ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑)

แปดเดือนหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อประเด็นปัญหาเรื่องรูปแบบการปกครองของสยาม โดยวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาในภาษาอังกฤษเรื่อง “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam) ไปถึงที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre/พระยากัลยาณไมตรี)  ชาวอเมริกัน ผู้เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด                                                                                                                                    

โดยสองคำถามในคำถามสำคัญ ๙ ข้อใน “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam)   คือเรื่องหลักการการสืบราชสันตติวงศ์ และการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยไปสู่ระบบรัฐสภาและการปกครองโดยมีตัวแทนของประชาชน                          

ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงคำถามแรกก่อน นั่นคือ หลักการการสืบราชสันตติวงศ์                                    

ถึงแม้ว่าก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดฯให้ตรากฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗  ขึ้นแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่า ยังมีปัญหาความคลุมเครืออยู่มาก สาเหตุแรกคือ พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหน้าทรงมีพระภรรยาหลายพระองค์ และยังมีศักดิ์สถานะลำดับสูงต่ำต่างกันตามแต่พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดฯ และยังมีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลงอีกด้วย ทำให้สถานะของพระโอรสของพระภรรยาไม่แน่นอน  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชดำริว่า ควรยึดพระโอรสที่มีพระมารดาที่เป็นเจ้าโดยชาติกำหนดเป็นเกณฑ์                                                                                                                                        

สาเหตุประการต่อมาคือ กฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนในกรณีสุดวิสัย แม้ว่าจะกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชโอรส ให้พระอนุชาลำดับถัดมาเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวถึงความไม่ชัดเจนในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 นั่นคือ ในกรณีที่ไม่มีพระอนุชา หรือในกรณีที่พระอนุชาที่อยู่ในลำดับที่จะสืบฯเกิดสิ้นพระชนม์  คำถามคือ พระโอรสทุกพระองค์ของพระอนุชาพระองค์ดังกล่าวคือผู้มีสิทธิ์สืบฯ หรือเฉพาะพระโอรสของพระมเหสีพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิ์สืบฯ  ?         

ต่อประเด็นปัญหาความยุ่งยากในการวางหลักเกณฑ์สำหรับการสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์จึงทรงอยากได้คำแนะนำจากฟรานซิส บี. แซร์ ว่า พระมหากษัตริย์ควรมีสิทธิ์ในการเลือกเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นองค์รัชทายาทหรือไม่ ?  และควรจะยอมรับหลักในการเลือกของพระมหากษัตริย์ หรือให้การสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นอยู่กับสถานะกำเนิดเท่านั้น และจะต้องมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. ๒๔๖๗ หรือไม่ ?   อีกสี่วันต่อมา ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ ๒๔๖๙ ฟรานซิส บี แซร์ได้มีหนังสือตอบคำถามในพระราชหัตถเลขา “ปัญหาบางประการของสยาม” (Problems of Siam) โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับหลักการการสืบราชสันตติวงศ์ โดยเขามีข้อสังเกตและข้อแนะนำดังต่อไปนี้               

เงื่อนไขของสยามแตกต่างไปจากเงื่อนไขของอังกฤษและประเทศอื่นๆที่ปกครองภายใต้ระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์หรือที่แซร์ใช้คำว่า “limited monarchy” ซึ่งอังกฤษเริ่มเข้าสู่การปกครองที่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๘๘ และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา/ผู้เขียน) ซึ่งคำแปลง่ายๆก็คือ ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจจำกัด หรือราชาธิปไตยอำนาจจำกัด    แซร์เห็นว่า กฎเกณฑ์กติกาที่เหมาะสมกับอังกฤษอาจจะใช้ไม่ได้กับสยาม และนอกจากจะใช้ไม่ได้แล้วยังอาจสร้างความเสียหายด้วย เขาเห็นว่า สยามไม่ควรมักง่ายลอกเอาระบบของประเทศตะวันตกมาใช้ แต่ควรกำหนดหลักการที่เกิดการวิวัฒนาการของประสบการณ์ของสยามเอง โดยดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะนำไปปรับใช้สำหรับสยามเองจากเงื่อนไขและการคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง                                                                               

เพราะในอังกฤษ (ขณะนั้น พ.ศ. ๒๔๖๙/ผู้เขียน)  พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษมีจำกัดและถูกลดทอนไปมาก เมื่อพระมหากษัตริย์อังกฤษมีพระราชอำนาจอันน้อยนิด การที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดไม่ทรงพระปรีชาสามารถหรือไม่ดี (แซร์ใช้คำว่า corrupt/ผู้เขียน) ก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายต่อประเทศได้  แต่ในสยาม ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงไม่พระปรีชาสามารถและพระราชบุคลิกภาพไม่เข้มแข็ง หรือขาดความมุ่งมั่นจริงใจในการปฏิบัติพระราชภารกิจและหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ (แซร์ใช้คำว่า integrity in purpose)  ประเทศชาติก็อาจจะเข้าสู่ความหายนะได้ง่าย        ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสยามคือ จะต้องมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและเข้มแข็งกว่าอังกฤษและประเทศอื่นๆที่ปกครองด้วยระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์                                                                                                       

เมื่อกล่าวถึงหลักเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ ในขณะที่หลักการของอังกฤษดำเนินไปตามหลักที่ให้พระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์เป็นองค์รัชทายาทผู้สืบฯ (หรือที่แซร์ใช้คำว่า primogeniture/ผู้เขียน) แต่สำหรับสยาม แม้ว่าหลักการนั้นจะสามารถใช้ได้อยู่ก็จริง แต่ก็ไม่เหมาะสมสำหรับสยาม   เหตุผลก็เป็นไปอย่างที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ ณ ขณะนั้น ภายใต้รูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ยังทรงต้องเป็นผู้นำการบริหารและปกครองประเทศ  ความอยู่ดีกินดีและความมั่นคงของประเทศจะเป็นไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่ว่า พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระปรีชาสามารถเพียงใด ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่ว่า สยามมีอิสระที่จะสามารถคัดเลือกสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีพระปรีชาสามารและเข็มแข็งที่สุดให้ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์                                                                                                           

ด้วยเหตุนี้ แซร์จึงเห็นว่า   กฎเกณฑ์กติกาใดๆที่ปิดกั้นไม่ให้สามารถคัดสรรผู้สืบฯได้อย่างกว้างขวาง (แซร์ใช้คำว่า freedom of choice) โดยกำหนดไว้ตายตัวว่าจะต้องเป็นผู้อยู่ในลำดับการสืบฯเท่านั้น แม้ว่าพระองค์นั้นอาจจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแอหรือไม่ทรงพระปรีชาสามารถ กฎเกณฑ์กติกาเช่นนั้นย่อมสวนทางต่อความเจริญและความมั่นคงของประเทศ                                                                               

เพราะอย่างกรณีของอังกฤษที่นายกรัฐมนตรีคือผู้มีอำนาจในการบริหารราชการอย่างแท้จริง จะไม่มีใครยอมรับความคิดที่จะให้มีการสืบทอดอำนาจนายกรัฐมนตรี หรือยอมรับระบบใดๆที่จะทำให้ประเทศไม่สามารถมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ                

ดังนั้น ถ้าพระมหากษัตริย์จะยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ในการปกครองประเทศอยู่ (แซร์ใช้คำว่า absolute power) ความเจริญและความมั่นคงของสยามจึงจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการมีเสรีภาพที่จะเลือกสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดๆก็ตามที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะศักดิ์หรือพระชันษา                                              

ถ้าปราศจากซึ่งเสรีภาพในการเลือกนี้แล้ว (freedom of choice) สยามก็จำต้องยอมรับสภาพที่ในบางครั้งบางคราว อาจจะได้พระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงพระปรีชาสามารถหรืออ่อนแอ และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ                                               

และจากเหตุผลต่างๆที่กล่าวมานี้ แซร์จึงสรุปว่า  ในการสืบราชสันตติวงศ์ ไม่ควรมีหลักการกฎเกณฑ์กติกาที่เคร่งครัดตายตัวที่อิงอยู่กับสถานะตำแหน่งและอายุหรืออาวุโส  แต่ควรจะเปิดเสรีและไม่มีอุปสรรคใดๆขวางกั้นในการคัดสรร เพียงแต่มีเงื่อนไขสำคัญประการเดียวเท่านั้นที่จำเป็นต้องคงไว้ นั่นคือ บุคคลนั้นจะต้องมีเชื้อสายของพระมหากษัตริย์  และแซร์เห็นด้วยกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่ทรงต้องการให้จำกัดตัวเลือกอยู่ที่พระโอรสของพระมหากษัตริย์และพระราชินี (พระภรรยา) ไม่ว่าจะทรงมีสถานะยศใดๆหรือบุคคลที่มีเชื้อสายพระมหากษัตริย์ (แซร์ใช้คำว่า Royal Blood) และไม่ควรรวมไปถึงพระโอรสของพระภรรยาที่เป็นนางสนม (แซร์ใช้คำว่า concubines/ผู้เขียน)       และเขาเห็นว่า การควรจะมีการเลือกและแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้ก่อนที่พระมหากษัตริย์จะสวรรคต เพราะหากรอไปจนกว่าจะสวรรคต จะเกิดอันตรายจากการที่แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายจะออกมาสนับสนุนบุคคลของฝ่ายตน และอาจจะร้ายแรงจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้  และเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคตแล้ว บรรดาสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์ควรที่จะเป็นหนึ่งเดียวและร่วมกันยืนหยัดในบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบฯ  และการมีเอกภาพภายในพระบรมวงศานุวงศ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเลือกและแต่งตั้งองค์รัชทายาทได้เกิดขึ้นในช่วงที่พระมหากษัตริย์ยังทรงครองราชย์อยู่                                                                                                                              

ที่กล่าวไปข้างต้น คือ ความเห็นและคำแนะนำของฟรานซิส บี. แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี) เกี่ยวกับหลักการการสืบราชสันตติวงศ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของสยามในครั้งที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  และแน่นอนว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบที่พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชภารกิจและหน้าที่ในการบริหารปกครองประเทศด้วยพระองค์เองไปสู่ระบอบการปกครองที่พระราชอำนาจจำกัดและไม่ได้ทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองอีกต่อไปใน  พ.ศ. ๒๔๗๕   ผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างที่แซร์ว่าไว้  แต่ถ้ามี ก็ถือเป็นโชคดี (gift/ผู้เขียน) สำหรับประเทศและประชาชน                                                                                           

ขณะเดียวกัน จากคำแนะนำของแซร์ คงมีคนสงสัยต่อไปว่า แล้วใครคือผู้คัดสรรหรือเลือก “เจ้า” ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ?   ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป  

(หมายเหตุ: เดิมที คอลัมน์ พิพิธภัณฑ์ความคิด2022 นี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และเรื่อง “ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้ดำเนินไปได้แล้ว ๔ ตอน แต่หลังจากที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์จำเป็นต้องปิดตัวลง ผู้เขียนจึงย้ายคอลัมน์ดังกล่าวนี้มาเขียนในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และขอเริ่มเป็นตอนที่ ๑  และต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เป็นอย่างยิ่งที่กรุณาเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้เขียนมาโดยตลอด)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490