45 ปี 6 ตุลาฯ: แนวโน้มการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงระหว่างและหลังสงครามเย็น

ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (ตอนที่ 1)

ลี กวน ยู เป็นอีกหนึ่งผู้นำทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ครองอำนาจยาวนานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 31 ปี (พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2533)          แต่เงื่อนไขของสิงคโปร์แตกต่างจากพม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม  และความแตกต่างที่โดดเด่นที่สุดคือ การครองอำนาจอันยาวนานทำให้เขาสามารถพัฒนาให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆที่มีพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดและมีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในเอเชียได้  ทั้งๆที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ  แถมยังอยู่ใกล้มาเลเซียที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตร อีกทั้งผู้คนชาวสิงคโปร์เองก็ขาดความเป็นเอกภาพในทางเชื้อชาติ เพราะผสมถึงสามเชื้อชาติที่ต่างมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่โดดเด่นเฉพาะของตัวเอง นั่นคือ จีน มาเลย์และอินเดียน  ขณะเดียวกัน สิงคโปร์เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความเป็นชาติมาก่อนเลย เพราะสิงคโปร์เพิ่งแยกตัวออกมาจากมาเลเซียในปี พ.ศ. 2508                                                        

ความแตกต่างที่น่าสนใจในการครองอำนาจยาวนานของผู้นำสิงคโปร์และผู้นำประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  คือ ลี กวน ยู ไม่ได้ครองอำนาจยาวนานเพราะทำรัฐประหารเหมือนในกรณีของผู้นำพม่า ที่นายพลเนวินทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2505 และครองอำนาจยาวนานเป็นเวลาถึง 25 ปี (ผู้สนใจอยากรู้ว่าทำไมการทำรัฐประหารของนายพลเนวินในปี พ.ศ. 2505 ถึงได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ โปรดดูตอนก่อนหน้านี้)                                                                                                                   

ลี กวน ยู ไม่ได้ครองอำนาจยาวนานเพราะได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองในยุคสงครามเย็น ที่หลังจากได้ชัยชนะแล้ว ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในลาว กัมพูชา และเวียดนามจะปกครองด้วยระบบพรรคเดียว และอยู่ในอำนาจยาวนาน  เช่น ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาว อยู่ในอำนาจเกือบ 16 ปี (พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2534)   ฝั่ม วัน ดง ผู้นำคอมมิวนิสต์เวียดนามครองอำนาจเป็นเวลา 32 ปี (พ.ศ. 2498 –พ.ศ. 2530)         ส่วนในกรณีของกัมพูชา หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง  ฮุน เซน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยู่ในอำนาจจนปัจจุบันเป็นเวลา  37 ปี  (พ.ศ. 2528-  )                                                                

ขณะเดียวกัน ทหารสิงคโปร์ไม่ได้มีอิทธิพลแทรกแซงครอบงำการเมืองเหมือนในกรณีของไทย พม่า                                                                                                                                                       

สิงคโปร์อาจจะมีความคล้ายกับกัมพูชาตรงที่มีการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านไม่เคยได้ชัยชนะ แถมยังถดถอยลงไปเรื่อยๆ จนเกือบจะไม่มีความหมายหรือไม่มีความหมายไปเลย  ส่วนลาวและเวียดนาม แม้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน เป็นการปกครองพรรคเดียวแบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน                         

ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ลี กวน ยิว เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานย่อมไม่พ้นการใช้อำนาจทางการเมืองแบบอำนาจนิยมในแบบอ่อนๆ อันได้แก่ การใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม  เข้มงวดในเรื่องเสรีภาพในการพูด  การชุมนุมสาธารณะ และสร้างบรรยากาศของความกลัวที่ทำให้ผู้คนต้องระวังในการแสดงความคิดเห็น  กล่าวได้ว่า ลี กวน ยู ปกครองด้วยบุคลิกภาพที่ทรงอำนาจบารมีและผสมการสร้างความกลัว                                                                                              

ขณะเดียวกัน นโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองของเขาเป็นนโยบายที่ปราศจากอุดมการณ์    (ideology free)  การไม่มีอุดมการณ์นี้ หมายถึง การเน้นที่การลงมือปฏิบัติ  วิธีการใดที่ได้ผล ก็ทำต่อไป ถ้าไม่ได้ผล ก็ไปหาวิธีการอื่นทันที  

เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่โกง มีความคิดสร้างสรรค์ เน้นการลงมือปฏิบัติ มองไปข้างหน้า  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเป็นผู้นำของเขานั้นถูกวิจารณ์ว่า ปิดกั้นเสรีภาพ แต่การปิดกั้นของเขากลับนำมาซึ่งความสำเร็จ เพราะเขาสามารถทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระหว่างประเทศได้                                                                                                                                        

ขณะเดียวกัน วิธีการหาเสียงของพรรค PAP (People’s Action Party/ พรรคกิจประชา) ของเขาก็มีลักษณะที่หมิ่นเหม่คาบลูกคาบดอก เรียกได้ว่าเป็นวิธีการได้คะแนนเสียงแบบเทาๆ โดยไม่ได้ใช้เงินสดๆซื้อเสียงกันจะๆ หรือแจกของกันดื้อๆ  แต่มีลักษณะของการบังคับให้ต้องเลือกเพื่อแลกกับโครงการสวัสดิการต่างๆ                                                                                                                                            

เช่น ในกรณีโครงการปรับปรุงที่พักอาศัยในสิงคโปร์  รัฐบาลของนายลี กำหนดให้โครงการนี้เป็นโครงการตอบแทนเฉพาะผู้ที่ได้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรค PAP และคนที่ไม่ลงคะแนนให้จะไม่มีสิทธิ์ในโครงการนี้ ถือเป็นการลงโทษประชาชนที่ไม่สนับสนุนพรรค PAP                                                                      

พรรค PAP ใช้วิธีดูว่า เขตเลือกตั้งไหนที่ผู้สมัครของพรรคตนชนะ ก็จะเอาโครงการนี้ไปลง  และเมื่อถูกตั้งคำถามต่อนโยบายเลือกปฏิบัติแบบนี้   พรรค PAP ตอบว่า เราจำเป็นต้องดูแลเฉพาะผู้คนในเขตที่เราชนะ เขตที่ชนะหมายถึง คนส่วนใหญ่ในเขตนั้นเลือกเรา และเมื่อ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านในสภาตั้งกระทู้ถามว่า แล้วในเขตที่พรรค PAP แพ้ แต่ก็มีประชาชนที่เลือกพรรค PAP แต่เป็นเสียงส่วนน้อย คนเหล่านั้นไม่ควรได้รับการดูแลสวัสดิการการปรับปรุงที่อยู่อาศัยหรือ ?  พรรค PAP ตอบว่า เสียใจ ไม่รู้จะช่วยยังไง !                

นั่นคือ นายลี กวน ยู ไม่ได้ดูที่ความต้องการจำเป็นของคนที่ต้องการสวัสดิการที่อยู่อาศัยเท่ากับดูที่ใครสนับสนุนเขา    คล้ายๆกับที่ทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ว่า “ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป คิวต้องเรียงอย่างนี้ ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา เปิดเผย สื่อมวลชนอยู่ต้องเปิดเผย ไม่มีความลับสำหรับผม วันนี้คิดกับประชาชนอย่างไร ก็อยากเห็นคนทั้งประเทศไม่ว่าอยู่ที่ไหน เลือกหรือไม่เลือกผม ก็อยากให้ทุกคนหายจน แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ต้องไล่ลำดับกันไป แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำเหมือนกันหมดทั่วประเทศ”                                                                                                                   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางในการบริหารประเทศของเขาจะเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ก็ใสสะอาด ไม่มีโกงกิน และยึดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  และเขาได้ประกาศแนวทางประชาธิปไตยของเขาว่า เป็นประชาธิปไตยแบบวิถีเอเชีย (Asian values) ที่เน้นให้ความสำคัญกับการสังคมที่ดีเหนือสิทธิ์ของปัจเจกบุคคล โดยพลเมืองจะต้องยอมเสียเสรีภาพบางส่วนไปเพื่อแลกกับการที่รัฐบาลจะคอยดูแลความอยู่ดีกินดีให้ (paternalistic rule) เป็นอย่างดี                                                                                                 

เรียกได้ว่า ลี กวน ยูประสบความสำเร็จที่ทำให้คนสิงคโปร์ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง มีคนกล่าวว่า ประชาชนชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะเพิกเฉยเรื่องการเมือง แต่จะยึดติดกับวิถีชีวิตที่สุขสบายที่เกิดจากความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลของ ลี กวน ยิว   ชีวิตของคนสิงคโปร์จะคิดอยู่แต่ของห้าอย่าง ที่สามารถสรุปเป็นตัวอักษร C  ห้าตัว  หรือที่เรียกว่า Five C’s / ห้าซี  นั่นคือ เงินสด (cash) คอนโด (condo) รถยนต์ (car) เครดิตการ์ด (credit card) และสโมสรกีฬาสนามกอล์ฟ  (country club)                          

เคล็ดลับ (ที่ไม่ลับ) ในการประสบความสำเร็จทางการเมืองของ ลี กวน ยู คือ คำสอนของมาคิอาเวลลี นักคิดทางการเมืองชาวฟลอเรนซ์ (ค.ศ. 1469-1527) ที่ยากที่นักศึกษาวิชาทางรัฐศาสตร์จะไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ            

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า ลี กวน ยูได้รับอิทธิพลจากมาคิอาเวลลีได้ปรากฎขึ้นในปี พ.ศ. 2533  ลีได้ส่งหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง (The Prince)” ของมาคิอาเวลลี ให้กับโก๊ะ จ๊กตง ผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา หลังจากที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลาถึง 31 ปี    โดย ลีได้แนะนำให้โก๊ะ จ๊กตงไปดูบทที่สิบเจ็ดในหนังสือดังกล่าว ซึ่งหลักใหญ่ใจความของบทนี้คือ หากจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องเลือกระหว่างให้ประชาชนรักหรือกลัว มาคีอาเวลลีแนะนำ ให้ประชาชนกลัวดีกว่าให้ประชาชนรัก  ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการปกครองที่ลีใช้มาตลอด ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น                                         

ทำไม ลีจึงเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวนี้ของมาคิอาเวลลี ?                                                              

คงไม่มีอะไรดีไปกว่า การเข้าไปดูเนื้อหาข้อความของมาคิอาเวลลีในบทนี้ด้วยตัวเราเอง                  

บทที่สิบเจ็ดจั่วหัวไว้ว่า “ว่าด้วยความทารุณโหดร้ายและความสงสาร: และการเป็นที่รักนั้นดียิ่งกว่าการเป็นที่หวาดกลัว หรือกลับตรงกันข้ามกัน”  ในการตอบคำถามของหัวเรื่อง มาคิอาเวลลีได้เขียนความตอหนึ่งว่า “จากจุดนี้ ก็เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาว่า การเป็นที่รักนั้นดีกว่าการเป็นที่หวาดกลัวหรือว่ากลับกัน เราอาจจะตอบว่า เราย่อมปรารถนาจะเป็นทั้งอันหนึ่งและอีกอันหนึ่ง  แต่เนื่องจากยากที่จะผสมคุณสมบัตินี้เข้าด้วยกัน  ถ้าอันใดอันหนึ่งในสองอันนี้จะต้องขาดไป การเป็นที่หวาดกลัวจึงเป็นการปลอดภัยมากกว่าการเป็นที่รัก เพราะเราสามารถจะพูดสิ่งนี้โดยทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์ได้ว่า พวกเขาอกตัญญู เปลี่ยนใจง่าย เป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีล และพวกอำพราง พวกหลีกเลี่ยงอันตราย ผู้รักผลได้ และในขณะที่ท่านทำดีต่อพวกเขา พวกเขาก็จะเป็นของท่านเต็มตัว อุทิศโลหิต สิ่งของต่างๆ ชีวิตและบุตรชายแก่ท่าน…เมื่อความจำเป็นนั้นอยู่ห่างไกลออกไป แต่เมื่อความจำเป็นเข้ามาใกล้ท่าน เมื่อนั้นพวกเขาก็จะเป็นกบฏ และเจ้าผู้ปกครองที่วางรากฐานตนเองบนถ้อยคำของพวกนั้นอย่างเต็มตัว หากพบว่า ตนเองขาดการเตรียมการอย่างอื่นๆเมื่อใด ก็จะถูกทำลาย เพราะมิตรสหายที่เราได้มาด้วยการซื้อหา และมิใช่ด้วยความยิ่งใหญ่ และความสูงส่งของจิตใจนั้น — เราสมควรจะได้พวกเขา แต่เราไม่ได้มีพวกเขาเลย— เมื่อเวลามาถึง ก็ไม่อาจใช้พวกเขาได้ และมนุษย์มีความระมัดระวังในการทำให้คนที่ทำให้ตนเป็นที่รักต้องขุ่นเคืองน้อยกว่าคนที่ทำให้ตนเป็นที่หวาดกลัว เพราะความรักนั้นคงรักษาไว้ได้ด้วยสายโซ่แห่งภาระผูกพัน ซึ่งเนื่องจากความชั่วร้ายของมนุษย์ จึงถูกตัดขาดได้ทุกโอกาส เพื่อผลประโยชน์ของตน แต่ความกลัวนั้น คงรักษาไว้ได้ โดยความหวาดกลัวการลงโทษ ซึ่งไม่เคยจากท่านไปเลย”           

