื้อผ้าที่ออกแบบเป็นสากลที่คนทุกชาติทุกภาษาต้องใส่ตามพวกเขา !?
กลับมาที่สิงคโปร์ ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นสาธารณรัฐ แต่ก็ไม่ได้ตามแบบอเมริกัน แต่ตามแบบฝรั่งเศส----ซึ่งกว่ารูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสจะลงตัวก็ใช้เวลานานพอสมควร !----ที่มีทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี และหลังปี ค.ศ. 1958 ฝรั่งเศสได้กำหนดให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี อย่างที่ผู้เขียนได้เขียนในบทความก่อนหน้านี้ไปแล้ว
การปกครองตามแบบฝรั่งเศสที่มีทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีนี้ได้ถูกประเทศต่างๆนำไปใช้ และบางประเทศก็ได้ปรับเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดี และหนึ่งในนั้นก็คือ สิงคโปร์
ดังนั้น ในการปกครองของสิงคโปร์ตลอด 31 ปี ลีกวนยูผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจมาก ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์นั้น ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักชื่อ แม้ว่าประธานาธิบดีสิงคโปร์จะเป็นประมุขของรัฐสิงคโปร์ก็ตาม แต่ในช่วงที่นายลี เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีกลับเป็นลูกน้องนายลีด้วยเพราะหลายครั้งที่ประธานาธิบดีเผลอลืมไปว่าตัวเองเป็นประมุขของรัฐ กลับเรียกและปฏิบัติต่อนายลีดังนายลีเป็นเจ้านายเขา
เทวัน นายัร (Devan Nair) ประธานาธิบดีสิงคโปร์ในอดีต
แต่พอนายลีจะวางมือจากการเมือง ในปี พ.ศ. 2536 เขากลับเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีมากขึ้น โดยเขาให้เหตุผลว่า ก่อหน้านี้ ประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องมีอำนาจมาก เพราะตัวนายลีในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่อุทิศตัวเพื่อสิงคโปร์ไม่โกงไม่กิน (พูดง่ายๆก็คือเป็นคนเก่งคนดีนั่นแหละ) แต่เขาไม่แน่ใจว่า คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเขาจะดีและเก่งเหมือนเขาไหม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้อำนาจประธานาธิบดีมากขึ้นเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี และอีกทางหนึ่งในการทำให้สถาบันประธานาธิบดีมีอำนาจมากก็คือให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านี้ มาจากการเลือกโดยรัฐสภาสิงคโปร์ อันหมายความว่า เสียงข้างมากในสภา (ซึ่งเป็นของนายลี) เป็นเสียงที่กำหนดตัวคนเป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็คือ เลือกคนที่ว่านอนสอนง่ายไม่ขัดนายลีนั่นเอง
เออนะ ! ดีที่นายลีพัฒนาสิงคโปร์ได้อย่างสุดยอด แต่ให้สุดยอดแค่ไหน ลองมาทำแบบนี้ในเมืองไทย ดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้น ?!
(แหล่งอ้างอิง: Managing political change in Singapore: The Elected presidency, edited by Kevin Tan and Lam Peng Er)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
เอาแน่ 'คมนาคม' เร่งศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด
“คมนาคม” เดินเครื่องศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดโมเดล 4 ประเทศ “อังกฤษ-สิงคโปร์-สวีเดน-อิตาลี” พบช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน สนข. เร่งศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ชี้ช่วยดึงดูดประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เชื่อมระบบฟีดเดอร์-ขนส่งหลัก หนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว