ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓)

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre/ พระยากัลยาณไมตรี) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศเกี่ยวกับเกณฑ์ในการได้มาซึ่งผู้สืบราชสันตติวงศ์ แซร์ได้ถวายคำแนะนำว่าในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระมหากษัตริย์ควรต้องรับฟังคำแนะนำและต้องได้รับความเห็นชอบจากที่องคมนตรีสภา (the Privy Council/เดิมคือ สภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์) ในการตัดสินพระทัยเลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นองค์รัชทายาท  โดยแซร์ได้ให้เหตุผลไว้ดังต่อไปนี้คือ                                                                                                                                    

หนึ่ง หากพระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสินโดยลำพัง ปัญหาร้ายแรงที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้หากมีกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์หรือขุนนางเสนาบดีที่อาจจะไม่ยอมรับในพระปรีชาสามารถในการใช้พระราชวินิจฉัยในการเลือก หรือคนเหล่านั้นอาจจะไม่เห็นพ้องต้องกันทั้งหมดกับการตัดสินพระทัยของพระองค์ และเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวนี้ขึ้น  ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะไม่ยอมรับและมีความจงรักภักดีต่อผู้ที่พระมหากษัตริย์เลือกให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ และเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต ความยุ่งเหยิงวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นทันที                  

แซร์ได้ยกตัวอย่างว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระโอรสที่เพิ่งประสูติเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ และหากราชบัลลังก์เกิดว่างลงในขณะที่องค์รัชทายาทยังทรงพระเยาว์อย่างมากนั้น ก็ย่อมจำเป็นจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลายาวนาน  ซึ่งหากมีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดหรือขุนนางเสนาบดีผู้ใดที่มีความเก่งกล้าสามารถและมีความห่วงใยในบ้านเมืองอย่างรุนแรงย่อมจะรู้สึกว่า การต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นระยะเวลายาวนานจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประเทศ  คนเหล่านั้นย่อมเห็นว่าหนทางเดียวทีจะรักษาปิตุภูมิคือ ยังไม่ต้องให้องค์รัชทายาทที่ยังทรงพระเยาว์เสวยราชย์ แต่ให้ผู้ที่เข้มแข็งและมีความสามารถมากกว่าขึ้นครองราชย์แทน ขณะเดียวกัน แซร์เห็นว่า  ถ้าเกิดมีกลุ่มที่สนับสนุนองค์รัชทายาทที่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  สงครามกลางเมืองย่อมจะหลีกเลี่ยงไม่ได้                                                  

แซร์เห็นว่า ยามเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต ความจงรักภักดีอย่างไม่มีเงื่อนไขจากพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเสนาบดีต่อองค์รัชทายาทนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อเสถียรภาพความมั่นคงของบ้านเมือง และหนทางที่จะได้มาซึ่งการยอมรับและความจงรักภักดีเช่นนั้นคือ การให้องคมนตรีสภา (Privy Council) มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกองค์รัชทายาท                                                                                          

แซร์เห็นว่า ในกรณีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงอ้างสิทธิ์ในการตัดสินพระทัยเลือกองค์รัชทายาทแต่โดยลำพังและไม่ได้ปรึกษาผู้ใดเลยถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดอย่างยิ่งและไม่ควรให้เกิดเช่นนั้นอีกต่อไปในอนาคต                                                                                                            

แซร์แนะนำว่า การตัดสินใจเลือกโดยคณะองคมนตรีสภาควรกระทำผ่านการลงคะแนนลับ  ซึ่งการลงคะแนนลับจะทำให้การตัดสินใจของบรรดาคณะองคมนตรีสภาเป็นไปอย่างอิสระเสรีโดยแท้  ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าการตัดสินใจของตนอาจจะไม่ต้องกับพระราชประสงค์ขององค์พระมหากษัตริย์   นอกจากนี้ เกณฑ์ในการตัดสินการลงคะแนนก็ไม่ควรจะใช้เกณฑ์เสียงข้างมากธรรมดา แต่ควรจะใช้เสียงข้างมากพิเศษ เช่น สามในสี่ขององค์คณะที่ปรึกษาฯ เพราะเสียงสามในสี่จะเป็นหลักประกันให้ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ได้เสียงสนับสนุนมากพอที่จะถือได้ว่ามีความชอบธรรม                                

ขณะเดียวกัน อาจจะมีคำถามว่า ระหว่างองคมนตรีสภา (Privy Council) กับคณะรัฐมนตรีสภา (Council of State/ เดิมคือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) คณะใดควรจะเป็นองค์คณะที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ ?                                                                                                        

ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรัฐมนตรีสภา (Council of State) คือคณะรัฐมนตรีจำนวนไม่เกิน 36 คน และคณะเสนาบดีจำนวนไม่เกิน 12 คน (จำนวนเท่ากับกระทรวงทบวงกรมที่ตั้งขึ้นจากการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินให้เป็นตามรัฐสมัยใหม่อย่างตะวันตก ที่เริ่มตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2435)  ส่วนองคมนตรีสภา ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  ซึ่งในสมัยรัชกาลที่หก  ในช่วงแรก พระองค์ทรงแต่งตั้งองคมนตรีจำนวน 40 พระองค์/คน โดยตั้งเป็นสภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อสิ้นรัชสมัยจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน ทำให้สภากรรมการองคมนตรีมาจากผู้คนหลากหลาย ไม่เฉพาะแต่พระบรมวงศานุวงศ์หรือเสนาบดีเท่านั้น                                                                                                           

จากการที่คณะองคมนตรีมีความหลากหลายกว่ารัฐมนตรีสภา แซร์เห็นว่า น่าจะสามารถเป็นตัวแทนความคิดและผลประโยชน์ที่หลากหลายทั่วไปของบ้านเมือง ที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนที่สะท้อนความเห็นของราษฎรที่มีบทบาทสำคัญในการปกครองบ้านเมืองที่มีความกว้างขวางกว่าคณะรัฐมนตรีที่มีจำนวนไม่มาก  ดังนั้น แซร์จึงเห็นว่า องค์คณะที่ควรจะมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์คือ คณะองคมนตรี                                                                                                                                  

นอกจากนี้ แซร์ยังถวายความเห็นเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น มีพระบรมวงศานุวงศ์เพิ่มขึ้นเมื่อมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินประสูติใหม่  ต่างทรงเจริญพระชันษา  และอาจมีที่สิ้นพระชนม์ไป เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นว่า บางพระองค์ทรงอ่อนแอ บางพระองค์ไม่ปรีชาสามารถ  บางพระองค์แสดงให้เห็นว่ามีความเข็มแข็งและปรีชาสามารถกว่าผู้อื่น  ขณะเดียวกัน หากมีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทแล้ว ก็ไม่ควรถอดถอน  ดังนั้น แซร์จึงแนะนำว่า การเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ควรจะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า provisional นั่นคือ ยังเป็นแค่ตัวเลือก ณ ขณะนั้น แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า แซร์เห็นว่า ถ้าแต่งตั้งเป็นทางการไปแล้ว ไม่ควรถอดถอนหรือเปลี่ยนแปลง                                                     

เพราะอะไร ทำไม่ถึงไม่ควรถอดถอนเปลี่ยนแปลง หากแต่งตั้งเป็นทางการแล้ว ?  อยากให้ท่านผู้อ่านลองคิดดูและแสดงความเห็นกันมาทาง Facebook Chaiyan Chaiyaporn                               

และแซร์ยังได้แนะนำว่า การกำหนดตัวเลือกชั่วคราวนั้น พระมหากษัตริย์และคณะองคมนตรีควรจะพิจารณาใหม่ทุกๆห้าหรือสิบปี เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมดีที่สุดในช่วงเวลาทุกๆห้าหรือสิบปี และแม้ว่าแซร์จะไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็คงเข้าใจกันได้ว่า หากบุคคลที่เลือกไว้แล้วมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง  ขณะเดียวกัน แซร์แนะนำไว้อีกว่า ไม่ควรเลื่อนพระอิสรยยศของบุคคลที่ได้รับการเลือก เพราะจะทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลง                                                                                                           

สำหรับข้อดีของการเลือกแบบชั่วคราวนี้ แซร์อธิบายว่า บุคคลที่ได้รับการเลือกจะไม่ได้รู้สึกว่า การขึ้นครองราชย์ของตนนั้นเป็นของตาย เพราะข้อเสียประการหนึ่งของการแต่งตั้งอย่างถาวรไว้เลยคือ จะมีคนมาประจบสอพลอองค์รัชทายาทพระองค์นั้นเพื่อหวังประโยชน์ต่างๆหากพระองค์นั้นเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์  การประจบสอพลอของบรรดาผู้ที่มาใกล้ชิดจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้องค์รัชทายาท “เสียคน” และกลายเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติอันเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์               

การกำหนดไว้ชั่วคราวจะทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกต้องปฏิบัติตนและพัฒนาความรู้ความสามารถตลอดจนการรักษาจริยธรรมและคุณธรรม หากเขาผู้นั้นจะต้องการเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ที่แท้จริงในที่สุด    อย่างไรก็ตาม แซร์เป็นนักกฎหมายและเป็นที่ปรึกษาที่สุขุมรอบคอบอย่างยิ่ง เขายังคิดล่วงหน้าถึงปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้  ปัญหาที่ว่านี้คืออะไร ?  โปรดติดตามตอนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490