ขณะเดียวกัน มาคิอาเวลลีได้เตือนไว้ด้วยว่า ทำให้คนหวาดกลัว แต่อย่าทำให้คนเกลียดชัง !                                                                                                                      

นอกจากนี้ การไม่มีอุดมการณ์หรือการไม่ยึดติดกับแบบแผนหรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของบทที่ยี่สิบห้าในหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง” ด้วย เพราะในบทที่ยี่สิบห้า มาคิอาเวลลีได้แนะนำผู้ปกครองไว้ว่า คนเรามักจะยึดติดกับวิธีการที่เคยทำให้เขาประสบความสำเร็จ และการยึดติดไม่เปลี่ยนแปลงนี้เองที่จะนำมาซึ่งความพินาศ เมื่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไป “เพราะว่าเขาผู้ซึ่งเจริญรุ่งเรืองเสมอมาด้วยการเดินไปทางหนึ่ง ก็ไม่อาจถูกหว่านล้อมให้แยกจากมันได้ด้วย และเพราะฉะนั้นคนที่ระมัดระวัง เมื่อเวลาที่จะต้องหุนหันพลันแล่น จึงไม่รู้ว่าจะทำเช่นว่าอย่างไร จากสาเหตุนี้เขาจึงพินาศ”                                                                                                                             

แต่ตัวอย่างคำสอนของมาคิอาเวลลีนี้มิได้เพื่อประโยชน์ของตัวผู้ปกครองเองเท่ากับการที่ผู้ปกครองจะใช้มันไปเพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ อันเป็นหมายสำคัญสูงสุดของเจ้าผู้ปกครองที่แท้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง”                                                                          

(แหล่งอ้างอิง: Lee Kuan Yew, Founding Father and First Premier of Singapore, Dies at 91, https://www.nytimes.com/2015/03/23/world/asia/lee-kuan-yew-founding-father-and-first-premier-of-singapore-dies-at-91.html ; “ทักษิณ” ประกาศใครไม่เลือก ทรท.ช่วยทีหลัง, https://mgronline.com/politics/detail/9480000150744 ; “Brokers, Voters, and Clientelism: The Puzzle of Distributive Politics”, Susan C. Stokes, Thad Dunning, Marcelo Nazareno  and Valeria Brusco; Lee Kuan Yew told me to take lessons from Machiavelli’s ‘The Prince’: Goh Chok Tong, https://sg.news.yahoo.com/lee-kuan-yew-told-take-lessons-machiavellis-prince-goh-chok-tong-064613918.html ; เจ้าผู้ปกครอง, Niccolo Machiavelli ผู้เขียน, สมบัติ จันทรวงศ์ ผู้แปลและเขียนคำนำ)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

'อิชิอิ'มั่นใจลูกทีมพร้อม ดวลสิงคโปร์ศึกอาเซียน มุ่งเก็บ3แต้มเพื่อเข้ารอบ

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เวลา 15.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ห้องแถลงข่าวสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ฝ่ายจัดการแข่งขันสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน จัดงานแถลงข่าวก่อนการแข่งขันฟุตบอล ASEAN Mitsubishi Electric Cup 2024 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่มเอ ระหว่าง ทีมชาติไทย กับ ทีมชาติสิงคโปร์

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร