คลังเดินเครื่องปั้น“หวยเกษียณ” ปักธงปลุก“ การออม” แก้ปมคนไทยสูงวัยแต่ยากจน

สถานการณ์ “การออม” ของคนไทยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ที่ระบุว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลครัวเรือนไทยที่ส่วนใหญ่คนที่มีรายได้มากที่สุดมีอายุ 50 ปี และรายได้ต่ำ โดย 42% ของครัวเรือนไทยพึ่งพารายได้นอกครัวเรือน เช่น เงินช่วยเหลือภาครัฐและรายได้ไม่เป็นตัวเงิน หรือสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับมา ส่งผลให้ “กันชนทางการเงินต่ำ” หากมีเหตุฉุกเฉินหรือมีรายได้ลดลง นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งด้านความเปราะบางของครัวเรือนและภาระทางการคลัง

ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่ากลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ อายุ 51-60 ปี ส่วนใหญ่มีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายหลังเกษียณ ทั้งนี้ประเมินว่าพฤติกรรมการออมส่งผลอย่างมากต่อ “ปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย” โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปีนั้นสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ

โดยมองว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เริ่มออมเร็วที่สุด ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการออมตามระดับรายได้ในการออมภาคบังคับ พร้อมส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การลงทุน ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ นโยบายการช่วยเหลือและกระตุ้นการออมต้องออกแบบให้เหมาะสมกับคนทำงานต่างวัยในแต่ละกลุ่มรายได้ โดยกลุ่มที่ต้องดูแลเร่งด่วนคือ กลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน

หวยเกษียณ จึงถูกยกเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลชูให้เป็นเรือธงสำคัญในการสนับสนุน “การออม” โดยเฉพาะสำหรับวัยเกษียณและแรงงานนอกระบบ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ระบุว่า สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (สลากเกษียณ) หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่าหวยเกษียณนั้น เป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่รวมเอาลักษณะการชอบเสี่ยงดวงของคนไทยมาเป็นแรงจูงใจในการเก็บออม ที่สามารถถอนเงินที่ซื้อสลากทั้งหมดออกมาใช้ได้ตอนอายุ 60 ปี

โดย หวยเกษียณ นั้น มีเป้าหมายในการเข้าไปช่วยแก้ “ปัญหาการออมของประเทศ” ที่ยังขาดอยู่ ทำให้เกิดสังคมสูงวัยแต่ยากจน แก่แต่ไม่มีเงินเก็บ ซึ่งนโยบายนี้จะใช้นิสัยของคนไทยที่ชอบเสี่ยงโชคมาเป็นแรงกระตุ้นและแรงจูงใจผ่านการซื้อสลากที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายสลากออมทรัพย์ แต่ไม่เหมือน!! เพราะเป็นระบบแรงจูงใจรูปแบบใหม่ เป็นการซื้อสลากที่เงินไม่หาย กลายเป็นเงินออมยามเกษียณ และยิ่งซื้อมากยิ่งได้ลุ้นมาก รวมทั้งจะได้เก็บเป็นเงินออมมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องนี้จะผ่านกลไกของ “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)” ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการส่งเสริมการออมทรัพย์ของกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อรองรับการเกษียณ ผ่านโครงการสลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ) โดยมอบหมายให้ กอช.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กอช. ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินโครงการหวยเกษียณต่อไป

สำหรับ หลักเกณฑ์โครงการหวยเกษียณมีดังนี้ 1.ผู้ออมสามารถซื้อสลากแบบขูดดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ใบละ 50 บาท ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน 2.สามารถซื้อได้ทุกวันตลอด 24 ชม. โดยจะมีการออกรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. 3.รางวัลที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล และรางวัลที่ 2 จำนวนเงิน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล ผู้ถูกรางวัลจะสามารถถอนเงินรางวัลได้ทันที หากรางวัลออกไม่ครบ ทบไปงวดต่อไป

4.ไม่ว่าถูกรางวัลหรือไม่ถูกรางวัล เงินที่ซื้อสลากทุกบาทจะถูกเก็บไว้ในบัญชีเงินออมของแต่ละบุคคล ผ่าน กอช. และจะสามารถถอนคืนได้ตอนอายุ 60 ปี เพื่อการออมทรัพย์รองรับการเกษียณ และ 5.เงินในบัญชีนั้นยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดระยะเวลาก่อนเกษียณ ผ่าน กอช.

“โครงการหวยเกษียณเป็นโครงการที่สนับสนุนการออม เป็นการเล่นหวยที่เงินไม่หาย เป็นการเล่นหวยที่ไม่มีวันถูกกิน ซื้อมาก ได้ลุ้นมาก ได้ออมมาก มีเงินเก็บมากในยามเกษียณ และยังมีโอกาสได้ลุ้น 3 เด้ง คือ ได้ลุ้นล้าน ได้ออมเงินทุกบาททุกสตางค์ และได้ผลตอบแทนการลงทุน” เผ่าภูมิ กล่าว

และเมื่อวันที่ 16-30 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยพบว่ามีประชาชนกว่า 99.05% เห็นด้วยที่ กอช.จะออกจำหหน่ายหวยเกษียณ ขณะเดียวกันมีประชาชน 92.45% ไม่เห็นด้วย กรณีหากเงินที่ซื้อสลากไม่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกรางวัล เงินของท่านจะถูกเก็บสะสมไว้ และท่านจะได้รับเงินนั้นคืนเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และมีประชาชนกว่า 4.72% ไม่เห็นด้วย โดยอีก 2.83% เสนอทางเลือกอื่น

นอกจากนี้ประชาชนกว่า 98.11% ไม่เห็นด้วย กรณีสมาชิกที่ซื้อสลากได้เสียชีวิตลง เงินที่ซื้อสลากมาทั้งหมดและผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน (ถ้ามี) จะคืนเป็นเงินก้อนทั้งหมดในคราวเดียวให้กับทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โดยมีประชาชน 0.94% ไม่เห็นด้วย และอีก 0.94% เสนอทางเลือกอื่น ขณะเดียวกันมีประชาชนกว่า 80.2% เลือกวิธีการรับเงินคืนเป็นเงินก้อนเดียวทั้งจำนวน กรณีที่ท่านมีสิทธิเลือกรับเงินคืนตอนอายุครบ 60 ปี ส่วนประชาชนอีก 12.2% เลือกแบ่งรับเงินเป็น 2 งวด

ทั้งนี้ยังพบข้อสังเกตว่า ประชาชนมีข้อเสนอแนะให้ 1.ขยายอายุผู้เข้าร่วมโครงการให้เกิน 60 ปี และ 2.ขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างกว่าแรงงานนอกระบบ ซึ่งกระทรวงการคลังจะรับข้อสังเกตและจะพิจารณาปรับเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อไป และคาดว่าจะสามารถนำร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในช่วงต้น-กลางเดือน ต.ค.2567

แน่นอนว่า ในอีกมุมจะต้องมีคำถามเกิดขึ้นว่า หวยเกษียณ จะเป็นการส่งเสริมให้คนเล่นการพนันเพิ่มขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้ รมช.การคลัง ยืนยันว่า ไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเล่นพนันเพิ่มขึ้น แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วโครงการนี้ถือเป็นคู่แข่งกับหวยใต้ดิน ไม่ใช่สิ่งที่ไปทําให้หวยใต้ดินเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โครงการ หวยเกษียณ กลับมีความน่าสนใจในแง่ ได้ลุ้นรางวัล มีอัตรารางวัลที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการดึงดูดคนที่จะเล่นหวยใต้ดินมาเล่นตรงนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นไม่เป็นการส่งเสริมแต่อย่างใด

ด้วยกลไกของหวยเกษียณที่จะมีการลุ้นถึง 3 เด้ง คือ 1.ประชาชนได้ลุ้น 2.ซื้อสลากแล้วเงินไม่หาย กลายเป็นเงินออม เพราะเงินจะโอนเข้าสู่บัญชีการออมใน กอช.ของผู้ซื้อสลาก และ 3.เงินในบัญชีจะถูกนำไปลงทุนบริหารจัดการด้วยอัตราความเสี่ยงที่ต่ำ ผลตอบแทนจากการลงทุนจะกลับเข้าบัญชีคนซื้อ โดยที่ผ่านมาพบว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ตลอดจนนักวิชาการ เพราะเป็นการกระตุ้นการออมที่ดีของประเทศ

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลัง, กอช. และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ผนึกกำลังในการลงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับโครงการ หวยเกษียณ ก่อนจะเริ่มดำเนินการจริง รวมทั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อขัดเกลาให้ได้นโยบายที่ดีที่สุด

สำหรับพื้นที่แรกจัดที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ซึ่งมีทั้งการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “สลากเกษียณ วิชั่นใหม่ การออม รับสังคมสูงวัย” และจากนั้นจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตามจังหวัดต่างๆ ในเรื่อง หวยเกษียณ ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่แล้วที่ จ.พังงา สกลนคร และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2567 ที่ จ.พิษณุโลก.

เพิ่มเพื่อน