ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 28)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดต่อจากตอนที่แล้ว ดังต่อไปนี้

พล.ท. พระยาเทพหัสดิน  ร.ท. เผ่าพงศ์ นายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ทั้งสามถูกจับด้วย ทั้งสามพ่อลูกเมื่อมาพบหน้ากันในกองลหุโทษ ต่างก็ต่อว่าต่อขานกัน เพราะคิดว่าเป็นความผิดจริงๆ ของพ่อหรือของลูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ร.ท. เผ่าพงศ์ นายดาบผุดพันธ์ ผู้ลูก หลังจากกราบ พล.ท. พระยาเทพหัสดิน ผู้พ่อแล้ว โยนคำถามไปว่า

‘คุณพ่อทำอะไร ผมพลอยเดือดร้อนไปด้วย’

ท่านพ่อตะลึงจังงัง งงงวยต่อคำถาม ท่านตอบไปว่า

‘พ่อคิดว่าพ่อถูกจับเพราะพวกเจ้า’

เป็นอันว่า ทั้งท่านพ่อและคุณลูกยังไม่ทราบสาเหตุที่ตนถูกจับ

ร.อ. ชลอ เอมะศิริ ต้องหาคดีเดียวกันนี้ ก็เพราะเหตุเดียวที่เกิดเป็นหลาน พ.อ. พระยาฤทธิ์อัคเนย์   ระหว่างคุมขัง ณ ลหุโทษ และเรือนจำบางขวาง ร.อ. จรัส สุนทรภักดี มีความเงียบขรึมใช้สมองพิจารณาเหตุการณ์  และชีวิตที่ผ่านมาอย่างท้อแท้และสิ้นหวังเหมือนชีวิตในความมืดบางครั้งในระยะแรกจะมีแสงสว่างแห่งความหลุดพ้นสาดส่องมาเป็นครั้งคราว เพราะการพิจารณาของผู้ต้องหาทั้งหลายเข้าใจว่า ฟ้าดินจะเอื้ออารีแก่เขาบ้าง เขาหวังในความยุติธรรมเพราะคิดว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ มีมือขาวสะอาด                       

แต่แล้วความหวังนั้นค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็นความมัวมืด เพราะพยานแต่ละคนที่ซัดทอด ร.อ. จรัส สุนทรภักดีว่าเป็นผู้ปองร้าย หลวงพิบูลสงครามนั้นเคยมีสาเหตุส่วนตัวกันมา แม้บางคนไม่รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อนเลย แต่ก็ให้การปรักปรำ

ในที่สุด คำตัดสินจึงมีข้อความว่า ‘ให้ตัดสินประหารชีวิตจำเลย’ เพียงประตูเดียว ดินฟ้าอากาศวิปริตไปในทันทีทันใด ท้องฟ้าครึ้มไปด้วยเมฆ  ลมเย็นโชยยะเยือก ผิดปกติธรรมดา ความเสียวสะท้านระรัวรอบผิวกายนักโทษประหารทั้งปวง     

2 ธันวาคม 2482 เวลา 14.00 น.

ผู้มีกรรม ร.อ. จรัส สุนทรภักดี ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำเบิกตัวคู่กับ ร.ท. วัณณศิริ ผู้บริสุทธิ์ นำไปแดนประหารชีวิต

ทั้งสองนุ่งกางเกงขายาวสีขาวและกากี สวมสเว้ตเตอร์ ผ้าพันคอ เพราะอากาศหนาวเย็นจัด

ร.อ. จรัส สุนทรภักดี หลังจากปลงตกแล้ว มีใบหน้าสดในขึ้น พูดสนุกสนาน

ทั้งสองกล่าวคำอำลาครูและมิตรสหายร่วมตายด้วยน้ำเสียงเหมือนลาไปดูหนัง มีคลื่นเสียงหัวเราะในลำคอ

พ.ต. หลวงไววิทยาศร และ ร.ท. แสง วัณณศิริเดินทางไปสุ่มัจจุราช เมื่อ 05.20 น.

พ.ท. ขุนนามนฤนาถ และ ร.อ. จรัส สุนทรภักดี สิ้นชีพด้วยกระสุนปืนกลแบล๊คมัน อย่างอาจหาญเมื่อใกล้รุ่งเป็นคู่ที่สอง                             

นายดาบพวง พลนาวี

ผู้มีกรรมที่น่าเวทนาที่สุด คือ นายดาบพวง พลนาวี

เขาถูกประหารชีวิต เพราะเกิดมาเผอิญเป็นพี่เขย พ.อ. พระยาทรงสุรเดช

ข้าพเจ้ารู้จักนายดาบพวง พลนาวี เมื่อปี พ.ศ. 2475 เมื่อทางราชการได้สั่งร้อยเอกหลวงวรณสฤช ผู้บังคับกองร้อยที่หนึ่ง  ทหารช่างกองพันที่หนึ่ง รักษาพระองค์ ให้จัดทหารหนึ่งหมวดในความบังคับบัญชาของข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นมียศร้อยตรี ไปรักษาความปลอดภัยบ้าน พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้รักษาพระนครคนหนึ่ง และมีตำแหน่งทางทหารเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

ข้าพเจ้าและทหารพักบริเวณหลังโรงรถ ซึ่งอยู่ติดกับบ้านนายดาบพวง พลนาวี                       

นายดาบพวง พลนาวี มิได้รับราชการเป็นทหาร แต่มียศเป็นนายดาบมาก่อนเมื่อรุ่นหนุ่ม ในปี 2475 อายุเขาประมาณ 40 ปี รับราชการในกรมรถไฟ ตำแหน่งนายตรวจหรือการ์ดรถไฟ  ใครๆ จะรู้จักเขาในนามคุณพวง พลนาวี เท่านั้น แต่เมื่อถูกฟ้องศาลพิเศษ ซึ่งเป็นศาลทหาร เขาก็ติดยศนายดาบให้ฟังดูเสมือนเป็นทหารประจำการ และมีความเด่นสำคัญขึ้นอีกมากในรูปคดีศาลพิเศษ

คุณพวง พลนาวี เป็นนักดื่มคอแข็ง เมื่อเลิกงานกลับบ้านในตอนเย็นมักจะมีกลิ่นสุรา และเจรจาพาทีสนุกสนาน บางคราวจะร้องเพลงลิเกตั้งแต่ยังไม่ถึงประตูบ้าน เป็นคนร่าเริง คุยสนุก บางคราวสนุกมาก จนน่ารำคาญเพราะพูดซ้ำๆ ซากๆ เบื่อหูผู้ฟัง 

บุคคลผู้นี้ไม่มีความทะเยอทะยานในการงานแต่อย่างไร ไม่ชอบเรื่องการบ้านการเมือง การปฏิวัติรัฐประหาร ไม่สนใจใยดี และดูเหมือนจะไม่ทราบความเป็นไปของกิจการปกครองเลย ใครจะทำอะไรก็ทำไป พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้มีศักดิ์เกี่ยวดองเป็นน้องเขย ประชุมนายทหารก่อการชั้นผู้ใหญ่ ก่อน 24 มิ.ย. 75 กี่ครั้งกี่หนภายใตบ้านที่สะพานควาย ซึ่งตนอาศัยอยู่นั้น ก็มิได้ทราบระแคะระคายว่าประชุมเรื่องสำคัญของบ้านเมืองชนิดคอขาดบาดตาย เพราะมิได้สนใจ  สิ่งที่เอาใจใส่อย่างเดียว คือ ดื่มสุราเป็นระยะตามใจชอบ และคุยสนุกสนานตามประสาคอสุราถึงเวลางานก็ไปทำงานแต่เช้ามิได้ขาด กลับบ้านตอนเย็นพร้อมกับขวดสุราในกระเป๋าเสื้อนอก บางทีจะมีผลไม้หลายชนิดมาฝากบุตรชายหญิงหลายคน                 

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่กลับถึงบ้านด้วยอาการเมาพอสมควรและอารมณ์ครึกครื้น คุณพวงได้ล้วงลงไปในกระเป๋าเสื้อนอก หยิบสัตว์ชนิดหนึ่งออกมาให้ดู  พร้อมกับหัวเราะเอิ้กอ้ากสนุกสนานตามประสาคนแก่ดีกรี  ปรากฏว่าสัตว์นั้นคือลูกลิงแสมตัวน้อย ทำให้ข้าพเจ้าและทหารได้รับความรื่นเริง และเบิกบานหนักขึ้นไปอีกเมื่อปรากฏว่าในกระเป๋าเสื้อนอกของคุณพวง เต็มไปด้วยอุจจาระลูกลิงน่าเอ็นดูนั้น  มันคงถ่ายไว้นานแล้วเพราะเต็มกลั้นและหวาดกลัวคุณพวง

คุณพวง พลนาวี ใช้ชีวิตอย่างน่าอิจฉา ทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยความอุตสาหะ เมื่อเลิกงานก็ดื่ม ร้องเพลง เล่นลิเกเป็นที่เบิกบาน ไม่เคยพูดกับ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชแม้แต่คำเดียว ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่อยู่ในบ้านสะพานควาย ทั้งไม่เคยเสนอหน้าทักทายปราศรัยกับบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมเคารพ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชและดูเหมือนจะไม่มีใครรู้จักคุณพวง พลนาวี เสียด้วยซ้ำว่ามีศักดิ์เป็นอะไรในบ้านนั้น

พระยาทรงสุรเดชมีความสำคัญขึ้นเหมือนพลุทะลุฟ้า หลังวันที่ 24 มิ.ย. 2475

แต่คุณพวง พลนาวี ก็คงเป็นคุณพวง พลนาวีคนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้แต่ตำแหน่งหน้าที่การงานในกรมรถไฟ ไม่ดีขึ้นไม่เลวลง คุณพวงมิได้ขอร้องให้เลื่อนตำแหน่ง มิได้ขอย้ายเพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตตนแต่ประการใด  นับว่าเป็นบุคคลที่รู้จักประมาณตน ปราศจากความทะยานอยาก ปราศจากความโลภ                         

ฉะนั้น คำพูดของคุณพวงที่กล่าวในเรือนจำบางขวาง ด้วยความกลัดกลุ้มสุดชีวิตว่า

‘เวลาเป็นใหญ่เป็นโต ก็ไม่เคยเลี้ยงดู.....เวลาเดือนร้อนเกิดเรื่องก็ระยำฉิบหาย กูไม่รู้ไม่ชี้ด้วยเลยจนนิดเดียว แต่กลายเป็นคนรับความฉิบหายนั้นเข้าไว้....’

เมื่อถูกคุมขังเรือนจำลหุโทษและบางขวาง ระยะแรกพอมีความอดทนได้ คิดว่าเป็นความฝันร้าย ไม่ช้าทางราชการก็จะปลดปล่อย เพราะมิได้คิดหรือกระทำการใดๆตามกล่าวหาแม้แต่น้อย คุณพวง พลนาวี เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน แต่นานวันเข้า รูปการมันร้ายแรงขึ้นทุกระยะ พยานเท็จรุมล้อมชี้ตัวชี้หน้าใส่ร้ายจนขวัญเสีย นึกถึงภาพการจำคุกเป็นปี ก็มีอารมณ์รุนแรง แทนที่จะด่าทอพยานเท็จและเจ้าหน้าที่ผู้อยุติธรรม กลับไปด่าเอา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ทุกครั้งไป  ร.ท. เสริม พุ่มทอง กับ ร.ท. แสง วัณณศิริ ต้องช่วยชี้แจงปลอบโยนให้เข้าใจสถานการณ์ ควรยอมรับกรรมโดยไม่ปริปาก เพราะถึงแม้จะบ่นจะด่าทอประการใด ก็มิได้ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่น้อย

ขวัญของคุณพวงกระเจิดกระเจิงมากยิ่งขี้น เมื่อศาลพิพากษาประหารชีวิต !

สติสัมปชัญญะสูญสิ้น ไร้ความรู้สึกผิดชอบเหมือนคนช๊อคต่อเหตุการณ์รุนแรง

เช้ามืดวันประหารด้วยปืนกลแบล๊คมัน 3 ธันวาคม 2482

คุณพวง พลนาวี พูดบ่นด้วยความจริงใจของตนตลอดทางที่เดินไปสู่หลักประหาร

‘ไม่มีความผิด...ไม่มีความผิด..’

ประมาณ 05.00 น. เศษ ปืนกลแบล๊คมันคำรามเป็นชุด ลูกกระสุนพุ่งเข้าสู่เป้าหมาย คุณพวง พลนาวีได้สิ้นชีพไปอีกหนึ่งศพ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาแล้ว 'อิ๊งค์' มีสิทธิ์หลุดเก้าอี้นายกฯ เซ่นตั้ง 'เลี้ยบ' นั่งรองประธานที่ปรึกษาของนายกฯ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “รัดแน่นกว่าเดิม”

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'วิสุทธิ์' วอน สว. 80-90 เสียง หนุนร่างแก้รธน. ตัดอำนาจวุฒิสภาให้ประเทศเป็นปชต.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง